ดราม่าเดือดบนโลกโซเชียล เมื่อญาติผู้ป่วยรายหนึ่งเผยแพร่คลิปต่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากบิดามีอาการแน่นหน้าอก เมื่อรถพยาบาลมารับผู้ป่วย กลับแวะซื้อกล้วยทอด ทำให้ทางญาติไม่พอใจ ในมุมของกู้ภัยมองว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีกฎว่าต้องรีบนำส่งผู้ป่วย ไม่มีสิทธิแวะซื้อของ หรือทำธุระอื่น
14 ต.ค. ที่ผ่านมา มีญาติผู้ป่วยได้โพสต์คลิปวิดีโอซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ขับรถกู้ชีพ แวะซื้อกล้วยทอด ไม่เร่งรีบไปส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาล แม้คนไข้มีอาการแน่นหน้าอก คลิปดังกล่าวลูกสาวผู้ป่วยเล่าว่า พ่อมีอาการแน่นหน้าอกจึงโทรศัพท์ไปยังสายด่วนฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยมีการพูดคุยประเมินอาการ แจ้งให้โรงพยาบาลในพื้นที่ส่งรถกู้ชีพมารับ
เมื่อรถกู้ชีพมาถึงบ้าน ได้ลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถ ขณะที่ลูกสาวจะให้หลานไปพร้อมกับรถกู้ชีพ แต่มีการอ้างว่าคนที่ขึ้นไปด้วยควรเป็นผู้ใหญ่ เธอจึงเข้าบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่พอออกมารถโรงพยาบาลก็ออกไปก่อนแล้ว ทางญาติอ้างว่าระหว่างทางรถได้แวะซื้อกล้วยทอด ทำให้ทางญาติไม่พอใจ ขณะที่โรงพยาบาลได้โพสต์ชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า เตรียมตรวจสอบการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนคนไข้อยู่ในความดูแลและปลอดภัยแล้ว
...
การทำงานของรถโรงพยาบาล และรถกู้ชีพ กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างหนัก สำหรับ อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า หากมีการตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริง กรณีนี้ถือเป็นรายแรกที่เจอ กฎของทีมที่ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ต้องรีบไปรับผู้ป่วยส่งให้ถึงมือหมอในเวลารวดเร็ว ไม่ควรแวะซื้อสิ่งใดระหว่างทาง เพราะยิ่งช้าผู้ป่วยจะเป็นอันตราย
แนวทางปฏิบัติไม่ว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในรถพยาบาล หรือทีมกู้ภัย ต้องรีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาล เพราะตามกฎของหน่วยงานแพทย์ฉุกเฉินมีการระบุว่า ในการออกรถเพื่อไปรับคนไข้ ต้องรีบไปให้ถึงปลายทาง 8-15 นาที แต่ด้วยการจราจรที่ติดขัดของไทย อาจไปถึงช้ากว่านั้น แต่สำหรับทีมช่วยชีวิตห้ามแวะทำธุระอื่นเด็ดขาด แม้คนในทีมปวดหนัก หรือเบา ต้องอั้นไว้ก่อน
“รถสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน กรณีที่คนไข้มีอาการหนัก รถจะต้องมีหมอและพยาบาล เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทันที ส่วนรถกู้ชีพที่คนไข้มีอาการป่วยทั่วไป จะมีเครื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนถึงโรงพยาบาล แต่กฎสำคัญของคนที่ทำงานนี้คือ เมื่อนำผู้ป่วยออกมาจากที่เกิดเหตุแล้ว ต้องเร่งนำส่งยังโรงพยาบาลปลายทาง กรณีที่เป็นดราม่า ทีมแพทย์ต้องให้ออกซิเจนผู้ป่วย และรีบนำส่งโรงพยาบาล เพราะอาการแน่นหน้าอกอาจมาจากหลายอาการที่มีผลต่อชีพจรของคนไข้ได้”
คนขับรถฉุกเฉินหากแวะทำธุระอย่างอื่น ขณะคนไข้ขึ้นมาบนรถแล้วถือเป็นความผิด แต่ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัดในการกวดขันดูแล แม้ในทางกฎหมายไม่มีการระบุชัดเจน แต่คนที่ทำงานนี้ต้องมีจิตสำนึก ที่ผ่านมาในไทยยังไม่เคยมีใครทำลักษณะนี้ ดังนั้นหน่วยงานทางการแพทย์และต้นสังกัดนอกจากจะต้องตรวจสอบความจริงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายแล้ว ควรมีมาตรการในการควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ขึ้นอีก
ในฝั่งของญาติผู้ป่วย แนวทางปฏิบัติระหว่างรอรถฉุกเฉินมา ควรเตรียมตัว แต่งตัวให้เรียบร้อย เตรียมเอกสารบัตรประชาชนผู้ป่วย รวมถึงยา หรือเอกสารการรักษาที่ผ่านมาไว้ให้พร้อม เพราะเมื่อรถฉุกเฉินมาจะได้ไปพร้อมผู้ป่วยทันที โดยเฉพาะญาติที่ใกล้ชิดผู้ป่วย รู้ถึงอาการ และโรคที่ผู้ป่วยเป็น ควรไปด้วยทุกครั้ง เพื่อจะเล่าถึงอาการให้หมอฟัง ให้ทำการรักษาอย่างฉุกเฉินได้ถูกต้อง.
...