จากกระแสละคร "พรหมลิขิต" ย้อนดู พงศาวดาร ปลายอยุธยา การชิงอำนาจ จากความรัก สู่ความแค้น ในยุคพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ถึงขั้นจะไม่ถวายพระเพลิงบรมศพ...

เรียกว่า กำลังเข้มข้น สำหรับละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ที่หยิบยก “ส่วนหนึ่ง” จากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ในปลายยุคทอง สมัยอยุธยา โดยเฉพาะประเด็นการช่วงชิงอำนาจ ของพระเชษฐา และ พระอนุชา ที่เดิมเคยรักใคร่กันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) และ สมเด็จพระราชวังบวรฯ วังหน้า (เจ้าฟ้าพร) หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เพื่อให้เนื้อหากระชับและเข้าใจได้ง่าย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงชวน ดร.อุเทน วงศ์สถิตย์ หัวหน้าภาควิชาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาคุยประเด็น ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น สู่ความชิงชังในบั้นปลาย ถึงขั้นจะไม่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ความกลมเกลียว พระเจ้าเสือ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร 

ดร.อุเทน เลกเชอร์ ประวัติศาสตร์ปลายสมัยอยุธยา โดยเฉพาะพระราชประวัติ ของ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร ว่า สองพระองค์ทรงเป็นพระเชษฐา และ พระอนุชา ที่รักใคร่กันมาก ในขณะที่ “พระเจ้าเสือ” ผู้เป็นพระราชบิดา กริ้วโกรธง่าย และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงความรักใคร่กันระหว่าง พระเชษฐา และพระอนุชา คือ...

...

พระเจ้าเสือ ทรงจะเสด็จฯ คล้องช้าง และมีรับสั่ง ให้เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร ช่วยกันถมบึงแห่งหนึ่งในนครสวรรค์ (ไม่มีบันทึกชื่อบึง) เพื่อเป็นทางข้ามโดยไม่จำเป็นต้องเสด็จฯ อ้อม ซึ่งพระองค์ทรงคาดโทษไว้ว่าต้องถมให้เสร็จภายในคืนเดียว 

เมื่อทั้ง 2 พระองค์ ช่วยกันถมเสร็จ พระเจ้าเสือทรงช้าง เสด็จฯ ผ่าน ปรากฏว่าเท้าช้างติดหล่ม พระเจ้าเสือ จึงคาดโทษว่าจะประหารทั้งคู่  

โดย พงศาวดาร ในฉบับ พระราชหัตถเลขา ระบุว่า เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ระดับเจ้าฟ้า ที่เคยถูกคาดโทษประหาร ซึ่งที่สุดแล้ว เหตุการณ์นี้ มีการอัญเชิญ แม่เลี้ยง และพระอาจารย์พระเจ้าเสือ มาห้ามและขอพระราชทานอภัยโทษ  

ความสนิทชิดเชื้อ ระหว่างพระเจ้าเสือ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร แนบแน่นมาก มีอีกเหตุการณ์ที่เป็นข้อพิสูจน์ คือ ช่วงการวางแผน ในการต่อสู้กับ “เจ้าพระขวัญ” (พระโอรสสมเด็จพระเพทราชา) ในช่วงการชิงบัลลังก์ ซึ่งเรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดาร ฉบับ British Museum 

อาจารย์อุเทน เล่าต่อว่า ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง คือ จากพงศาวดาร British Museum จารึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ พระเจ้าเสือ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ทั้ง 3 ล้วนเป็นคู่เขยกัน 

“พระเจ้าบำเรอภูธร” เป็นราชนิกุลที่สืบเชื้อสายมาแต่ก่อนเก่า โดยพระเจ้าบำเรอภูธร มีบุตรี 4 คน บุตรีองค์โต พระเจ้าเสือทรงรับเป็นสนมเอก, บุตรีองค์รอง หรือ พระองค์เอี้ยง ทรงเป็นสนมของเจ้าฟ้าเพชร หรือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และพระองค์ขาว บุตรีองค์ที่ 3 ทรงเป็นสนมของเจ้าฟ้าพร 

ทั้ง 3 พระองค์ จึงมีศักดิ์เป็นคู่เขย โดยมี “พ่อตา” คนเดียวกัน จากพงศาวดาร ดังกล่าว จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้ทั้ง 3 พระองค์สนิทแนบแน่น 

ประเด็นคาใจ “สมเด็จพระราชวังบวรฯ” (เจ้าฟ้าพร) กับเหตุการณ์ไม่คาดคิด 

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เล่าต่อว่า ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือ ช่วงปี พ.ศ. 2266 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น (พงศาวดาร ฉบับ British Museum) เมื่อ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เสด็จฯ ไปคล้องช้าง ที่เมืองนครนายก ในระหว่างเสด็จฯ ในช่วงพลบค่ำ ในคืนเดือนหงาย ซึ่งมีแสงจันทร์นำทาง 

ในช่วงจังหวะหนึ่ง พระจันทร์เข้าเมฆ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงขี่ช้างไปชนกับช้างพระที่นั่งของพระเจ้าท้ายสระ โดยรุนแรงถึงขั้น ทำให้ควาญท้ายช้างพระที่นั่งตกจากช้าง และช้างทรงได้รับบาดเจ็บ ตามกฎมณเฑียรบาล การกระทำลักษณะดังกล่าว มีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต  

แต่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ไม่พิโรธ กลับพลับพลาตามปกติ แต่พระอนุชา ทรงรู้สึกเกรงกลัวอาญา พยายามขอพระราชทานอภัยโทษ หลายครั้ง พระเจ้าท้ายสระ ทรงย้ำว่าไม่ได้พิโรธ หรือขุ่นเคือง 

ดร.อุเทน กล่าวว่า เรื่องนี้ ทรงติดค้างในพระทัย พระอนุชาธิราชเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายปี (เดือน 4) จะมีพิธีสำคัญ คือ การเสด็จฯ ไปสักการะพระพุทธบาท พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เสด็จฯ กับ พระอนุชาฯ ระหว่างที่กำลังกราบ พระอนุชาฯ ที่มีเรื่องค้างคาใจ จึงกราบบังคมทูล ขอทำเป็นสัตย์ความจริง (สาบาน) ว่า ทรงช้างตามเสด็จ แล้วเกิดช้างชนพระที่นั่งนั้น เป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้เกิดจากการกลั่นแกล้งแต่ประการใด 

...

พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

ตรัส : พ่อเอย ข้านี้ไม่สงสัยแคลงเจ้าดอก อย่ากระทำสัตย์สาบานเลย (ห้ามสาบาน) เป็นพระเคราะห์ข้าร้ายเอง 

การกราบพระพุทธบาท คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในสมัยอยุธยา ฉะนั้น การที่พระอนุชาฯ หรือ เจ้าฟ้าพร จะขอสัตย์สาบานนั้น แสดงให้เห็นว่า สนิทกันมาก  

พระราชกรณียกิจสำคัญ ย้ายพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก จ.อ่างทอง 

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่า หากใครเคยไป ที่วัดป่าโมก จ.อ่างทอง จะทราบว่า วัดดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณท้องน้ำ ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสมัยพระเจ้าท้ายสระ ได้มีพระราชกรณียกิจสำคัญเกิดขึ้น คือ การย้ายพระพุทธไสยาสน์ เนื่องจากแม่น้ำได้กัดเซาะตลิ่งเข้ามา จนเกือบจะถึงวิหารวัด เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น จึงได้กราบบังคมทูล เพื่อขอให้ย้ายพระพุทธรูป 

แต่การย้ายพระพุทธรูปนั้น วิธีการดีที่สุด คือการแบ่งย่อย แล้วค่อยๆ ขยับ แต่ปรากฏว่า มีคนดีมีฝีมือแสดงตัว คือ พระยาราชสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นคนสำคัญในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้กราบบังคมทูล เอาหัวตัวเองเป็นประกัน ด้วยการจะย้ายพระพุทธรูปทั้งองค์โดยไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเห็นว่า การแยกชิ้นส่วนพระพุทธรูปเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะควร ประหนึ่งการทำร้ายพระพุทธเจ้า 

ดังนั้น จึงมีการเสนอการ “ลากชะลอ” พระพุทธรูป โดยการใช้ไม้ซุงสอดข้างใต้ ทำเป็นล้อเลื่อน ส่งผลให้ได้ความดีความชอบ ซึ่งเรื่องนี้มีการ “จารึก” ไว้ ในโครงชะลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก 

...

เรือเดินทะเลในสมัยพระเจ้าท้ายสระ 

นอกจากเหตุการณ์ที่วัดพระพุทธไสยาสน์แล้ว ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ยังมีการก่อสร้างเรือกำปั่นขนาดใหญ่ หรือเรือเดินทะเล ที่ใหญ่มากถึงขนาดบรรทุกช้างได้ 30 ตัวเศษ แสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างสมัยโบราณ โดยสามารถนำช้างไปขายต่างประเทศได้ ได้เงินและผ้าจำนวนมาก 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึง พระปรีชาในด้านการค้า ที่สำคัญคือ พระองค์เอง ที่มีพระนามบ่งบอกอยู่แล้วว่า “ท้ายสระ” ทรงโปรดการตกปลา ในสถานที่ต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังทรงเดินทางสำรวจเส้นทางทางน้ำด้วย... โดยเฉพาะ ปากน้ำท่าจีน และมีดำริให้ขุดคลองมหาชัย เป็นคลองระยะยาว และใช้เส้นตรง โดยใช้เทคโนโลยีของฝรั่งเศส โดยกำหนดเป็นเส้นตรง กว่า 300 เส้นทาง 

ความขุ่นเคือง ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงครองราชย์ 24 ปี (พ.ศ.2251-2275) โดยสมัยปลายรัชกาล พระองค์ มีโอรส 3 พระองค์ ประกอบด้วย เจ้าฟ้านเรนทร์ หรือกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์, เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ 

แต่เนื่องจากเจ้าฟ้านเรนทร์ ทรงผนวช พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงพระราชทานราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย ด้วยเหตุนี้ พระมหาอุปราช (พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ) ทรงไม่พอพระทัย ว่าเหตุใดไม่พระราชทานให้เจ้าฟ้านเรนทร์ ซึ่งคาดว่า เจ้าฟ้านเรนทร์ อาจจะไม่ต้องการ (เนื่องจากพระองค์ก็อยู่ในเพศภิกษุจนสิ้นพระชนม์) 

(หมายเหตุ : ครั้งหนึ่ง เจ้าฟ้านเรนทร์ ทรงมีปัญหากับ “เจ้าฟ้ากุ้ง” พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ ต่อจากพระบิดา เกิดริษยา จึงนิมนต์ลวงมาที่วัง และใช้มีดฟัน เจ้าฟ้านเรนทร์ จนจีวรขาดวิ่น แต่ไม่ระคายผิวหนัง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติในสมัยอยุธยาที่แย่งชิงบัลลังก์)

...

พระมหาอุปราชไม่เห็นด้วย ที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงมอบให้ เจ้าฟ้าอภัย สืบทอดพระราชสมบัติ จึงกลายเป็นเกิดสงครามใหญ่ ทั้งนี้ ในพงศาวดาร ไม่ได้ระบุไว้ ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กับ เจ้าฟ้าอภัย มีความขัดแย้งใดมาก่อน แต่คาดว่ามีกลุ่มขุนนาง ที่สนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยจำนวนมาก โดยเฉพาะ หลวงศรียศ และ พระธนบุรี 

การต่อสู้ระหว่าง พระมหาอุปราช และ เจ้าฟ้าอภัย ดุเดือด เกิดการสูญเสียจำนวนมาก และช่วงท้ายการศึก พระมหาอุปราช ได้เสียที เพราะทางธนบุรี (เจ้าเมืองธนบุรี) ยกทหารมา 500 คน ข้ามสะพานช้าง เข้าตีวังหน้าของพระมหาอุปราช จนแตก 

พระมหาอุปราช กำลังจะเสด็จหนี แต่ระหว่างนั้น มีข้าราชบริพาร คนสำคัญปรากฏตัวขึ้น คือ “ขุนชำนาญ” ทูลว่า อย่าเพิ่งกลัว ขออาสาเอาชีวิตถวาย และจะสู้จนตัวตาย หากข้าพเจ้าตาย พระองค์ค่อยเสด็จหนี

การต่อสู้ของ “ขุนชำนาญ” เป็นการต่อสู้แบบถวายชีวิต จนพลิกสถานการณ์ได้ โดยทหารของพระธนบุรี แตกพ่ายไป โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ ในพงศาวดาร ให้รายละเอียดว่า ขุนชำนาญ ถือดาบ 2 มือ จู่โจมจ้วงฟันพระธนบุรีถึงขนาดคอขาดเสียชีวิตบนหลังม้า ซึ่งศึกครั้งนี้ ถือเป็นศึกใหญ่ระหว่างวังหน้ากับวังหลวง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย 

ท้ายที่สุด โอรสองค์กลาง และ องค์เล็ก ของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้หลบหนี แต่ถูกจับกุมได้ และสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ทั้ง 2 พระองค์ 

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงแค้นเคือง พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ถึงขนาด จะไม่เผาพระบรมศพ จะนำไปทิ้งน้ำเสีย สุดท้าย ข้าราชบริพาร จึงได้กราบบังคมทูลขอร้อง สุดท้ายพระองค์ทรงจัดงานพระบรมศพให้ 

ซึ่งช่วงนี้มีคำกล่าวในพงศาวดาร พระราชหัตถเลขา ระบุว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงพิโรธ พระบรมศพพระเชษฐาธิราช เห็นแก่ผู้น้อยดีกว่าผู้ใหญ่ ให้ราชสมบัติแก่บุตร ไม่ได้เห็นแก่เพื่อนทุกข์เพื่อนยาก คิดจะใคร่เอาศพทิ้งน้ำเสีย ไม่เผาแล้ว ให้อายแก่คนทั้งปวง จึงเจ้าพระยาราชนายก สมุหพระกลาโหมทูลวิงวอนหลายครั้ง จึงโปรดให้กระทำพระเมรุ

โดยมีการระบุว่าเป็น พระเมรุมาศ ขนาดน้อย ซึ่งใช้เวลาเพียง 9 เดือน ก็สำเร็จ 

ในส่วนพิธีการก็ดำเนินไปอย่างปกติ มีการอัญเชิญขึ้นพระมหาชัยราชรถ มีการถวายพระเพลิง 

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์ โดยใช้ระยะเวลา 26 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงยุคทองช่วงสุดท้ายในสมัยปลายอยุธยา กลายเป็นภาพจำ ให้กับคนยุคหลัง โดยเฉพาะยุคธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่เรียกว่า “ครั้งบ้านเมืองดี” 

ศึกภายใน ไร้คนเก่ง สู่การเสียกรุง  

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี กล่าวว่า การเกิดสงครามระหว่างวังหลวง และ วังหน้า เมื่อฝ่ายวังหน้าชนะ ข้าราชบริพารวังหลวง ก็จะถูกประหารสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นการฆ่าคนครั้งใหญ่ ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยา อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ กอปรกับ กรุงศรีฯ ไม่เคยเจอศึกใหญ่มานานเกือบ 300 ปี ตั้งแต่สมัยพระนเรศวรมหาราช ทำให้ “ผู้ชำนาญ” ในการสู้รบกัน หาตัวได้ยาก

ทุกอย่างถูกเชื่อมโยงมาถึงการเสียกรุง เพราะ ตอนอยุธยาแตก พม่ายึดกรุงศรีฯ ได้ พม่าก็ขนนำปืนใหญ่ นับร้อยกระบอกกลับพม่า 

“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยา มีปืนใหญ่ แต่คนที่จะยิงปืนกลับไม่มีความรู้ในการใช้งาน เพราะจากจารึกพบว่า มีพระราชวงศ์องค์หนึ่ง กำลังสู้รบ แต่ปรากฏว่า พอใช้ปืนใหญ่ ใส่ดินปืนมากไป ปืนจึงแตก สะท้อนถึงคนที่ชำนาญมีน้อย และการเข่นฆ่ากันเอง ทำให้เสียคนเก่งๆ ไปเยอะ”

ฉะนั้น ในยุคต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีการจารึกในกระบอกปืนใหญ่ ว่าให้ใส่ดินปืนเท่าไร (คู่มือ) เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ

คำสาปประวัติศาสตร์ เรียนรู้ แต่อย่ายึดติด 

อาจารย์ด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ ให้ความเห็น ละคร “พรหมลิขิต” ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะคนเขียนบท “รอมแพง” ได้มีการค้นคว้าข้อมูลอย่างดี ถึงแม้บางเรื่อง อย่างกรณี พระเจ้าเสือ มอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าพร นั้น ถือว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยังไม่ค่อยมีเท่าไร แต่ก็พยายามแสดงให้เห็นถึงปมเรื่องได้ดี 

และการหยิบจับประเด็น สมัยอยุธยา ตอนปลายที่หลงลืมไปแล้ว ทำให้มีชีวิตชีวา ทำให้คนยุคใหม่ได้เข้าใจบริบท คนยุคโบราณ ที่ได้เข้าใจในด้านดีและร้าย เสนอบทเรียนที่ตรงไปตรงมา 

“เราเรียนรู้อดีตได้เท่าไร...เราจะสามารถจัดการอนาคตได้เท่านั้น ที่สำคัญ คือ ไม่อยากให้ยึดติดกับอดีตมาก จนกลายเป็น “คำสาป” ของประวัติศาสตร์ เพราะคนเรียนประวัติศาสตร์ มักมุ่งรักษาอดีตจนละเลย ที่จะรักษาอนาคต ยกตัวอย่าง อิสราเอล กับ ฮามาส ซึ่งทั้ง 2 ต่างยกเรื่องอดีตมาทั้ง 2 ประเทศ และกลายเป็นประเด็นเข่นฆ่ากัน โดยไม่มีประโยชน์ ควรรักษาอนาคตที่อยู่ร่วมกัน”ดร.อุเทน กล่าว 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ