ฟังทัศนะ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกฯ วิเคราะห์ ข้อดี ข้อด้อย โครงการแจกเงินดิจิทัล และขึ้นเงินเดือน ขรก. รัฐบาลเศรษฐา 1 ยอมรับห่วงเงินเฟ้อ จาก 2 โครงการ จากไม่วิกฤติ อาจวิกฤติจริง  

เวลานี้ไทยกำลังเผชิญกับ สภาวะ “วิกฤติเศรษฐกิจ” อยู่หรือไม่...?

นี่คือคำถามที่หลายๆ คนกำลัง “คาใจ” นายกรัฐมนตรี อย่างนายเศรษฐา ทวีสิน บอกว่า เวลานี้กำลังวิกฤติ และจำเป็นต้องกู้เงิน ขณะที่ฝ่ายค้าน บอกว่า ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่เป็นการ “ถดถอย” และ “ชะลอตัว” ของเศรษฐกิจ 

นี่มันเรื่องผิดฝา ผิดตัว กันหรือเปล่า ปกติฝ่ายค้านต้องบอกวิกฤติ รัฐต้องบอกไม่วิกฤติ กลายเป็นว่าสิ่งที่พูดนั้นตรงกันข้ามกัน

ว่าแต่...สรุปแล้ว มันวิกฤติหรือไม่...? วันนี้ทีมข่าวจึงเชิญ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย และมือเศรษฐกิจรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มาพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ กับ 3 เรื่องใหญ่ เรื่องร้อน คือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต, การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และปัญหาเงินเฟ้อ 

...

วิกฤติเศรษฐกิจ เหตุผลต้องแจกเงินดิจิทัล? 

นายกอร์ปศักดิ์ มองภาพรวม เศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ ว่า จากการฟังนักวิชาการหลายๆ ท่าน ที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเงิน การคลัง ก็บอกว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ 

“น่าจะเป็นรัฐบาลเดียวในโลกนี้ ที่กำลังบริหารงานอยู่ แล้วบอกว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ...”

คำถาม คือ เวลานี้มันวิกฤติจริงหรือไม่ การวัดเรื่องนี้ ส่วนมาก จะดูที่ตัวเลข “เศรษฐกิจถดถอย”  เช่น ตัวเลขติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน แต่ผลที่ออกมาก็ไม่ใช่... เมื่อมองย้อนไปในอดีต รัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ ติดลบ 8% นั่นแหละ คือ วิกฤติ แต่ปัจจุบันมันยังบวก 2-3% 

ถามว่า ประชาชนเดือดร้อนแค่ไหน นายกอร์ปศักดิ์ อธิบายว่า หากเราดูตัวเลขหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขมหาศาล เมื่อเทียบกับรายได้ที่ไม่เพียงพอ 

สถานการณ์แบบนี้ มันคล้ายคลึง กับในอดีต สมัยวิกฤติเศรษฐกิจ “แฮมเบอร์เกอร์”  ที่สหรัฐฯ มีปัญหา ซึ่งเวลานั้นเป็นช่วง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเวลาผมก็ร่วมบริหารอยู่ด้วย 

“ตอนนั้นคู่ค้าของเรา “จนลง” เกือบหมด ทำให้ไม่มีกำลังซื้อ ส่งออกไม่ได้ คนไทยตกงานมาก ตัวเลขของรัฐบาล ประมาณ 8 แสน แต่ฝั่งฝ่ายค้านของเพื่อไทย บอกว่าสูงถึง 3 ล้านคน”

สิ่งที่ทำในเวลานั้น คือ การจัดแพ็กเกจ แก้ปัญหาเร่งด่วน แบ่งเป็น 2 ระยะ 

ระยะเร่งด่วน : เช็ค 2 พันบาท ตอนนั้นเราไม่มีเป๋าตัง การส่งเงินช่วยเหลือประชาชนจึงทำให้มีขั้นตอนยุ่งยาก แต่ก็ไปได้ บวกกับโครงการช่วยชาวนา เรื่องประกันรายได้ 

“การทำ 2 ระยะ เพราะเรารู้อยู่แล้ว ว่าการใช้มาตรการเร่งด่วน อีกสักพัก มันก็จะหมดแรง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินนั้นหมายถึงว่า ภาครัฐยอมเป็นหนี้แทนประชาชน เพื่อเอาเงินให้ชาวบ้าน โดยมุ่งเป้าไปที่คนจน กว่า 10 ล้านคน เพราะหากคนรวยได้ เขาก็เอาไปเก็บ ไม่เอาไปใช้จ่าย” 

นายกอร์ปศักดิ์ บอกว่า มาตรการที่ทำในเวลานั้น ได้ผล...แต่แป๊บเดียว เป็นที่มาตรการที่ 2 คือ “ไทยเข้มแข็ง” โดยได้ คุณกรณ์ จาติกวณิช มาสานต่อ ซึ่งการจัดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเวลานั้น สุดท้ายมันได้ผล...

ทั้งหมดที่เล่ามา คือ เรื่องเก่า...

มองรัฐบาลปัจจุบัน ขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “แพ็กเกจ”

นายกอร์ปศักดิ์ วิเคราะห์ปัญหาการกระตุ้นเศรษฐกิจของ “รัฐบาลเศรษฐา1” ว่า ยังขาดการกระตุ้นแบบ “แพ็กเกจ” สิ่งที่ใช้คือการนำนโยบายที่หาเสียงไว้มาทำ เรียกว่า “รัฐบาลประชานิยม” ดังนั้น สิ่งที่ทำจึงอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพียงแต่เป็นการทำตาม สิ่งที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ รัฐบาลในโลกนี้ก็เป็นลักษณะนี้เยอะมาก ซึ่งบางประเทศก็เสียหายมหาศาล 

ฉะนั้น คำถามที่ว่า นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต สำหรับมุมมองของตนนั้น ไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าประเทศเราเจอวิกฤติเศรษฐกิจจริงๆ ประเทศคงเจ๊งไปแล้ว เพราะปัญหาลักษณะนี้มีมาเป็นปีแล้ว และถ้าวิกฤติจริง ต้องออกเป็น พระราชกำหนด ไม่ใช่ พระราชบัญญัติ 

“อย่าบอกว่าวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะผมมองว่ามันไม่ใช่...”

“ดิจิทัล วอลเล็ต” ไปต่อ หรือ พอแค่นี้

...

นายกอร์ปศักดิ์ ตอบคำถามทีมเฉพาะกิจ ว่า ส่วนตัวไม่ใช่นักกฎหมาย ฉะนั้น จึงตอบยากว่าจะไปต่อหรือไม่ แต่สำหรับ “ความหวัง” ของผม ไม่อยากให้ไปต่อ ที่ผ่านมา เคยทวีตข้อความวิเคราะห์ไว้ว่า ไม่ว่าอย่างไร หากจะทำโครงการนี้จะต้อง “กู้เงิน” หากไม่กู้เงิน มันเป็นไปไม่ได้ และสุดท้ายคำตอบก็คือ ต้องกู้เงิน 

ส่วนตัวไม่เชื่อว่า มันจะออกมาเป็นกฎหมายกู้เงินทั้งหมด แต่คาดว่า อาจจะมิกซ์ หมายถึงดึงเงินจากตรงนั้น ตรงนี้มารวม ส่วนการจ่ายเงินดิจิทัล ถ้าอยากจ่าย...ก็จ่ายไปเถอะ แต่ต้องระบุให้ชัดว่าใครได้บ้าง ซึ่งควรจะเป็นคนจนจริงๆ  คือ ประมาณ 15-20 ล้านคน หากใช้ตัวเลขนี้อาจเงิน ประมาณ 2 แสนล้าน

นโยบายนี้ หากไม่ผ่าน...ก็ไม่จำเป็นต้องคุยต่อ 

ที่มา FB : Korbsak Sabhavasu
ที่มา FB : Korbsak Sabhavasu

แต่ถ้ามันผ่านล่ะ...จะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ “ปัญหาในทางปฏิบัติ” เพราะ หากคนที่อยู่ในวงการ “คริปโต” จะทราบว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเรียกว่า stablecoin เรียกว่า เป็น 1:1 และข้อดีของเหรียญดังกล่าว คือ ความ stable เพราะมีเงินเป็นหลักประกัน ฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการแจก 5.4 เงินดิจิทัล รัฐก็ต้องมีเงิน 5.4 แสนล้าน ฉะนั้นนี่เอง คือคำตอบว่าทำไมต้องออกเป็น พระราชบัญญัติ เพราะเขาต้องการมีเงินก้อนนี้กองไว้ 

...

การเป็น stablecoin จะกลายเป็นปัญหา เพราะไม่รู้จะเอาเงินมาขึ้นได้ไหม 

สำหรับผู้ใช้เงิน : เป็นเรื่องไม่ต้องห่วง ได้มาก็ใช้แหลกลาญ อาจหมดตั้งแต่วันแรก เพราะกลัวเดี๋ยวไม่ได้ใช้...หรือมีปัญหา ฉะนั้น ใน 1 เดือน น่าจะหมด 

คำถามคือ มีผู้ขาย กล้ารับเหรียญไหม ร้านใหญ่อาจจะกล้า แต่ร้านเล็กล่ะ ไม่มีทางกล้าจะรับ 

“ผมถามร้านเล็กๆ ในต่างจังหวัด เขาบอกว่าไม่กล้า เพราะธนาคารบอกว่า หากได้เหรียญมาจริงอาจจะต้องรออีก 6 เดือน ถึงจะเบิกได้ เหล่านี้คือข้อกังวลของชาวบ้าน”

นี่คือปัญหาแง่ปฏิบัติ และรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไข ยังไม่รวมการตีความของคำว่า “ของอุปโภคบริโภค” เครื่องสำอาง ใช่ไหม ยาใช่หรือเปล่า... คำถามคือ ของพวกนี้มีที่มาอย่างไร คำตอบคือ มันนำเข้าจากต่างประเทศ ฉะนั้น ตัวเลขที่จะเกิดขึ้น หลังปล่อยเงินดิจิทัลไป จะทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงมาก ในขณะที่การส่งออก ของเรา กำลังเดี้ยงอยู่...เวลานี้งบดุลงบประมาณเราติดลบ จากนั้น เราก็จะเริ่มติดลบการค้าขายระหว่างประเทศ

“อยู่ดีๆ มีเงินเข้ามาในระบบ 4-5 แสนล้าน ให้ใช้ ภายใน 1-2 เดือน ของจะขาดตลาด และราคาก็จะขึ้นสูง” 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเราจะติดลบ 2 เรื่อง งบประมาณ ซึ่งติดลบอยู่แล้ว แต่มันจะติดลบเรื่องดุลการค้า ตามมา....นี่คือเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์เขากังวล และระวังถูกลงโทษ โดยเฉพาะกลุ่มที่จัดอันดับเครดิตประเทศ เช่น มูดีส์ ซึ่งอเมริกาเพิ่งโดนไป ซึ่งหากถูกลดอันดับ จะกู้เงิน จะต้องเสียแพง 

...

4 ปี ไม่มีทางใช้หนี้ทัน! 

อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เตือนว่า การกู้หนี้เยอะๆ เวลาใช้เราจ่ายต้นครั้งละแสนล้าน ส่วนอีกหลายแสนล้าน เป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น  

“ที่บอกว่า กู้ 5.4 แสนล้าน และจะไม่ให้ลูกหลานเป็นหนี้ หมายความว่า หากเขาอยู่ 4 ปี เขาจะต้องจ่ายหนี้ให้ได้ปีละ 1.3 แสนล้าน คำถาม คือ เอาเงินที่ไหนมาใช้”

เขาอาจเชื่อว่า การนำเงินเข้าระบบเยอะ จะได้คืนภาษีเยอะตาม เรื่องนี้เรื่องจริง แต่มันได้วูบเดียว ตอนนั้นทำเรื่อง “เช็ก 2 พัน” ได้ภาษีคืนมา 2 แสนล้าน แต่ได้แค่ปีเดียว แป๊บเดียวจบ...

การใส่เงิน 5.4 แสนล้าน เข้าไป มีเงินกลับมาแน่ แต่ไม่รู้เท่าไร แต่ที่แน่ๆ คงกลับมาไม่ถึง 5.4 แสนล้าน สมมติว่าได้คืน 3 แสนล้าน คำถามคือ จะเอาเงินตรงนี้ใช้หนี้คืนเลยหรือไม่ ถ้าใช่...ผมจะรู้สึกสบายใจ แต่เวลานี้มีหลายโครงการรออยู่...

การขึ้นเงินเดือนราชการ...

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คล้ายกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ฐานเงินก็จะทยอยขึ้นทุกส่วน แถมมีเงิน 5.4 แสนล้าน อีก  จะกลายเป็นว่าอุปโภค บริโภค แบบสุดฤทธิ์ สิ่งที่จะตามมาคือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งเวลานี้คือเงินเฟ้ออยู่แล้ว แต่สภาพัฒน์ บอกว่ายังพอไหว.. ทั้งนี้ตัวเลขของบ้านเราไม่ได้แม่นเหมือนต่างประเทศ 

“ลองถามตัวเราเองที่ใช้จ่าย หรือแม่บ้านจ่ายกับข้าวว่าเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับ หากขึ้นเงินเดือน ขรก. เงินก็จะเฟ้อขึ้น เงินดิจิทัลฯ ออกไปก็จะขึ้นมหาศาล”

หากเราดูประสบการณ์ของสหรัฐฯ ตอนโควิด ปธน.ไบเดน เลือกวิธีแจกเงิน (ประมาณคนละ 1,400 ดอลลาร์) และรมว.คลัง ของสหรัฐฯ บอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ แต่อดีต รมว.คลัง บอกว่า เงินเฟ้อเละแน่ให้ระวัง ผลก็คือ เกิดเงินเฟ้ออย่างหนัก ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย จนดอกเบี้ยปีนี้ 5.25 ทั้งหมดจึงกลายเป็นปัญหา อย่างบ้านเรา หากดอกเบี้ยเกิน 3% ก็เชื่อว่า เงินออกหมด แค่ตอนนี้เงินก็อ่อน แล้ว 

“ดังนั้น หากทั้ง 2 โครงการนี้สำเร็จ ก็อาจจะวิกฤติแน่ ฉะนั้น ก็หวังว่าการแจกเงินจะไม่ผ่านแล้วกัน...” 

ความเป็นห่วง สถานะการคลัง

สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด เวลานี้ คือ สถานะการคลัง และตั้งแต่เกิดรัฐประหารมา จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครเคยบอกเลยว่าจะตั้งเป็น “งบประมาณสมดุล” 

นายกอร์ปศักดิ์ เล่าว่า รัฐบาลที่มีเงินกองคลัง ของแท้ (ไม่ใช่เงินที่กู้มาเป็นกองคลัง) คือ สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ตอนนั้นมีเงิน 2-3 แสนล้าน ซึ่งเป็นเงินสดๆ แท้ๆ ไม่ต้องกู้สักบาท ซึ่งถือเป็นผลพวงจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำมา 8 ปี และหลังจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็ไม่มีแบบนั้นอีกเลย ส่วนใหญ่เป็นเงินที่กู้มาไว้ 

“หนี้ 5.4 แสนล้าน เชื่อว่า 4 ปี ใช้ไม่หมดแน่ ไม่รวมกับหนี้เดิม ก็ยิ่งไม่รู้ว่าจะใช้หมดเมื่อไหร่...แม้จะมี ทฤษฎีหนึ่งที่เถียงว่า ประเทศเครดิตดี เป็นหนี้ไม่เป็นไร และมักยกตัวอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แต่คุณไม่ได้ยกตัวอย่าง กรีซ หรืออาร์เจนตินา ฉะนั้น สิ่งที่ผมรู้สึกคือ เราประมาทเกินไป...และสิ่งที่อยากเห็นคือ มาตรการในการแก้ปัญหาที่นำเสนอโดยฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบันผมยังไม่เห็น” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ