ถอดหลักคิด "อิสราเอล" ประเทศที่ถูกรายล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่ไม่ลงรอยกัน ชาย หญิง ต้องเป็นทหารตลอดชีวิต พร้อมรบทุกสถานการณ์ กับวิถีเอาตัวรอดในภาวะสงคราม....
พรุ่งนี้ (12 ตุลาคม 2566) จะมีแรงงานไทย "ลอตแรก" ที่ได้กลับบ้านเกิด หลังต้องไปเผชิญชะตากรรม หนีภัยสงครามจากประเทศอิสราเอล ที่กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือด กับกลุ่มฮามาส ประเทศปาเลสไตน์ ในสมรภูมิ "ฉนวนกาซา"
คำถามคือ การเดินทางไปทำงานที่ "อิสราเอล" นั้น คือ ทางเลือกหนึ่งของแรงงานไทย ที่ต้องการเป็นขุดทองหาเงินกลับมาส่งเสียให้ครอบครัว แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ที่รู้กันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นปัญหาความขัดแย้ง ฉะนั้น เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการ "เอาตัวรอด" ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เล่าถึงเกร็ดความรู้ในการเผชิญหน้าในภาวะ สงคราม
ชาวอิสราเอล ทุกคนเป็นทหาร และ เป็นทั้งชีวิต!
พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวว่า ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่ก่อตั้งประเทศขึ้น ในวงล้อมของเพื่อนบ้านที่ไม่ลงรอยกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ฉะนั้น การที่อิสราเอล ต้องการอยู่ให้รอดให้ได้ จึงหาวิธีการจัดตั้งกองทัพที่มีประสิทธิภาพ ระบบกำลังสำรอง หรือกองหนุน ประชาชนทุกคนของเขา ต้องเป็นทหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ขณะที่บางส่วน ที่อายุมากแล้ว ก็ต้องรับใช้ชาติยามจำเป็น สรุปรวมคือ ประชาชนของเขา คือ "ทหารทั้งชีวิต"
...
พล.อ.นิพัทธ์ ยอมรับว่า ระบบการป้องกันประเทศของเขา ถือว่าดีมาก ในบ้านเรือนประชาชน สามารถเก็บปืนไว้ได้ และพร้อมระดมพลได้ทันที หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ประชาชน สามารถนำอาวุธออกมาสู้รบได้ทันที โดยทุกคนจะรู้หน้าที่ของตนเอง รู้หมวดหมู่ หรืออยู่กองร้อยใด นี่คือ ระบบที่ประเทศอิสราเอลสร้างขึ้น....
"ตรงนี้ ยังไม่รวมการพัฒนาอาวุธ รวมทั้งการค้นคว้าวิจัย เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง ในระบบอาวุธ ข่าวกรอง รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากทำขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว ยังสามารถขายได้ เรียกว่า อาวุธของอิสราเอล กลายเป็นสินค้าส่งออก อันดับต้นๆ ของโลก นี่คือความน่าทึ่งของอิสราเอล ทั้งที่ประชากร ราว 9 ล้านคน มีประเทศตั้งอยู่ในใจกลางความเชื่อว่า "พระเจ้า" ประทานที่ดินตรงนี้มาให้ โดยเฉพาะบางเมืองใน "เยรูซาเลม" ซึ่งก็ยังมีอีก 2 กลุ่มที่เชื่อในเช่นเดียวกันว่า พระเจ้าได้ประทานให้"
นี่คือภาพรวม และ ตัวตน ของชาวยิว
การเอาตัวรอดในภาวะสงคราม
พล.อ.นิพัทธ์ อธิบายว่า ด้วยที่อิสราเอล เจอภาวะสงครามมาครั้งนับไม่ถ้วน ประชาชนจึงรู้วิธีการเอาตัวรอด โดย "อัตโนมัติ" ที่สำคัญคือ เขารอดมาทุกครั้ง และชนะทุกศึก และยิ่งชนะ ก็ยิ่งได้ดินแดนเพิ่ม...โดยพูดภาษาง่ายๆ ว่า "ยิ่งถูกกระทำ ก็ยิ่งไม่ขาดทุน"
พล.อ.นิพัทธ์ ย้ำว่า นี่ไม่ใช่กล่าวเชียร์ แต่ถือว่าเป็นการสะท้อนความเป็นจริง...
เมื่อถามว่า "การเอาตัวรอด" ของแรงงานที่เข้าไปทำงานในอิสราเอล สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ อะไร วิธีการเอาตัวรอด ต้องทำอย่างไร อดีตปลัดกลาโหม อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ารัฐบาลอิสราเอล ต้องการแรงงานเข้าไปทำงานเยอะมาก รวมถึงคนไทย ที่เขาต้องการให้ไปเป็นเกษตรกร
"การทำงานในอิสราเอล ค่อนข้างมีระบบ เพราะเขาต้องระบุนายจ้างที่ชัดเจน ใครอยู่บริษัทไหน มียอดเท่าไร หมดสัญญาเมื่อไร กลับเมื่อไร ทุกคนมีประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ หากเกิดภาวะสงครามบินไป-กลับ ใครจะเป็นคนจ่าย เรื่องนี้สำหรับอิสราเอล ถือว่ารัดกุมมาก หากเทียบกับประเทศอื่น"
...
ส่วนการเอาตัวรอดในภาวะสงครามนั้น ทางอิสราเอล เขามีคำแนะนำก่อนไปทำงานอยู่แล้ว คือ
1. ให้หลบไปอยู่ในบ้าน
2. ถ้ามีหลุมหลบภัย เช่น ในหมู่บ้านชุมชนนั้นๆ มีที่หลบภัย ก็ให้เข้าไปหลบในที่หลบภัย
3. ห้ามออกไปโล่ง หรือออกไปถ่ายภาพ คลิป หากมีจวนตัวก็ให้หมอบราบ
4. หากทางอิสราเอล จัดพื้นที่ปลอดภัยก็ให้อพยพไป โดยเขาจะมีการจัดพื้นให้คนงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานอิสราเอลอยู่
"สิ่งเหล่านี้ เขาบอกกับประชาชนทุกคนในประเทศให้ทำแบบนี้ และแรงงานที่จะไป ก็จะต้องผ่านการอบรมสิ่งเหล่านี้ และที่สำคัญคือ จะมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ในการเข้าออกพื้นที่ มาตรการต่างๆ ห้ามเข้า ห้ามออก ภายในเวลาเท่าไร ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนในประเทศรับทราบอยู่แล้ว ที่สำคัญ คือ สงครามไม่ได้เกิดทุกวัน"
รัฐบาลเป็นกลาง แก้ปัญหารวดเร็ว
...
พล.อ.นิพัทธ์ ให้ความเห็นว่า เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น ทางนายกฯ หรือ รมว.ต่างประเทศ ของไทย ก็รับรู้และพยายามแก้ปัญหา อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีคนไทย มากกว่า 2 หมื่นคน ส่วนปมปัญหาความขัดแย้ง ก็วางตัวเป็นกลาง ถือว่าถูกต้องแล้ว เนื่องจาก เรามีสัมพันธ์ทางทูตที่ดีกับทั้ง 2 ประเทศ ฉะนั้น เราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
สิ่งที่รัฐบาลไทย ทำ คือ การช่วยเหลือคนไทย อำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งทราบว่า พรุ่งนี้จะมีแรงงานไทย "ลอตแรก" เดินทางกลับมา ส่วนที่เหลืออีก 3,000 คน ที่สมัครใจกลับก็น่าจะทยอยกลับมา
เมื่อถามว่า ปกติมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ เราจะใช้เครื่องบิน C-130 ไปรับคนไทยมา แต่ครั้งนี้ทำไม่ได้ พล.อ.นิพัทธ์ ระบุว่า ถือเป็นมาตรการท้องถิ่นอิสราเอล เราต้องปฏิบัติตาม ส่วนใครสมัครใจกลับ ก็ต้องกรอกเอกสารของสถานทูต ส่วนใครที่อยู่ต่อ ก็ต้องตามใจ เพราะการสู้รบนั้นมีอยู่บางพื้นที่เท่านั้น
"การที่แรงงานจะไปทำงานประเทศใดนั้น เชื่อว่า ทางเอเจน หรือ ก.แรงงาน น่าจะมีการชี้แจงความเสี่ยงต่างๆ อยู่แล้ว หากมีปัญหาก็จะมีการติดต่อผ่านสถานทูต ทูตแรงงาน หรืออะไรต่างๆ ที่ทำงานอยู่ตรงนั้น เชื่อว่าทำเต็มความสามารถแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายใน 1-2 วันนี้ สถานการณ์อาจจะคลี่คลายลงก็เป็นได้"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...