คุยกับคุณหญิงหมอพรทิพย์ กับ "หลักการ" ตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ ในคดีที่หลักฐานในที่เกิดเหตุถูกทำลาย หรือกู้ไฟล์กล้องวงจรปิดไม่ครบ....

ต้องยอมรับว่าสมัยนี้ผู้คนฆ่ากันง่าย ยิงกันเจ็บตายอยู่บ่อย หลายคดีตำรวจก็ตามจับคนร้ายอย่างรวดเร็ว เพราะทิ้งหลักฐานในที่เกิดเหตุไว้มากมาย และพิสูจน์ได้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ 

แต่...กับบางคดี ก่อเหตุโดยคนรู้กฎหมาย มีพรรคพวก หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในการช่วยเหลือ กลบเกลื่อนหลักฐาน พยานวัตถุ หรือพยานแวดล้อม ก็อาจจะเป็นเรื่องยากในการต่อ “จิ๊กซอว์” ตามล่าไปถึงคนที่บงการ หรือคนร้าย...แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กับประเด็นการพิสูจน์หาความจริงกับสถานที่เกิดเหตุที่ถูกทำลายหลักฐาน จะมี “หลักการ” และวิธีการค้นหาความจริงอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ คุณหญิงหมอพรทิพย์ กล่าวว่า สิ่งที่ควรดูอันดับแรก คือ คดีนี้เป็นคดีประเภทใด ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็ต้องหาประเด็นต่างๆ เช่น เป็นคดีฆาตกรรม มีคนตาย ก็ต้องมาดูว่าตายตรงไหน และตายเมื่อไหร่ นี่คือประเด็นแรกที่ต้องตามดู 

...

จากนั้นก็มาดูต่อว่า แม้ว่าหลักฐานในที่เกิดเหตุจะถูกทำลายไปแล้ว เราก็จะใช้ “เทคนิคทางวิทยาศาสตร์” ไม่ว่าจะ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ หรือแม้แต่เอนจินเนียร์ หรือสเต็มทั้งหลาย ว่าหาได้หรือไม่ 

คุณหญิงหมอพรทิพย์ ยกตัวอย่างสมตติว่าเป็นเหตุฆาตกรรม ที่เกิดเหตุถูกล้าง หากเราจะหาเส้นผม ก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า crime scope หากจะหาคราบเลือด ก็ต้องมี luminol test หรือถ้าเป็นภาพวงจรปิด หากกดลบ หรือ Format ไปแล้ว มันก็สามารถกู้มาได้ ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านดิจิทัลแทน ฉะนั้นการค้นหาความจริงจึงขึ้นอยู่กับประเด็นในการตรวจสอบ 

สิ่งที่เป็นเรื่องยากมากที่สุดเป็นเรื่อง DNA สิ่งที่เป็นชีววิทยาก็มักจะสลายไป สิ่งสำคัญคือ หากมีกระบวนการทำลายหลักฐานมากมายหลายวิธี ไม่ใช่แค่การล้าง และปล่อยเวลาเนิ่นนาน มันก็จะทำให้การตรวจหายากขึ้น 

“หมออยากยกตัวอย่างคดีดังในอดีตคดีหนึ่ง ที่อาจจะมีการแทรกแซงคดี ซึ่งตอนแรกมีการส่งหลักฐานหนึ่งให้หน่วยหนึ่งตรวจ บอกตรวจไม่ได้ แต่อีกหน่วยกลับบอกว่า “ตรวจได้” ซึ่งการ “ตรวจไม่ได้” แปลว่า มันไม่มี หรือมันถูกทำลายหมด และความจริงมันอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ แทรกซ้อนอีกเยอะ คือ การใช้เครื่องมือ ความรู้ และวิธีการเต็มที่หรือยัง” 

สำหรับ หลักฐานประเภทกล้องวงจรปิด ในทางนิติวิทยาศาสตร์  สามารถใช้เป็นหลักฐานสาวถึงคนบงการได้หรือไม่ คุณหญิงหมอพรทิพย์ ตอบในเชิงหลักการว่า อาจเป็นไปได้ในเบื้องต้น แต่ถ้าจะใช้ในหลักการสืบสวน จะมีวิธีที่ยากขึ้นไปอีก เพราะปกติทั่วไปแล้วจะใช้เพื่อบอกว่าเป็นใคร เช่น ใช้พิสูจน์ว่าคือนายคนนี้แน่นอน และนำมาใช้พิสูจน์ในชั้นศาล กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เรียกว่า 3 Dimensions เป็นการนำภาพหลายๆ จุด และนำบุคคลมาทำการสแกน 3D เพื่อเปรียบเทียบ แบบนี้จะแม่นยำ 100% ในทางนิติวิทยาศาสตร์ 

คุณหญิงหมอพรทิพย์ ทิ้งท้ายว่า ลักษณะแบบนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการตรวจสอบความผิด โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งถึงเวลานี้มันก็เลยเวลาที่จะปฏิรูปไปแล้ว...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...