คุยกับจิตแพทย์ มองคดี "เณรแอ" กับความเชื่อเรื่องมนตร์ดำ เตือน อันตรายอาจจะมาจากความเชื่อที่งมงาย พร้อมอธิบาย อาการ อุปทานหมู่ และ จิตหลงผิด...
เป็นอีกครั้ง กับ “เณรแอ” หรือ นายหาญ รักษาจิตร์ เจ้าของฉายาจอมขมังเวทย์ ที่ตอนนี้อายุกว่า 60 ปี แล้ว แต่กลับโดนผู้หญิง เข้าแจ้งความเอาผิด ข้อหากระทำการอนาจาร ซึ่งเป็นข้อหา คล้ายเดิมที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งทาง “เณรแอ” ได้ให้การปฏิเสธ พร้อมอธิบายว่าเขาถูกกรรโชกทรัพย์ ซึ่งคดีนี้จะเป็นอย่างไร ต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบพยานหลักฐาน สอบปากคำ และหาข้อเท็จจริงต่อไป
แต่...หนึ่งในประเด็น ที่มีการกล่าวถึง เมื่อผู้เสียหายกล่าวอ้าง คือ การใช้ “จุดอ่อน” เรื่องความเชื่อด้านไสยศาสตร์ มาเป็นประเด็นในการ “ล่อลวง” ซึ่งเรื่องลักษณะนี้ ถือว่าเกิดขึ้นบ่อยในอดีต
ไสยศาสตร์ มนตร์ดำ ความเชื่อ หนึ่งในจุดอ่อน ที่ถูกใช่ล่อลวง
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์ จากกรมสุขภาพจิต ยอมรับว่า ความเชื่อเรื่องศาสนา ก็ยังมีภูติ ผี มนตร์ดำ คุณไสย เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมและสังคมไทยมาช้านานแล้ว ซึ่งความเชื่อลักษณะนี้ เป็นสิ่ง “เฉพาะ” กับวัฒนธรรมไทย เรียกว่าเป็น “ค่านิยม” ท้องถิ่น
“หากคนรอบตัว มีความเชื่อเรื่องแบบนี้สูง ยิ่งทำให้คนใกล้ตัว จะมีความเชื่อตาม ซึ่ง “สังคมเมือง” ก็มีความเชื่อเหล่านี้บ้าง เช่น ไปแก้บนต่างๆ แต่ก็ไม่ได้เชื่อลงลึกถึงขนาด ผีปอบ ผีกระสือ ซึ่งหากมองความเชื่อในด้านบวก ก็จะมี “ความเชื่อ” ตามหลักศาสนา เชื่อแล้วก็จะทำสิ่งดีๆ สรรค์สร้างแรงบันดาลใจ”
ดร.นพ.วรตม์ ยืนยันว่า คนที่มีความเชื่อเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ได้แปลว่าเขามีอาการป่วยทางจิต พวกเขาคือคนปกตินี่แหละ เพียงแต่เขาอาจจะมีความเชื่อมากกว่าคนทั่วไป เชื่ออย่างสนิทใจ จนกลายเป็น เป็น “จุดอ่อน” ให้คนร้ายเข้ามาโจมตีเราในจุดนี้ได้ ทำให้เราต้องเสียเงินทอง กลายเป็นคดียักยอกทรัพย์ ล่วงละเมิดทางเพศ
การหาประโยชน์ โดยใช้จุดอ่อนเรื่องความเชื่อ นั้น ไม่ได้มีแต่เรื่อง “กายภาพ” เท่านั้น เพราะจากประสบการณ์การทำงานของ “หมอวรตม์” ระบุว่า มีการใช้จุดอ่อนตรงนี้มาหาประโยชน์ จากชื่อเสียงบุคคลที่ตกเหยื่อ ก็มี เช่น ให้เขาบอกต่อ, ให้เขาพูดเรื่องหนึ่ง สมมติว่าเป็นเรื่อง “คุณไสย” ก็ให้ไปบอกต่อว่า เป็นคนที่พลังอำนาจพิเศษ ซึ่งประเด็นนี้ เราก็พบเห็นได้บ่อยๆ
“การที่เชื่ออะไรมากๆ นั้น ไม่ใช่โรคทางการแพทย์ แต่ ความเชื่อ แบบ “งมงาย” คือ สิ่งที่อันตราย เพราะคนงมงายนั้น แม้จะมีคนมาบอก หรือ อธิบายสิ่งต่างๆ จะไม่ยอมรับฟัง แม้จะเสียเงินทอง ร่างกาย ก็ตาม ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้ คือ การช่วยเหลือจากคนรอบข้าง โดยทางการแพทย์ไม่สามารถช่วยได้”
คุณหมอวรตม์ อธิบายว่า คนที่มีความเชื่ออย่างงมงาย ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก การขาด “สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ” เขาจึงไปยึดเหนี่ยวกับสิ่งที่ดูงมงายแทน ฉะนั้น หากคนรอบข้างคอยช่วย คอยดูแล โดยเฉพาะการ “รับฟัง” เป็นที่ระบาย แทนที่จะเชื่อเรื่องทำคุณไสย แต่ได้ระบายกับเพื่อน หรือ พ่อแม่ ก็อาจจะช่วยได้... โดยต้องอธิบายว่า “ความเชื่อ” คือทางลัด ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มานั้น ต้องผ่านการลงทุน และกระทำบางอย่าง และส่วนมากคือไม่มีทางลัด ฉะนั้น คนรอบข้าง คือ คนสำคัญ ต้องช่วยเหลือ และทั้งหมดอาจไม่จำเป็นต้องถึงมือ “จิตแพทย์”
อุปทานหมู่ กับ ปัญหาสังคมไทย
นอกจาก “ความเชื่ออย่างงมงาย” แล้ว ในอดีต ยังเคยมีเคส “อุปทานหมู่” และบางครั้งก็ถูกนำมาใช้ในการ “ลวงหลอก” ผู้คน เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร “จิตแพทย์” จาก กรมสุขภาพจิต อธิบายว่า การ “อุปทานหมู่” นั้น ในปัจจุบัน เรายังไม่เข้าใจมันมากถึงขั้นรู้ 100% เราทราบว่า อุปทานหมู่ คือ การกระตุ้นพื้นฐาน จากความกังวลในรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก แต่มันก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหมู่เด็กและวัยรุ่น แต่สำหรับผู้ใหญ่นั้น ก็มีให้เห็นบ้าง
...
“อุปทานหมู่” เราเจอเยอะมาก ในเด็ก โดยเฉพาะในโรงเรียน ยกตัวอย่าง เด็กมีอาการปวดท้องพร้อมกัน 10-20 คน แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครเกิดอาการท้องเสียเลย หรือ บางครั้งเกิดความกลัวขึ้นมาพร้อมกัน ดังนั้น เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “อุปทานหมู่”
ส่วนกรณี ที่คนอยู่ที่เดียวกัน และเชื่ออะไรเหมือนๆ กันนั้น เคสนี้อาจจะไม่ใช่ “อุปทานหมู่” แต่จะเป็นลักษณะ “แรงกดดันทางสังคม” หรือ ค่านิยมทางสังคม
การที่เราเห็นคนเชื่ออะไรมากๆ บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะว่าจะมี “หน้าม้า” มาปะปนอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มิจฉาชีพ
“ทำไมทุกคนดูเชื่อเรื่องนี้ไปหมด ฉันดูแปลกหรือ ที่จะไม่เชื่อ ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์จะทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องเชื่อ สิ่งเหล่านี้จะถูกใช้มากในลักษณะการเป็น “ลัทธิ” มีคนจำนวนมากทำแบบนี้ ต้องไหว้แบบนี้ ถึงจะได้พรเป็นต้น ...
“จิตหลงผิด” อาการทางจิต ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ “หลอกลวง”
...
ทีมข่าวถามฯ ต่อไปว่า เคยมีคดีในลักษณะ “จิตหลงผิด” ซึ่งอาการนี้เรียกว่าอาการทางจิต หมอวรตม์ อธิบายว่า “จิตหลงผิด” คือ อาการความเชื่อบางอย่างที่ผิดเพี้ยนมากๆ ในความหมาย “ผิดเพี้ยน” นี้ไม่ได้ขึ้นกับวัฒนธรรม หรือสังคม ยกตัวอย่าง คนๆ หนึ่งมีความเชื่อ ว่าตัวเองมีคนจะจ้องทำร้าย มีคนติดตาม เฝ้าดู ตลอดเวลา มีคนจ้องจะใส่ยาพิษ ใครมาเตือนก็ไม่เชื่อ แม้คนจะมาเตือนว่า น้ำดื่มที่เพิ่งซื้อมา ยังไม่ได้แกะฝา ก็เชื่อว่ามียาพิษผสม แบบนี้คือ ลักษณะ “จิตหลงผิด” ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับค่านิยม หรือ วัฒนธรรม
สาเหตุอาการ “จิตหลงผิด” ดร.นพ.วรตม์ ชี้ว่า หลายอย่างเกิดมาจากกายภาพ แม้จะไม่รู้ว่ามีสาเหตุใด 100% แต่ก็พอสันนิษฐานได้ จากปัญหากายภาพบางอย่าง เช่น คนป่วยทางจิตที่มีอาการเรื้อรัง, ยาเสพติด ส่งผลให้เกิดอาการจิตหลอน เกิดความหวาดระแวง
“สำหรับ แนวทางรักษา อาการ “จิตหลงผิด” สามารถรักษาได้ หลายแนวทาง ประกอบด้วยการให้ยา รักษาด้วยไฟฟ้า”
ในช่วงท้าย หมอวรตม์ ได้เตือน คนไทยทุกคนว่า เราเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายครั้ง โดยรวมก็ยังใช้พื้นฐานความเชื่อ ความโลภ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนทราบว่า สิ่งที่เราเชื่อได้ดีที่สุด คือ ตัวเอง หรือครอบครัว และควรทราบว่า ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยง่าย เราอยากรวย อยากให้คนรัก หลง โดยไม่ต้องทำอะไร นั่นมันเป็นสิ่งที่ง่ายเกินจริง และมีแนวโน้มว่าจะหลอกลวง ถ้าไม่มั่นใจ ก็ลองปรึกษาคนรอบข้าง ผู้เชี่ยวชาญ หรือ หาข้อมูลด้วยตัวเองให้ดีก่อน เพื่อมาเปรียบเทียบกัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...