คำถามเดียวเปลี่ยนชีวิต! จบตรีสัตวแพทย์ ต่อโทวิศวะฯ หญิงผู้มุ่งมั่นคืนรอยยิ้มเพื่อความสุข ให้คนและสัตว์เลี้ยงผ่านวีลแชร์...
"อยากดูแลน้องให้มีความสุขมากกว่านี้ได้ไหม"
ประโยคสั้นๆ ที่ถูกพูดโดยเจ้าของสุนัขคนหนึ่ง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เปลี่ยนความคิดและชีวิตของ 'สพ.ญ.วรางคณา พันธุ์วาณิช' หรือ 'หมออ้น' ผู้ริเริ่มโครงการ 'เพราะมีน้ำใจ จึงมีชีวิต - Wheelchair for Pets' มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม ไปตลอดกาล...
'หมออ้น' คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความคิดอันมุ่งมั่น! เธอต้องการช่วยเหลือสัตว์พิการและทุพพลภาพ โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย ให้สัตว์เหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง เพื่อสร้างความสุขใจให้กับทั้งสัตว์เลี้ยงและเจ้าของสัตว์เลี้ยง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสสนทนากับ 'หมออ้น' และต่อไปนี้ คือ เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจ - การเดินทาง - ความพยายาม - การส่งต่อความสุข - การมอบรอยยิ้มของแพทย์หญิงผู้รักสัตว์ และมีแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ว่า "Life lived for others is a life worthwhile - ชีวิตที่อยู่เพื่อผู้อื่นคือชีวิตที่คุ้มค่า"
...
เคสเปลี่ยนชีวิต! :
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หมออ้นเป็นสัตวแพทย์หญิงอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ เธอทุ่มเทดูแลและรักษาทุกเคสที่เข้ามา ราวกับว่าทุกตัวคือสัตว์เลี้ยงของเธอเอง
แต่แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป... เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งพาน้องหมาพิการ 4 ขา มารักษากับเธอ น้องตัวนี้สามารถใช้ขาหน้าพยุงตัวได้เล็กน้อย จึงมักต้องนอนอยู่กับที่ ทำให้เกิดแผลกดทับ ที่มองแล้วก็รู้สึกสงสาร ช้ำใจไปกว่านั้น เจ้าของสุนัขเอ่ยขึ้นขณะหมออ้นกำลังตรวจว่า เธอรักและเลี้ยงน้องหมาตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว "อยากดูแลน้องให้มีความสุขมากกว่านี้ได้ไหม" คำพูดนั้นเข้าไปกระแทกใจของหมออ้นเข้าอย่างจัง!
"ตอนแรกที่ได้ยินเขาพูด เราแนะนำว่าให้ใช้วีลแชร์ แต่เขาก็ถามต่อว่าต้องทำที่ไหน ซึ่งเราเองก็บอกไม่ถูก และเมื่อ 10 ปีก่อน คนก็ยังไม่ค่อยรู้จักเรื่องนี้กันมากนัก ของหายาก ราคาค่อนข้างสูง ทั้งวีลแชร์และขาเทียม ซึ่งหลายเคสก่อนหน้านี้ ก็อาจจะเข้าไม่ถึงการรักษาด้วย"
ความสงสาร เห็นใจ อยากช่วยเหลือ ทุกอย่างเข้ามาในหัวของหมออ้นเต็มไปหมด เธอเริ่มมองว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนเดินเข้ามาที่โรงพยาบาล เพราะอยากให้เธอช่วยดูแล แต่เมื่อรู้แค่วิธีรักษา ไม่รู้เรื่องอื่น ก็จะทำให้เธอไม่สามารถรักษาได้อย่างครบถ้วน จึงเริ่มคิดอยากจะทำอะไรใหม่ๆ เพื่อช่วยเจ้าของและสัตว์เลี้ยง
"ถ้าสัตวแพทย์ไม่ทำ แล้วเราจะรอใครมาทำ หรือต้องรอถึงเมื่อไร เราในฐานะสัตวแพทย์ เรารู้ว่าสัตว์ต้องการอะไร เรารู้ว่าสรีระของเขาเหมาะกับอุปกรณ์แบบไหน ที่เขาสามารถใส่ได้ ใส่สบาย เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าถ้าเราได้ไปเรียนต่อ ก็น่าจะทำให้มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น จนสามารถสร้างทีมที่ช่วยเหลือเรื่องนี้ได้ต่อไป"
ต่อโทวิศวะฯ ด้วยแพสชันอันแข็งแกร่ง! :
หลังจากตัดสินใจได้แบบนั้น จากคุณหมอผู้จบหลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณทิต (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มุ่งเข้าศึกษาปริญญาโท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ได้ร่ำเรียนวิชา หมออ้นยอมรับว่า "การมาเรียนวิศวะฯ เป็นเรื่องที่ยากมาก" เพราะสำหรับเธอที่เรียนทางด้านชีวะและแพทย์มาก่อน เมื่อต้องมาเจอกับตัวเลขและความรู้ที่เกี่ยวกับวิศวะฯ จึงต้องตั้งใจและใช้ความพยายามอย่างเต็มที่
แม้จะต้องพยายามต่อสู้กับความยาก แต่นั่นไม่ได้ทำให้หมออ้นรู้สึกท้อแต่อย่างใด ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่า 'มีเป้าหมายที่ชัดเจน'
"เราไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือท้อ เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มันยากก็จริง แต่ว่าเรามีแพสชันที่แข็งแกร่งกว่าความยากที่เข้ามา เป้าหมายเราก็แข็งแกร่งด้วย ความยากเหล่านั้น เราจึงคิดเปลี่ยนให้กลายเป็นความท้าทาย และผ่านมาได้ เรียนจบด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร"
...
ในช่วงที่เรียนอยู่ หมออ้นได้ลองผิดลองถูก ประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ ลองทำขึ้นมาบ้าง และนำไปทดลองกับสัตว์ที่อยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งได้เจอกับรุ่นน้องคนหนึ่งที่เรียนด้วยกัน และเขามีความสนใจอยากช่วยเหลือสัตว์ จึงได้ชักชวนให้มาร่วมรังสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาวีลแชร์
หลังจากจบการศึกษา หมออ้นสามารถผลิตวีลแชร์ได้สำเร็จ! มีทีมงานทั้งฝั่งสัตวแพทย์ และฝั่งวิศวะฯ จึงคิดต่อยอดสู่ธุรกิจทำวีลแชร์จำหน่าย เธอจึงเปิดบริษัทที่ชื่อว่า เพ็ททาเนียร์ จำกัด จัดจำหน่ายวีลแชร์สุนัข ขาเทียม ลู่วิ่งในน้ำ และชุดกายภาพสัตว์เลี้ยง
ผู้รับบริการตัวแรก :
สัตว์ตัวแรกที่รับบริการวีลแชร์จากหมออ้น ก็คือ 'เฉาก๊วย' น้องหมาพิการ 2 ขาหลัง...
...
คุณหมอเล่าว่า น้องเฉาก๊วยเป็นหมาที่อายุน้อย ทำให้ยังมีกำลังใช้ขาหน้าเดิน แต่เวลาเดินจะลากขาหลังไปกับพื้นด้วย จนเกิดแผลตามตัว ส่งผลให้ร่างกายเจ็บช้ำ และจิตใจของน้องเองก็ทรุดลงเรื่อยๆ จากหมาที่เคยสดใส ใช้ 4 ขาวิ่งเล่นได้ กลายเป็นเจ้าตูบที่เริ่มไม่ร่าเริง ทางทีมงานจึงผลิตวีลแชร์ให้ใช้ และหวังว่าน้องจะดีขึ้น
"พอเราทำให้น้องใช้แล้ว มันเกินความคาดหมายมาก น้องปรับตัวได้ดี เจ้าของบอกว่า น้องกลับไปวิ่งเล่นกับเพื่อนในฝูง กลับไปใช้ชีวิตเหมือนปกติ ทำให้สภาพจิตใจของเฉาก๊วยกลับมาดีด้วย เรารู้สึกดีใจมากที่ทำสำเร็จ มันเป็นความสุขที่เราได้รับจากการส่งต่อความสุข"
ส่วนน้องหมาขาพิการ 4 ข้าง ที่ทีมข่าวฯ ได้กล่าวไว้ช่วงต้น คุณหมอก็ได้ทำวีลแชร์ให้ใช้ เพื่อให้น้องสามารถยืนได้ ลดอาการและการเกิดแผลกดทับ แม้ว่าเจ้าของน้องจะรู้อยู่แล้วว่าน้องเดินไม่ได้ แต่แค่นี้เขาก็ดีใจมากแล้ว เพราะรู้สึกว่าน้องหมามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
...
การผลักดันโครงการเพื่อสังคม :
หลังจากทำธุรกิจได้ประมาณ 1 ปี เธอเห็นว่ามีคนบางกลุ่มคอยช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือถูกปล่อยตามวัดจากการทุพพลภาพ แม้ว่าคนเหล่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง แต่พวกเขาก็มีน้ำใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก ทำให้คุณหมอผู้รักสัตว์ของเราเกิดความประทับใจอีกครั้ง...
"เรามองว่า ถ้าเราสามารถที่จะช่วยคนที่เขาอยากช่วยน้องๆ ได้บ้าง มันก็น่าจะดี" หมออ้นกล่าว
เมื่อเห็นดังนั้น เธอเองรู้สึกอยากมีส่วนร่วม และสนับสนุนการกระทำดีๆ จึงคิดปรับรูปแบบองค์ความรู้ของวีลแชร์ที่ตนมีอยู่ ให้สามารถใช้วัสดุที่ราคาลดลง และสามารถหาได้ทั่วไป โดยเปลี่ยนจากสเตนเลสมาเป็นท่อน้ำ PVC และมุ่งมั่นเดินทางเข้าไปเสนอโครงการเพื่อสังคมนี้ ให้กับ 'มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม' ซึ่งเป็นมูลนิธิที่อยู่ ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ความโชคดีและจังหวะที่เหมาะสมก็เกิดขึ้น เพราะทางมูลนิธิกำลังมองหาโครงการเพื่อสัตว์เลี้ยง หมออ้นจึงประสบความสำเร็จในขั้นแรก และได้เป็นหัวหน้าโครงการ 'วีลแชร์และขาเทียมเพื่อสัตว์พิการ' โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ หลังจากโครงการก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 มีผู้สนับสนุนเพิ่มเติม จึงเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น 'เพราะมีน้ำใจ จึงมีชีวิต - Wheelchair for Pets มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม'
ช่วงแรกของมูลนิธิ หมออ้นชักชวนคนที่รู้จักมาเข้าร่วม และใช้เวลาหลังเลิกงานมาร่วมกันผลิตวีลแชร์ แต่ด้วยเวลาที่น้อยนิด และกำลังคนที่มีไม่มาก ทำให้ในวันหนึ่งผลิตได้เพียง 1-2 ชิ้นเท่านั้น
"เราเริ่มต้นจาก 2-3 คน จนวันหนึ่งมีจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20 คน และพวกเราเห็นว่า คนที่อยากช่วยสัตว์ รักสัตว์เยอะขึ้น จึงออกแบบการเรียน การสอน และการอบรมสั้นๆ ให้ใช้เวลาน้อยลง และทำง่ายขึ้น เพื่อรับอาสาสมัครมาช่วยจัดทำ อบรมครึ่งวันและมีการสอนทั้งทฤษฎี-ปฏิบัติ ตอนนี้เราจัดการอบรมมาได้มากกว่า 60 ครั้ง และทำวีลแชร์มากกว่า 1,500 ตัว"
โครงการนี้ดำเนินมาต่อเนื่องมากกว่า 8 ปี และยังคงมีสิ่งดีๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ...
เคสที่ประทับใจที่สุด :
แม้มูลนิธิมีเคสที่ได้รับวีลแชร์ไปมากกว่า 1,500 ตัว และทางบริษัทหมออ้น ก็รับผลิตมาหลายเคส แต่มีเคสหนึ่งที่เธอรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ ซึ่งเคสนี้ก็อยู่ใน 1,500
เคสนี้สร้างความประทับใจให้คุณหมอ เพราะว่า "ทั้งชีวิตนี้เหลือแค่คุณป้ากับหมาตัวหนึ่ง"
หมออ้น เล่าว่า มีคุณป้าคนหนึ่ง เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม มาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่ออบรมการทำวีลแชร์ และทำเรื่องขอวีลแชร์ 1 ตัว เพื่อนำไปให้หมาของเธอ แม้จะดูเหมือนปกติ แต่นั่นสร้างความลำบากใจให้ทีมงานไม่ใช่น้อย
หลังจากได้ดูรูปและคลิปน้องหมาของคุณป้า ทีมงานถึงกับส่ายหัวด้วยความหนักใจ นำข้อมูลที่มีทั้งหมดเข้าปรึกษาหมออ้น และเอ่ยว่า "ทำยังไงดีพี่ เคสนี้ไม่น่าทำได้" ซึ่งหลังจากหมออ้นพิจารณาแล้ว ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า น้องหมาตัวนี้ไม่สามารถกลับมาเดินได้แล้ว เพราะขาของมันผิดรูปทั้ง 4 ข้าง ครั้นจะให้มันใช้ยันพื้นเพื่อยืนยังทำไม่ได้เลย
"วีลแชร์ที่เราทำ ไม่น่าจะสามารถทำให้น้องกลับมาเดินได้นะคะ เพราะขาของน้องผิดรูปไปหมด และระบบประสาทก็ไม่น่าใช้งานได้แล้ว" เป็นประโยคความจริงที่คุณหมอบอกให้ป้ารับรู้
แต่สิ่งที่คุณป้าตอบมา คือ "ไม่เป็นไร ป้าแค่อยากพาเขาออกไปสูดอากาศข้างนอก เพราะป้าอุ้มไม่ไหว" นั่นจึงทำให้คุณหมอเข้าใจว่า ป้ารู้อยู่แล้วว่าสามารถทำให้ได้แค่ไหน
คุณหมอและทีมงานจึงทำวีลแชร์ 4 ล้อให้คุณป้านำกลับไปที่บ้าน คุณป้ายิ้มรับด้วยความดีใจและท่าทางที่มีความสุข ส่วนคุณหมอที่เคยเดินทางผ่านจังหวัดนครปฐม จึงถือโอกาสนั้นแวะเยี่ยมทั้ง 2 และหมอเองก็ดีใจ ที่เห็นคุณป้าสามารถพาเจ้าน้องหมาตัวใหญ่ ออกมาสูดอากาศรับลมด้านนอกได้ กลายเป็นภาพแห่งความประทับใจที่เธอไม่มีวันลืม
ความสุขที่ถูกส่งต่อให้กับทุกฝ่าย :
สพ.ญ.วรางคณา มองว่า กิจกรรมอาสาสมัครทำวีลแชร์ที่คุณหมอและทางมูลนิธิจัดขึ้น ไม่ได้สร้างความสุขให้เพียงผู้รับ แต่ผู้ให้ก็ย่อมสุขไม่แพ้กัน
"คนที่มีน้ำใจอยากช่วยเหลือสัตว์ เขาก็มาทุ่มเทเวลาและทำวีลแชร์อย่างตั้งใจ ส่วนคนที่เป็นเจ้าของสัตว์ก็มีความสุขที่ได้รับของไป และได้เห็นสัตว์เลี้ยงของเขาเดินได้อีกครั้งหนึ่ง นี่คือความสุขที่เราได้เห็นในทุกๆ ครั้งที่ทำกิจกรรม"
อีกส่วนที่ทำให้หมออ้นประทับใจ คือ การได้เห็นสัตว์เลี้ยงที่เดินไม่ได้มานานแล้ว กลับมาเดินได้อีกครั้ง เธอรับรู้ความสุขของพวกมัน ผ่านสีหน้าและท่าทางที่แสดงออก
"เมื่อร่างกายของน้องได้ขยับ ระบบสูบฉีดเลือด ระบบขับถ่ายต่างๆ ก็ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ระบบร่างกายทั้งหมดดีขึ้นไปด้วย ส่วนในเรื่องของจิตใจ พอเขาเดินได้ มันก็เหมือนสร้างกำลังใจให้พวกเขามีชีวิตต่อ"
รักเขาให้เหมือนวันแรกที่เรารัก :
เดินทางมาถึงบทสรุปสุดท้าย ทีมข่าวฯ ถามคุณหมอว่า เพราะอะไรที่ทำให้คุณหมอมองเห็นคุณค่าของชีวิตอื่นมากเช่นนี้?
"อาจจะเพราะเราเป็นสัตวแพทย์อยู่แล้ว เราเจอคนรักสัตว์ที่เดินทางมาโรงพยาบาล ทำให้รู้สึกว่าบางคนที่พามารักษา เขารักสัตว์เลี้ยงมากกว่าตัวเขาเองอีก หลายครั้งพวกเราก็เสียน้ำตาไปกับเรื่องราวและเจ้าของสัตว์
สัตว์เลี้ยงเขารักเราแบบไม่มีเงื่อนไข เขาไม่เคยเกี่ยงว่าเราจะยากดีมีจน เป็นคนดีหรือไม่ แม้บางคนอาจจะมีวันที่หงุดหงิดจากที่ทำงาน แล้วเอาอารมณ์มาลงที่เขา สุดท้ายเขาก็รักเราอยู่ดี เหมือนกับว่าเป็นรักที่บริสุทธิ์
ดังนั้น วันที่เขาป่วย หรือพิการ ก็อยากให้ยังรักเขามากๆ เหมือนกับครั้งแรกที่เคยรับเขามาเลี้ยง ถ้าใครมองว่าเขาพิการแล้วไม่มีปัจจัยซื้ออุปกรณ์ ก็ให้ทำเรื่องขอที่มูลนิธิ พวกเรายินดีที่จะทำให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย"
แพทย์หญิงของเรากล่าวส่งท้ายฝากถึงทุกคนว่า "สัตว์เลี้ยงไม่ได้อายุยืนยาวเหมือนคน เราในฐานะมนุษย์ อะไรที่พอจะช่วยเขาได้ ก็อยากให้ช่วยเหลือกันไปก่อน เพราะเดี๋ยววันหนึ่งเขาก็ไม่อยู่กับเราแล้ว"
การเดินทางตลอดช่วง 10 ปีของ 'สพ.ญ.วรางคณา พันธุ์วาณิช' และทีมงาน ได้ส่งต่อรอยยิ้มให้คนและสัตว์นับไม่ถ้วน ผลงานของพวกเขาช่วยจรรโลงสังคมไทยให้สวยงามขึ้น และเป็นการให้โอกาสแก่สัตว์ที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ เหล่านี้คือความสุข ที่จะติดอยู่ในใจทั้งผู้ให้และผู้รับตลอดไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :