คุยกับ สถาปนึก นักออกแบบพื้นที่เกษตรที่ชีวิตผกผัน จากคนที่ไม่ชอบงานเกษตร กลายเป็นสานต่องานจากพ่อ ปลดหนี้ 3 แสน ด้วยวิถีพอเพียง พร้อมแนะวิธีการบริหารจัดการ...
ปัจจัย 4 คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และ ยารักษาโรค
แต่...ปัจจุบัน คนมักคิดและนึกถึง “ปัจจัย” ที่ 5 ก่อน นั่นก็คือ “เงิน”
หลายครั้งหลายหน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น “รุ่นเล็ก” หรือ “รุ่นใหญ่” หรือ ปราชญ์เกษตรฯ ทุกคนมักเจอ “วิกฤติ” ก่อนโอกาสเสมอ จากนั้นจะหันมาสำรวจตัวเอง และหาทางรอดด้วยวิถีเกษตรพอเพียง...และครั้งนี้ก็เช่นกัน กับ “บุญล้อม เต้าแก้ว” ผอ.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการจัดการพื้นที่การเกษตร และควบคุมการขุดโคกหนองนาโมเดลตามภูมิสังคม ที่เคยเจอพิษเศรษฐกิจปี 2540 จากคนที่หาเงินเก่ง ฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินมือเติบ สุดท้าย เขาต้องหันหลังกลับมาหา “ครูคนแรก” นั่นก็คือ “พ่อ” ของเขาเอง
...
ชีวิตที่ผกผันของ "บุญล้อม เต้าแก้ว"
บุญล้อม เล่าว่า เดิมทีเกิดในครอบครัวเกษตรกร ปลูกข้าว และก็เห็นว่า “พ่อ” ยิ่งทำก็ยิ่งจน ปลูกข้าว ได้เงิน ใช้หนี้ ธ.ก.ส. เรียกว่า ชีวิตตามวัฏจักรของเกษตรกรทั่วไป และมองว่าการเป็นเกษตรกร ไม่รวย เราเห็นชีวิตแบบนี้จึงมีความรู้สึกอยากจะหนี ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาว่าเพราะอะไรจึงเป็นแบบนี้ เพียงแต่คิดอย่างเดียวคือ อยากจะหนี เวลานั้นคิดเพียงอย่างเดียว คือตั้งใจอยากจะเรียน หากจบมาแล้ว ก็จะไปหางานทำเพื่อหาเงินด้วยวิธีอื่น หลังเรียนจบประมง ทำงานประจำ 1 ปี ก็ลาออก หันมาเป็นเซลส์ขายวัสดุก่อสร้าง จากนั้นก็กลับมาที่บ้านอีก ขอเงิน “พ่อ” เพื่อไปลงทุนค้าขาย สบู่ ยาสีฟัน ของที่มีขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่เราเปิดแผงตามตลาดนัด
“ขายดีมาก เช้าขายได้กำไร 3,000 บาท เย็นขายอีกรอบ ได้อีก 3,000 บาท (ยุคนั้น) เมื่อได้เงิน กำไรดี กลายเป็นว่า เราก็ใช้จ่ายเยอะตามไปด้วย ดื่ม กิน เที่ยว เราทำหมด ชีวิตวนลูปอย่างนี้ โดยไม่เคยคิดว่าจะมีวิกฤตการณ์อะไรเข้ามา กระทั่งเจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540”
นายบุญล้อม เล่าให้เห็นภาพว่า เวลานั้น คนซื้อของน้อยลง คนที่เคยเป็น “ลูกค้า” ของเรา ก็มานั่งขายของเหมือนๆ กับเรา คนขายของมากขึ้น รายได้เราที่เคยได้ก็น้อยลง แต่...เราใช้ชีวิตเหมือนเดิม ใช้จ่ายเหมือนเดิม คิดอย่างเดียว เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็มีเงิน ขายของได้
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” จึงเริ่มหยิบยืม กู้เงิน จากร้อยละ 3 ร้อยละ 5 ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 15 กลายเป็นว่าเวลานั้น ตัวเองก่อหนี้มากมายกว่า 3 แสนบาท สุดท้ายจนต้องกลับมาหา “พ่อ” ให้ช่วยอีกครั้ง
เปลี่ยนวิถีจากชาวนา หันปลูกพืชผสมผสาน
ตอนที่กลับมา พ่อเปลี่ยนชีวิต จากวิถีชาวนา ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นเกษตรผสมผสานแล้ว ตั้งแต่ปี 2535 (ผ่านมา 5 ปี) โดยคุณพ่อได้ไปดูตัวอย่าง ข้างวัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ในหลวง ร.9 มาทำไว้ จากนั้นพ่อก็กลับมาปรับพื้นที่ของตัวเองที่มี 20 ไร่ ให้กลายเป็นเกษตรผสมผสาน
“พ่อชวนให้เรามาทำ เราบอกว่าไม่อยากทำ เพราะอยากจะไปทำอะไรที่ได้เงินเร็ว ไขว่คว้ากันไป... แล้วก็ล้ม ไปไม่รอดอีกอยู่ดี”
หลังปี 2540 ด้วยความที่ไปไหนไม่ได้ พ่อก็กลับมาถามอีกครั้งว่าอยากทำอะไร... หันซ้าย หันขวา เจอป่าไผ่ ซึ่งอยู่ด้านท้ายสุดของแปลง ก็เลยเสนอว่า อยากจะเพาะ “เห็ดนางฟ้าภูฐาน” เพราะราคาดี กิโลกรัมละ 50 บาท
ซึ่งก็เหมือนเดิม กลับมาขอ “ยืมเงิน” คุณพ่อเพื่อจะมาลงทุน (อีกครั้ง) ซึ่งก็เขียนแผนนำเสนอเลย มีโรงเรือน ใช้ทุนเท่าไร ลงเห็ด 2 พันก้อน ใช้เงินเท่าไร...คุณพ่อถาม บอกว่า “เงินสามหมื่น” มีให้ แต่ขอถาม 3 ข้อ...
1. เห็ดนางฟ้าภูฐาน ออกมาจะขายให้ใคร...ตอบ ไม่รู้ แต่คิดว่ามีที่ขาย
2. การดูแลรักษาเห็ดนางฟ้า เป็นอย่างไร...ตอบ ไม่รู้ รู้แค่ว่าขายกิโลกรัมละ 50 บาท คูณ 50 จะได้เงินเท่านี้
3. โรคของเห็ดนางฟ้า เป็นอย่างไร...ตอบ ไม่รู้ รู้แค่ว่าทำได้จะขายดี
“ถ้าให้เอ็งไป เจ๊งแน่...งั้นเอางี้ เอ็งไปตัดไม้ไผ่มาทำโรงเรือนเล็กๆ สัก 1 เรือนก่อน ขอขนาด 3 คูณ 4 เมตร จากนั้นไปซื้อก้อนเชื้อ 200 ก้อน มาทดลอง และลองดูแลมันดู...”
ผอ.ศูนย์ฯ สวนล้อมศรีรินทร์ ยอมรับว่า ตอนนั้นเห็ดชุดแรกที่ออกมา ไม่กล้า แค่จะไปนั่งขาย เพราะอาย ไม่รู้จะขายตรงไหน จากนั้นก็กลับมารดน้ำปลูกเห็ดต่อ ซึ่งเราก็ดูคนอื่นทำ เขาสอนว่ารดน้ำข้างฝาให้ชุ่มนะ
...
“ผมก็ดูว่าก้อนเชื้อเห็ดไม่เปียก แบบนี้มันจะออกดอกหรือ จึงอัดน้ำเข้าไปในรูก้อนเชื้อ จะได้ออกดีๆ ปรากฏว่า 3 วันต่อมา เริ่มมี ราดำ ราเขียว เกาะอยู่ เราก็นึกว่ามันเป็น “สปอร์” ของเห็ด ก็ปล่อยไป...สุดท้าย “เน่า” ทั้งโรงเรือน มันก็ได้แต่ฉุกคิดว่า หากเราทำอะไรแล้วไม่ศึกษาแนวทางที่ถูกต้องนั้นไปไม่รอดแน่ๆ”
เริ่มต้นนับ 1 ศึกษาวิถีปราชญ์เกษตร
บุญล้อม เล่าว่า เพราะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวิถีเกษตรฯ เลย พ่อจึงส่งไปเรียนกับ อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งก่อนเข้าโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ต้องไปเรียนรู้กับ “อาจารย์ยักษ์” เสียก่อน ซึ่งพ่อให้ไป เราก็ไป 4 คืน 5 วัน
การได้ไปเรียน เราได้เห็น อาจารย์ยักษ์ พูดถึงในหลวง ร.9 พร้อมอธิบายวิธีการต่างๆ พร้อมกับได้ฝึกปฏิบัติและทำ...
สิ่งที่ได้กลับมา คือ วิธีการทำงานที่แปลกกว่าคนอื่น ได้เรียนรู้เรื่อง “ดิน” และการปรับปรุงดิน ไม่ว่าดินนั้นจะมีสภาพอย่างไร จะแข็งกระด้างขนาดไหน ก็สามารถทำได้ โดยเป็นวิธีการจากในหลวง ท่านสอนวิธีการปรับปรุงดินจนสามารถปลูกพืชได้ จากนั้นจึงเรียนรู้สิ่งที่ในหลวง สอน และเรายังได้ขอโอกาสติดตามอาจารย์ยักษ์ทำงานไปด้วย เมื่อได้ติดตาม ก็ได้เรียนรู้วิธีการ พาเกษตรกรออกจากวิถีเดิมๆ ที่เป็นอยู่ หรือ “วงจรอุบาทว์” ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า พร้อมแนะนำวิธีการต่างๆ ให้เรานำมาใช้ นี่คือแนวทางที่ไม่เป็นภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นการฟื้นฟูให้ทุกอย่างดีขึ้น...นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำงานด้านนี้ต่อ..
...
“สิ่งที่ได้เห็นกับตา ทำให้รู้สึกคลายปมในใจที่เราเคยไม่ชอบ ไม่อยากทำ แต่พอได้ลงมือทำ ได้เห็นวิธีการกู้วิกฤติ ซึ่งชีวิตเหล่านั้น ก็สะท้อนมาถึงตัวเรา นี่คือการเรียนการสอน ที่ทำให้เราต้องกลับมาสู้ชีวิตของตนเอง เพื่อหลุดพ้นหนี้ 3 แสน”
มองหา “ครู” จากที่อื่น ทั้งที่ “ครู” อยู่ในบ้าน
นายบุญล้อม บอกว่า ที่ผ่านมา เขารู้สึกว่า พยายามมองหาครู เพื่อมาสอนวิชาเอาตัวรอด แต่เรากลับลืมว่า “ครู” ที่สอนเราก็คือ “พ่อ” เรา พ่อได้เรียนรู้ศาสตร์จากในหลวง เปลี่ยนอาชีพ ทำนา ซึ่งเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว มาทำเกษตรผสมผสาน จนประสบความสำเร็จ แต่เราไม่ได้มองสิ่งที่พ่อทำเลยว่าเป็นอย่างไร รู้อย่างเดียว คือ พ่อทำเกษตร แล้วไม่รวย แต่...พอมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต เรากลับมาขอเงินพ่อทุกครั้ง และพ่อก็ให้ทุกครั้ง
พอเรามาคิดย้อน ก็เริ่มเข้าใจ เพราะพ่อเองก็เปลี่ยนจากทำเกษตรเชิงเดี่ยว ตั้งแต่ปี 2535 และก็ประสบความสำเร็จ เราจึงกลับไปเรียนรู้วิธีการของพ่อ และน้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติจริงๆ ในแปลงของตนเอง... ซึ่งพ่อเราเองวางแนวทางไว้ ด้วยการสร้าง “แปลงปฏิบัติ”
...
"ผมไปเจออาจารย์ทรงชัย วรรณกุล เจ้าของโมเดล "บ้านโต้ง" กับ "บ้านต้า" คำว่า "บ้านโต้ง" คือ บ้านที่อยู่ทุ่งนา โดยมีการขุดหนองน้ำ และเอาดินมาทำเป็นลานกว้างๆ ปั่นหัวคันนาให้ใหญ่ มีการยกพื้นสูงเหมือนบ้านโบราณ และเวลาน้ำท่วม ก็สามารถจอดเรือได้ หากน้ำไม่ท่วมก็แขวนเรือไว้ หากน้ำแล้งก็จะเจอพื้นดิน นี่คือการเตรียมตัวรองรับทุกสถานการณ์ หากมาสมัยนี้จะเรียกว่า "โคก หนอง นา" ซึ่งถือเป็นบริบทเดียวกันที่คนโบราณเขาทำกัน..."
หลักการออกแบบ "แปลนเกษตร"
ผอ.ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ เผยเทคนิคการออกแบบแปลนเกษตรว่า ควาามจริงผมก็เรียนมาจากอาจารย์ยักษ์ ส่วนวิธีการของผมจะแตกต่าง ไม่เรียกว่า "สถาปนิก" แต่จะเรียกว่า "สถาปนึก" คือเราต้องเห็นพื้นที่ก่อน ว่าอะไรอยู่ตรงไหน จากนั้นก็จะนึก และมองภาพออกอะไร ควรอยู่ตรงไหน บ้าน คลอง อยู่ตรงไหน
ความลึกซึ้งในการทำงานของอาจารย์ยักษ์ คือ แกะออกมาจากงานที่ในหลวง ร.9 ทรงงาน โดยมีการลงพื้นที่จริงๆ แก้ปัญหาจริงๆ และเมื่อทำบ่อยๆ ทำให้เรารู้และมองภาพออกว่าควรจะออกแบบแปลนเกษตรแต่ละที่แบบไหน ซึ่งหลักๆ ก็คงเป็นหลักการ 30 30 30 และ 10 ซึ่งถือเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่โคกหนองนา โมเดล
30 น้ำ 30 นาข้าว 30 ปลูกพืช และที่อยู่อาศัยอีก 10 แต่สำหรับของเรา... หากฝนตกลงมา เรามาดูสถิติย้อนหลัง 10 ปี สมมติว่า ฝนตก 100 ลบ.ม. เราก็มาดูว่า เราจะเก็บน้ำ 100 ลบ.ม. ได้อย่างไร ตรงไหนบ้าง คือ ในหนอง ในนา คลองไส้ไก่ หรือพื้นผิวดิน เราจะคำนวณเหล่านี้เพื่อหาทางเก็บน้ำฝนได้ทั้งหมด เป็นการตอบโจทย์ ซึ่งทุกอย่างถูกคิดและออกแบบ
"พื้นที่ปลูกพืช ไม่ใช่การแบ่งว่า 30% ตายตัว แต่เราสามารถปลูกได้ในขอบหนอง ขอบนา ต่างๆ ได้ด้วย บนคันนา หรือโคกที่จะสร้างบ้าน เป็นการปลูกเพื่อเป็นการกระจายการสร้างป่า แต่สิ่งสำคัญสำหรับผม ผมจะไม่ทิ้งนาข้าว เราไม่ได้ปลูกข้าวไว้ขาย เพราะราคาข้าว มีมูลค่าน้อยกว่าผัก ผลไม้ไม่ได้ ซึ่งในหลวง ร.9 ท่านบอกเสมอว่าให้ปลูกข้าวไว้กิน เพราะหากเกิดยามวิกฤติ ข้าวก็มีความสำคัญ"
เวลานี้ข้าวขายกิโลกรัมละ 10 บาท ตันละ 1 หมื่น เมื่อขายได้ เราจะเอาเงินไปแลกพริก กิโลกรัมละ 100 บาท หากเกษตรกรปลูกข้าวอย่างเดียว ต้องใช้ข้าวขนาดไหนเพื่อไปแลกผักผลไม้กลับมา หรือนำเงินมาซื้อกิน แล้วทำไมเราไม่ปลูกพืชต่างๆ เพื่อให้เป็นของกินไว้ในบ้าน หากมีเหลือค่อยแบ่งปันและขาย
ความจริงมีที่ดิน 1 ไร่ ก็สามารถปลูกข้าวได้ เราอาจจะใช้วิธีการทำเป็นบ่อวงปูน ทำเรียงเป็นทางเดิน 20
ปูน ทำดีๆ สามารถทำเป็นนาได้มากกว่า 2 ไร่ ด้วยซ้ำ...เราต้องบริหารจัดการสิ่งที่เราจะทำ ไม่ใช่ทำแบบสมัยก่อน ในรุ่นพ่อแม่เราเคยทำ
"พ่อผมเปลี่ยนจากวิถีเดิม เป็นแนวทางที่เข้าใจวิถีการเกษตรมากขึ้น โดยน้อมนำแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำไว้ให้ดูมากมาย กว่า 4 พันโครงการ 4 หมื่นกว่าทฤษฎี ผ่านการคิด ลงมือทำ มาแล้ว ในขณะที่ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็นำแนวคิดต่างๆ มาสืบสานต่อยอด" นายบุญล้อม ทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ