เปิดอกคุยกับ "พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ "หนึ่งเดียว ไม่โหวตให้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ว่าที่ ผบ.ตร. คนที่ 14 เล่าเบื้องหลัง วงประชุม ก.ตร. ลั่น ผมไม่ถูกกดดัน หรืออยู่ใต้อาณัติใคร..
"พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์" คือ หนึ่งเสียง หนึ่งเดียวใน ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ที่ไม่ได้โหวตให้กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ว่าที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 หลังมติในที่ประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2566 ออกมา 9 ต่อ 1 เสียง โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เสนอชื่อ “บิ๊กต่อ” หรือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้ลงคะแนนงดออกเสียง
เรื่องนี้กลายเป็นที่ผู้ถึงอย่างกว้างขวาง และต่อมา พล.ต.อ.เอก ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงจุดยืน Aek Angsananont โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญ ดังนี้
ผมได้ทำหน้าที่ ด้วยการอภิปรายแสดงความคิดเห็นถึง บริบทกฎหมายการแต่งตั้งตำรวจ
เริ่มตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ให้ปรับปรุงกฎหมายบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าตำรวจจะได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด
พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 (ฉบับปฏิรูปตำรวจ) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยระบุเหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ การแต่งตั้งคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถ ให้ความสำคัญของอาวุโสในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในทุกระดับ
...
กฎหมายตำรวจฉบับนี้มีบทบัญญัติในหลายมาตรา (ม.60 ม.87 ม.88 ม.150 )ที่ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย มุ่งเน้นในเรื่องระบบคุณธรรม และการคุ้มครองระบบคุณธรรม ตลอดจนกำหนดโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา
ผมได้โหวตไม่เห็นด้วยเป็นเสียงข้างน้อย ด้วยเหตุผลที่ได้ขอบันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่า
“การคัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่เป็นหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้”
ผมขอยืนยัน ได้แสดงความคิดเห็นด้วยบริสุทธิ์ใจ ใช้วิจารณญาณและดุลพินิจ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด เพื่อประโยชน์ขององค์กรตำรวจและประเทศชาติบ้านเมือง
ขอกราบขอบพระคุณผู้ใหญ่ที่ผมเคารพอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาเข้าใจในการโหวตของผม ขอบพระคุณอดีตผู้บังคับบัญชา และทุกท่าน ที่ได้สนับสนุนและให้กำลังใจ
ผมจะทำหน้าที่ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ “ปกป้องศักดิ์ศรี ตำรวจดีของประชาชน” ต่อไปครับ
โดยหลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ ก็มีผู้คนแสดงความเห็นหลากหลายมากมาย โดยมีจำนวนหนึ่งได้ชื่นชมความกล้าหาญของ พล.ต.อ.เอก ที่ยืนหยัดในหลักการอาวุโส
เปิดใจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ เล่าเบื้องหลัง ประชุม ก.ตร.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่รอช้า ต่อสายพูดคุย กับ “บิ๊กเอก” เปิดเผยเบื้องหลังการโหวตเลือก ผบ.ตร. เมื่อวัน 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า การโหวตของผมมาจากพื้นฐานของกฎหมาย กฎหมายกำหนดอย่างไร ก็พิจารณาตามนั้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของผมว่า “นายกฯ ได้คัดเลือก ผบ.ตร. ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด” ซึ่งที่ผ่านมา ได้อธิบายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ตามที่ได้โพสต์ไว้...คือไม่ให้ตำรวจอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ ก.ตร. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ และบางส่วนก็มาจากการเลือกตั้ง ย่อมเป็นอิสระในการให้ความเห็นชอบ และบทบัญญัติหลายมาตรา ก็มีระบบพิทักษ์คุณธรรม และการกำหนดโทษทางอาญาต่างๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และหากมีการร้องเรียนก็จะมีผลอื่นๆ ตามมาอย่างไร..เพื่อให้คนพิจารณาได้ใช้วิจารณญาณในกรอบของกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ผมอธิบายเหตุผล และจึงโหวตตามที่ได้อภิปราย”
...
พล.ต.อ.ย้ำว่า สิ่งที่กล่าวนี้คือความคิดเห็นส่วนตัว ส่วนท่านอื่นๆ จะคิดเห็นอย่างไร เราก็เคารพ...เพราะผู้ทรงคุณวุฒิที่โหวตเห็นชอบ ก็ถือว่าเป็นเรื่อง “อิสระ” ของท่าน ส่วนไม่เห็นชอบ ก็ถือเป็น “อิสระ” ของผมเช่นกัน
ทีมข่าวฯ ถามว่า มีใครกดดันท่านบ้างไหม “บิ๊กเอก” ตอบสวนทันควันว่า “ไม่มีครับ” ก่อนอธิบายว่า ที่ผ่านมา มีการตอบสื่อไปหลายที่มาก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ “ตัดสินยาก” อะไร เพราะกฎหมายเขียนไว้แล้ว หากพิจารณาก็ใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสมเท่านั้น
“ยืนยันอีกครั้ง...ไม่มีผู้ใดกดดันผม เพราะผมไม่ได้อยู่ใต้อาณัติใคร ใครจะมากดดันผมไม่ได้”
เมื่อถามว่า ก่อนโหวต พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ คือผู้อาวุโสสูงสุด ซึ่งถือแต้มต่อจากคะแนนอาวุโส 50% อยู่แล้วแต่ผลที่ออกมา คล้ายว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเปล่า พล.ต.อ.เอก อธิบายว่า การเขียนกฎหมายนั้น จะเป็นกรอบกว้างๆ โดยคำนึงถึง “อาวุโส” และ “ความรู้ความสามารถ” โดยเฉพาะงานสืบสวนและป้องกันและปราบปรามซึ่งถือเป็นงานหลักของตำรวจ เราไม่ได้คิดว่า อาวุโส 50% เป็นตัวเลขและบวกลบคูณหาร กันใครได้มากกว่าใคร เรียกว่า “มองในภาพรวม”
...
อิสระของตำรวจ กับการเมือง ที่ยังไม่แยกจากกัน?
ประเด็นนี้ทีมข่าวถามอย่างตรงไปตรงมา พล.ต.อ.เอก ตอบว่า เรื่องนี้มีการพูดกันมานานแล้ว และเวลามีปัญหาที่ปรากฏเป็นข่าว ก็มักจะเห็นตำรวจถือพวงมาลัยไปให้นักการเมือง หรือรัฐมนตรี จนกลายเป็นประเด็นพูดถึงทุกครั้ง
“คราวนี้ต้องยอมรับว่า ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ นายกฯ ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ผลักดัน กฎหมายการปฏิรูปตำรวจให้มีกฎเกณฑ์ และมาตรการต่างๆ ไว้อย่างรัดกุม ระดับหนึ่ง ตอนนี้อยู่ที่ว่า ตำรวจในระดับกองบัญชาการ และหัวหน้าหน่วยต่างๆ คัดเลือกคนดีๆ รวมไปถึง ก.ตร. ไปคัดเลือกเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ”
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เคยมีคนมาร้องขอให้เลือกใครคนใดคนหนึ่งบ้างไหม พล.ต.อ.เอก บอกว่า การแนะนำ การบอกกล่าวเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าจะมาบอกว่า “เฮ้ย...เลือกคนนี้สิ” แบบนี้เป็นไปไม่ได้ เราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เราให้เกียรติเขา เขาก็ให้เกียรติเรา
“ส่วนตัวผมรู้จักกับน้องๆ ทั้ง 4 คน เรียกว่า “สนิทสนม” กันดี บางคนเคยทำงานร่วมกันมาก่อน ยืนยันว่า ทุกคนเป็นคนดีมีความสามารถ ทุกท่านเป็น ผบ.ตร. ได้หมด แต่เหตุผลตามหลักกฎหมาย ที่เขียนไว้ เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมไม่สามารถเลือกคนที่อาวุโส ลำดับสุดท้ายเป็น ผบ.ตร. ก็มีเท่านี้เอง”
...
เบื้องหลังการประชุม และบรรยากาศ
สำหรับเบื้องหลังการประชุมวันนั้น พล.ต.อ.เอก เปิดเผยว่า ต้องชมท่านนายกฯ ว่า มีการควบคุมการประชุมได้ดี มีการเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และ กว้างขวาง ใครอยากพูดอะไร ได้ทั้งหมด และท่านก็รับฟัง และก็เปิดโอกาสให้คัดเลือก ด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีการถกเถียงอย่างที่เป็นข่าวตามที่ได้มีการเผยแพร่ออกมาบ้าง และวันนั้นก็ไม่เกิดข้อขัดแย้งแต่อย่างใด
บรรยากาศในช่วงแรกไม่มีการกล่าวถึงตัวบุคคลเลย จะเรียกว่า สนทนาธรรม มีการซักถามหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ เพราะบางท่านไม่ได้เป็นตำรวจแต่แรก ก่อนจะมีการตัดสินใจตามที่นายกฯ เสนอ
ก่อนจะมีมติออกมา มีกระแสข่าวว่าจะให้ท่าน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รักษาการ ผบ.ตร. และมีการเลื่อนประชุม ความจริงคืออย่างไร ช่วงเวลานั้น กำลังพูดคุยเรื่องอะไร พล.ต.อ.เอก เผยว่า เรื่องนี้ไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่หากมีข่าวออกมา ก็คือ ข่าวลือ
“อยากจะบอกให้ทราบว่า ก่อนจะมีการแต่งตั้งนั้น มีข่าวลือออกมาแทบจะทุกนาที เพราะช่องทางสื่อสาร เราเองมีหลายกลุ่ม ส่งกันไปมา กลายเป็นว่า บางคนไม่รู้ว่าผมอยู่ในกลุ่มไลน์นั้น ก็มีการกล่าวพาดพิงก็มี ซึ่งผมก็ไม่ได้พูดจาอะไร”
รู้ก่อนหรือไม่ จะกลายเป็นคนเดียว ที่ไม่หนุน “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.เอก ยืนยันว่าไม่ทราบมาก่อน ถึงแม้ว่า คณะกรรมการ ก.ตร. ทั้ง 6 คน นั้น เรามีการพบปะหารือ ในประเด็นการทำความเข้าใจเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้ไม่ต้องไปถกเถียงในที่ประชุม โดยไม่มีการกล่าวถามว่าจะโหวตให้ใคร เพราะต้องรักษามารยาท
“บิ๊กต่อ” ผงาด “จบ” หรือ ไม่จบ?
ทีมข่าวฯ ถามว่า หลังมีมติ ทุกอย่างจะจบลงหรือไม่ หรือจะมีผลอะไรตามมาหรือไม่ หนึ่งใน ก.ตร. อย่าง พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มี เพราะต้องไปตามกระบวนการแต่งตั้ง รอโปรดเกล้าฯ และจะมีผลในวันที่โปรดเกล้าฯ ลงมา
พล.ต.อ.เอก ตอบในประเด็นการค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล) กับการเลือก ผบ.ตร. ใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะเมื่อเริ่มกระบวนการพิจารณา ท่านก็ให้ฝ่ายเลขาฯ ได้นำเสนอผลงานและประวัติ ของ รอง ผบ.ตร. ทุกคน จนสุดท้าย ให้ ผบ.ตร. มาแถลงปิด ว่า แต่ละคนมีผลงานดีเด่นด้านใดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องการนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา ของ คณะกรรมการ ก.ตร.
เมื่อถามว่า นายกฯ เป็นผู้เสนอชื่อ “บิ๊กต่อ” แต่สุดท้ายงดออกเสียง นี่ถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ พล.ต.อ.เอก บอกว่าเป็นสิทธิ์ของนายกฯ ที่ท่านจะงดออกเสียง
และเมื่อถามว่า การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ครั้งนี้ สง่างามหรือไม่ พล.ต.อ.เอก ขอไม่แสดงความคิดเห็นว่าสง่างามหรือไม่ แต่ที่บอกได้คือทุกคนเหมาะที่จะเป็น ผบ.ตร. สง่างามเท่ากันหมด แต่ไม่อาจวิจารณ์เรื่องการแต่งตั้งได้
ความขัดแย้งใน สตช. ถึงวันนี้ จบหรือยัง พล.ต.อ.เอก บอกว่า ความจริงไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เป็นการพูดกันไปมามากกว่า ก่อนหน้านี้เราก็เป็นพี่น้องรักใคร่กัน และเชื่อว่ามันไม่มีอะไรมากมาย เรื่องที่พูดกันไปมา หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยกัน เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเดี๋ยวก็เกษียณกันแล้ว โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระดับบนเหล่านั้น...
สิ่งที่อยากจะฝาก ผบ.ตร. คนใหม่ ให้ทำเรื่องแรก คือการบริหารงานบุคคล เพราะที่ผ่านมา 7-8 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย อาทิ การโยกย้ายไม่เป็นธรรม การซื้อขายตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์ บ้านใหญ่จังหวัดต่างๆ ทำให้ได้หัวหน้าหน่วยและผู้บังคับบัญชาไม่เหมาะสม ผู้การจังหวัด หัวหน้าโรงพัก ถือเป็นกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการทั้งหมด เวลานี้ ระเบียบแบบแผนมีแล้ว เหลือเพียงการจัดการนำคนไปใส่ให้ถูกต้อง ซึ่งเหล่านี้คือหน้าที่ ก.ตร. ที่จะช่วยกันดูแล
“ผมยืนยันตรงนี้ว่า กับ ผบ.ตร. ท่านใหม่ เรารู้จักกัน คุ้นเคยกันดี มีจิตวิทยาในการบริหารงานบุคคล นิ่มนวล สุภาพ เป็นกันเอง ข้อขัดแย้งกันภายในมันเป็นเรื่องเล็ก แต่เรื่องใหญ่ คือการเรียกเกียรติยศ ศักดิ์ศรีตำรวจ ให้กลับมาเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ใช่ว่า พอนึกถึงตำรวจก็นึกถึงแต่บ่อนออนไลน์ ส่วย สติกเกอร์ นึกแต่เรื่องธุรกิจสีเทา แบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้”
สุดท้ายทีมข่าวถามว่า ณ วันนี้ สตช. แยกออกจากการเมืองได้หรือยัง... พล.ต.อ.เอก ตอบว่า แยกไม่ได้ เพราะนายกฯ มาเป็นประธาน ก.ตร. ควบคุมบริหารจัดการหน่วยตำรวจ และหากตำรวจทำอะไรไม่ถูกต้อง ท่านก็จะเป็นผู้รับผิดชอบ ถือว่า ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเรา..
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ