กทม.เตรียมขานรับขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 แต่มีเงื่อนไขจัดโซนนิ่งไม่ให้กระทบชุมชนรอบข้าง ป้องกันเยาวชนเข้ามาใช้เป็นพื้นที่มั่วสุม ส่วนผู้ประกอบการมองเป็นเรื่องดี ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ภาครัฐต้องใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบสถานบันเทิงให้ออกแบบสถานที่เหมาะสม คาดนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางเพิ่ม

วันนี้ (16 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าถึงความพร้อมในการขยายเวลาเปิด ปิดสถานบันเทิง ถึงเวลา 04.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามนโยบายรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ได้หารือกับทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เรื่อง Soft Power เสนอความคิดร่วมกันทำให้ชัดเจน และก็มีมาตรการรองรับในการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันยังมีผับที่เปิดเกินเวลาอยู่ ถ้าทุกคนออกมาร่วมกันทำให้ถูกกฎหมาย และทำให้มีระเบียบในการเข้า-ออกให้ชัดเจน

ในการปฏิบัติต้องปรับปรุงการแบ่งโซน ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน เนื่องจากไม่ค่อยทันสมัยตามการขับเคลื่อนของเมืองที่เปลี่ยนไป โดยต้องหารือกับทางตำรวจอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังสร้างความรำคาญให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องวิเคราะห์ให้รอบด้านหลายมิติ คาดว่าเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทดลองเปิดสถานบันเทิงจนถึง 04.00 น. คือช่วงเทศกาลปีใหม่ประมาณเดือนธันวาคมนี้

...

ผับปิดตี 4 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับผู้ประกอบการอย่าง ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า การขยายเวลาปิดสถานบันเทิงกลางคืนถือเป็นเรื่องดี โดยเป็นการดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่ทานข้าวดึกกว่าคนเอเชีย และหลังจากทานอาหารเสร็จจะไปเที่ยวกินดื่มต่อ แต่เวลาปิดผับเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ไปเที่ยวสถานบันเทิง เพราะมีเวลาน้อย ทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้

“การจัดโซนนิ่ง ผับที่เข้าร่วมเป็นเรื่องจำเป็น กทม.สามารถจัดได้ บางพื้นที่เช่น สีลม ทองหล่อ สุขุมวิท มีร้านตั้งเรียงรายอยู่ทั้งถนน ในความเป็นจริง ร้านกลางคืนบางร้านไม่ได้ปิดตี 1 หรือ ตี 2 ตามกำหนด การขยายเวลาปิด ถือเป็นเรื่องดี ทำให้ร้านที่มีการปิดเกินเวลาได้ปรับตัวเองให้ทำถูกกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะมีการแอบจ่ายใต้โต๊ะ เพื่อขอเปิดเกินเวลาอยู่ และถือเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไปหารายได้ที่ไม่เหมาะสม”

โซนนิ่งแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนในกรุงเทพฯ ที่เหมาะสมควรเริ่มจากพื้นที่ ทองหล่อ สีลม ข้าวสาร ส่วนพื้นที่อื่น ควรมีการไปตรวจสอบร้าน ที่ไม่ส่งเสียงรบกวนชุมชนรอบข้าง โดยต้องมีการออกแบบสถานที่ไม่ให้เสียงจากภายในออกมาด้านนอก และต้องมีทางหนีไฟ และเพดานห้องสูง เพื่อช่วยในการระบายอากาศได้ดี เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงคือ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดังนั้น กรุงเทพฯ ควรมีการตรวจสอบสถานที่พร้อมกันไปด้วย หากผู้ประกอบการมีการปรับปรุงร้าน และไม่ส่งผลกระทบชุมชน ก็สามารถขยายเวลาเปิดให้ยาวนานกว่าช่วงปีใหม่

สำหรับเม็ดเงินรายได้ จากผับจะมีมากกว่าธุรกิจร้านอาหารธรรมดา เพราะสามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวยอมจ่ายได้ง่ายกว่าประเภทอื่น เฉลี่ยรายจ่ายจากการมาเที่ยวผับ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายจ่ายค่าอาหาร ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายได้จากเครื่องดื่ม ดังนั้นจะเห็นว่า สามารถกระตุ้นการบริโภคจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มาก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ที่มาเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การขยายเวลาปิดตี 4 ของผับบาร์ เจ้าของร้านต้องแสดงความรับผิดชอบ ในการไม่อนุญาตให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 เข้าไปใช้บริการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการสุ่มตรวจ และลงโทษผับที่ฝ่าฝืน เพราะรัฐเองก็ให้โอกาสในการขยายเวลาปิดแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีความตระหนักต่อการรับผิดชอบต่อสังคม เพิ่มความเข้มงวดในด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวพร้อมกันไปด้วย.