คุยกับเกษตรกรสาว แม่ค้าออนไลน์ ปลูกพืชน้ำ ใช้เนื้อที่ 1 ไร่ รายได้เดือนละ 30,000 พร้อมแนวคิดสุดเจ๋ง ปลูกผักหายาก ให้ตลาดเข้าหา กำหนดราคาเองได้
เป็นอีก 1 งานเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย และได้ผลดีในการปลูก สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยใช้เวลาไม่นานนัก...
ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง การปลูก “พืชน้ำ” เพียงแค่จัดการระบบน้ำได้ ทุกอย่างก็อยู่ในมือ
วันจันทร์กับเรื่องราวแรงบันดาลใจเกษตรและความยั่งยืน กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ วันนี้ เราจะชี้ช่อง “ทำเงิน” กับ “พืชน้ำ” โดยใช้พื้นที่น้อย ก็สร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท กับ ปญญานัฐก์ หลอดทอง หรือ คุณหวี สาวที่เรียนจบบัญชี แต่มาเอาดีด้วยเกษตร เจ้าของ “ชานเมืองฟาร์ม” ในพื้นที่ หมู่ 8 บ้านหนองคุ้ม ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว
น.ส.ปญญานัฐก์ เปิดเผยว่า เดิมทีเราทำธุรกิจเกี่ยวกับรับดูแลสวนในหมู่บ้านโครงการจัดสรร แต่หลังจากโควิดซีซั่นแรกระบาด มีการควบคุมค่อนข้างเข้ม เรียกว่า ใครออกจากพื้นที่ไหน ก็ต้องถูกกักตัวในพื้นที่นั้น ซึ่งเราก็เลยไม่ค่อยได้ไปไหน จึงสั่งงานผ่านออนไลน์ และไม่ได้เข้าไปกรุงเทพฯ และเราก็มีที่ดินอยู่ตรงนี้ประมาณ 10 ไร่ ก็อยากที่จะลงทุน เพิ่มมูลค่าในการสร้างรายได้ให้กับพ่อแม่...
...
“กำลังนั่งไถ่ฟีดเฟซบุ๊กไปเรื่อย จนกระทั่งไปเจอเพจหนึ่ง ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ “แหนแดง” ที่เป็นพืชมหัศจรรย์ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหาร เป็ด ไก่ เอาไปทำปุ๋ย ซึ่งเมื่อค้นข้อมูลก็พบว่า “แหนแดง” นั้นมีมูลค่าตั้งแต่เกิดยันตาย แต่กลับไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ประโยชน์”
สาวเจ้าของชานเมืองฟาร์ม เผยว่า แค่ 2 สัปดาห์ ก็ได้ผลผลิต “แหนแดง” กองท่วมหัว ด้วยสกิลที่เคยเป็นแม่ค้าออนไลน์ ขายตุ๊กตามาก่อน จึงนำมา “ไลฟ์สด” ขาย เราก็บรรยายเลยว่า เป็นปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยนาข้าว ทำดินผสมเพาะกล้าได้ เพราะตัวแหนแดงอุ้มน้ำกว่า 300 เท่า เป็นอาหารเป็ด ไก่ ปลา สัตว์กินพืชทุกชนิด นำมาใช้เป็นอาหารได้ เรียกว่าตอนนั้นแค่ครั้งแรกก็ขายดี จากบ่อเล็กๆ 1 คูณ 3 เมตร กลายเป็น 3 คูณ 9 เมตร จำนวน 4 บ่อ กระทั่งกลายเป็นบ่อ 2 คูณ 35 เมตร จำนวน 4 บ่อ เรียกว่าเป็นฟาร์มใหญ่ และหลังจากนั้นก็มีคนมาศึกษาดูงาน
จากแหนแดง ต่อยอดด้วยพืชผักหายาก กำหนดราคาได้เอง
เกษตรกรและแม่ค้าออนไลน์ ประเมินว่า หากจะขายแหนแดงอย่างเดียว ไม่เกินปีก็อาจจะไปต่อยาก ฉะนั้นต้องหาอะไรเพิ่ม โดยมีโจทย์ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง เราจะทำอย่างไร จึงไปจบด้วยการปลูกพืชหายาก...
น.ส.ปญญานัฐก์ เล่าว่า หากเราเอาพืชผักชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในน้ำมาต่อยอด และเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ และเดินมาหาเราเอง เราก็จะ “กำหนดราคาสินค้า” เองได้ เราจึงทดลองปลูกพืชหลากหลายในน้ำที่หายไปจากท้องตลาด แต่คนยังนิยมกินอยู่ อาทิ ผักชีล้อม ดอกจอก ผักแว่น ผักกะแยง ผักพายน้อย บัวแดง ผักแว่น กระจับ ผักจองแต (ผักเต่านา)
คุณหวี เล่าว่า การนำพืชหายากมาปลูก เพราะเรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ คนที่เคยกินผักเหล่านี้ แล้วห่างหายไปไม่ได้กิน เมื่อเราเอามาแล้ว ก็จะมีคนมาถามหา และเขาจะเข้ามาหาเราเอง
“ส่วนวิธีการหาผักเหล่านี้ เราก็จะให้ลูกสมุน (หัวเราะ) หลานๆ ในหมู่บ้าน เราก็บอกไปว่าอยากได้อะไร หลานๆ ในหมู่บ้าน ที่ชอบเดินเลาะตามทุ่งต่างๆ เขาจะรู้ว่ามันขึ้นที่ไหน เขาก็จะเอามาและขายต่อ ส่วนผักอื่นๆ เช่น ผักแว่น คุณยายไปเจอมา คือ เหลืออยู่นิดเดียว เรียกว่าต้นเท่าเข็ม ยายเขาไปเอามาเท่าอุ้งมือ (รวมดิน) จากนั้นเราก็โยนเข้าไปในบ่อแหนแดงเก่า เวลาผ่านไป 1 เดือน ขยายพันธุ์เต็มบ่อเลย นี่คือจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์ หรือหายาก ดังนั้น ราคาพืชที่หายากกว่า จะขายได้ราคาดีกว่า..”
...
นี่คือการตลาดที่ทำให้คนเข้าหาเราเอง เราต้องมีความแตกต่างจากคนอื่น ที่ผ่านมา เราเห็นพ่อค้าคนอื่นปลูกพืชตามๆ กัน และเมื่อพ่อค้าคนกลางมารับ เขาก็จะกดราคา หรือหากบางฤดูกาลสินค้าล้นตลาด กลายเป็นว่าขายไม่ได้ ต้องไถทิ้ง...เสียเงิน เสียแรง ทำเยอะ แต่ไม่ได้
“ผักหายากต่างๆ เรามองไปที่ตลาดคนอายุ 38-45 ปีขึ้นไป เรียกว่าตอนเด็กๆ เคยกิน เคยสัมผัสรสชาติเหล่านี้ เมื่อเขาเห็นเขาจะรู้สึกอยากกิน หรือซื้อฝากญาติพี่น้อง อีกประเด็น คือ ช่วงโควิดที่ผ่านมา มันทำให้รู้ว่าสูงสุด คืนสู่สามัญ วันหนึ่งทุกคนต้องกลับบ้าน สร้างวิถีตนเอง หากบ้านว่างเปล่าก็จะรู้สึกเคว้ง แต่ถ้ากลับไปแล้ว มีโอกาสปลูกพืชที่หวนคำนึง มันจะทำให้มีกำลังใจ รู้สึกว่าทำให้คนรักถิ่นมากขึ้น
ผักชีล้อม กับ ผักแว่น ผัก 2 ชนิดที่ขายดี
ทีมข่าวฯ ถามว่า มีผักชนิดไหนกำลังเป็นกระแสดี น.ส.ปญญานัฐก์ บอกว่า ผักชีล้อมกับผักแว่น ส่วนของปีที่แล้ว คือ “ผักก้านจอง” โดยเราเป็นเจ้าแรกที่คิดค้นต้นกล้าผักก้านจองขาย ซึ่งผักตัวนี้ก็ถือว่าช่วย “เจริญอาหาร” รสชาติมันมีขมนิดๆ แต่คนแก่ๆ ชอบกิน เพราะกินแล้วมันจะให้กินข้าวอร่อย และผักก้านจองนี้ บางพื้นถิ่นจะไม่มีขายเลย.. เรียกว่าเป็นเมนูที่อยู่คู่กับคนอีสาน กินคู่กับอาหารอย่างอื่นได้
“ส่วนรายได้ เดือนละ 20,000-30,000 บาท ผักชี้ล้อมขายดี ซึ่งเราก็ขายผักในหลายๆ แบบ เพราะบางอย่างก็ต้องอาศัยลูกค้าทั่วไป การที่เราทำผักผสมผสาน ก็เพราะว่าเราต้องการรักษามาตรฐานรายได้ด้วย หากเราปลูกผืชชนิดเดียว ต่อให้เก่งแค่ไหน มันก็มีโอกาสล้ม แต่การปลูกพืชผสมผสาน คือ ทางรอด ทางเลือกที่ดีที่สุด เราจึงเอาพืชทุกอย่างที่อยู่ในน้ำมาปลูก เรียกว่าใครมาที่นี่ อยากได้อะไร เรามีให้ครบ รวมถึงสัตว์น้ำด้วย เช่น ปลาซิว กุ้งฝอย ปลากระดี่ เนื่องจากเรามีอาหารปลาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุน โดยเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่า ใช้ธรรมชาติเลี้ยงธรรมชาติ เป็นเกษตรอินทรีย์ 100%”
...
เคล็ดลับปลูกพืชน้ำ ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ
คุณหวี อธิบายขั้นตอนการปลูกพืชในน้ำ ปกติประมาณ 3-4 เดือน จะต้องเปลี่ยนน้ำ แต่เราต้องการประหยัดน้ำให้มากที่สุด เราจึงทดลองหาวิธีการยืดอายุน้ำในบ่อประดิษฐ์ให้ใช้ได้นานที่สุด ด้วยการนำขี้ควายมาผสมในน้ำ เพื่อให้พืชขยายพันธุ์แบบตามธรรมชาติ สมมติว่าในบ่อปูน 1 คูณ 3 เมตร จะใช้ขี้ควาย 5 กก. เทลงไปในบ่อที่มีน้ำสูงประมาณ 15 ซม. ซึ่งเรื่องนี้ใช้วิชา “วิศวะ กะเอา” (หัวเราะ)
“ความรู้ที่มีตรงนี้ ได้มาจาก “ลองผิด ลองถูก” และเรามีความมุ่งมั่นจะเป็นเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น จึงใช้ขี้ควายผสม และเมื่อพืชโต ตักขายได้ภายใน 7 วัน เท่ากับน้ำในบ่อนั้นมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด แล้วมันจะไม่เกิดตะไคร่น้ำ หากไม่เป็นตะไคร่ ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำ”
การปลูกแหนแดงตอนแรก อาจจะใช้ระยะเวลา 14 วัน เพราะหากซื้อไป มันก็จะอ่อนแอลงระหว่างเดินทาง ดังนั้น จึงต้องให้มันฟื้นตัว ใช้เวลา 7 วัน และอีก 7 วัน มันก็จะขยายพันธุ์เต็มบ่อ
...
คำแนะนำ มือใหม่
สำหรับคำแนะนำจากเจ้าของชานเมืองฟาร์ม คือ การทำพืชน้ำ ที่จริงไม่ได้ยากอะไรมาก สิ่งที่ต้องระวัง คือ ปัญหาศัตรูพืช หากป้องกันได้ ก็แทบไม่ต้องดูแลอะไร เช่น หนอน ก็ทำโรงเรือนป้องกัน ส่วนสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ แหล่งอาหาร เราก็ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติมาผสมให้ มันก็มีเท่านี้
ส่วนใครที่อยากเริ่มทำเกษตร คำแนะนำ คือ หากเริ่มต้นอย่าเพิ่งคิดเรื่องขาย ลองปลูกพืชเพื่อกินเองก่อน หากปลูกแล้วเหลือค่อยขาย การขายก็ไม่จำเป็นต้องขายจริงจัง เพียงลงคลิป ถ้าคนสนใจเขาจะเข้ามาเอง และไม่ควรวิ่งตามกระแส ให้เริ่มจากการกินการอยู่เป็นหลัก เอาตัวเองให้รอด และอย่าเอา “เงิน” ลงทุน แต่ต้องใช้สมองกับมือในการลงทุน ต้องรู้จักวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคให้ออก
“ความยั่งยืนในการเกษตร ส่วนตัวมองว่ามันขึ้นอยู่กับตัวเรา เราซัพพอร์ตตัวเองได้แค่ไหน ความยั่งยืนมันก็จะตามมา หากเรายืนอยู่ได้ ไม่เป็นภาระสังคม ไม่จำเป็นต้องให้ใครช่วยเหลือ ความยั่งยืนจะเกิดกับตัวเองได้ และแบ่งปันคนอื่นได้”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ