คุยกับเกษตรกรดีเด่น ปี 2566 จากนักธุรกิจร้อยล้าน ผันตัวทำเกษตร สานต่อวิชา “เกษตรธรรมชาติ” กับ 7 สูตรน้ำหมัก ทำปุ๋ยขายรายได้มากกว่า 2 แสน/เดือน...
การเกษตร ถือเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงหลายอย่าง อาทิ โรคพืช ศัตรูพืช รวมไปถึงลมฟ้าอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จได้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ “องค์ความรู้” และการ “ลงมือ” ทดลอง และทำจริงๆ
“ธนิต สมแก้ว” เขาคืออดีตนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ในเส้นทางของการค้าขาย “วัสดุก่อสร้าง” และการจัดทำโครงการบ้านจัดสรร เขาคือชายที่ประสบความสำเร็จระดับต้นๆ ของ จ.พัทลุง และแดนใต้...
แต่เมื่อถึงวันหนึ่งในวัยเกษียณ เขาตัดสินใจ “วางมือ” ส่งต่อกิจการให้กับลูก โดยลดบทบาทตัวเองเป็นเพียงที่ปรึกษา และหันหาวิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น ประจำปี 2566 เขาก็ล้มลุกคลุกคลานมาก่อน
นายธนิต อดีตนักธุรกิจใหญ่ในวงการก่อสร้าง เล่าว่า ได้เดินทางในเส้นทางวัสดุก่อสร้าง การสร้างหมู่บ้านจัดสรรมากว่า 40 ปี เริ่มต้นจากการทำกิจการเล็กๆ จนเริ่มขยายกิจการ กลายเป็นดีลเลอร์ให้กับบริษัทระดับประเทศ ได้ทำธุรกิจต่างๆ มูลค่านับร้อยล้าน และมีกิจการต่างๆ หลายอย่าง กระทั่งเข้าสู่วัย 60 จึงคิดที่จะวางมือ และส่งต่อกิจการให้ลูกๆ
“ผมคิดว่าหากผมยังทำงานตรงนั้นอยู่ ลูกๆ อาจจะไม่กล้าทำอะไรอย่างเต็มที่ ฉะนั้น การวางมือของผมคือการให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนเราถอยออกมา และรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น”
...
“การเกษตร” ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
อดีตนักธุรกิจที่เปลี่ยนอาชีพเป็นเกษตรกร เผยว่า ด้วยที่ทำงานด้านการก่อสร้าง และอสังหาฯ มานาน จึงทำให้เราพอมีที่ทางอยู่ ช่วงที่ทำหมู่บ้านจัดสรรก็เคยซื้อที่ไว้แปลงหนึ่งที่ อ.เขาชัยสน ประมาณ 40 ไร่ เมื่อปี 2547 ตอนนั้นก็คิดจะปลูกผลไม้ขาย เช่น ลองกอง มังคุด ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่เราดูแลอย่างดี ใส่ปุ๋ย รดน้ำตลอด เมื่อพอผลผลิตออก ราคาก็ตกต่ำ เพราะสินค้าล้นตลาด ขายได้กิโลกรัมละ 5-10 บาท
นายธนิต เล่าว่า ตอนนั้นคิดเลยว่าการทำเกษตรสำหรับเราไม่น่าจะไปรอด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราตัดสินใจเลิกการเป็นเกษตรกร หันมาทำธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรต่อ..โดยไม่ได้คิดว่า...นอกจากผลไม้แล้ว ยังปลูกไม้ยืนต้นอย่าง “ไม้กฤษณา” และต้นยางพาราไว้ด้วย
“ตอนนั้นปลูกเพราะไม่ได้คิดอะไร ปลูกอย่างคนที่ไม่มีความรู้ รู้เพียงว่าหากมันโต จะได้ต้นละหมื่น ไร่ละล้าน แต่เวลานี้ต้นไม้กฤษณานับหมื่นต้นที่ปลูกไว้ มันกำลังทำเงินให้กับเรา โดยได้รับคำแนะนำจากวิสาหกิจชุมชน ชมรมไม้กฤษณา-ไม้หอมแห่งประเทศไทย ว่า เวลานี้สามารถนำมาสกัดสร้างมูลค่าได้”
ย่างก้าวสู่เกษตร กับการ “ค้น” หาพืชที่เหมาะสม
เกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น ประจำปี 2566 เผยว่า พอเริ่มเกษียณ ก็อยากกลับมาทำเกษตรอินทรีย์อีกครั้ง เพราะเห็นว่าญาติพี่น้องของเรา ล้วนเจ็บตายจากโรคร้าย ซึ่งโรคร้ายต่างๆ นั้นก็มาจากสิ่งที่เรากินลงไป ด้วยเหตุนี้จึงตั้งใจที่จะทำเกษตรอินทรีย์ คำถามคือเราจะปลูกอะไรดี...
“ผมใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาหาข้อมูล และเห็นว่า “สละ” คือผลไม้ที่ได้ราคา ที่สำคัญคือมีอายุยืนนับร้อยปี เมื่อปลูกต้นหนึ่งมันจะแตกออกมา 4-5 ต้น หากให้น้ำ ปุ๋ยดี จะออกลูกทั้งปี ขายส่งจะอยู่กิโลกรัมละ 50 บาท ขายปลีก 70 บาท สาเหตุที่ราคาดี เพราะกลุ่มผู้ประกอบการเขารวมตัวกันในการตั้งราคา...”
เราเห็นว่าการปลูกสละน่าสนใจ แต่...ปัญหาคือ สละคือ “เกษตรประณีต” หมายความว่า เกษตรกรต้องตื่นประมาณตี 3 แล้วมาผสมเกสร เพื่อให้มันออกผล แต่สำหรับเราชาวบ้านทั่วไปที่ทำอาชีพกรีดยาง เขาตื่นตี 1 อยู่แล้ว และตี 3 มาผสมเกสร เขาก็ทำได้ แต่เราทำไม่ได้...แผนการปลูกสละของเราก็มีอันล้มเลิกไป
นายธนิต คิดต่อว่าถ้าไม่ปลูกสละ จะไปปลูกอะไรดี... และเห็นข่าว “ส้มโอทับทิมสยาม” ราคาดี ราคา 700-800 บาท เห็นขายที่ห้างพารากอน จึงไปศึกษาข้อมูลดูอีกหลายเดือน จนมั่นใจว่าพอทำได้ ถึงแม้การปลูกส้มโอทับทิมสยามจะเป็นงานยาก แต่แนวคิดส่วนตัวเห็นว่า “ทำยากขายง่าย ทำง่ายขายยาก” จึงเริ่มที่จะลงมือทำ
ตั้งมั่นเกษตรอินทรีย์
นายธนิต เล่าว่า ตอนที่เป็นที่นักธุรกิจอสังหาฯ ได้ซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง ประมาณ 60 ไร่ ไม่ไกลจากตัวเมืองพัทลุง แต่เมื่อ “วางมือ” แล้ว จึงนำมาปลูกพืช โดยเลือกที่จะปลูกส้มโอทับทิมสยาม, มะละกอ เรดเลดี้, กล้วยหอมทอง ทั้ง 3 อย่างรวมกัน ราว 30 ไร่ ทำนา 3 ไร่ บางส่วนก็ขุดสระ ทำร่องน้ำ ส่วนที่เหลือ ก็จะปลูกสิ่งที่กิน เช่น น้อยหน่า ละมุด ทุเรียน
...
“ผมตั้งใจจะเป็นเกษตรอินทรีย์ พอมาทำจริงๆ มันไม่ง่าย ใครๆ ก็ถาม ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีหรือ พอคนถามมากๆ เข้า ก็เริ่มชักไม่มั่นใจ เพราะเราจบอุเทนถวายมา มีความรู้ด้านช่าง ไม่ได้มีความรู้ด้านเกษตรเลย ชีวิตก็ทำงานด้านช่างก่อสร้างกับ อสังหาฯ มาทั้งชีวิต มาเจอปัจจัยในการทำเกษตรอีก น้ำแล้ง แดด ฝน แมลง วัชพืช ยิ่งไปให้คนอื่นใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฉีดอัดทุก 10 วัน เราก็เริ่มท้อใจ...”
เอาวะ! ลองอีกสักตั้ง... อดีตนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เล่าต่อว่า เราไปหาความรู้ด้วยการโทรไปปรึกษาอาจารย์ที่ ม.เกษตรฯ (บางเขน) อาจารย์ท่านก็แนะนำว่า ทาง ม.เกษตรฯ ไม่เชี่ยวชาญพืชตระกูล “ส้ม” เนื่องจากเป็นพืชที่จัดการค่อนข้างยาก เพราะใบและดอกมีกลิ่นหอม โรคแมลงชอบมาก จึงแนะนำให้ปรึกษาที่อาจารย์ ม.แม่โจ้ และได้คำแนะนำว่า ต้องไปปรึกษากับ ดร.พงษ์พันธ์ นันทขว้าง ซึ่งท่านเป็นอาจารย์พิเศษ สอนเรื่อง “เกษตรธรรมชาติ”
การศึกษา “เกษตรธรรมชาติ” ไม่ง่าย ต้องลงมือทำถึงเข้าใจ
เกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น ประจำปี 2566 เล่าว่า วิชาเกษตรธรรมชาติ ท่านเรียนรู้จากประเทศเกาหลี หัวใจหลักคือการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ 3 ประเภท 7 ชนิด หัวใจของการทำน้ำหมัก คือ 1. ต้องทำให้ครบทั้ง 7 อย่าง 2. น้ำหมักใช้สำหรับวัชพืช และ 3. การผลิตเชื้อราขาว หรือจุลินทรีย์ “ประจำถิ่น” มาใช้งาน ซึ่งวิชาการเกษตรธรรมชาติ จะต้องทำจุลินทรีย์เอง..
...
คุณประโยชน์จุลินทรีย์ มีประโยชน์ 5 อย่าง คือ
1. ช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก
2. ทำให้ดินร่วนซุย รากพืชชอนไชได้ง่าย
3. ทำให้เกิดออกซิเจนในดิน
4. ทำให้พืชต้านทานโรค โดยเฉพาะเชื้อราทุกชนิด รวมถึงแบคทีเรียและไวรัส (โรคพืชส่วนใหญ่มาจาก 3 เชื้อนี้) เมื่อไม่เป็นโรค ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง
5. ปรับค่า PH ของดิน เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้สภาพดินเป็นกลาง
“ตอนที่เรียนวิชาเกษตรธรรมชาติ ผมไปแค่ 3 วัน ซึ่งตามหลักสูตรต้องเรียน 7 วัน เมื่อกลับมาทำ สุดท้ายก็ไม่รอด เจอปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ทำน้ำหมักแล้ว ใช้ได้หรือไม่ เพราะหากหมักไม่ดี มันจะเกิดแบคทีเรีย จากที่ช่วยป้องกันโรค จะทำให้โรคเพิ่มขึ้น เป็นต้น เราจึงต้องกลับมาเรียนเพิ่มอีก 3 วัน ก็ไม่รอดอีก ต้องไปเรียนเพิ่มอีก 3 วัน เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้วถึงไปได้..”
คุณสมบัติน้ำหมัก 7 ชนิด เกษตรธรรมชาติ
**หมายเหตุ ต้องวัด ตวง ต้องไปเรียนรู้ที่ศูนย์ (หลักสูตรเข้มข้น)**
1. น้ำหมักจากพืชสีเขียว ทำได้จากหน่อกล้วย ผักบุ้ง ยอดผักต่างๆ ได้แร่ธาตุกับวัคซีน เช่น เลี้ยงไก่ ให้ไก่กินก็จะแข็งแรง
...
2. น้ำหมักผลไม้สุกในท้องถิ่น อย่างน้อย 3 ชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ส้ม ละมุด มะม่วง เป็นการเสริมสร้างวิตามิน
3. น้ำหมักสมุนไพร ขิง ข่า ตะไคร้ กระเทียม หมักเพื่อเป็นยาปฏิชีวนะ เช่น ไก่เป็นแผล เป็นหวัด ฉีดพ่น ให้กิน ประมาณ 3 วันจะดีขึ้น
4. น้ำหมักนมสด แลคโตบาซิลลัสเป็นฮอร์โมน ทำให้รากพืชแข็งแรง ทำให้ออกดอก หากสัตว์กินจะช่วยย่อย ระบบขับถ่าย
5. น้ำหมักน้ำซาวข้าว เปลือกไข่ เป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ แต่ต้องเป็นไข่ดิบ ช่วยให้แคลเซียม ฉีดพ่น จะทำให้ขั้วดอก ใบ แข็งแรง ไม่หลุดง่าย สัตว์กินกระดูกแข็งแรง
6. น้ำหมักน้ำซาวข้าว กระดูกสัตว์ หมู วัว แพะ กลุ่มกระดูกจะมีฟอสฟอรัสอยู่เยอะ วิธีการก่อนหมักคือต้องเผากระดูกก่อน เพื่อเร่งฟอสฟอรัส จากนั้นค่อยนำมาหมักน้ำซาวข้าว เมื่อฉีดพ่นในพืช จะทำให้ออกลูก ดอก ผล เยอะ
7. น้ำหมักจากสัตว์ รกหมู ไส้เดือน เศษกุ้ง หอย ปู ปลา หรือมูลสัตว์ (เอาเนื้อ ไม่เอาเปลือก) ถ้าพ่นให้พืชจะช่วยไนโตรเจน ทำให้ใบเขียว สัตว์กิน จะเร่งการเติบโต ซึ่งน้ำหมักชนิดนี้สามารถใช้กับการเกษตรทุกชนิด พืช สัตว์ หรือประมง
“เมื่อเป็นแบบนี้ เราจึงต้องเลี้ยงสัตว์ด้วย เพื่อนำมูลมาใช้ หลักการเกษตรธรรมชาติคือการเกื้อหนุนกัน ปลูกพืช ผลิตปุ๋ยใช้ เลี้ยงสัตว์ ประมง สามารถผลิตอาหารใช้เองได้ ดังนั้น การที่เราเลี้ยงทั้งหมดนี้จึงเป็นการเกื้อหนุนกัน แต่จะทำอย่างไร อยากรู้ละเอียด จะต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะหลักการเกษตรธรรมชาตินั้น ทุกอย่างต้องเป๊ะ คิดเองเออเองไม่ได้”
รายได้เดือนละหลายแสน เพราะไม่เสียเงินซื้อปุ๋ย
นายธนิต เผยว่า เมื่อก่อนเราเสียเงินซื้อปุ๋ย เดือนละเกือบ 2 แสนบาท แต่ปัจจุบันคือไม่เสียเลย เพราะเราสามาถผลิตใช้เอง นอกจากนี้ ขายปุ๋ยอย่างเดียวก็มีรายได้แสนกว่าบาท นอกจากนี้ เลี้ยงสัตว์ยังขายได้เดือนละเกือบ 2 แสน พอกับค่าใช้จ่ายของคนงาน ไม่รวมรายได้จากส้มโอ มะละกอ กล้วยหอมทอง จำนวนหนึ่ง
“ทำเกษตรก็เหนื่อย แต่ถ้าเราไม่ทำงาน เราก็จะเหี่ยวและแก่ไว ดังนั้น หากมีกิจกรรมอะไรก็ทำ โดยไม่รู้สึกเหนื่อย แต่มีความสุข เราได้ส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคใต้ มีคนมาเรียนนับพันคน โดยเฉพาะเกษตรกรจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ตรัง ภูเก็ต สงขลา สตูล หรือนราธิวาส ซึ่งหลังจากได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ จึงเป็นที่มาขอการมาเสนอเรื่องการเป็นเกษตรดีเด่น จ.พัทลุง ซึ่งทีแรกเราปฏิเสธ แต่เขามาขอร้องว่าขอให้เป็นตัวแทนของอำเภอเมือง จึงร่วมมือประกวด ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ก็ได้รางวัล กระทั่งปี 2565 ได้รางวัลชมเชย ระดับประเทศ กระทั่งปี 2566 ได้รางวัลเกษตรดีเด่น ระดับประเทศ โดยเข้ารับรางวัลกับในหลวง เนื่องในวันพืชมงคล”
ช่วงท้าย นายธนิต ย้ำอีกครั้งว่า การเรียนรู้ทุกอย่างนั้น จำเป็นต้องศึกษาให้ดี และใครอยากเรียนรู้เรื่องนี้ก็พร้อมให้การต้อนรับ ที่สวนมังกรทอง ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ