คืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ความน่าสนใจและบทลงโทษที่ปรับสูงสุด 50 ล้านบาท!...

"ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการผู้คร่ำหวอดเรื่องปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5 กล่าวกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ถึงความคืบหน้าในการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” ซึ่งมีทั้งหมด 104 มาตรา และล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติในหลักการ และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ หากแต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจออกไปยังส่วนท้องถิ่น แทนที่จะรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจเอาไว้ที่ส่วนกลางเช่นที่เคยเป็นมา.... 

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5

...

“ร่างกฎหมายนี้ จะมีทั้งการตั้งคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และคณะกรรมการอากาศสะอาดระดับจังหวัดและพื้นที่เฉพาะ คือ พูดง่ายๆ อำนาจส่วนกลางจะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในภาพใหญ่ ในขณะที่แต่ละจังหวัดจะมีอำนาจในการดูแลและบริหารจัดการเรื่องมลพิษทางอากาศในจังหวัดของตัวเองได้ด้วย ซึ่งสำหรับผมถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการนับหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้กับคนไทยทุกคน” 

มาตรการควบคุมมลพิษที่ลงลึกในรายละเอียดมากกว่า พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม : 

สำหรับประเด็นที่ 2 ที่น่าสนใจจากร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ในมุมมองของ คือ “ศ.ดร.ศิวัช”  คือ เรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจะมีการกำหนดลงลึกในรายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่า พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 โดยเฉพาะการควบคุมมลพิษจากแหล่งต่างๆ เช่น... 

1. มาตรการควบคุมมลพิษจากสถานที่ถาวร (Point Source) หรือ แหล่งกำเนิดมลพิษที่แก้ไขไม่ได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม

2. การควบคุมมลพิษจากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเศษชีวมวล หรือการเผาป่า 

3. การควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ

4. การควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน 

พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับบทลงโทษปรับสูงสุด 50 ล้านบาท

ส่วนประเด็นที่ 3 คือ จะมีการกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษ ซึ่งจะเป็นการบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษว่ามีเรื่องข้อจำกัดหรือเงื่อนไขอะไรบ้าง รวมถึงวิธีการในการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ

และประเด็นที่ 4 คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นการจูงใจให้เกิดอากาศสะอาด เช่น หากมีการซื้อเครื่องมือทางการเกษตรในการอัดแพ็กพวกเศษชีวมวลแทนที่จะนำไปเผาในที่โล่งแจ้ง ก็อาจจะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักรทางการเกษตรนั้นๆ เป็นต้น   

บทลงโทษปรับ 100,000-2,000,000 บาท : 

และสำหรับประเด็นที่ 5 ที่น่าสนใจในมุมมองของผู้คร่ำหวอด PM 2.5 คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับการรับผิดทางแพ่งกรณีที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษทางอากาศ และบทลงโทษตามร่างกฎหมายดังกล่าวยังครอบคลุมถึงกรณี “เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกราชอาณาจักรไทย” หรือผู้ที่ก่อมลพิษจากนอกประเทศจนกระทั่งแพร่กระจายเข้ามายังราชอาณาจักรไทยจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของคนไทยด้วย 

พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับบทลงโทษปรับสูงสุด 50 ล้านบาท

...

โดยผู้กระทำความผิด จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย และค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐต้องจ่ายสำหรับการบำบัด ขจัดและเยียวยา จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ไม่ว่าการแพร่กระจายของมลพิษจะเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัย และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือสงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงจนไม่อาจป้องกันได้

ซึ่งผู้ที่กระทำความผิด จะมีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-2,000,000 บาท และยังมีโทษปรับอีกไม่เกินวันละ 1 ล้านบาท โดยให้โทษปรับอย่างสูงรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับบทลงโทษปรับสูงสุด 50 ล้านบาท

ความคืบหน้าในการทำประชาพิจารณ์ และกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย : 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้าน PM 2.5 กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้า “ร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด” นั้น เบื้องต้นจะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearings) ครั้งแรกที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 นี้ โดยมีหัวข้อการเสวนา คือ “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา เราก็รักเธอ” เพื่อสร้างการรับรู้และขยายผลการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภาคการเกษตร 

...

ส่วนในด้านกรอบระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายนั้น หากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีบทเฉพาะกาลภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายประสานคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดทำงานร่วมกับคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามกรอบระยะเวลานี้ 

พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับบทลงโทษปรับสูงสุด 50 ล้านบาท

โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการบริหารจัดการฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดทำหลักเกณฑ์ และรายละเอียด วิธีการใช้เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์แต่ละประเภทในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สนับสนุนและรองรับการใช้เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและภาคส่วนต่างๆ รวมถึงปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

พร้อมทั้งให้กรมวิชาการทางการเกษตรพัฒนา ดำเนินการใช้ระบบตรวจสอบย้อนหลังกลับ สำหรับสินค้าหลัก 3 ประเภทแรก คือ ข้าว, ข้าวโพด, อ้อย รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ GISTDA ใช้ระบบลงทะเบียนการเผาโดยได้รับอนุญาต เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายต่อไป 

...

พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับบทลงโทษปรับสูงสุด 50 ล้านบาท

สารพิษแฝงใน PM 2.5 ภัยร้ายตัวจริงที่ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง : 

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.ศิวัช ยังคงแสดงความกังวลในประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลกับประชาชนเรื่องสารพิษต่างๆ ที่แฝงตัวอยู่ใน PM 2.5 ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อประชาชนชาวไทยตัวจริง หากแต่จนถึงปัจจุบันหน่วยงานราชการไทยต่างๆ ก็ยังคงมีการให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอกับประชาชนอยู่ต่อไป... 

“ความเห็นส่วนตัวผม คิดว่า ประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษที่แฝงตัวใน PM 2.5 ยังคงถูกพูดถึงจากหน่วยงานราชการต่างๆ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นภัยคุกคามประชาชนที่แท้จริงจาก PM 2.5 แต่แม้กระนั้น อย่างน้อยที่สุด ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดฉบับนี้ ก็ถือเป็นสัญญาณในเชิงบวกสำหรับการเริ่มต้นนับหนึ่งสำหรับพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทยที่เรื้อรังมาเนิ่นนานเสียที 

และในท้ายที่สุดนี้ ผมอยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันจับตาจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 และ วาระที่ 2 อย่างชนิดไม่กะพริบตา เพื่อร่วมกันพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองต่างๆ มีความจริงใจในการหาอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับคนไทยมากน้อยแค่ไหน?” ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ กล่าวปิดท้ายการสนทนา  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน