หนุ่มเจ้าของร้านแว่น เจอพิษโควิด ต้องปิดร้าน หันเหเข้าสู่วิถีเกษตร เลี้ยงตั๊กแตนเพราะอยากกิน สุดท้ายขายดี รายได้ดีหลักแสนบาท  

ครั้งหนึ่งในอดีต โลกเราได้เจอ “ศัตรูพืช” ตัวฉกาจ ออกอาละวาด กินพืชผลทางการเกษตรจนเหี้ยน ทำให้ชาวแอฟริกาถึงขั้นอดอยาก และมันจะลุกลามย้ายถิ่นฐานไปที่ต่างๆ คืบคลานมาถึง อินเดีย ปากีสถาน และไทย...

แต่การมาเมืองไทย กลายเป็นเรื่อง “พลิกผัน” เมื่อเจอ “พี่ไทย” ใช้ฝีมือปลายจวัก นำมา “ทอด” พร้อมฉีดซอส “ปรุงรส” มันจึงกลายเป็น สแน็ก กินเล่น จนแทบจะสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปเลย...

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง “ตั๊กแตน ปาทังก้า” ที่เวลานี้ หลายๆ พื้นที่เริ่มที่มีการ “เพาะ” ขาย เพราะติดใจในรสชาติ แหล่งโปรตีนชั้นดี โดยเฉพาะชาวอีสาน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ด้วย 

“ธนภัทร บุตรสวัสดิ์” หรือ “พี่ชาย” เจ้าของ “สุพัตราฟาร์มวังหิน” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านสว่าง ต.ทุ่งสว่าง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ คือหนึ่งในเด็กที่เติบโตมาในช่วงตั๊กแตนปาทังก้าระบาด และได้ลิ้มลองรสชาติจนกลายเป็น “อาหารโปรด” ซึ่งทุกวันนี้ เขาทำรายได้จาก “ตั๊กแตน” เดือนละ กว่า 2 แสนบาท!!

เขาทำได้ยังไง มีเคล็ดลับอะไร... ตั๊กแตน เลี้ยงยากไหม และ ใช่สายพันธุ์ที่เคยระบาดในอดีตหรือไม่ วันนี้ เรามาไขเคล็ดลับความสำเร็จกัน...

...

พิษโควิด ต้องปิดร้านแว่น หันเหกลับวิถีเกษตร 

พี่ชาย เล่าว่า เดิมทีทำงานเป็นเจ้าของร้านตัดแว่นตา เพราะเรียนจบมาด้านนี้ โดยเปิดร้านในตลาดย่านสมุทรปราการ กระทั่งเจอ โควิด-19 ระบาด ร้านค้าต่างๆ ถูกสั่งปิดหมด เรามีลูกน้องต้องดูแล 2-3 คน แบกภาระเดือนละ 6-7 หมื่นบาท ทนมาได้ 4 เดือน สุดท้ายไม่ไหว จึงต้องเลิกไป และกลับมาอยู่บ้านที่ จ.นครราชสีมา โดยไปเริ่มต้นเป็นเกษตรกร เลี้ยงกุ้งฝอย ปูนา และหอยขม  

นายธนภัทร เผยว่า การเลี้ยงสัตว์ 3-4 ชนิดดังกล่าว มันก็สามารถขายได้ แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัด คือ การเติบโตของสัตว์เหล่านั้น รู้สึกว่ายังช้าเกินไป หาเงินได้ ก็หมดไปกับรายจ่าย เรียกว่าอยู่ได้ แต่ไม่มีกำไรมากนัก 

“การเลี้ยงปูนา จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ จะเลี้ยงกระชังแบบคนอื่นมันก็ทำยาก ส่วนกุ้งฝอย พอมีรายได้เข้า แต่ไม่พอเก็บ ตอนนั้น สิ่งที่เราทำนอกจากเลี้ยงสัตว์แล้ว เรายังอาศัยอาชีพเดิมที่ได้ร่ำเรียนมา ไปตัดแว่น ตามหมู่บ้านต่างๆ อยู่บ้าง” 

ต่อมาได้ตัดสินใจ มาอยู่บ้านแฟน ที่ จ.ศรีษะเกษ โดยยังทำร้านแว่นตา และ ยึดอาชีพเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ไปด้วย โดยการตัดสินใจเลี้ยงตั๊กแตน เพราะ “ชอบกิน” 

พี่ชาย เล่าว่า ชอบกินแมลงต่างๆ ตั้งแต่เด็ก เรียกว่ากินทุกแมลง สัตว์ชนิดแรกที่เริ่มเลี้ยงที่ศรีสะเกษคือ “แมงดานา” การเลี้ยงแมงดานา ก็พอไปได้ แต่ปัญหาของแมงดานา นั้น เป็นสัตว์ที่ดูแลยากพอสมควร โดยเฉพาะการดูแลเรื่องอุณหภูมิและค่า PH ในน้ำ ต้องถูกควบคุมอย่างดี อาหารของเขา ต้องห้ามขาด ซึ่งอาหารของแมงดา จะเป็นพวกลูกอ๊อด หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หากขาดอาหารเมื่อไหร่ พวกมันก็อาจจะกินกันเอง...

“ปัญหาคือเราไม่มีลูกอ๊อด ลูกกบ หากใครเลี้ยงอยู่แล้ว ก็จะเป็นต้นทุนด้านอาหารได้ “แมงดานา” ก็ถือว่าน่าเลี้ยง” ซึ่งถึงวันนี้ฟาร์มเราก็ยังเลี้ยงอยู่ แต่ไม่เยอะเท่าตั๊กแตน 

พี่ชายบอกว่า ภายในฟาร์มเขา มีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด อาทิ กุ้งขม หอยขม แมงดานา และปลาหมอสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม ที่ทำให้ปลาหมอโตเร็ว 

จุดเริ่มต้นฟาร์มตั๊กแตน เพราะอยากเลี้ยงไว้กิน 

เจ้าของสุพัตรา ฟาร์ม ยอมรับว่า “ตั๊กแตน” ถือเป็นการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุด เพราะ เพียง 1 เดือนกับอีก 10 วัน ตั๊กแตน ก็จะโตเต็มที่ แถมราคาขาย ยังได้ราคาด้วย เพราะขนาดซื้อกินเอง ยังกิโลกกรัม ละ 450-500 บาท ตอนนั้นไม่อยากจะซื้อ ก็เลยขอซื้อกับคนที่เลี้ยง แล้วมาทอดกินเอง  

...

“พอเลี้ยงแล้ว กินไปกินมา ปรากฏว่า ความต้องการ” ของตลาด มีสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีแต่คนมาถาม เพราะอยากได้ตั๊กแตนไปขาย จากที่เลี้ยงไว้กิน เลยเริ่มที่จะขาย เพราะมีคนมาถาม และสั่งจองไว้แล้วหน้า...” 

พอรู้ว่ามีความต้องการ ชาย-ธนภัทร จึงเริ่มทดลองเลี้ยง โดยสั่งซื้อไข่ มา 1 ขีด ราคา 1,000 บาท ซึ่งไข่ตั้งแต่ 1 ขีด ได้มาเป็น ไข่รวมกันเป็นฝัก พอมันฟักไข่ออกมา ก็จะมีตั๊กแตน ราว 2,800-3,000 ตัว 

จากนั้นเราก็ทำโรงเลี้ยงขึ้นมา ลงทุนครั้งแรก ซื้อไข่มา 2.5 กิโลกรัม เรียกว่าลองดู “เผื่อเหลือ เผื่อตาย” ซึ่งก่อนที่เราจะลงทุน เราก็ศึกษามาก่อน ซึ่ง “ตั๊กแตน” 1 ตัว จะมีอัตราขยายพันธุ์ 16 เท่า... เราเริ่มต้นด้วย 2 โรงเรือน (ขนาด 3 คูณ 4 เมตร) ตอนนี้มี 14 โรงเรือน โดย 1 โรงเรือน ประมาณ 1 กิโลกรัม 

เคล็ดลับ เลี้ยงตั๊กแตน  

เคล็ดลับการเลี้ยงตั๊กแตนนั้น เจ้าของ สุพัตราฟาร์มวังหิน เผยว่า ง่ายมาก เพราะเขาก็กินแต่หญ้า เราก็ใช้ มุ้งขาว กันแมลง 32 ตา ส่วนความสูง ก็ไม่ได้มาก แค่เดินเข้าออกสะดวก และใช้ “ผ้าสแลน” บังแดดให้เขาสักครึ่งหนึ่ง ก็เพียงพอแล้ว เพราะตั๊กแตนที่เราเลี้ยงนั้น มันเป็นตั๊กแตนที่มีต้นกำเนิดจากพื้นที่ทะเลทราย ชอบความอบอุ่น ความร้อน 

...

“ตั๊กแตนที่ผมเลี้ยงนั้น เรียกว่าเป็นตั๊กแตนปาทังก้า โมจีน ซึ่งสายพันธุ์นี้จะเลือกกินเฉพาะหญ้ากับใบตอง ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในอดีตนั้น เข้าใจว่าเป็น ปาทังก้า คอเคียน ซึ่งตั๊กแตน สายพันธุ์นี้จะกินไม่เลือก และปัจจุบันเหลือน้อยแล้ว (เพราะถูกจับกินหมด)”

ส่วนค่าใช้จ่าย สำหรับการเลี้ยงตั๊กแตน จะหนักไปที่ค่าอาหารอย่างเดียว แม้จะกินแค่หญ้ากับใบตอง หากเราปลูกไม่ทันก็ต้องไปซื้อมาให้กิน เฉลี่ยเดือนละ 4-5 พันบาท ส่วนการขาย จะสัปดาห์ละครั้ง ใจจริง อยากจะขายได้เร็วกว่านั้น เช่น 2-3 วันครั้ง แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะตั๊กแตนโตไม่ทัน และตั๊กแตนก็กินอาหารเยอะมาก เรียกว่า “กินดุ” เลยทีเดียว ฉะนั้น สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุด คือ อย่าให้อาหารขาด เพราะมิเช่นนั้น มันก็อาจจะกินกันเอง 

ภายในโรงเรือน จะมีทราย เอาไว้รองไข่ตั๊กแตน มีติดไฟให้โรงเรือน บ้าง เพราะถ้าหน้าหนาวมันจะกินอาหารน้อยลง และโตช้า เมื่อโตไม่เต็มที่ เขาก็จะไม่วางไข่ เพราะก่อนที่จะจับส่ง เรานำเขามาอยู่ถาดทราย เพื่อรอง “ไข่” ก่อน ซึ่ง การเลี้ยงตั๊กแตนใช้เวลา 40-45 วัน ก็โตเต็มที่แล้ว..

...

เลี้ยงน้อยขายยาก เลี้ยงมากขายง่าย รายได้งามหลักแสน/เดือน

พี่ชาย เผยว่า การขายตั๊กแตนนั้น จำเป็นต้องเลี้ยงเยอะๆ เนื่องจาก หากเลี้ยงน้อย โอกาสที่คนจะเข้ามาซื้อนั้นยากมาก เช่น เลี้ยงขายได้ครั้งละ 3-4 กิโลกรัมนั้น พบว่า คนที่จะมาซื้อเขาเดินทางมาไม่คุ้ม และพบว่ามีเกษตรกรหลายรายที่เลี้ยงแบบไม่มาก ต้องเลิกไป เพราะไม่มีใครมาซื้อ 

“ตั๊กแตน เลี้ยงน้อยขายยาก เลี้ยงมาก ขายง่าย เพราะขายเท่าไรก็ไม่พอ และผู้ประกอบการที่อยากได้ตั๊กแตน นั้น เดินทางมา ใช้เงิน เสียเวลา ฉะนั้น เวลาซื้อขาย จึงขายในจำนวนมาก ฉะนั้น เวลาเราขาย 1 รอบ จึงขายครั้งละ 40-50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 300 (ราคาส่ง) รายได้ต่อครั้ง จึงค่อนข้างสูง”

ถามว่ารายได้ดีแค่ไหน เจ้าของฟาร์มสุพัตรา ยอมรับว่าหลักแสนบาทขึ้นไป... โดยเฉพาะส่งให้เจ้าใหญ่ๆ ส่วนรายเล็กก็มีขายบ้าง ตามตลาดนัดมาซื้อ ซึ่งเราก็ขายทั้ง 2 แบบ คือ แบบเป็นๆ หรือ ตายแล้ว ราคาต่างกันนิดหน่อย 

คำแนะนำสำหรับมือใหม่ 

พี่ชาย กล่าวว่า ตั๊กแตนนี้ ถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนสูง และการเลี้ยงจากในฟาร์ม จะสะอาดกว่าธรรมชาติ รสชาติตั๊กแตนธรรมชาติ มันจะมีรสขมปน แต่จากฟาร์ม จะเป็นลักษณะออร์แกนิก อร่อยกว่า ตรงที่ว่า มันจะมีไข่แทรก ซึ่งตามธรรมชาติจะไม่ค่อยมี 

“สำหรับใครที่สนใจ อยากจะทำฟาร์มตั๊กแตน เพื่อความยั่งยืนนั้น สิ่งที่จะแนะนำคือ ควรเลี้ยงขายแบบตัวสด หรือแปรรูป ไม่ควรเพาะเพื่อขายไข่ เนื่องจากในประเทศไทย มีคนเลี้ยงลักษณะนี้เยอะ นอกจากนี้ ควรศึกษาช่องทางการตลาด เช่น ตลาดออนไลน์ ตลาดนัด หรือ ตลาดสด ไปทอดขายเองก็ได้ เพราะการลงทุนทำฟาร์มตั๊กแตนนั้น เรียกว่า ครั้งเดียวจบ ยกเว้นเรื่องอาหาร แต่ถ้าปลูกหญ้าเอง มีอยู่แล้ว ก็แทบไม่มีต้นทุน นอกจากนี้ เราต้องกล้าไปหาตลาด อย่ารอให้คนเข้ามา”

อีกหนึ่งข้อสำคัญ คือ เรื่องบ่อที่เลี้ยง ต้องหมั่นทำความสะอาด คอยกำจัดมูลเขาให้หมด เพราะมูลเขา หากทับถมกันจะส่งผลให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย ก่อให้เกิดโรคระบาดได้ ส่วนศัตรูตามธรรมชาติของ ตั๊กแตน ก็คือ มด นก ซึ่งมด เราใช้น้ำยาล้างจาน เกลือ ยางพารา ผสมกัน ฉีดรอบบ่อ มดมันก็ไม่มากวน แต่ถ้ามันหลุดออกไป มันก็ไม่พ้นกลายเป็นเหยื่อนก   

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ