เปิดขั้นตอน การดำเนินคดี เยาวชนอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงในห้างสยามพารากอน เอาผิดได้แค่ไหน โทษถึงพ่อแม่หรือไม่ ...

เด็กทำผิด ไม่ติดคุก? ยิ่งอายุน้อยกว่า 15 ปี จะไม่โดนการลงโทษ? 

นี่คือ สิ่งที่คนในสังคมกำลังตั้งคำถาม และ หวาดระแวง ในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่รู้ว่าเหตุเหล่านี้ จะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เกิดขึ้นเมื่อไร นี่คือ หน้าที่ของผู้รักษากฎหมาย ที่ต้องเข้มงวด และจริงจัง หากไม่คิดเรื่องตัวเลขนักท่องเที่ยว ก็ขอให้คิดถึงประชาชน...

ขั้นตอนการเอาผิด เยาวชนอายุ 14 ก่อเหตุกราดยิง 

สำหรับ ขั้นตอนในการดำเนินคดี เยาวชนอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุ กราดยิงในห้างพารากอน ห้างใหญ่กลางเมือง จะมีขั้นตอนอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า...หลังจากนี้ ทางตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน จะนำตัวไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับกุม โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องส่งตัวภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม เป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ กระบวนการในการจับกุม เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ปฏิบัติต่อเด็ก “ชอบด้วยกฎหมาย” หรือไม่ นอกจากนี้ ทางศาลจะดูเรื่อง “ที่ปรึกษากฎหมาย” ว่าทางครอบครัวเด็ก มีหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะตั้งให้ จากนั้น ก็จะมีการดูข้อเท็จจริง ว่าควรดำเนินการอย่างไรกับเด็กได้บ้าง...การจะส่งตัวให้พ่อแม่ดูแล ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “ข้อเท็จจริง” ที่ทางตำรวจรายงานมา

...

ความเป็นเด็ก อายุเพียง 14 ปี จะดำเนินการเอาผิดอะไรได้หรือไม่ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ประเด็นทางกฎหมาย ตามมาตรา 74 ระบุไว้ว่า เด็กอายุ ต่ำกว่า 12 แต่ไม่เกิน 15 ปี เวลากระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้น “ไม่ต้องรับโทษ” หมายถึง โทษในทางอาญา เช่น ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ หรือ ริบทรัพย์สิน ซึ่งโทษเหล่านั้น “ไม่สามารถใช้กับเด็ก” ได้ 

แต่...ศาล มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายอย่างอื่น เช่น ลักษณะของเด็ก ควรส่งตัวไปอยู่ในสถานศึกษา, สถานฝึกอบรม หรือ สถานบำบัดทางจิต ก็สามารถส่งตัวไปได้...ส่วนจะถูกส่งไปที่ไหน ก็คงต้องรอดูผลการตรวจสอบและการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะส่งไปที่ใด.. แต่การส่งนั้น ต้องส่งก่อนที่เด็กจะมีอายุครบ 18 ปี

วิกลจริต กับการรับโทษทางกฎหมาย 

เมื่อถามว่า ขั้นตอนในการตรวจสอบอาการทางจิต เป็นอย่างไร นายสรวิศ กล่าวว่า ขั้นตอนการตรวจสอบทางจิตนั้น คงต้องให้ทางแพทย์เป็นผู้พิจารณา เพราะศาลเอง ก็ทำหน้าที่ในทางกฎหมาย ไม่มีอำนาจจะไปตัดสินว่าเด็กวิกลจริต หรือไม่ 

วิกลจริต กับ ไม่วิกลจริต สำหรับเด็กอายุ 14 ที่ทำผิด มีผลทางกฎหมาย แค่ไหน โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า การวิกลจริต มีหลายแบบ จึงจำเป็นต้องดูว่าเป็นแค่ไหน... อันนี้จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ 

อีกประการ คือ หากลักษณะ อาการการวิกลจริตของเด็ก หนักมาก ถึงขั้นไม่รู้เรื่องราว ในกระบวนการพิจารณาในการรักษาสิทธิ์ของตัวเองได้ ก็อาจจะมีประเด็นในตามกฎหมาย คือ “พนักงานสอบสวน” จำเป็นต้อง “งดการสอบสวน” จากนั้นก็ส่งตัวไปยังโรงพยาบาล ให้ทางโรงพยาบาลดูแลไปก่อน จนกว่า อาการดีพอ ที่จะต่อสู้คดีได้ แต่สุดท้าย ต้องรอดูข้อเท็จจริง ตามกระบวนการ และ ผลการวินิจฉัยของแพทย์ 

เมื่อถามว่า ปกติ การดำเนินการตรวจสอบทางจิต ใช้เวลาแค่ไหน โฆษกศาลยุติธรรม ตอบว่า หากวินิจฉัยเบื้องต้น จะใช้เวลาไม่นาน เพราะการทดสอบทางจิต ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารทดสอบ และรอผลในแล็บ 

การก่อเหตุกราดยิง โดยมีผู้ก่อเหตุวัย เพียง 14 ปีถือเป็นเคสแรกๆ ในไทยเลยหรือไม่ นายสรวิศ ระบุว่า ที่ผ่านมา มีคดีเด็กกระทำความผิดในแต่ละปี มีเยอะพอสมควร แต่ถ้าพ่วงเรื่องการเป็นคนวิกลจริตด้วย คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม 

...

กฎหมายเด็ก และ การเอาผิด จะมีการทบทวนหรือไม่ เนื่องจากกระแสโซเชียลฯ ได้พูดถึงเรื่องนี้มาหลายครั้ง และเด็กสมัยปัจจุบันกับอดีต ก็มีความแตกต่างกัน นายสรวิศ ชี้ว่า การแก้ไขกฎหมาย คงเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติของสภาฯ และที่ผ่านมา กฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ก็มีการแก้ไขและยืดหยุนอยู่พอสมควร โดยมีการพิจารณาเรื่อง “โทษ” หรือ “มาตรการ” ที่นำมาใช้กับเด็กได้อยู่พอสมควร 

“ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปขนาดไหน กลไกทางกฎหมายก็ยังคงมีช่องทางอยู่ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไข เพราะเหตุเรื่องนี้ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า ทั้งนี้ การมองเรื่องเด็ก จะตีขลุมทั้งหมดไม่ได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีความไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เราเองยังไม่รู้รายละเอียดข้อเท็จจริงของเด็กทั้งหมด ว่ามีจิตใจอย่างไร สภาพแวดล้อมของเด็กที่เป็นอยู่ เป็นอย่างไร และเวลานี้เป็นการคาดเดาจากภาพ ฉะนั้น จึงต้องรอข้อเท็จจริงก่อนที่จะด่วนตัดสินใจอะไรลงไป หากเด็กสมัยนี้ดูโตกว่าในอดีต แต่...สำหรับ อายุ 14 ก็ยังไม่เยอะ” นายสรวิศ กล่าว 

...

การเอาผิด กับ พ่อแม่... 

ทีมข่าวฯ ถามโฆษกศาล ว่า คดีนี้เอาผิดไปถึงพ่อแม่ได้หรือไม่ นายสรวิศ กล่าวว่า หากเป็นคดีอาญา คงไม่สามารถเอาผิดได้ แต่ก็หากเป็นคดีแพ่ง มีการฟ้องร้อง ก็สามารถทำได้ เนื่องจาก “ผู้เยาว์” ไปทำการละเมิด ในขณะที่ทางอาญา ไม่เกี่ยว เว้นแต่ว่าพ่อแม่ใช้ความระมัดระวังในการดูแลหรือไม่ หากมีความระมัดระวังแล้วก็อาจจะไม่ต้องรับผิด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องไปพิสูจน์...

ในฐานะหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เป็นห่วงกับเหตุกราดยิงครั้งนี้ คือ ความเป็นห่วง ความปลอดภัยของประชาชนในสังคม เพราะไม่ว่าอย่างไร ความสงบสุข ของคนในสังคม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรื่องรองมา....สำหรับเรื่องของเด็กนั้น เราทุกคนเคยผ่านการเป็นเด็กมา ก็เชื่อว่า มี “วุฒิภาวะ” ระดับหนึ่ง แม้สังคมปัจจุบันจะแตกต่างอดีต แต่คงไม่มาก ฉะนั้น การดำเนินการอย่างไร อยากให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างรอบคอบ ให้ทุกอย่างชัดเจน จากนั้นค่อยมาดูวิธีการในดำเนินการอย่างเหมาะสม ในแต่ละกรณีไป 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...