อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้ง 'ค่ายครูพเนจร' ใช้ทุนส่วนตัว เดินทางสู่ชายขอบ สานโอกาส ส่งต่ออุดมการณ์ หวังสร้างเด็กเป็นฟันเฟืองแห่งพลเมืองคุณภาพ...
หยิบกระเป๋า! ลุกขึ้น! เตรียมตัวออกเดินทางได้!
ใจเย็นก่อน... ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่ได้จะชวนผู้อ่านทุกคนออกไปเที่ยวที่ไหน แต่จะชวนไปรู้จักเรื่องราวของ 'ครู' คนหนึ่ง ที่ก่อตั้ง 'ค่าย' เล็กๆ ขึ้น และเริ่มชักชวนคนอื่นแบกกระเป๋าออก 'พเนจร' ไปตามพื้นที่ห่างไกล ครูคนนั้นชื่อว่า 'แซ้งค์-ขัตติยะณัฐ มาฤทธิ์' เขาริเริ่ม 'ค่ายครูพเนจร' ครั้งแรก เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการสอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว 'ครูแซ้งค์' เริ่มออกพเนจรด้วยความเชื่ออันมุ่งมั่นในใจที่ว่า เงินทองหรือวัตถุ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ยังมีความรัก ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดี ที่คนเรายังสามารถมอบให้กันได้ สิ่งเหล่านี้เขาตั้งใจจะนำไปส่งต่อ เพื่อหวังว่ามันจะกลายเป็น 'พลังบวก' ที่เข้าไปช่วยเติมเต็ม 'จิตใจ' ของเด็กๆ ให้เติบโตได้อย่างมีพลังและมีคุณภาพ
อย่ารอช้า! เราไปทำความรู้จักกับ 'ครูแซ้งค์' และเรื่องราวของ 'ค่ายครูพเนจร' ให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ทีมข่าวฯ ได้พูดคุยมานับจากนี้...
...
จุดเริ่มต้นออก 'พเนจร' :
ครูแซ้งค์ บอกกับทีมข่าวฯ ว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบออกเดินทาง และชอบไปในพื้นที่ที่ไม่เคยไป เพื่อค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต และเป็นการออกไปเรียนรู้-แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงมุมมองของคนต่างถิ่น ประกอบกับ 'แซ้งค์' อยากเป็น 'ครู' อยู่แล้ว และในปี 2557 เขามีโอกาสได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ 'ทุนบุญรอดพัฒนานิสิตนักศึกษา' เมื่อเคยเป็น 'ผู้รับ' วันหนึ่งจึงเริ่มคิดอยากเป็น 'ผู้ส่งต่อ' โอกาสสู่ผู้อื่นบ้าง
"ผมอยากเป็นครูอยู่แล้ว และยังได้ทุนการศึกษา เลยคิดว่ามีเด็กอีกจำนวนมาก ที่ต้องการโอกาสคล้ายกัน ผมอยากให้คนอื่นได้มีประสบการณ์ที่ดีแบบที่ผมเคยได้รับ อยากส่งต่อความรู้สึก ส่งต่อพลังบวก จึงคุยและชักชวนเพื่อนอีกคนหนึ่ง ที่อยู่สาขาวิชาสังคมศึกษาว่า หาคนไปมอบสิ่งดีๆ เหล่านี้ด้วยกันดีกว่า"
จุดประสงค์ตั้งแต่แรก ไม่ได้คิดว่าจะต้องไปมอบของ เพราะเราเองไม่ได้มีมากกว่าคนอื่น เราอยู่ในช่วงวัยแห่งการแสวงหาบางอย่าง สิ่งที่เราพอจะทำได้จึงเป็นการใช้องค์ความรู้ เกี่ยวกับการสอนที่ได้ร่ำเรียนมา ไปแลกเปลี่ยนและทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน และคนในชุมชนให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
"เมื่อตกตะกอนเป้าหมาย และความตั้งใจได้แบบนั้น จึงเริ่มติดต่อประสานหาโรงเรียนที่จะไป เราเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม จึงรู้จักคนเยอะ เลยได้คอนเน็กชันให้ช่วยติดต่อ อย่างที่บอกไปว่าเราไม่ได้ไปสอน หรือเน้นวิชาการ แต่ไปช่วยครู และเป็นการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต อย่างเราอยู่ขอนแก่น มีวัฒนธรรมอีสาน ที่แรกที่เราไปคือแม่ฮ่องสอน เราก็เอาไปแลกเปลี่ยน ชาวบ้านและเด็กๆ ที่นั่นเขาก็ตื่นเต้นกันมาก"
เมื่อนำเรื่องราวทั้งหมดมารวมกัน จึงกลายเป็น 'จุดเริ่มต้น' ของการออก 'พเนจร' และครูแซ้งค์ยังบอกอีกว่า "ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้ก่อตั้ง แต่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนค่ายให้เกิดขึ้นได้ เพราะผู้ก่อตั้งคือทุกคน"
'พเนจร' ครั้งแรก ไร้แววผู้สมัครเข้าร่วม :
ค่ายแรกของ 'ครูพเนจร' ปลายทางของจุดหมายอยู่ที่ 'โรงเรียนบ้านห้วยปมฝาด' ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ทีมข่าวฯ ถามว่า "เริ่มต้นออกเดินทางและทำค่ายครั้งแรกมีอุปสรรคหรือไม่" ปลายสายหัวเราะขึ้นมาก่อนจะตอบกลับมา "มีครับ มีเยอะเลย"
...
"ค่ายแรกที่เริ่มออกเดินทาง เราไปด้วยรถไฟฟรี เพราะเป็นนักศึกษา ไม่ได้มีเงินทองมากมาย อยากจะเดินทางแบบที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น ไปกันเท่าที่เราจะไปไหว เมื่อลงจากรถไฟก็ไปโบกรถต่อ จนถึงจุดหมายในที่สุด แต่จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ ค่ายแรกที่เราเปิดรับสมัคร เราตั้งเป้าไว้ว่ารับ 10 คนแล้วกัน! เดี๋ยวคนจะสมัครเยอะเกินไป ปรากฏว่า... ไม่มีคนสมัครเลย"
ครูแซ้งค์ ให้ความเห็นในส่วนนี้ว่า อาจจะเพราะตอนนั้นเราเองยังเป็นนักศึกษา และมีความชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลาการเดินทางไม่มีอาจารย์ที่ปรึกษา ทุกคนดูแลกันเอง ไม่มีการให้หน่วยกิต หรือชั่วโมงกิจกรรม เพราะไม่ได้ไปในนามของมหาวิทยาลัย ส่วนคนที่ไปก็จะเสียค่าใช้จ่ายคนละ 1,000 บาท นำเงินของทุกคนมารวมกันเป็นทุน
"ส่วนตัวผมจะช่วยเพิ่มเติมในส่วนที่ช่วยได้ เพราะผมได้รับทุนบุญรอดพัฒนามา จึงนำทุนตรงนั้นไปต่อยอดซื้ออุปกรณ์ใช้สอนพิเศษ เมื่อได้เงินจากส่วนนั้นมา ก็นำมาสนับสนุนการทำค่ายเพิ่ม"
อดีตนักศึกษาทุน ยังคงหัวเราะให้กับความทรงจำทำค่ายครั้งแรก และเล่าต่อว่า ไม่มีคนสมัครเข้ามาจริงๆ ครับ เราเปิดรับอยู่ 3 เดือน ไร้วี่แววแบบผิดคาด จึงแก้ปัญหาโดยการ 'ชวนเพื่อน' เราไปทำความเข้าใจกับเพื่อนๆ และคนรู้จัก บอกเล่าถึงจุดประสงค์และเป้าหมาย ที่ต้องการทำให้พวกเขาฟัง ท้ายที่สุด...ค่ายแรกจึงมีคนร่วมเดินทางทั้งหมด 7 คน จากตอนแรกที่ตั้งเป้าไว้ 10 คน
...
จากผู้สมัครเลขศูนย์ สู่ผู้สมัครหลักพัน :
แม้ค่ายแรกจะ 'แป้ก' แต่รูปถ่ายจากการลงพื้นที่จริงครั้งนั้น ถูกถ่ายทอดออกสู่สาธารณะ ทำให้ 'ครูพเนจร' เริ่มกลายเป็นที่สนใจของคนอื่นๆ "เมื่อเห็นแบบนั้น ผมบอกกับเพื่อนว่า เราลองกันอีกสักทีไหม พอเพื่อนตกลงก็เลยมีการเปิดรับสมัครครั้งต่อๆ มา" ครูแซ้งค์กล่าว
"ตอนที่เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ผมก็ยังเน้นย้ำกับผู้สมัครและเข้าร่วมว่า 'ไปแลกเปลี่ยน' เพราะไม่อยากบอกว่าพวกเราไปให้ เมื่อไรที่เราคิดว่าเราไปให้ นั่นแสดงว่า เรารู้สึกว่าเรามีมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ ทุกคนมีบางสิ่งบางอย่างในตัวเองที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนกัน และไม่อยากให้คิดว่าไปเพราะพวกเขาน่าสงสาร เพราะเขาก็อาจจะมีความสุขในโมเมนต์ที่เขาเป็นอยู่ก็ได้ "
...
จำนวนคนสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเป้าหมายการเดินทางครั้งที่ 5 สู่พื้นที่ในจังหวัดตาก มีผู้สมัครเข้าร่วมมากถึง 1,409 คน ครูแซ้งค์บอกกับเราว่า "มันเป็นอะไรที่พีกมาก เราตกใจในยอดจริงๆ เพราะจากที่ไม่มีคนสมัครเลย วันนั้นยอดสมัครถึงหลักพันได้ คนสมัครก็มีความหลากหลาย เด็กสุดเป็นนักเรียนชั้น ม.6 ที่อยากเป็นครู"
ปัจจุบัน ครูแซ้งค์และผู้เข้าร่วม ได้ออกพเนจรไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้งด้วยกัน เฉลี่ยผู้สมัครแต่ละครั้งประมาณ 500 คน มีเพียงค่ายที่ 5 ที่ไปแตะถึงหลักพัน แม้ว่าคนจะสมัครและต้องการไปมากเท่าไร แต่การเดินทางแต่ละครั้ง ครูแซ้งค์ต้องการเพียง '10 คน' เท่านั้น
ที่เป็นเช่นนั้น เขาให้เหตุผลว่า "เรามองว่าจำนวนคนเท่านี้ เราสามารถดูแลกันได้อย่างทั่วถึง ไม่วุ่นวาย ส่วนการคัดคน จะเป็นการคัดคนผ่านคำถาม โดยที่เราจะไม่ดูชื่อผู้ตอบเลย ไม่สนใจว่าจะมาจากมหาวิทยาลัย หรือบริษัทไหน วัดกันที่คำตอบอย่างเดียว เราอยากได้คนที่เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ไปแบบพร้อมจะรับประสบการณ์ใหม่ๆ"
กิจกรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน :
อดีตนักศึกษาทุน บอกว่า การทำกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนในแต่ละพื้นที่ ล้วนแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง โรงเรียนที่อมก๋อย เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กๆ ไม่เคยจัดกีฬาสีกันเลย เมื่อพวกเราไปจึง 'จัดกีฬาสี' เด็กๆ ผู้ปกครอง และชาวบ้านก็ตื่นเต้น ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก กลายเป็นว่าทุกคน 'เอ็นจอย' และให้ความร่วมมืออย่างดี
หรือครั้งที่เคยไป 'มอตะหลั่ว' อ.อุ้มผาง จ.ตาก ตอนที่พวกเราเข้าไปกัน พวกเขาก็ดีใจและให้การต้อนรับด้วยไมตรี เพราะพื้นที่นั้น ไม่เคยมีนักศึกษาเข้ามาก่อนเลย ครั้งนั้นได้เอาการรำแบบอีสานไปแลกเปลี่ยน โชคดีที่เราไปช่วง 'ปีใหม่' และ 'คริสต์มาส' พอดี จึงทำให้เราได้เห็นว่าพวกเขาฉลองกันอย่างไร กลายเป็นว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ที่ต่างคนก็ต่างตื่นเต้น
ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า แล้วไปแต่ละครั้ง ใช้เวลาอยู่ร่วมกับเด็กๆ และชาวบ้านทั้งหมดกี่วัน?
ครูแซ้งค์ ตอบว่า "ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ไม่รวมวันเดินทาง"
"ส่วนการพัก เราจะไม่นอนรวมกัน แต่เราจะแบ่งคนไปนอนตามบ้านชาวบ้าน อย่างไปกัน 10 คน เราก็จะจับคู่ให้บ้านละ 2 คน คนที่หาบ้านให้ คือ ผู้นำชุมชน ซึ่งพวกเราเรียกกันว่า 'พ่อหลวง' ชาวบ้านเขาก็แฮปปี้กันมากที่พวกเราไป ทุกคนล้วนใจดี ได้ใช้เวลาที่สนุกและมีความสุขไปด้วยกัน"
ความประทับใจ-ความลงตัว-ความแตกต่าง ณ มอตะหลั่ว :
ก่อนจะได้สนทนากัน 1วัน ทีมข่าวฯ ส่งคำถามเบื้องต้นให้ครูแซ้งค์ มี 1 ข้อที่เขาบอกว่า "ตอบยากมาก" คือคำถามที่ว่า "การเดินทางครั้งไหนประทับใจมากที่สุด"
ครูแซ้งค์ กล่าวว่า "ตอนเห็นคำถามนี้ ผมก็มานั่งรีเช็กย้อนความคิดตัวเองว่า เราประทับใจครั้งไหนมากที่สุด แต่ยอมรับเลยครับว่าตอบยากมากจริงๆ" ปลายสายกล่าวจบพร้อมหัวเราะออกมา
เขาเอ่ยต่อว่า หากจะให้เลือกจริงๆ ก็คงเป็นที่ 'มอตะหลั่ว'
"ทั้ง 7 ครั้งที่เราเคยไปมาทุกที่เอ็นจอยหมด แต่ที่นั่นดูจะเอ็นจอยและแสดงออกมามากเป็นพิเศษ มีหลายช่วงเวลาและหลายเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจ เราเดินทางไปโรงเรียนที่มอตะหลั่ว โดยการขอติดรถหลวงพ่อรูปหนึ่ง ซึ่งท่านให้การตอบรับ และช่วยเหลือพวกเราอย่างดี โดยส่วนตัวแล้วผมนับถือคริสต์ แต่การไปทำกิจกรรมครั้งนั้น มีทั้งพุทธ คริสต์ และชาวบ้านเชื่อในฤษีอีก
ทำให้ผมเห็นความแตกต่างเต็มไปหมด แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ทุกคนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เวลาเขาจะทำกิจกรรมอะไร เขาจะถามเราเสมอว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ มันเป็นความสวยงามที่เราพบในความแตกต่าง ทุกคนให้ความเคารพกัน ไม่ก้าวล่วงความเชื่อของแต่ละคน มันเป็นความประทับใจที่รู้สึกพิเศษกว่าที่อื่น แต่ถึงอย่างนั้น ทุกที่ก็มีเรื่องราวดีๆ ให้น่าจดจำทั้งสิ้น"
บ้านหลังใหม่ หลังการพเนจร :
สิ่งที่ได้กลับมาจากการเป็น 'ครูพเนจร' คือ 'ความสัมพันธ์' ที่ดี ครูแซ้งค์ เล่าความน่าประทับใจให้เราฟังว่า ปัจจุบันยังมีการติดต่อกับชาวบ้านที่เราไปนอนด้วย ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วกี่ปี ยังมีความปรารถนาดีให้กันอยู่เสมอ มีการส่งของแลกเปลี่ยนให้กัน
"ตัวอย่างเช่น กระเป๋าสะพายข้าง ที่ปกติเขาจะทอให้ลูกหลาน เขาก็ส่งมาให้เพราะว่าคิดถึงเรา มันกลายเป็นภาพจำใหม่ เหมือนเราเป็นญาติของพวกเขา การกลับไปหาเขาอีกครั้ง จึงเหมือนเป็นการได้กลับบ้าน มันเป็นความประทับใจและความทรงจำที่สวยงาม ที่ยังคงชัดเจนอยู่ในใจเสมอมา"
แล้วนอกจากการแลกเปลี่ยน มีอะไรที่ก๊วนครูพเนจรได้มอบให้ทุกคนอีกบ้าง? ครูแซ้งค์ ตอบอย่างทันท่วงทีว่า "ความสุข"
"จากที่ได้ไปสัมผัสมาจริงๆ เรารู้เลยว่า หลายอย่างที่เราไปทำร่วมกับเขา เขาไม่เคยทำกันมาก่อน ทั้งไม่เคยเห็น และไม่คิดว่าจะมีแบบนี้อยู่ มันมีพลังแห่งรอยยิ้มที่ถูกส่งออกมา
ความสุขไม่ได้วัดกันที่การพูดออกมาว่า 'มีความสุข' แต่เขาได้เป็นตัวเองและเอ็นจอยทุกครั้งที่อยู่กับเรา เขาเต้นและเล่นอย่างเต็มที่ ได้มีเวลาที่น่าจดจำร่วมกัน สิ่งเหล่านั้นคือความสุข ที่เราได้ส่งต่อระหว่างกัน อีกอย่างคือ เราไม่ได้เน้นไปสร้าง 'วัตถุ' แต่เราเน้นไปสร้าง 'คน' ทั้งคนที่ไปในนามของครูพเนจร และคนในพื้นที่"
ความยากลำบากในพื้นที่ห่างไกล :
จากการเดินทางทั้งหมด 7 ครั้ง ครูแซ้งค์พบว่า 'ความลำบาก' ของเด็กในพื้นที่ห่างไกล มีทั้งหมด 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก คือ ความลำบากในด้านการศึกษา เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตามกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ทำให้จำนวนครูนั้นมีน้อย ครูหนึ่งคนจึงต้องทำหลายหน้าที่และหลายบทบาท
"เราลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเราทำงานเอกชน ขอบเขตของงานจะถูกระบุไว้ชัดเจน แต่เมื่อเป็นครูแล้ว จะถูกมองว่า ต้องบูรณาการเรื่องต่างๆ และสามารถทำได้ทุกอย่าง แต่อาจจะลืมคิดว่า คนหนึ่งคนไม่สามารถทำได้ทุกสิ่ง ไม่ใช่ว่าบุคลากรที่เคยเจอมาไม่เก่ง แต่ทรัพยากรบุคคลไม่เพียงพอ
อย่างตอนที่ได้ไปตามโรงเรียน ครูต้องทำอาหารให้เด็กกินด้วย แต่ที่โรงเรียนของเรามีคนทำอาหารให้ มันทำให้เห็นว่า แม้จะตำแหน่งเดียวกัน แต่ความรับผิดชอบต่างกัน เขาอาจจะมีภาระมากกว่าเราด้วยซ้ำ"
"ในส่วนของครู เราก็ย้อนดูไปถึงหลักสูตรการสร้างครู และการทำงานของครู อยากให้มองว่าครูก็เป็นเพียงคนคนหนึ่ง ทำงาน ดูแลลูกศิษย์ และรับผิดชอบบางหน้าที่ได้ แต่ครูก็ต้องมีเวลาพัก พวกเขาไม่ใช่คนที่ต้องแบกรับโลกทั้งหมดไว้
การปลูกฝังความเป็นครู หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคนอยากเป็นครู ก็ต้องเริ่มตั้งแต่มัธยม มีกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น และให้ครูได้เป็นครูจริงๆ ที่สำคัญอย่าลืมว่า ครูก็มีชีวิตของเขาเอง"
ความลำบากส่วนที่สอง…
อีกส่วนเป็นเรื่องของ เครื่องแต่งกาย ถ้าได้เห็นของจริง ทุกคนอาจจะมองว่า มันใช้ไม่ได้แล้วและควรทิ้ง แต่พวกเขายังคงใช้ต่อ เพราะพวกเขาไม่ได้มีเครื่องแต่งกายให้เลือกมากมาย
ครูแซ้งค์บอกว่า เคยเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าครั้งหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ค่อยดีสักเท่าไร
"ผมไม่เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่มีภาพจำ และความรู้สึกกับคำว่าบริจาคเป็นอย่างไร เพราะพวกเราเคยได้รับเสื้อผ้าในลักษณะเหลือทิ้ง ซึ่งอาจจะต้องเริ่มปรับมุมมองกันเล็กน้อย ของบริจาคก็คือของที่ต้องพร้อมใช้งาน
เราจึงเปลี่ยนการรับบริจาค เป็นการช่วยกระจายข่าวว่า โรงเรียนไหนขาดอะไร และให้ส่งของไปตามที่อยู่ และประกาศชัดเจนว่า เสื้อผ้าต้องทำความสะอาดแล้ว เพื่อให้ตระหนักรู้ด้วยว่า การบริจาคไม่ใช่หนทางในการทิ้งของที่ไม่อยากได้”
ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า แล้วความต่างของเด็กชายขอบ และเด็กในเมือง คืออะไร?
"ในความเป็นมนุษย์ไม่ได้ต่างกันเลย พวกเขาเท่าเทียมกับเราทุกคน อย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่แรกว่า ค่ายครูพเนจรคือการไปแลกเปลี่ยน ดังนั้นเขาก็ต้องเท่าเทียมกับเราอยู่แล้ว เราจึงมองว่าสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่สิ่งที่ต่างจริงๆ เป็นเรื่องของระบบการศึกษา ครูของพวกเขายังไม่เพียงพอ" ครูแซ้งค์ตอบ
ความสำคัญของโอกาสทางการศึกษา :
สิ่งหนึ่งที่ 'ครูพเนจร' ได้เรียนรู้หลักๆ คือ "ทุกพื้นที่ต้องการครู" และ "โอกาสทางการศึกษา"
ครูแซ้งค์ กล่าวว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ เมื่อไรที่บุคคล 'ชายขอบ' ได้รับการศึกษาที่ทัดเทียม และเทียบเท่ากับคนที่อยู่ 'ตรงกลาง' เมื่อนั้นจะทำให้ประเทศพัฒนาได้อย่างรอบด้าน
"เราเคยถามนักเรียน ป.6 ในโรงเรียนที่เคยไปทำค่ายว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร" คำตอบจะไปในทิศทางเดียวกันหมด คือ ตำรวจ ครู หมอ พยาบาล ซึ่งเขาไม่รู้ว่า ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่เขาอาจจะทำได้ เพียงแต่เขาต้องได้รับรู้ นั่นจึงแสดงว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า การศึกษาเปลี่ยนแปลงคน คนเปลี่ยนแปลงระบบ และระบบจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น"
ครูพเนจร แสดงทรรศนะต่อว่า นอกจากนั้นนักเรียนควรได้รับการศึกษาในสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่แค่นักเรียนชายขอบ แต่หมายถึงโดยรวมทั้งประเทศ เช่น วิชาภาษี เราต้องทำให้เขาเห็นว่า เขาจ่ายไปทำไม จ่ายไปเพราะอะไร ทำเช่นนี้แล้วจะได้อะไร มันเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจที่ดีตั้งแต่เด็ก เราต้องสอนเรื่องที่ทันท่วงที กับการเปลี่ยนแปลงของโลก
สานโอกาส ส่งต่ออุดมการณ์ :
อดีตนักศึกษาทุน กล่าวถึงการเดินทางของครูพเนจรไว้ว่า… เราเป็นกลุ่มเล็กๆ สิ่งที่เราช่วยเหลือสังคม อาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศไทย เปลี่ยนแปลงในทันที แต่คนที่ไปกับเรา เขาจะเริ่มตระหนัก และรับรู้ได้ถึงความสำคัญของ 'การศึกษา' เพราะเราไปในพื้นที่ ที่โอกาสทางการศึกษา อาจจะยังเข้าไปไม่ถึงสักเท่าไร การไปเยือนทุกๆ ครั้งจึงแฝงไปด้วย 'การสร้างความตระหนักรู้' ให้กับคนที่ไป และคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
เมื่อคนที่ไปเจอสถานการณ์จริง และได้เห็นว่า 'การศึกษา' เป็นเรื่องสำคัญมาก เขาก็อาจจะ 'จุดประกาย' ความรู้สึกบางอย่าง เห็นคุณค่ามากขึ้น พวกเขาอาจจะเริ่มคิด ที่อยากส่งต่อโอกาสและอุดมการณ์ที่ได้สัมผัสมา ซึ่งผมเชื่อย่างนั้น
"ผมได้นั่งรีเช็กอีกรอบว่า คนที่เคยไปค่ายมา ชีวิตพวกเขาตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็เห็นว่า มีน้องคนหนึ่งตอนที่ไปเขาอยู่ ม.6 ตอนนี้ได้ศึกษาต่อในสายครู และกำลังจะเรียนจบ ผมมองว่า เฮ้ย! มันเป็นเรื่องที่สุดยอดมากนะ ที่การไปค่ายครั้งนั้น ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เขา
เราลองคิดต่อว่า ถ้าในอนาคตน้องคนนี้ นำแนวคิดที่เคยได้รับไปใช้ต่อ ไปทำค่ายเพิ่ม อาจจะมีลูกศิษย์รุ่นต่อๆ ไปของเขา เกิดแรงบันดาลใจต่อไป ในอนาคตมันอาจจะกลายเป็นเครือข่าย ที่แผ่ออกไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น"
ครูแซ้งค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ออกผลภายในหนึ่งวัน แต่ต้องใช้เวลาสั่งสมทุกอย่าง เมื่อวันหนึ่งผลผลิตมันงอกงาม มันอาจจะสวยงามกว่าที่เราเคยจินตนาการไว้ก็ได้
ทิศทางครูพเนจรในอนาคต :
ปีหน้า 'ครูพเนจร' จะเริ่มเดินทางครั้งที่ 8 และในอนาคตก็จะมีการทำค่ายต่อไปเรื่อยๆ ครูแซ้งค์ บอกว่า อยากให้คนที่มีโอกาสได้มาเข้าร่วม 'พเนจร' นำแนวคิดตรงนี้ไปใช้ กระจายส่งต่อออกไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องใช้ชื่อนี้ก็ได้
ปัจจุบัน 'ครูแซ้งค์' เป็นคุณครูอยู่ที่ โรงเรียนหนองไผ่มอดินแดง จ.ขอนแก่น ทีมข่าวฯ จึงถามครูแซ้งค์ นักพเนจร ก่อนการสนทนาจะจบลงว่า "เป็นครูไม่ท้อหรือ?"
เขาตอบอย่างภูมิใจว่า "ไม่ท้อครับ" ตอนนี้ได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างเต็มที่ ได้รับผิดชอบในสิ่งที่ทำได้ และทำออกมาได้ค่อนข้างน่าพอใจ เพื่อนร่วมงานก็ดีเพราะเป็นคนในรุ่นใกล้ๆ กัน ทำให้เราเข้าใจกัน ส่วนผู้อำนวยการที่อยู่กับเรา ท่านก็ให้โอกาสได้ทำในหลายๆ อย่าง นอกจากนั้น ยังมีการเดินทางของ 'ครูพเนจร' ที่เราเลือกทำอยู่ต่อไป สิ่งนี้ก็ช่วยเติมเต็มความรู้สึกและสิ่งที่เราชอบทำ
"การที่เราเดินทางไปต่างถิ่น และทำกิจกรรมแบบนี้ มันก็เหมือนกับการไปทำงาน เราในฐานะที่ได้เงินเดือนจากภาษีประชาชน จึงอยากใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม ไปทำงานนี้ และเติมเต็มความรู้สึกของตัวเองด้วย ที่พูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า คนที่อยากพักอยู่เฉยๆ นั้นผิดอะไร เราเพียงมีแนวทางของเราแบบนี้ ทุกคนล้วนใช้ชีวิตแตกต่าง และมีภาระที่ไม่เหมือนกัน"
"ถ้าทำพลาดก็รู้จักให้อภัยตัวเอง เมื่อไรที่เราเข้าใจตัวเอง เคารพตัวเอง และรักตัวเอง มันจะทำให้เราเกิดพลังบวกที่ส่งต่อได้ พูดง่ายๆ ว่า เป็นความรู้สึกที่ ‘เฮลตี้’ เมื่อความเฮลตี้นี้ถูกส่งต่อให้ผู้อื่น และผู้อื่นก็ไปส่งต่อด้วย มันจะกลายเป็นฟันเฟือง ที่สามารถขับเคลื่อนเรื่องราวดีๆ ช่วยจรรโลงและสร้างสรรค์ให้สังคมดีขึ้น เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบทวีคูณ"
มาถึงตรงนี้ หากคุณผู้อ่านอยากจะลองออกไป 'พเนจร' ดูสักครั้ง ก็เข้าไปกดติดตามแฟนเพจ 'ครูพเนจร' ไว้ได้เลย จะได้ไม่พลาดเวลาครูแซ้งค์ประกาศรับสมัคร
หรือหากใครไม่ได้ไป ก็สามารถเป็นกำลังใจ ส่งต่อพลังบวกให้ ก๊วนครูพเนจร ได้มีแรงสร้างสรรค์ และจุดประกายสิ่งดีๆ ในสังคมต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : ครูพเนจร
อ่านเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ :