สัปเหร่อ หนังไทยทำรายได้ทะยาน 500 ล้านบาท จนนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นำคณะรัฐมนตรีเหมาโรงหนังเข้าไปชม พร้อมผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ดึงรายได้เข้าประเทศ แต่ที่ผ่านมามีการผลักดันหนังไทย ให้เป็นอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ยังคงล้มเหลว แม้มีระบบสตรีมมิงเข้ามาช่วย แต่การทำงานของภาครัฐไทยกลับไม่มีพลังมากพอ

หนังไทยเรื่อง สัปเหร่อ เตรียมทำรายได้แซงหนังไทยในอดีตสูงสุดรอบ 8 ปี โดย ต้องเต-ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับ ภาคแยกจากซีรีส์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเล่าเรื่องราวชาวอีสาน พิธีกรรมความเชื่อ ทำให้หนังมีทั้งความสยองขวัญและมุกตลก สอดแทรกแนวความคิดอันเป็นสากลไว้ในเรื่องราว

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา คณบดีคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง วิเคราะห์ให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า หนังเรื่องนี้สอดแทรกเนื้อหาที่เป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย เป็นวิถีชาวบ้านแบบจริงๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นของหนังสไตล์ไทบ้านเดอะซีรีส์

สัปเหร่อ เป็นหนังที่มีเนื้อเรื่อง ซ่อนซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในตัวละคร ผ่านวิถีชาวบ้านแบบอีสาน มีอัตลักษณ์เจาะลึกชัดเจนในเรื่องประเพณีงานศพ หนังมีการเล่าเรื่องชัดเจน บวกกับสไตล์การเล่าเรื่องของผู้กำกับสร้างเงื่อนงำไว้ในเนื้อหา ขณะเดียวกันประเพณีการจัดงานศพกลายเป็นความลับ ทำให้ผู้ชมติดตามอยากรู้ไปกับตัวละคร

...

คนที่กลัวการไปงานศพ พอมีการเล่าเรื่องผ่านหนัง ทำให้ความน่ากลัวลดลง อยากรู้ถึงพิธีกรรมท้องถิ่น ขณะเดียวกันคนที่เคยเห็นพิธีกรรมมาแล้ว อยากรู้ว่าผู้กำกับใช้การเล่าเรื่องแบบไหน หนังเรื่อง สัปเหร่อ จึงมีลักษณะของ "ป๊อปคัลเจอร์" มีคุณค่าเป็นสากล แทรกเรื่องราวความรัก ที่ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบตายไปแล้วเคาะโลงศพร้องไห้ แต่เป็นการเล่าชีวิตหลังความตายแบบสากล ตัวอย่างเช่น ประโยคในหนังที่ว่า "ความตายฆ่าเราได้แค่ครั้งเดียว แต่ความรักฆ่าเราได้เรื่อยๆ" เป็นประโยคทำให้คนดูมีความรู้สึกร่วม และอยากเข้าไปดูหนัง

"สัปเหร่อ เป็นหนังที่ตรงกับโมเดลซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมของสามัญชน ที่คนทั่วโลกรู้สึก มีอารมณ์ร่วมได้ เพราะทุกคนต้องเคยไปงานศพ หรือตัวอย่างเช่น ผัดไทยที่ใส่จานเบญจรงค์แบบหรู ที่ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ถ้าเป็นผัดไทย เจ๊ไฝ ที่ทำให้ดู มีความร้อนจากเตาไฟ กลิ่นหอมให้คนสัมผัสเข้าถึงอารมณ์คนทำ ถึงเป็นซอฟต์พาวเวอร์"

รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา คณบดีคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง
รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา คณบดีคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง

ตอนนี้มีระบบสตรีมมิง ช่วยให้หนังไทยสามารถดูได้ทั่วโลก ประกอบกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น อินสตาแกรม คนดูสามารถติดตามการถ่ายทำ หรือติดตามชีวิตของดารานำได้ ตัวอย่างเช่น ซีรีส์วาย หรือหนังบอยเลิฟของไทย ทำให้คนดูชาวญี่ปุ่น หันมากินอาหารและใช้สินค้าไทยมากขึ้น

หนังเรื่อง สัปเหร่อ การไปลุยตลาดต่างประเทศ ที่สร้างซอฟต์พาวเวอร์ ต้องใช้สื่อโซเชียลเข้ามาช่วย เพื่อให้คนดูเริ่มติดตาม สนใจสินค้าเอกลักษณ์ไทย ไม่ควรยัดเยียดเหมือนยุคเก่า แต่ต้องให้คนดูได้ค้นหาข้อมูลเอง เพราะซอฟต์พาวเวอร์ เกิดขึ้นได้ ต้องมีพื้นที่เปิดให้คนดูมีความเป็นตัวตนเข้าถึง

“เนื้อหาของหนัง สัปเหร่อ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่กระบวนการในการผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่สร้างรายได้ด้านอื่น ตอนนี้ยังไม่เห็นมีกระบวนการผลักดันจากหน่วยงานรัฐจริงจัง ต่างจากเกาหลี ที่มีบริษัทหนังอุตสาหกรรม วางแผนการตลาดเป็นซีรีส์ว่าอะไรทำก่อน และอะไรขยี้ตาม”

หนังไทยซอฟต์พาวเวอร์ การผลักดันที่ล้มเหลวของรัฐ

ที่ผ่านมาหนังไทย มีปัญหาการผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ระดับนานาชาติ ในความเห็นของ รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา คณบดีคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง เกิดจากการทำงานไม่สอดคล้องกันของหน่วยรัฐ แม้รัฐบาลมีนโยบายดี แต่ลงมือทำ ต่างกระทรวงใครกระทรวงมัน แข่งกันสร้างผลงานตัวเอง โดยไม่มีจุดร่วมกัน ทำให้หนังไทยไม่สามารถไปในระดับโลกได้

...

รัฐบาลไทยควรมีหน่วยงานสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ให้เป็นหน่วยงานมีอำนาจเทียบเท่ากระทรวง แม้ตอนนี้มีหน่วยงานองค์การมหาชนในไทย แต่อำนาจในการขับเคลื่อน สุดท้ายไปติดอยู่ที่ระบบราชการ โดยเฉพาะการทำงานในลักษณะคณะกรรมการ ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การเริ่มต้นที่ดีควรให้ผู้ที่มีอำนาจมานั่งหัวโต๊ะในการประชุม เช่น นายกฯ ถึงจะประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ.

ขอขอบคุณภาพจากเพจ สัปเหร่อศักดิ์ ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์