มองคนรุ่นใหม่และสังคมไทยผ่าน 'พระพิฆเนศ' มหาเทพแห่งความสำเร็จ ผู้เป็นพลังของสายมูรุ่นใหม่ที่หวังสำเร็จทางลัด?...
จากกระแสคอนเทนต์ต่างๆ ของเทพเจ้าฮินดูที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ มีเทพหนึ่งองค์ที่ได้รับแรงศรัทธา การกราบไหว้บูชา และการพูดถึงจากชาวไทยอยู่เสมอ และหากเอ่ยพระนามออกไป ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องรู้จักเทพองค์นี้อย่างแน่นอน พระนามของพระองค์ก็คือ 'พระพิฆเนศ'
'พระพิฆเนศ' มีเศียรเป็นช้างแต่ร่างกายเป็นมนุษย์ เป็นพระโอรสของพระศิวะ และพระแม่ปาราวตี มีความเชื่อกันว่า พระพิฆเนศ เป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค และผู้อำนวยชัยให้เกิดความสำเร็จทั้งปวง นอกจากนั้นยังทรงเป็น 'ปฐมบูชา' หรือ 'ผู้นำของเหล่าเทพ' โดยจะได้รับการเอ่ยนามและกล่าวสรรเสริญก่อนเทพองค์อื่น
กล่าวคือ มีความเชื่อว่าหากจะประกอบพิธีกรรมใดๆ จะต้องบูชาและทำความเคารพต่อพระพิฆเนศก่อน พิธีนั้นจึงจะสำเร็จลุล่วงสมปรารถนา แต่หากไม่บูชาพระพิฆเนศก่อน พิธีกรรมนั้นถือว่าเป็นโมฆะทั้งสิ้น
...
แม้ว่าคติการนับถือ 'พระพิฆเนศ' จะเข้ามาถึงดินแดนประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 แต่ความศรัทธาและความนับถือของคนไทยที่มีต่อพระองค์ ยังคงไม่เสื่อมคลาย และดูเหมือนว่าจะได้รับแรงศรัทธาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากคนไทย
ความน่าสนใจอยู่ที่ คนช่วง วัยรุ่น-วัยทำงาน หรือที่เราชอบเรียกกันว่า 'คนรุ่นใหม่' หันมาสนใจและกราบไหว้พระพิฆเนศเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากคอนเทนต์ช่องทางออนไลน์ เช่น X (ทวิตเตอร์), ติ๊กต่อก หรือ อินสตาแกรม จะเห็นว่าคนช่วงวัยดังกล่าว กราบบูชาพระพิฆเนศมากขึ้น หรือขณะที่กำลังอ่านอยู่ ลองถามวัยรุ่นที่อยู่ใกล้ๆ ก็ได้ว่า รู้จักหรือเคยไหว้เทพองค์ไหนบ้าง ทีมข่าวฯ ขอทายว่า พระพิฆเนศ จะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกพูดถึงแน่นอน
แล้วเหตุใดที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไหว้ขอพร พระพิฆเนศ มากขึ้น และ พระพิฆเนศ สะท้อนเรื่องใดในสังคมปัจจุบันบ้าง วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วยเหตุและผลให้มากขึ้น ผ่านมุมมองและการพูดคุยกับ 'ดร.สุชาดา ปาเตีย' ผู้เขียนหนังสือ Fida with Gita (จิตวิทยาเชิงบวกแนวประยุกต์ผสานปรัชญาทางโลกและทางธรรม) ที่ปรึกษาและนักพัฒนาองค์กร ผู้ทำงานด้านจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อพัฒนาองค์กร
มุมมองความฟีเวอร์ :
ดร. ให้ความเห็นว่า เหตุผลที่พระพิฆเนศเป็นเทพที่คนไทยรู้จักมากมายขนาดนี้ เพราะว่าประเทศไทยรับวัฒนธรรมของฮินดูมาค่อนข้างเยอะ ในศาสนาหรือความเชื่อของคนไทยก็มีการพูดถึงเทพต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ส่วนพระพิฆเนศก็ถูกรับความเชื่อมาอย่างยาวนาน จนปรับเป็นส่วนหนึ่งของไทย
กาลเวลาทำให้ความเชื่อของพระพิฆเนศถูกปรับตัว และเข้าไปมีอิทธิพลกับทุกอย่างได้ลงตัว นอกจากนั้น ประเทศไทยยังเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่เปิดรับความหลากหลาย ทั้งเรื่องความเชื่อ ศาสนา หรือเชื้อชาติ และสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา
"ไม่ว่าจะเรื่องนาฏศิลป์ การศึกษา หรือความสำเร็จ ต่างมีพระพิฆเนศเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ทุกอย่างกลมกลืนกันไปหมด จึงทำให้เราเห็นพระพิฆเนศเยอะ" ดร.สุชาดา กล่าว
อย่างที่ ดร.กล่าวไปข้างต้นว่า พระพิฆเนศนั้นมีมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ช่วงนี้คนรุ่นใหม่ หันมาสนใจพระพิฆเนศมากขึ้นก็คงจะหนีไม่พ้น 'สื่อ'
"สื่อทำให้พระพิฆเนศเป็นที่รู้จักและเข้าถึงง่ายมากขึ้น จนเริ่มเกิดเป็นกระแส และกระแสมักมาพร้อมกับคนอยู่เสมอ ข้อมูลที่ถูกนำเสนอออกมานั้นก็มีทั้งเชิงสร้างสรรค์ และเรื่องมูเตลู การมูไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันคือความเชื่อที่เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต
คนที่สื่อนำเสนอ หรือคอนเทนต์ที่คนดูเยอะๆ คือ เรื่องราวของคนที่ไปขอพรแล้วสมหวัง มันก็ทำให้เป็นเหมือนการขับเคลื่อนให้คนอื่นๆ อยากไปลองบ้าง ซึ่งก็อาจจะมีคนที่นับถืออยู่แล้วหรืออยากลอง ต่างก็ปนเปกันไปในสังคม"
ส่วนประเด็นการบูชาเพราะเป็นกระแส ดร.สุชาดา มองว่า "มันก็เป็นไปได้ นี่คือโลกาภิวัตน์ คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น มีการขอที่ประสบความสำเร็จให้เห็นมากมาย จนอาจจะอยากเป็นแบบนั้นบ้าง หรืออีกอย่างที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ก็อาจจะมีสถานที่ที่ไปแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล ให้คนเกาะติดกระแส ไปที่นี่แล้วปังนะ สถานที่แห่งนี้ต้องเอาอันนี้มาถวายนะ คนก็เลยจะแห่กันไป แต่ก็น่าตั้งคำถามต่อว่า แล้วหลังจากนั้นคือไม่มาเลยเหรอ
...
การมีกระแสมันก็ดี ทำให้อะไรเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ข้อเสียคืออะไรที่มาไวมักไปไว อยากให้กระแสที่มันอยู่แบบยั่งยืน ส่วนใครที่นับถือพระพิฆเนศหรือองค์เทพ ก็อยากให้หมั่นฝึกฝนจิตใจตัวเองไปด้วย เพราะถ้าสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ เราจะใจเย็นลง เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง หัวร้อนก็จะน้อยลง
อย่างกระแสของเทพองค์อื่น เช่น กระแส 'I told พระแม่ลักษมี about you' ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ คนเราต้องรู้สึกเชื่อมต่อกับเทพได้มากนะ เขาถึงพูดคุย กล้าพูดเรื่องต่างๆ กับองค์เทพได้มากขนาดนี้ ต้องรู้สึกใกล้ชิดสนิทมาก ถึงไปบอกว่าอยากได้แบบนู้นแบบนี้ เป็นเหมือนพระเจ้าที่เราเข้าถึงได้ มีคนคอยรับฟังการระบาย นี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนหันมามากขึ้น"
อิทธิพลแห่งแรงจูงใจ :
ดร.สุชาดา บอกว่า วัยรุ่นรวมถึงคนอื่นๆ ในสังคมปัจจุบัน มีภาวะเครียดแบบไม่รู้ตัวเยอะ เพราะว่ามีความกังวลต่อการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งทางจิตวิทยานั้นคนเราต้องหาที่ยึดเหนี่ยว ถ้าจิตใจเราไม่ได้แข็งแรงเพียงพอ การหันมาบูชาพระพิฆเนศหรือเทพเจ้า จึงเหมือนการมองหาแหล่งพลังงานบวก เพื่อเติมเต็มตัวเองมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์
...
"อย่างชาวพุทธก็เข้าวัดทำบุญ ส่วนใครที่เป็นสายเทพก็จะมีจริตอีกแบบ สิ่งเหล่านี้คือการจูนพลังงานอีกแบบหนึ่ง ในทางจิตวิทยาเรียกภาวะนี้ว่า ยูไดโมเนีย (Eudaimonia) คือการสร้างสารแห่งความสุขและส่งต่อให้คนอื่น ซึ่งเป็นหลักของกรีกโบราณ คือ คนเราอยู่เพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง แต่ก็ต้องส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย มนุษย์แม้จะพยายามเอาตัวรอดแค่ไหน แต่ลึกๆ เขาก็อยากให้รอบข้างเขารอดไปด้วย
ฉะนั้นการที่คนหันมานับถือ (พระพิฆเนศ) มากขึ้น อาจจะต้องการหันมาเติมพลังบวกให้ตัวเองมากขึ้น ต้องการอะไรมาการันตีว่ามีคนดูแลเราอยู่ เพราะการทำอะไรด้วยตัวเองเป็นความกดดันที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว"
นอกจากนั้น ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่มนุษย์บูชาสิ่งที่มองไม่เห็น อาจเป็นเหมือนกับการผลักดันให้สิ่งที่ตนคิดจะทำนั้นสำเร็จ ที่มนุษย์กลัวไม่สำเร็จเพราะมีเหตุผลแห่งความกลัวอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายอย่างรวมกัน) จาก 3 ข้อต่อไปนี้ ซึ่งเกี่ยวกับทางจิตวิทยาและเรื่องสมอง
1.fear of not good enough : กลัวว่ายังไม่ดีพอ
2.fear of not belong to : กลัวว่าจะไม่เข้าพวก กลัวคนอื่นไม่ยอมรับ
3.fear of not being loved : กลัวว่าคนอื่นจะไม่รัก กลัวคนเกลียด
โดยเราจะเรียก 3 สิ่งนี้ว่า 'The 3 Universal fears'
...
เทพผู้สะท้อนความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ :
อย่างที่ได้เกริ่นไปช่วงเปิดเรื่อง พระพิฆเนศเป็นเทพแห่งความสำเร็จ และมนุษย์ทุกคนต้องการประสบความสำเร็จอยู่แล้วในทุกเรื่อง นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นเทพแห่งสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด ความเชื่อที่ตรงกับความคาดหวังของมนุษย์นี้ จึงทำให้พระองค์ได้รับแรงศรัทธาจากผู้คนที่โหยหาความสำเร็จมากขึ้นในปัจจุบัน
ดร.สุชาดา กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า โดยส่วนตัวมองว่า พระพิฆเนศสะท้อนเรื่องของความหวัง คนรุ่นใหม่ต้องการสร้างความหวังและพลังให้กับตัวเอง จึงหันมานับถือมากขึ้น
"โดยปกติแล้วคนเราต้องการที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ต้องการหลักยึด ในทางจิตวิทยาเมื่อเราทำสิ่งใดแล้ว อย่างน้อยๆ ถ้าขอพรหรือขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น และรู้สึกว่าสิ่งๆ นั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น"
ดร. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันมีคนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก ผู้คนจึงอาจเริ่มมองหาทางลัดแห่งความสำเร็จแบบรวดเร็ว นี่คงเป็นเหตุให้คนปัจจุบันหันมาบูชาเทพแห่งความสำเร็จอย่างพระพิฆเนศมากขึ้น แต่ก็ต้องมาดูความเป็นจริงว่าสิ่งที่ขอพรและการกระทำนั้น อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงไหม
เช่น หากจะขอให้ตนเองสอบติดหรือแข่งขันได้ ต้องดูด้วยว่าตนเองนั้นเตรียมตัวมาดีขนาดไหน สมมติถ้าเขารับคนเดียว แล้วทุกคนที่สอบแข่งขันไหว้ขอพรพระพิฆเนศกันหมด แสดงว่าก็จะมีคนผ่านแค่คนเดียว แล้วถ้าเกิดไม่ได้จะเลิกนับถือไหม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ต้องมองความเป็นจริงด้วย
หากเราขอเพราะศรัทธา ก็อย่าลืมที่จะลงมือทำด้วย ปลายทางจะได้หรือไม่ได้เราไม่รู้ แต่ระหว่างทางต้องเต็มที่ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา เราต้องคิดว่าพระพิฆเนศหรือเทพองค์อื่นๆ ท่านเป็นพลังงานบวกอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราเป็นพลังงานบวกด้วย ก็อาจจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ง่ายขึ้น
มนุษย์ก็คือสัตว์ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นบางทีมันอาจะย้อนแย้ง ตรงนี้วัยรุ่นบอกไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมองไม่เห็น ขณะเดียวกันหลายคนยังคงอธิษฐาน วิงวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด และโอเคที่จะย้อนแย้งได้"
มุมมองที่อยากให้เข้าถึง :
ดร. บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นศาสนาที่เปิดกว้าง ใครที่ศรัทธาหรืออยากเรียนรู้สามารถเข้ามาได้เลย ประเทศไทยเองก็มีเทวสถานที่หลากหลายด้วย ยิ่งทำให้คนเข้าถึงง่ายเข้าไปอีก แต่ว่าสิ่งที่ควรทำเมื่อจะเชื่อหรือศรัทธาสิ่งใด ก็คือการศึกษาว่าแก่นที่ซ่อนอยู่คืออะไร ไม่ใช่เพียงบนบานสิ่งที่ปรารถนา และจบด้วยการถวายของ
จากมุมมองที่ ดร. ได้แสดงทรรศนะไปเบื้องต้น ก็แสดงให้เห็นว่า พระพิฆเนศเป็นหนึ่งในเทพที่อาจจะตอบโจทย์วัยรุ่น หรือผู้มองหาความสำเร็จคนอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ ดร. อยากให้ผู้บูชาทุกคนเรียนรู้เพิ่มเติมก็คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในลักษณะของพระพิฆเนศ
"พระองค์มีคาแรกเตอร์ที่สนใจ และมีปริศนาธรรมที่ควรจะเรียนรู้ซ่อนอยู่ผ่านคาแรกเตอร์เศียรช้างนั้น หากพิจารณาให้ดีแล้วดูที่พระพักตร์ของท่าน ใบหูใหญ่ แสดงให้เห็นว่า เราควรเป็นคนที่ฟังเยอะแต่พูดน้อย ดวงตาเรียว คือ ควรเป็นคนที่มองอย่างให้มีวิสัยทัศน์ เศียรที่ใหญ่ สื่อให้เห็นว่าก่อนจะทำอะไรให้ใช้ความคิดและตรรกะเยอะๆ
อย่างที่พระองค์ทรงมีพาหนะเป็น หนูมุสิกะ เพราะ หนู คือ ตัวแทนของกิเลสตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง สิ่งนี้กำลังจะสื่อว่า คนเรามีหนู (กิเลส) ได้เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องควบคุมหนูให้ได้ ไม่ใช่ให้หนูมาควบคุมเรา เพราะหนูมันเร็ว ดังนั้น ถ้าเราเป็นทาสของหนู ก็คืออารมณ์ชั่ววูบ ตัณหา ราคะ กิเลสต่างๆ เราก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ
พระพิฆเนศมีพาหนะเป็นหนู และท่านนั่งบนหนู เพราะแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นมีกิเลสได้ ไม่จำเป็นต้องละทิ้งทุกอย่างแล้วเข้าป่า แต่ให้ใช้ชีวิตไปตามปกติ เพียงแค่ต้องควบคุมหนูนั้นให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่อยากให้คนเข้าใจและลองศึกษา เพราะเมื่อมีปัญหา และเราสามารถควบคุมกิเลสต่างๆ ได้ ความสำเร็จจะเข้ามาหาเอง
ส่วนเรื่องความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจนั้นไม่ใช่เรื่องผิด คือมนุษย์มักจะไปขอแบบต่อรอง ถ้าได้แบบนี้ จะนำของมาถวายแบบนั้น แต่ในความเชื่อฮินดู เทพมีทุกอย่างอยู่แล้ว สิ่งที่ท่านต้องการคือใจ ให้ใจท่านจริงหรือเปล่า ถ้าเอาของไปถวายแบบอลังการแต่ใจอิจฉาริษยา มันก็ไม่ใช่ ทุกอย่างอยู่ที่เจตนา
ความเชื่อ กระแส และการมู มันคือการเติมเต็มความต้องการ อยากมี อยากเป็น อยากได้ของมนุษย์ เพราะเราเติมไม่เคยเต็ม เราอยากมีตลอดเวลา แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด แค่เราต้องพยายามหาจุดกึ่งกลางให้ได้"
จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น ความศรัทธาต่อองค์ 'พระพิฆเนศ' หรือเทพองค์อื่นๆ ของวัยรุ่นและคนทุกวัยไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ความศรัทธาที่ดีคือการศรัทธาด้วยใจที่ใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง
นอกจากนั้นยังต้องมีความพยายามด้วยตัวเองเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายด้วย เมื่อความศรัทธาอันแรงกล้า รวมเข้ากับความพยายามที่แข็งแกร่ง ย่อมทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการไม่พยายามอย่างแน่นอน
โอม ศานติ...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :