ความศรัทธาที่ถูกใช้เชิงพาณิชย์ เรื่องที่อาจส่งผลเสีย ต่อภาพลักษณ์ของ 'พระพิฆเนศ'...

"ความเป็นพาณิชย์และการค้า จะยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นมองภาพลักษณ์ของพระพิฆเนศ หรือเทพเจ้าองค์อื่นๆ ไม่ดีไปด้วย" บางส่วนจากบทสนทนาระหว่าง 'อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด' อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

การพูดคุยเรื่อง พาณิชย์ กับ พระพิฆเนศ นั้น เริ่มต้นจากช่วงนี้ยังคงอยู่ในเทศกาล 'คเณศจตุรถี' ที่จัดขึ้นระหว่าง 19-28 กันยายน 2566 หากได้เดินทางไปตามเทวสถาน หรือแหล่งบูชา จะเห็นผู้คนที่หลั่งไหลมาอย่างเนืองแน่น นอกจากนั้นยังมี วัตถุมงคล รูปปั้น รูปหล่อ หรือเครื่องประดับเกี่ยวกับพระพิฆเนศให้เช่าบูชามากมาย

สิ่งนี้คล้ายกับ 'พุทธพาณิชย์' ในศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นการค้าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมีความเชื่อเป็นที่ตั้ง เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และความมั่นใจให้เกิดแก่ชีวิต จึงมีการเช่าซื้อวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง การเสียเงินให้ความศรัทธาเหล่านี้เกิดขึ้นมา

...

เมื่อเทพเจ้าฝั่งฮินดูมีหลายองค์ แต่เหตุใดความเป็น 'พาณิชย์' จึงเกิดกับพระพิฆเนศมากกว่าเทพองค์อื่น วันนี้ทีมข่าวฯ จะพาไปพูดคุยเรื่องนี้ ผ่านมุมมองของ 'อ.กิตติพงศ์ บุญเกิด' 

อ.กิตติพงศ์ บุญเกิด
อ.กิตติพงศ์ บุญเกิด

พระพิฆเนศกับการพาณิชย์ :

อ.กิตติพงศ์ กล่าวว่า "เราจะเห็นเทพเจ้าฮินดูทั้งหลาย โดยเฉพาะ พระพิฆเนศ จะโดดเด่นที่สุด ในการถูกนำมาใช้ในลักษณะพาณิชย์ พาณิชย์ในที่นี้คือความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ใกล้กันกับมนุษย์ ความต้องการที่พึ่งทางจิตใจในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม มันมีกระแสที่ถูกชี้วัดค่าด้วยมูลค่าต่างๆ มากมาย ดังนั้น เรื่องเทพเจ้าจึงเข้ามาเสริมตรงนั้น

'เทพเจ้าฮินดูในเมืองไทย' มีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ ไม่มีองค์กรที่คอยตรวจ คอยจัดการระบบความเชื่อ ไม่เหมือนกับศาสนาพุทธ ที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาของทางการควบคุมดูแล

การมองศาสนาฮินดูในเมืองไทยต้องมองให้ลึกลงไปว่า ฮินดู ในที่นี้จะหมายถึงกลุ่มไหน

กลุ่มที่ 1 พราหมณ์ ประกอบพิธีที่เทวสถาน ท่านจะมีสถานะพิเศษ คือ การธำรงรักษาธรรมเนียม และเพื่อประกอบพิธีในราชสำนัก ซึ่งก็เป็นวิถีแบบพราหมณ์ไทย ที่ควรยกไว้ด้วยความเคารพ

กลุ่มที่ 2 ฮินดูใหม่ โดยชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยยุคใหม่ นำศาสนาติดตัวเข้ามาด้วย และมีวิถีแบบของตนที่จะธำรงอัตลักษณ์เอาไว้

กลุ่มที่ 3 ชาวไทยทั่วไป โดยบัตรประชาชนนับถือพุทธศาสนา แต่ยอมรับเรื่องของเทพเจ้า ส่วนใหญ่จะรู้จักพระพิฆเนศมาตั้งแต่ดั้งเดิม และก็รับเอาพระพิฆเนศกระแสใหม่ ที่ชาวอินเดียยุคใหม่นำเข้ามาด้วย จึงเกิดการผสมผสานไปทุกมิติ การสร้างวัตถุมงคล การสร้างเทวรูปใหญ่ๆ หรือการผลิตสิ่งของอันเนื่องด้วยเทพเจ้าเพื่อจำหน่าย ผมคิดว่าตรงนี้อยู่ที่คนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มชาวไทยทั่วไป 

พระพิฆเนศโดดเด่น ในฐานะเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค ฉะนั้น บุคลิกนี้จึงเข้าได้กับวิถีชีวิตของคนเมือง ที่มีความท้าทายหรืออุปสรรคอะไรก็ขอพรพระพิฆเนศ เพื่อให้พระองค์ช่วยเหลือ ดังนั้น กระบวนการทางการพาณิชย์ มันเลยเข้าไปตอบรับความต้องการของสังคมในตรงนั้น"

...

อาจารย์มองว่าเดิมคนไทยนั้นมีความเชื่อเรื่องพระพิฆเนศ บวกกับมีมิติอินเดียใหม่เข้ามา ทำให้รวมกันเป็นเครื่องกระตุ้นความเชื่อคนไทยอยู่ตลอด การมีซีรีส์ ละครอินเดีย ก็ยิ่งส่งเสริมให้ความเชื่อนั้นมีสีสัน อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ราวกับว่าปรากฏเห็นต่อหน้าเราได้ และเมื่อซีรีส์เป็นสิ่งที่เจ้าของวัฒนธรรมอย่างอินเดียผลิต จึงทำให้คนรู้สึกว่าสมจริงมากยิ่งขึ้น

"อีกประการหนึ่ง คือ อินเดียใหม่ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย มี 'พิธีคเณศจตุรถี' ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ หรือแม้แต่เทศกาลอื่นๆ ที่ปรากฏพระพิฆเนศอยู่ด้วย สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่กระตุ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงความต้องการที่อยากจะใกล้ชิดของคนไทยกับเทพองค์นี้ ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เอื้อกัน ที่นำพระพิฆเนศไปสู่กระบวนการทางพาณิชย์"

...

สังคมแสวงหาความรวดเร็ว :

พระพิฆเนศมีความโดดเด่นในการเป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค และเทพแห่งความสำเร็จ สอดรับกับความต้องการของคนหลายกลุ่มในเมืองไทย ที่พบความท้าทายในชีวิตปัจจุบัน อยู่ท่ามกลางกระแสการแข่งขัน ความไม่แน่นอน และความอดทนต่อสู้อุปสรรคนานัปการที่คาดเดาไม่ได้ เมื่อความต้องการที่พึ่งทางใจเกิดขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ประกอบร่างสร้างการพาณิชย์ขึ้นมา

"สังคมไทยอยู่ในจุดที่แสวงหาความรวดเร็วของความสำเร็จ พระพิฆเนศมีบุคลิกนั้นพอดี เลยทำให้ง่ายต่อผู้ผลิตเชิงวัตถุเชิงพาณิชย์ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้คน

อย่างขนมไหว้พระพิฆเนศที่เราเรียกกันว่า โมทกะ หรือ ลาดู แต่เดิมนั้นหาซื้อยาก ต้องไปซื้อที่พาหุรัดหรือตามร้านขายขนมอินเดีย ตอนนี้กลับกลายเป็นว่ามีขายในร้านดอกไม้เยอะมาก ทั้งในวันพระและไม่ใช่วันพระ กลายเป็นว่าการนับถือพระพิฆเนศแพร่หลายมากขึ้นในสังคมไทย จนนำไปสู่การผลิตวัตถุต่างๆ ในเชิงการค้าหรือเชิงพาณิชย์ ที่ไปตอบสนองต่อการบูชานั้น

การจัดสร้างพระพิฆเนศ มีสร้างแล้วสร้างอีก สร้างซ้ำเรื่อยๆ ในขณะที่เทพองค์อื่น นานทีถึงจะสร้าง หรือสร้างแค่ครั้งเดียว เพราะไม่ได้รับความนิยม เทวรูปใหญ่ๆ ของฮินดูที่สร้างให้คนไปกราบไหว้ทั้งหลาย พระพิฆเนศจะยืนหนึ่ง เทพองค์อื่นน้อยมาก เซียนพระเคยบอกว่า เวลาสร้างเหรียญ หรือวัตถุมงคลอันเนื่องด้วยพระพิฆเนศ มันขายได้ง่าย 

...

แต่สุดท้ายความเป็นพาณิชย์นั้น จะตอบสนองเรื่องอะไรกันแน่ จะมองในแง่ความศรัทธาก็มองได้ หากคนที่สร้างหรือเป็นผู้นำ ใช้อุบายเชิงปัญญาในการเรียกร้องให้คนมาหาธรรมะ แต่สุดท้ายแล้วภาพที่เราเห็นได้ชัดก็คือการพ่วงมาของพาณิชย์ อย่างบางครั้งการสร้างพระพิฆเนศ อาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับวัด หรือมีบางอย่างเกี่ยวเนื่องก็ตาม ก็อาจจะมีคณะบุคคลที่เราก็ไม่รู้ว่าเงินบริจาคนั้นจะโปร่งใสเพียงไหน" อาจารย์กิตติพงศ์กล่าว...

พาณิชย์ส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์? :

เราถามอาจารย์ว่า หากพระพิฆเนศถูกนำมาจัดสร้างและใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น คิดว่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพระองค์อย่างไรบ้าง อาจารย์ตอบว่า... "คนที่ไม่เชื่อก็ไม่เชื่ออยู่แล้วครับ ยากที่จะกลับใจให้เขามาเชื่อ ส่วนคนที่เชื่อหากพูดอะไรเขาก็คงเชื่อ ยิ่งถูกกระตุ้นด้วยการโฆษณาเชิงพาณิชย์ มีการสร้างเรื่องราวต่างๆ ยิ่งทำให้คนเชื่อเข้าไปอีก

ส่วนการกระทำเชิงพาณิชย์ จะยิ่งทำให้คนที่ไม่เชื่ออยู่แล้ว ไม่เชื่อเข้าไปอีกไหม ผมมองว่ามันก็จริง ก็คือไปเสริมให้คนที่เขาไม่ได้สนใจอยู่แล้ว มองว่าเรื่องพวกนี้มีความเป็นพาณิชย์และการค้ามาก ก็จะยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นมองภาพลักษณ์ของพระพิฆเนศ หรือเทพเจ้าองค์อื่นๆ ไม่ดีไปด้วย

ผมว่าสิ่งที่จะช่วยทำให้ภาพลักษณ์นั้นยังดีได้ คือ กลุ่มชาวอินเดียในสังคมที่ยังคงธำรงวัฒนธรมของเขาไว้ คนเหล่านี้จะยังเป็นหลักให้สังคมไทยเรียนรู้วัฒนธรรม เรียนรู้ว่าการนับถือเทพเจ้าที่แท้จริงคืออะไร เพราะ ถ้าได้เข้าไปใกล้ชิดสิ่งที่กลุ่มชาวฮินดูประเทศไทยทำ จะพบว่ามีความแตกต่างจากทั่วไป ที่เน้นความศรัทธาแบบอ้อนวอน และเชิงพาณิชย์"

พาณิชย์ทำลายความน่าเชื่อถือ? :

อาจารย์กล่าวว่า การที่พาณิชย์นั้นมีส่วนทำลายความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะกับพระพิฆเนศหรือเทพองค์อื่น ก็คงมีส่วนบ้างกับบางคน แต่ถ้าเราจะเอาเรื่องเชิงพาณิชย์ การผลิตเทวรูป การผลิตเหรียญ ที่เกี่ยวเนื่องกับความศรัทธาแล้วเอามาขายในสังคม เพื่อจะเอาสิ่งนี้มาเป็นหัวหอกในการเผยแผ่ศาสนา เผยแผ่ศรัทธาให้คนมานับถือฮินดูนั้น อาจารย์มองว่าย่อมเป็นไปไม่ได้

อาจารย์ขยายความคำพูดด้านบนว่า การกระทำเช่นนั้น อาจจะไม่ใช่การนำศรัทธาไปสู่ความรัก แต่เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความเชื่อ ไม่ใช่ศรัทธาในศาสนา แต่พาไปสู่การอาศัยให้เรามีวัตถุมงคลสักอย่างหนึ่งเพื่อให้รอดพ้นอะไรบางอย่าง ก็คือไม่ได้นำไปสู่ความศรัทธาอันยั่งยืน เมื่อเราใช้วัตถุมงคลในเชิงพาณิชย์

โดยได้ยกตัวอย่างยุคจตุคามรามเทพดัง ช่วงนั้นทุกคนในคอจะมีเหรียญจตุคามรามเทพองค์ใหญ่คล้องคอไว้นอกเสื้อ ทุกที่ทุกแห่งทุกคนทุกอาชีพ แล้วอีกไม่นานก็จะเห็นว่ามันหายไป เดี๋ยวนี้เหรียญจตุคามที่เคยแพงๆ ก็ถูกลง จนกระทั่งแจกกันฟรีก็มี ฉะนั้น พาณิชย์ที่มาแบบนี้จะไม่ใช่ศรัทธาที่ยั่งยืน เพราะเป็นของที่ตอบสนองในเวลาหนึ่งแล้วก็จบ

"คนที่เขาเข้าไปในกระแสนั้น ก็จะยากที่ทำให้เขาหันมาสนใจนับถือเทพเจ้าอย่างแท้จริง แต่คนที่มองเข้าใจว่ากระบวนการทางพาณิชย์คืออะไร กระบวนการทางวัฒนธรรมคืออะไร กระบวนการทางศาสนาคืออะไร แล้วแยกออกจากกันเป็นกลุ่มๆ ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น"

พาณิชย์เป็นเรื่องที่ผิด? :

"การนำพระพิฆเนศมากระทำในเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่" นี่คือสิ่งที่ทีมข่าวฯ สงสัย อาจารย์ได้ตอบคำถามข้อนี้ไว้ว่า...

การมีเชิงพาณิชย์ขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องผิดหรือไม่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เราสั่งทุกคนไม่ได้ เราต้องใช้คำว่า ขอให้คนที่ยึดมั่นในหลักการอันดีอันงามก็อยู่ในทางของตน ส่วนคนที่ต้องการเพียงความสบายใจก็เป็นสิทธิ์ของเขา

"การนับถือเทวดานั้นเป็นของดี หากมองถึงชาวพุทธที่เข้มแข็ง เขาก็อาจจะไม่ได้มองเอาอำนาจนอกตัวมาเสริมตัวเองเท่าไร เน้นการปฏิบัติไปสู่ความเจริญทางปัญญาและการหลุดพ้น แต่ คนในสังคมก็มีหลากหลาย เราก็ต้องมองให้กว้าง อย่าไปดูหมิ่นดูแคลนกัน คนแต่ละคนมีความชอบต่างกันไป

เรื่องพาณิชย์ ทุนนิยม หรือกระแสบริโภคนิยม มีอยู่ในทุกวงการ แต่ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้ามนุษย์ไม่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ วุฒิปัญญาของเราไม่สว่าง อะไรๆ ก็ลากจูงไปได้หมด ความไม่เข้มแข็งของจิตใจมนุษย์ มันทำให้เราหลงไปสู่ความงมงาย สังคมจำเป็นต้องช่วยกันทำให้เข้มแข็ง โดยการเติมปัญญาให้แก่กัน"

อาจารย์กิตติพงศ์ ได้ฝากข้อเตือนใจทิ้งท้ายการสนทาไว้ว่า "ในกลุ่มของคนที่มีความศรัทธาต่อเทพเจ้าฮินดู หรือพระพิฆเนศ คุณก็อาจจะต้องนับถือพระองค์ในลักษณะการเจริญปัญญาขึ้น คือ ไม่เพียงแค่ขออย่างเดียว แต่เราต้องพร้อมทำตนให้เป็นที่รักของพระเจ้า มีเป้าหมายและตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ด้วย พร้อมกันนั้นทั้งกาย วาจา ใจ ของเราก็ต้องบริสุทธิ์สะอาด ไม่ใช่ว่าอ้อนวอนแต่ยังทำไม่ดีอยู่หลายเรื่อง

สรุปว่าพระพิฆเนศเป็นเทพแห่งปัญญา เทพแห่งความสำเร็จผู้ฉลาดปราดเปรื่อง เราเป็นมนุษย์ นอกจากนับถือท่านด้วยใจศรัทธาแล้ว ก็อย่าลืมอัญเชิญเอาบุคลิกของท่านที่เป็นและสะท้อนให้เห็น เพื่อมาพัฒนาตัวเราให้เยี่ยมขึ้นไปอีก"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :