จากทุน 700 สู่หมี่กรอบเงินล้าน เบื้องหลังชีวิต และความคิด 'แอน ปภาวรินทร์' สาวนักสู้ผู้มุ่งมั่น "ฉันจะเป็นหนึ่งในหมี่กรอบ"...

"ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้"

ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของการรอคอย ทุกอย่างล้วนต้องใช้ความพยายามและแรงสู้ 'คุณแอน' คืออีกหนึ่งคนที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า ข้อความข้างต้นเป็นเรื่องจริง 

หากคุณกดค้นหาคำว่า 'หมี่กรอบ' ในติ๊กต่อก ก็จะพบกับคลิปวิดีโอของผู้หญิงอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง เสียงเพราะคนหนึ่ง ที่คนในติ๊กต่อกเรียกว่า 'พี่แอน' ซึ่งเธอเป็นคนที่ทำให้ของกินเล่นแบบไทยๆ อย่าง 'หมี่กรอบทรงเครื่อง' ที่มีภาพจำเป็นของโบราณ เกิดกระแสขึ้นในติ๊กต่อก และสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ จนสร้างรายให้ชีวิตของครอบครัวเธอดีขึ้น 

กว่าเธอจะประสบความสำเร็จ และกลายเป็นที่รู้จักเช่นนี้ เรื่องราวชีวิตของเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยขวากหนาม วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปพบเรื่องความของความพยายาม ชีวิตที่กว่าจะประสบความสำเร็จ และแนวความคิดอันมุ่งมั่น ของเจ้าของแบรนด์ 'พลอยหมี่กรอบ' ที่ชื่อว่า 'แอน-ปภาวรินทร์ กล่อมเกลี้ยง'

...

จุดเริ่มต้น :

'พี่แอน' เป็นลูกแม่ค้า คุณแม่สอนให้ค้าขายและปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของเงินมาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อยังเป็นเด็ก ที่บ้านของพี่แอนค่อนข้างลำบาก เธอเล่าว่า "คุณพ่อเคยได้ก๋วยเตี๋ยวที่มีคนแจกมา 1 ถ้วย แต่ต้องแบ่งกันกินทั้งหมด 4 คน" และเมื่อโตขึ้น ความลำบากนั้นก็ยังไม่ได้หายไปแต่อย่างใด

ทักษะทางด้านอาหารและขนมที่พอจะมีติดตัวอยู่ พี่แอนจึงเลือกทำขนมออกขายที่ตลาดนัดกับ 'พี่อ้อฟ' หรือ 'วิภาส กล่อมเกลี้ยง' สามีของเธอ ในแต่ละวันทั้งคู่ต้องตระเวนไปตั้งร้านตามตลาดนัด เพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อไปตั้งร้านขาย ขนมที่พี่แอนทำเสียค่อนข้างง่าย เนื่องจากมีส่วนผสมของกะทิ พี่แอนจึงเปลี่ยนวิธีเป็นการรับสินค้าอื่นมาขาย 

สินค้าที่พี่แอนรับมาขายมีหลากหลาย และเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ในที่สุดก็จบที่ 'หมี่กรอบ' ซึ่งพอจะขายได้บ้างแต่ก็ไม่ได้ดีนัก กระทั่งเมื่อน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ทำให้การออกไปรับของมาขายค่อนข้างลำบาก ประกอบกับเพื่อนของคุณแม่พี่แอนมีสูตร และเห็นว่าทั้งสองคนขยันทำงาน จึงเรียกให้ไปเรียนวิธีการทำ เพื่อนำความรู้นั้นไปสร้างเป็นอาชีพให้ตัวได้ในอนาคต และจะได้ไม่ต้องรับหมี่กรอบของคนอื่นมาขายอีก 

ทำหมี่กรอบด้วยตัวเอง :

ประมาณเดือนเมษายน ปี 2555 ทั้งสองคนเริ่มทำหมี่กรอบออกจำหน่าย โดย เริ่มต้นจากทุนเพียง 700 บาท เป็นการผัดด้วยมือและแรงงานคน ระหว่างนั้น พี่อ้อฟพยายามปรับปรุงสูตรที่ได้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสูตรนั้นเหมาะกับการกินกับข้าว แต่ทั้งสองคนอยากให้รสชาติพอดี เหมาะกับเป็นของกินเล่น จึงใช้เวลาปรับปรุงสูตร และทำขายไปด้วยประมาณ 2 ปี กระทั่งสูตรหมี่กรอบลงตัว และเป็นเอกลักษณ์เช่นทุกวันนี้

ช่วงแรก พี่แอนเช่าพื้นที่ในศูนย์อาหารบริเวณย่านกีรทรัพย์ เพื่อตั้งเป็นร้านประจำสำหรับขายของ ส่วนพี่อ้อฟจะเดินทางไปขายของตามตลาดนัด จนกระทั่งวันหนึ่ง ที่พี่แอนนั่งเฝ้าร้านอยู่ ลูกค้าที่เพิ่งกินก๋วยเตี๋ยวเสร็จ เดินเข้ามาซื้อหมี่กรอบของพี่แอน คิดเป็นเงินรวม 2,500 บาท โดยให้เหตุผลว่ากำลังจะไปตั้งร้านขายของในงานเทศกาล และกำลังหาของขายเพิ่ม นอกจากนั้นยังมีคนเดินเข้ามาซื้อไปเป็นของฝาก และนำไปนั่งกินในศูนย์อาหาร เมื่อเห็นแบบนั้นจึงคิดว่า การขายหมี่กรอบอาจจะมาถูกทางแล้ว เพราะซื้อกินได้ ซื้อฝากได้ และสามารถนำไปขายต่อได้ด้วย นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต 

...

ต่อสู้กับคำดูถูก :

หลังจากที่ตัดสินใจจะยึดการทำหมี่กรอบขายเป็นอาชีพหลัก พี่แอนต้องต่อสู้กับคำพูด และแนวความคิดของคนมาตลอด ด้วยภาพลักษณ์ที่ต้องตระเวนขายของตามตลาดนัด ทำให้คนมองว่า การขายหมี่กรอบของพี่แอนนั้นไปไม่รอด "ไม่ว่าเราจะลงตลาดไหน คนรอบข้างก็มองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคนคงไม่มากินหมี่กรอบทุกวัน"

ระยะแรกหมี่กรอบของพี่แอนยังไม่มีชื่อแบรนด์ แต่จำหน่ายแบบกล่องเปล่า ให้คนที่มารับนำไปติดชื่อแบรนด์ของตัวเอง เพราะยังไม่ได้มองถึงการต่อยอดมากนัก แต่มองเรื่องของเงินที่จะได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังผลิตที่ยังไม่มาก และไม่มีรถส่งของ ทำให้ยังไม่มีคนมารับของไปขายเท่าที่ควร

"เราคิดว่าที่ไม่มีคนมารับของไปขาย เนื่องจากร้านยังไม่มีตัวตน และไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง จึงพยายามเก็บเงินจำนวนหนึ่ง และตัดสินใจซื้อรถมือสองในราคา 80,000 บาท เพื่อนำรถนั้นไว้ส่งของให้ลูกค้า

หลังจากเริ่มส่งของได้มากขึ้น และขายที่ตลาดนัดได้ประมาณ 1 ปี ก็คิดต่อยอดให้มีหน้าร้านที่มั่นคง จึงเริ่มเก็บเงินจนถึง 100,000 บาท และนำเงินนั้นไปเช่าอาคารพาณิชย์ ที่นวมินทร์ นั่นจึงกลายเป็นสาขาแรก หลังจากเช่าและปรับปรุงร้าน ทำให้เหลือเงินอยู่ประมาณ 7,000 บาท"

...

การเปิดร้านไม่ดีตามที่คาดหวัง ยอดขายต่อวันอยู่ที่หลักร้อย ทำให้มีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า 'คิดผิด' แต่เลือดนักสู้ที่มีอยู่ จึงพยายามหาทางออก และคิดว่า "คนน่าจะยังไม่รู้จัก เพราะไม่เห็นว่าร้านเปิดตรงนี้" จึงปรับเปลี่ยนเวลาการเปิด-ปิดร้านใหม่ เพื่อให้คนเห็นได้มากขึ้น จากเดิมที่เปิด 08.00 น. ปิดช่วงหัวค่ำ เปลี่ยนเป็นเปิดร้านตั้งแต่ 05.00 น. และปิดให้ดึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคนไปทำงานแต่เช้า 

"ถ้าเราเปิดสายเขาจะไม่เห็น และถ้าเราปิดเร็ว ตอนกลับมาคนก็จะไม่เห็นเหมือนกัน" กลายเป็นว่าแนวคิดของพี่แอนนั้นได้ผล คนรู้จักหมี่กรอบมากขึ้น เริ่มมีลูกค้าเข้ามาซื้อมากขึ้น และระยะเวลา 5 วัน ช่วงปีใหม่ พี่แอนสามารถทำยอดขายได้ถึง 3 แสนบาท เพราะคนซื้อไปเป็นของฝาก และมาหาของไปขายกัน

แน่วแน่ เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง :

การเดินทางตลอด 12 ปี ของพี่แอน พี่อ้อฟ และ พลอยหมี่กรอบ ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะง่ายไปหมด อะไรก็ดูเข้าจังหวะและลงล็อก แต่ทุกอย่างที่พี่แอนทำ เกิดจากความแน่วแน่ ลงมือศึกษา และมองความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

...

พี่แอน เล่าว่า การตัดสินใจมาทำตรงนี้ ไม่มีใครเห็นด้วยเลย ทุกคนบอกให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นตลอด แม้ว่าจะขยับขยายธุรกิจได้มากแค่ไหน มีบ้าน มีรถยนต์ แต่สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขาเลย ทุกวันนี้สามารถต่อยอดจากร้านเล็กๆ สู่โรงงานการผลิตได้ ก็ยังมีคนมาพูดว่าจะไปไม่รอด อย่างไรก็ตามสิ่งที่พยายามคิดมาตลอด คือ "ฉันจะแน่วแน่ในการเป็นหนึ่งในหมี่กรอบ" ใครจะว่าอย่างไรไม่สนใจ ขอแค่เรามุ่งมั่นในทางที่เราเดิน

ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาแนวคิดของคนอื่นก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่พี่แอนจะไม่ศึกษาแค่เรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมองถึงความไม่สำเร็จ และความล้มเหลวต่างๆ ด้วยว่า เพราะอะไรทุกอย่างจึงเกิดขึ้นแบบนั้น สุดท้ายแล้วก็ประมวลความคิดทุกอย่าง และสร้างแนวทางของตัวเองขึ้นมา

"เราพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะโลกของใบนี้ไม่มีวันหยุดนิ่ง สำหรับเราแล้ว การทำทุกๆ วันให้ดีนั้นไม่พอ แต่วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ หากวันไหนที่เราหยุดนิ่ง เราจะไม่ทันโลกและไม่ทันคนอื่น นี่คือความจริงของชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

ทีมข่าวฯ ถามว่า "ทุกวันนี้ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง" พี่แอนตอบอย่างมั่นใจว่า "สำเร็จแล้ว"...

ความสำเร็จของพี่แอน คือ การที่พี่แอนและครอบครัวของเธอ สามารถผ่านสถานการณ์ และเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมาได้ จนมีทุกอย่างเหมือนทุกวันนี้ 

ย้อนกลับไปในตอนที่ลูกทั้งสองคนของพี่แอนยังเล็ก พี่แอนและพี่อ้อฟ ไม่มีเงินมากพอจะกินของดีๆ น้ำที่ใช้ดื่มยังเป็นน้ำจากก๊อกของห้องน้ำ เพื่อจะได้ประหยัดเงินไว้ใช้ในส่วนอื่น ครั้งหนึ่งพี่แอนและพี่อ๊อฟ ออกไปขายของที่ตลาดนัด กลับมาเห็นลูกชายคนโต ถอดเสื้อนั่งเหงื่อท่วมอยู่ในห้องเช่า

"เราถามลูกว่าทำไมไม่เปิดแอร์ เขาให้เหตุผลว่า เห็นเราเหนื่อยจึงอยากช่วยประหยัด นั่นทำให้เราคิดว่า เราจะต้องพยายามให้มากขึ้นเรื่อยๆ หยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้" พี่แอนกล่าว

อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี :

"เราทำทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่เป็นการสร้างความมั่นคงที่ดีให้กับลูก และสร้างคุณภาพชีวิตให้กับลูกน้องที่อยู่กับเรา" 

พี่แอนไม่ได้มองว่า ตนเองและพี่อ้อฟนั้น ลำบากอยู่แค่ 2 คน แต่ลูกของพวกเขาก็ผ่านความยากลำบากมาเช่นกัน หากเทียบกับช่วงวัยที่เด็กทั้งสองควรจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นอกจากนั้นลูกน้องของพี่แอนต่างก็อยู่ข้างๆ กับพี่แอนในวันที่ลำบาก บางคนเป็นมือผัดหมี่กรอบให้พี่แอนมาตั้งแต่เริ่มต้น จนตอนนี้มีโรงงานและใช้เครื่องผัดแล้ว

"ในส่วนของลูก เราพยายามสร้างทุกอย่าง เพื่อปูทางไว้ให้เขา แม้ว่าถ้าเขาโตขึ้นแล้วจะไม่สานต่อกิจการของเราก็ไม่เป็นไร แต่ระหว่างทางนั้น อยากให้เขามีในสิ่งที่เขาต้องการ แต่เราก็ยังสร้างนิสัยที่ดีให้เขา ไม่ได้เลี้ยงแบบเอาแต่ใจ หรืออยากได้อะไรก็ได้ เราพยายามให้ลูกเห็นความสำเร็จ ความลำบาก ความพยายามของพ่อแม่อยู่ตลอด

ในส่วนของลูกน้อง ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว เราก็ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกอย่าง ทำสิทธิ์ประกันสังคมให้เขา มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีคุณค่า เราบอกเขามาตลอดว่า ทุกคนสู้ไปกับเจ้นะ เจ้จะทำให้ทุกคนสบาย จากที่ต้องทำงานกันในพื้นที่ร้อนๆ วันนี้ห้องทำงานมีแอร์ให้ ทุกคนจะได้ทำงานได้สบายมากขึ้น ส่วนที่พักก็พักที่โรงงาน มีของสดไว้ให้ทุกคนทำอาหารกินกัน ถือว่าเป็นเหมือนการตอบแทนที่ทุกคนอยู่เคียงข้างกันมา จนมีแบรนด์ 'พลอยหมี่กรอบ' แบบทุกวันนี้"

แบ่งปันแนวคิด และความสุข :

หากใครติดตามติ๊กต่อกของพี่แอน จะเห็นว่ามีคนมาแสดงความคิดเห็นขอเงิน หรือขอทำงานกับพี่แอนบ่อยครั้ง แต่พี่แอนมีลูกน้องเพียงพอต่อความต้องการแล้ว สิ่งที่แอนมอบให้ได้ก็คือ 'หมี่กรอบ'

พี่แอนให้เหตุผลว่า ที่ทำแบบนั้น เพราะตนเองไม่ได้มีกำลังทรัพย์มาก อีกทั้งถ้าให้เงินไปเลย คนเหล่านั้นอาจจะเคยชินกับการขออยู่ตลอดเวลา การให้หมี่กรอบ เพื่อให้ลองนำไปหาแนวทางในการขาย ใช้ความพยายามของตัวเองในการสร้างรายได้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับของไป จะไม่ได้ทำตามที่พี่แอนตั้งใจ แต่พี่แอนก็ไม่เคยเสียดายหรือผิดหวังเลย

"เราไม่เคยเสียดายที่ผลลัพธ์เกิดขึ้นแบบนั้น เพราะตอนที่เราให้ของเขา เราให้ด้วยความตั้งใจดี ไม่มีอคติใดๆ แค่อยากลองให้เครื่องมือทำมาหากิน อยากสร้างนิสัยที่ดีให้พวกเขา จุดประกายการเรียนรู้ และก็เหมือนเป็นการสอนไปในตัว เพราะเราเคยลำบากมาก่อน เรารู้ว่าถ้ามัวแต่รอคนมาช่วยเหลือ ในอนาคตเราอาจจะไม่สามารถเอาตัวรอดได้"

นอกจากนั้น พี่แอนยังชอบบริจาคของ และทำอาหารเลี้ยงคนอยู่เสมอ เพราะว่าตนเองเคยอยู่ในจุดที่ได้รับของบริจาคจากคนอื่น วันนี้เมื่อพอมีเงินแล้ว จึงอยากส่งต่อและแบ่งปันความสุขเหล่านั้น โดย หวังลึกๆ ว่า ความปรารถนาดีต่างๆ ที่เคยทำ จะเป็นผลส่งให้ลูกและครอบครัวเจอแต่สิ่งที่ดี

"พี่ไม่ได้กลัวว่าใครจะมองว่าเราสร้างภาพไหม เพราะอย่างที่บอกนี่คือความตั้งใจดี เราไม่ได้เป็นทุกข์อะไรเลย เราห้ามความคิดคนอื่นไม่ได้ คนที่คิดนั่นแหละจะเป็นทุกข์ แค่เริ่มคิดไม่ดีกับคนอื่นพวกเขาก็เริ่มทุกข์แล้ว"

การรักษาคุณภาพแบรนด์ :

แม้พี่แอนจะโด่งดังในติ๊กต่อก ซึ่งช่วงที่พีกมาก คือ ปลายปี 2565 ถึง เมษายน 2566 จนสามารถสร้างรายได้หลักล้านจากโลกโซเชียลและการขายออนไลน์ เมื่อได้เงินจำนวนนั้นมา จึงนำมาเปิดโรงงาน แต่พี่แอนก็ไม่เน้นตามกระแส เธอเน้นคุณภาพ เพราะมองว่ากระแสมาแล้วก็ไป จึงพยายามปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น อยากให้ลูกค้าเห็นความพยายาม และความสำเร็จของเธอ

"ทุกวันนี้มีโรงงานแล้ว เราคิดกันว่าพอไว้แค่นี้ก่อน ยังไม่อยากขยายอะไรเพิ่ม ที่บอกแบบนี้เพราะอยากทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ให้อยู่ตัว ให้มั่นคง หากในอนาคตจะมีการขยับขยายเพิ่มเติม ก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนต่อไป เราไม่เน้นตามกระแส เรายอมรับว่า มีบางช่วงที่หมี่กรอบขายไม่ดี แต่มันก็เป็นไปตามเศรษฐกิจ เราไม่พยายามเอาของอื่นมาขาย เราก็ทำของเราไปอย่างนี้ แน่วแน่เหมือนที่เคยทำมา"

ปัจจุบัน 'พลอยหมี่กรอบ' ผลิตสินค้าสูงสุดอยู่ที่ 2,400 กล่อง ต่อวัน นี่ถือเป็นปริมาณสูงสุดที่พวกเขาพอใจ และมั่นใจว่าสามารถคุมคุณภาพได้ หากผลิตมากกว่านี้แต่สินค้าไม่มีคุณภาพ นั่นย่อมส่งผลเสียต่อแบรนด์ที่พยายามสร้างมา 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย #ThairathPhoto

อ่านบทความเพิ่มเติม :