ต่อยอด 'เปลือกกุ้ง' เสริมประโยชน์ให้บะหมี่ฯ นวัตกรรมจาก นักศึกษา ม.มหิดล สู่การสร้างความยั่งยืน...
"อาหารอะไรที่คนชอบกิน แต่คุณค่าทางโภชนาการน้อยมาก!?" คำตอบก็คงจะหนีไม่พ้น 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' เพราะรสชาติที่ถูกปาก สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังมีหลายรสชาติให้ลิ้มลอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะได้รับความนิยมขนาดนี้
แต่ในความอร่อย กลับไร้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการ เพราะ 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' อุดมไปด้วยโซเดียม หากบริโภคมากเกินไป และสะสมในร่างกายเรื่อยๆ อาจทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไต ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าใน 1 วัน คนเราควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือ 1 ช้อนชา แต่หากคุณผู้อ่านกินบะหมี่ฯ 1 ห่อ ที่มีน้ำหนักประมาณ 60 กรัม หมดในรวดเดียวแล้วล่ะก็ คุณจะได้รับโซเดียมประมาณ 1,400-2,600 มิลลิกรัม และถ้าห่อใหญ่ขึ้น โซเดียมก็เพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้น การกินบะหมี่ฯ จึงต้องคำนึงถึงปริมาณโซเดียมด้วย
...
ด้วยเหตุนี้ 5 นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ หลักสูตรวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม จึงระดมความคิดกันว่า "จะเสริมคุณค่าทางโภชนาการให้บะหมี่ฯ ได้อย่างไรบ้าง" และจะดีกว่าไหม หากนำสิ่งที่คนมองว่าไร้ประโยชน์ มาทำให้เกิดประโยชน์ ในการเสริมคุณค่า ซึ่งนั่นเท่ากับ จะได้ประโยชน์ถึง 2 เด้งด้วยกัน!
แล้วอะไรคือสิ่งที่พวกเขาเลือกใช้? คำตอบก็คือ 'เปลือกกุ้ง'
คนเราไม่นิยมบริโภคเปลือกกุ้ง เนื่องจากมันแข็ง และไม่ได้อร่อยแต่อย่างใด ทำให้มันกลายเป็น Food Waste หรือ ขยะอาหาร ทั้งที่ความจริงแล้ว หากนำมา 'เปลือกกุ้ง' มาสกัดอย่างถูกวิธี เราจะได้สารสกัดที่มีคุณค่า และไม่ไร้ประโยชน์อย่างแน่นอน!
เมื่อตกผลึกได้เช่นนั้น พวกเขาจึงนำเปลือกกุ้งมาสกัดสาร เพื่อใช้เป็นส่วนผสมใน 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' จนกลายเป็นที่มาของโครงการนวัตกรรม "บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปเสริมไคโตซานจากเปลือกกุ้ง" (Nutrient Rich Instant Noodle Fortified with Shrimp Shells) และเป็นบะหมี่ฯ ที่มีชื่อว่า 'ชริมพ์นี่' (Shrimpney) ทั้งอร่อย มีประโยชน์ และรักษ์โลกอีกด้วย
เรื่องน่าสนใจและความเก่งของคนไทยเช่นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงต่อสายตรงถึง อาจารย์ 'ดร.ดลพร แซ่แต้' ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตทั้ง 5 เพื่อเล่าเรื่องของแนวคิดครั้งนี้ ให้พวกเราได้รู้จักมากขึ้น
สารสกัดจากเปลือกกุ้ง ประโยชน์ต่อร่างกาย :
ดร.ดลพร ระบุว่า นี่ไม่ได้เป็นการนำเปลือกกุ้งผสมโดยตรง แต่เป็นการ 'สกัด' สารอาหารออกมา ให้กลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบ สำหรับผลิตบะหมี่ฯ ซึ่งสารอาหารที่สกัดออกมาได้นั้น เช่น ไคโตซาน (Chitosan) และกลุ่มของสารสี แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสารสีแดง
'ไคโตซาน' มีโครงสร้างเส้นใยธรรมชาติ เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ดูดจับไขมันในเส้นทางเดินอาหารได้สูง 8-10 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง ทำให้สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้และช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน
...
ส่วนสารสีแดง 'แอสตาแซนธิน' สามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสายตา ลดอาการเมื่อยล้าของสายตา และเมื่อนำสารนี้ ผสมในบะหมี่ฯ สารนี้ได้ให้กลิ่น และสีแดง จะทำให้ ผู้บริโภคจะรู้สึกว่ามันมีรสชาติและเผ็ด จนไม่อยากปรุงเพิ่ม ซึ่งนี่ก็เกี่ยวข้องกับทางจิตวิทยาในการบริโภค
ดังนั้น เมื่อ 'ชริมพ์นี่' มีส่วนผสมของไคโตซาน และแอสตาแซนธิน ก็จะช่วยสร้างการรับรู้ทางรสชาติ และกลิ่นได้ดีขึ้น ทำให้สามารถลดการใช้โซเดียม MSG (Monosodium glutamate : ผงชูรส) ลงได้ ผู้บริโภคก็จะลดความเสี่ยงการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคไต โรคความดัน เป็นต้น
เปลือกกุ้ง ลด Food Waste ลด มีเทน :
อย่างที่ทีมข่าวฯ กล่าวไปข้างต้น ทีมชริมพ์นี่ใช้ เปลือกกุ้ง เพราะเห็นว่าเป็น Food Waste ที่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นส่วนเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมประมง ที่ปกติแล้วมักถูกทิ้งและไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ หรือหากนำไปใช้ประโยชน์ก็มีมูลค่าต่ำ นอกจากนั้น หากทิ้งไปโดยไม่ใช้ประโยชน์ พวกมันก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย!
...
ข้อมูลจากทีมชริมพ์นี่ระบุว่า เปลือกกุ้ง 1 ตัน ที่ถูกทิ้งหมักหมมไว้ พวกมันสามารถสร้าง 'มีเทน' (Methane) ได้ถึง 64 กิโลกรัม โดยมีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลให้เกิดโลกร้อน มีเทนที่ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ จะคงอยู่ได้เป็นเวลามากกว่า 12 ปี จึงจะค่อยๆ เสื่อมลง
ดังนั้น หากสามารถผลิตบะหมี่ฯ ชริมพ์นี่ ออกมาได้แล้วล่ะก็ จะสามารถลดขยะเปลือกกุ้งได้ถึง 60 กิโลกรัม ลดการเกิดมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 3.84 และ 150 กิโลกรัม ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อโลกและสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน
จากเศษขยะ สู่การส่งเสริมแนวคิด SDGs :
นอกจากทีมชริมพ์นี่ จะนำสารสกัดจากเปลือกกุ้ง มาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของบะหมี่ฯ การที่มุ่งมั่นทำเพื่อลด Food Waste และมีเทน ก็เพื่อเป้าหมายส่งเสริมแนวคิดความยั่งยืนอย่าง SDGs ดร.ดลพร กล่าวว่า "บะหมี่ฯ เป็นเทคโนโลยีก็จริง แต่ถ้าสร้างความยั่งยืนด้วย เราจะได้ประโยชน์ในรอบด้าน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้นำ SDGs มาผลักดันเพิ่มมากขึ้น ทางทีมของพวกเราเองก็ต้องการให้ผลงานนี้ตอบสนองต่อแนวคิดด้วยเช่นกัน"
...
SDGs หรือ Sustainable Development Goals (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด นี่เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลก ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนา ที่ทุกประเทศต้องดำเนินร่วมกัน ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 ถึง ค.ศ. 2030
โดย SDGs มีเป้าหมายทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งจะสะท้อน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แม้ว่า SDGs จะเป็นเป้าหมายระดับโลก แต่การนำไปใช้ ก็ต้องปรับให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งต้องให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าของและร่วมผลักดัน
ดร.ดลพร ระบุว่า บะหมี่ฯ กึ่งสำเร็จรูปจากชริมพ์มี่นั้น ได้สร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับ SDGs ถึง 6 ข้อ คือ ข้อที่ 1, 2, 3, 12, 13 และ 14 หากให้ไล่เรียง บะหมี่ฯ ชริมพ์นี่จะสอดคล้องกับ การยุติความจนทุกรูปแบบในทุกที่, ยุติความโหยหิว บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
นอกจากนั้น ยังเป็นสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย, สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน อีกทั้ง ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น และสุดท้ายเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า จาก 6 ข้อ ที่ชริมพ์นี่มุ่งมั่นทำ จะครอบคลุมทั้งการบริโภค ชีวิตความเป็นอยู่ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต และอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
การต่อยอดในอนาคต :
ดร.ดลพร และ 5 สาวทีมชริมพ์นี่ ร่วมฝ่าฝันทุกอย่างด้วยความตั้งใจ มาตั้งแต่พวกเขายังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งวันนี้จบการศึกษาไปแล้ว แต่โครงการนี้ก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มุ่งหน้าสู่การต่อยอด และรังสรรค์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ชริมพ์นี่เดินทางมาแล้วมากกว่า 2 ปี
ที่ผ่านมามีนายทุน และบริษัทต่างๆ ยื่นข้อเสนอ เพราะต้องการผลิต 'ชริมพ์นี่' ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อขาย แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังปฏิเสธมาโดยตลอด เนื่องจากตัวโครงการ ยังไม่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร (Petty Patent)
แต่เมื่อประมาณวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ในที่สุด! พวกเขาก็ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร ทางด้านนวัตกรรม และสูตรการผลิต ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอนาคต
ดร.ดลพร กล่าวว่า "ตัวสารสกัดจากเปลือกกุ้งนั้นเคยมีคนทำมาแล้ว แต่แนวคิดที่นำมาผสมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราน่าจะเป็นกลุ่มแรก เพราะว่าเท่าที่ตรวจสอบ หากไม่ใช่คนแรก ก็อาจจะไม่ผ่านการจดอนุสิทธิบัตร เนื่องจากมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ละเอียด ว่าไม่ต้องไปซ้ำใคร และส่วนของอนุสิทธิบัตร เราก็ใส่ชื่อนักศึกษาไปด้วย เพราะทุกคนช่วยกันทำมา และอยากให้พวกเขามีส่วนร่วม ให้รู้สึกว่าอยากต่อยอดผลงานไปเรื่อยๆ"
แม้จะยังไม่มีการผลิตออกมาจำหน่าย แต่ก่อนหน้านี้ได้ผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายทดลองชิม ดร.ดลพร ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ คนที่ชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่อยากกินโดยไม่รู้สึกผิด รวมไปถึงคนที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของทีม อาจมีราคาที่สูงกว่าทั่วไปเล็กน้อย นอกจากนั้นยังเน้นไปที่กลุ่มคนใส่ใจเรื่องสุขภาพ และบะหมี่ฯ ชริมพ์นี่ ก็ใช้การอบแทนการทอด
จากการได้ผลิตและให้กลุ่มเป้าหมายทดลองชิม ปรากฏว่า ได้รับผลตอบรับดี ผู้บริโภคบอกว่ามีความหอม และได้กลิ่นที่คล้ายกับซีฟู้ด ซึ่งกลิ่นพวกนั้นก็คือกลิ่นที่มาจากสารสกัดของเปลือกกุ้งนั่นเอง! ซึ่งตอนนี้บะหมี่ฯ ชริมพ์นี่มีเพียงรสชาติเดียว ดร.ดลพร บอกว่า ในอนาคตคิดว่าน่า หากการผลิตออกมาขายอย่างจริงจัง และก็จะต่อยอดรสชาติให้เพิ่มมากขึ้น
ความสำเร็จของ ชริมพ์นี่ :
แม้ว่าปัจจุบัน 5 สาวชริมพ์นี่จบจะการศึกษาแล้ว แต่ก็ยังเลือกศึกษาต่อ และแม้ว่าจะอยู่ต่างมหาวิทยาลัย พวกเธอก็ยังคงกลับมาช่วยกันดูโครงการนี้ ซึ่งทางอาจารย์เองก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่เหมือนเดิม
ดร.ดลพร กล่าวถึงความภูมิใจต่อนวัตกรรมนี้ว่า "ตั้งแต่ตอนเริ่มการวิจัยจนสำเร็จ ความยากคือการที่จะนำตัวสารสกัดมาเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร แล้วผู้บริโภคยอมรับ เพราะว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต่อให้เราทำดีแค่ไหน แต่หากผู้บริโภคไม่กิน ไม่ยอมรับ ก็คงไม่ใช่อาหารที่ดี มันต้องดีด้วย อร่อยด้วย คนกินด้วย ซึ่งในอนาคต ทางทีมก็คาดหวังว่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้น"
พวกเขารู้สึกภูมิใจกับผลงานนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเริ่มต้นจากแนวคิดเล็กๆ และนำแนวคิดนั้นสู่การวิจัย จนในที่สุดสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ และนำไปแข่งขันเวทีต่างๆ ได้ ส่วนใหญ่ทีมชริมพ์นี่จะได้รับรางวัลในประเทศ แต่บางเวทีแม้จะจัดในประเทศไทย ก็เป็นเวทีระดับนานาชาติ
ตัวอย่างรางวัลที่พวกเขาเคยได้รับ เช่น เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย และได้รับรางวัล 60-Second pitch winner จากการแข่งขันรายการ SCG Bangkok Business Challenge 2022 @Sasin, เข้ารอบไฟนอล และได้รับรางวัลชมเชย รายการ PTTEP Teenergy Innovation Challenge 2022 หัวข้อ Provide (การประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล) และได้เป็น 1 ใน 5 ทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ร่วมจัดแสดงผลงานในรายการ Startup Thailand League 2023 รอบภาคกลางและภาคตะวันออก
ความเก่งยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะ สิ้นเดือนตุลาคม 2566 ทีมชริมพ์นี่จะนำผลงาน ไปนำเสนอที่นิทรรศการเทคโนโลยี ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และจะช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้ง!
นี่ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวความเก่งของคนไทย และเป็นสิ่งดีๆ ที่จะมีส่วนร่วมช่วยสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของไทยและโลก ในอนาคตนั้น เราก็ต้องติดตามต่อไปว่าทีมชริมพ์นี่จะเป็นอย่างไรต่อ ไม่แน่ว่าคนไทยอาจจะได้กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ 'ชริมพ์นี่' เร็วๆ นี้ก็ได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :