คุยกับ สาวอดีตมนุษย์เงินเดือน สู่เจ้าของฟาร์มผักชัยนาท ปลูกผักสลัดอินทรีย์ รายได้ดีหลักแสนต่อเดือน เคยล้มลุกคลุกคลาน ฝ่าคำดูถูก สู้ทนจนสำเร็จ ...

หลายชีวิตบนโลก เกิดขึ้นมาเพื่อมีหน้าที่ทำอะไรสักอย่าง และก็ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง ตายจากไป 

แต่สำหรับ “มนุษย์” นั้น มีความพิเศษมากกว่านั้น เพราะ “มนุษย์” มีความกล้ามากกว่าสัตว์ กล้าที่จะคิด ลอง และเปลี่ยนแปลง ซึ่ง “ความกล้า” ตรงนี้แต่ละคนมีไม่เท่ากัน และพื้นที่ความเสี่ยง ที่จะให้ลองก็แตกต่างกัน 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับทุกวันจันทร์ กับเรื่องราวเกษตรและความยั่งยืน วันนี้ ได้พูดคุยกับหญิงแกร่ง อดีตมนุษย์เงินเดือน และเลือกที่จะปลูกผักสลัดอินทรีย์ ที่วันนี้มีรายได้เดือนหลักแสนบาท...เธอทำได้อย่างไร อะไรคือแรงขับเคลื่อน กว่าจะสำเร็จ ต้องล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน วันนี้เรามาถอดเคล็ดลับกับ คุณรัตน์ หรือ วัลย์นภัส เอี่ยมชื่น สาววัย 40 ปี เจ้าของ “เด่นใหญ่สโลว์ไลฟ์” ต.เด่นใหญ่ อ.หันคา จ.ชัยนาท ที่มีรายได้หลักแสนบาท/เดือน 

...

มนุษย์เงินเดือน รายได้น้อย เริ่มต้นฟาร์มเห็ด ล้มลุกคลุกคลาน 

คุณรัตน์ เล่าว่า เดิมทีเธอทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน และทำงานในหลากหลายด้าน และหลายบริษัท ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเงินเดือนสุดท้าย ก่อนที่จะลาออก คือ 8,000 บาท ช่วงปี 2554 เรียกว่า ไม่พอกิน ประกอบกับตอนนั้น เราเริ่มมีท้องและมีลูก จึงตัดสินใจต้องเปลี่ยนแปลง มาทำอาชีพอิสระมีธุรกิจเป็นของตนเอง 

ตอนกลับบ้านใหม่ๆ ที่ เด่นใหญ่ อ.หันคา จ.ชัยนาท ตอนแรกก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เริ่มต้นจากการมาขายก๋วยเตี๋ยว และที่เหลือก็ช่วยที่บ้าน ซึ่งก็คือการทำนา แต่...ด้วยที่ว่าการทำนานั้นยอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งการทำเกษตรแบบนี้ เราก็คิดว่าไม่น่าจะไปรอด จึงเริ่มลงทุนลองทำอย่างอื่น โดยมีเป้าหมายในการสร้างแรงอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของมนุษย์ที่ทุกคนต้องกิน จึงเริ่มต้นด้วยการทำเห็ด และค้าขาย ทำนาด้วย 

วัลย์นภัส ยอมรับว่า ตอนที่ทำเห็ดใหม่ๆ นั้น ขาดความรู้ และคิดว่ามันจะปลูกได้ง่ายๆ ไปถามคนที่เคยทำมาก่อน ที่ซื้อ “ก้อนเห็ด” มาเพาะ เขาก็บอกว่ามันไม่ยาก แค่รดน้ำ ควบคุมอุณหภูมิ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น 

“ตอนที่เริ่มลงทุนครั้งแรก เราดูเห็ดไม่เป็น เรียกว่าไม่มีความรู้เลย คิดว่า หากเห็ดมันงอกออกดอกแล้ว มันจะงอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เพราะขาดความรู้และความเท่าทันกับการซื้อขาย ทำให้เราขาดทุนกับการทำเห็ด หลายหมื่นบาท เพราะผลผลิตที่ออกมาเสียหายเกือบหมด เงินที่ลงทุนไปซื้อมาก็หมดไป เพราะเราลงเงินไปกับเห็ดหลายรอบ” 

สาวเจ้าของ “เด่นใหญ่สโลว์ไลฟ์” ยอมรับว่า เธอเสียเงินไปกับความไม่รู้ และใช้ตรงนั้น ซื้อประสบการณ์ให้กับชีวิตในฐานะเกษตรกรหน้าใหม่ 

“ความรู้ การถามไถ่ผู้รู้ มันจะช่วยเราได้ระดับหนึ่ง แต่...สิ่งสำคัญ คือ ประสบการณ์ในการลงมือทำ นี่คือความรู้ที่เราได้ตรงๆ เพราะคนที่มีความรู้มาบอกเรา ปัญหาที่เขาเจอก็อาจไม่เหมือนกับเราก็ได้ การได้ทดลอง คือประสบการณ์ตรงที่สร้างองค์ความรู้ เรียกว่าการเป็นเกษตรกรของเรา ทำเหมือนนักวิทยาศาสตร์ นั่นคือ การทดลอง เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรตายตัวและหยุดนิ่ง...” 

รัตน์เผยว่า เธอใช้เวลาในการทดลอง และเรียนรู้กับการเพาะเห็ด เป็นเวลา 1 ปี ทดลองสิ่งที่มีคนบอกว่าทำแล้วจะสำเร็จ และได้ผลดี แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่มีคนแนะนำ 

“การทำฟาร์มเห็ด เป็นอะไรที่เหนื่อย และหนักมาก ไม่เหมือนคนที่แนะนำให้ทำทีแรก ที่บอกว่าเป็นงานสบาย ง่าย ซึ่งคนที่จะทำได้ สิ่งแรกที่ต้องมีคือความอดทนสูง และต้องรักในวิถีนี้จริงๆ และต้องวางระบบ วางแผนให้ดี เช่น หากเราจะทำก้อนเห็ดขายเอง ก็จำเป็นต้องหาตลาด และเห็ดก็ไม่ได้เติบโตดีทุกฤดู ปัญหาของเห็ด คือ จะแพ้อากาศร้อน ในเวลาต่อมา เราเจอต้นทุนสูง คือ ต้องใช้ขี้เลื่อย ยางพารา การจะไปรอดได้ต้องวางแผนให้ดี” 

...

ผักสลัด ปลูกง่าย ใช้เนื้อที่น้อย ขายได้ราคา 

หลังจากเห็ด รัตน์ ก็เริ่มต้นการปลูกผักทั่วไปก่อน เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักชี แต่ผักเหล่านั้นมันไม่สามารถควบคุมราคาได้ เพราะทุกอย่างมันเป็นไปตามกลไกตลาด มีขึ้นลงตายตัว แต่สำหรับ “ผักสลัด” ราคาดี กิโลกรัมละ 100-120 บาท เรียกว่า ราคานี้ “ตายตัว” โดยวิธีการปลูกและระยะเวลาใกล้เคียงกัน และใช้เนื้อที่เพียง 2 งาน 

“ส่วนตัวคิดว่ามันปลูกง่ายกว่า กลุ่มคะน้า กวางตุ้งด้วยซ้ำ เพราะผักสลัด มันมียางในตัว ซึ่งกลุ่มศัตรูพืช อย่างหนอน แมลง จะมารบกวนน้อย หากไม่ใช่ฤดูแมลงศัตรูพืชระบาด ก็แทบจะไม่มี ความรู้ตรงนี้ เราได้มาจากการทดลองและสังเกต เราปลูกจนรู้ว่า เวลาไหนจะมีหนอน แมลงมาลงแปลงพืชของ เราก็จะเตรียมตัวหาวิธีป้องกันแบบธรรมชาติ หากลงทำลายพืชเราไม่มาก เราก็ถอนบางส่วนทิ้ง แต่ถ้ามีมาก เราก็ใช้วิธีการป้องกันจากธรรมชาติ 

วัลย์นภัส เผยวิธีการปลูกพืชผักสลัด ว่า ผักเหล่านี้ไม่ชอบ “น้ำแฉะ” เป็นพืชแบบ หัวร้อนเท้าเย็น ไม่ชอบน้ำเยอะ แต่ขาดน้ำไม่ได้ หากน้ำเยอะมากๆ ก็รากเน่า มีรากิน 

...

“เคล็ดลับความอร่อยของผักสลัด ส่วนหนึ่งมาจาก “ดิน” เราทำปุ๋ยคอกด้วยตัวเอง โดยนำวัสดุที่มี คือ ที่บ้านทำนา ก็จะเหลือแกลบ รำ มาหมักกับมูลสัตว์ นำมาผสมแล้วกองไว้ ผสมกับพวกเศษหญ้า ฟาง หากเป็นหน้าฝน โดนนำมันก็หมักไปในตัว ซึ่งเราปลูกผักจำเป็นต้องใช้เยอะ ฉะนั้น เมื่อมีเวลาก็ทำเรื่อยๆ 

ส่วนวิธีการปลูก ก็ปล่อยให้โต ตามธรรมชาติ ไม่ควรมีอะไรไปกระตุ้น สิ่งสำคัญ คือ เราต้องรู้จักเขา ว่าควรจะดูแลเขาอย่างไร ซึ่งตามธรรมชาติ หากเราปลูกพร้อมกัน 100 ต้น การเติบโตก็จะไม่เท่ากัน หากจะเก็บก็ต้องเลือกต้นที่สมบูรณ์ก่อน การให้น้ำต้องสม่ำเสมอ แต่ตลอดทั้งวัน ไม่มากหรือน้อยเกินไป สิ่งสำคัญคือความใส่ใจ มันจะทำให้ผักอร่อย 

เมื่อถามว่า ผักชนิดไหนขายดีที่สุด รัตน์ ตอบว่า “ขายดีทุกอย่าง” (หัวเราะ) เรียกว่าในกลุ่มผักสลัดนี่แหละ เรียกว่าผักอะไรก็ตาม ถ้าออจากฟาร์มนี้ลูกค้าจะมั่นใจ เพราะรสชาติของผักมันหลอกกันไม่ได้ สิ่งสำคัญที่เราทำ คือ การรักษาคุณภาพ และขายของด้วยความซื่อสัตย์ และเพราะแบบนี้จึงมีลูกค้าประจำมารอซื้ออยู่ตลอด เช่น ร้านอาหารในตัวเมือง 2-3 แห่ง หรือลูกค้าทั่วไป เรียกว่า หากเรามีของโทร. ไปบอกลูกค้า ก็พร้อมจะซื้อตลอด 

คำสบประมาท ขายของไม่ได้ สู่รายได้หลักแสน/เดือน 

เจ้าของ ฟาร์ม “เด่นใหญ่สโลว์ไลฟ์” ยอมรับว่า ช่วงที่เริ่มทำแรกๆ ขายของไม่ได้ เพราะพื้นที่ที่เราปลูกพืช ก็ทำนา ทำสวนกันทั้งนั้น รอบข้างเขาก็ปลูกผักกันเป็นทุกคน และที่สำคัญ คือบางคนไม่เข้าใจเกษตรอินทรีย์ ก็ดูถูก ไม่ฉีดยา ไม่ใส่ปุ๋ย จะได้กินได้อย่างไร ไม่เชื่อ ทำไม่ได้หรอก เหล่านี้คือคำดูถูกดูแคลน ยังดีที่มีแฟนให้กำลังใจ 

“ไม่มีใครซื้อก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ปลูกไว้กินเอง เราทนแบบนี้อยู่พักใหญ่เลย เราไม่ชอบให้ใครมาว่าเรา แต่สุดท้ายก็มีฉุกคิดได้ว่า เขาอาจจะไม่รู้ เหมือนกับที่เราทำ แต่ทุกวันนี้คือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย คือ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มีคนซื้อ และเอาหมด” 

...

คุณรัตน์ เผยว่า เวลานี้ก็มีรายได้แต่ละเดือนหลักแสนบาท โดยยังไม่หักต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งรายได้ก็มาจากหลายอย่าง ทั้งการปลูกข้าวในเนื้อที่ 7 ไร่ จากนั้นเอามาแปรรูป เป็นข้าวเกรียบต่างๆ ส่วนผักสลัดก็มีคนมารับซื้อโดยไม่ต้องออกไปหาลูกค้า สิ่งที่เราทำ คือ พยายามใช้ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์  

“ความสุขของเรา คือ การได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลที่สนใจ หากเป็นประโยชน์ก็พร้อมให้คำแนะนำ ขณะที่ตัวเอง ก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปด้วย เพราะการเกษตรไม่มีอะไรตายตัว จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาปรับใช้และพัฒนา” 

คำแนะนำ มือใหม่ หัดปลูกเกษตรอินทรีย์ 

เจ้าของฟาร์มผักสลัดเงินล้าน แนะนำสำหรับมือใหม่ คือ ก่อนจะทำเกษตรนั้น ต้องมีใจรัก และความอดทนก่อน เพราะการปลูกพืชมันเหนื่อย และทุกอย่างกว่าจะมาได้จำเป็นต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือต้องรับความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติ 

“สมมติว่าเราปลูกผักใกล้จะตัดได้แล้ว เหลือ 20 วัน เราก็การันตีไม่ได้ ว่าจะได้มากได้น้อย เพราะระหว่างทางเราไม่รู้ว่าจะเจออะไร ของเราปลูกแบบเปิดด้วย เพียงแต่ยกพื้นขึ้นสูง หากเราปลูกกับดิน ดินจะอุ้มน้ำและไม่ระบายออก มันก็อาจเน่าได้ และที่สำคัญ คือ อย่าทุ่มเงินลงไปจนหมดตั้งแต่ครั้งแรก เพราะโอกาสล้มเหลวในช่วงแรกจะมีสูง”

เมื่อถามว่า คนที่จะเป็นเกษตร มีโอกาสล้มได้กี่ครั้ง รัตน์ บอกว่า ส่วนตัวถ้าโดนสัก 3 รอบ ก็อาจท้อแล้ว เรียกว่า หากเราทนช่วง 3 ปีแรก เพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติ มันก็อาจจะผ่านได้ บางคนบอกว่าศึกษาเรื่องแมลงมาอย่างดี แต่ความเป็นจริง คือ มันอาจจะเจอเป็นช่วงๆ หรือบางฤดูกาลเท่านั้น 

“สิ่งสำคัญ ต้องศึกษาธรรมชาติแต่ละพื้นที่ แหล่งน้ำ ดิน ค่อยๆ เริ่มต้นแบบขั้นบันได อย่าเพิ่งรีบทำ รีบลงทุนแบบก้าวกระโดด ส่วนจะปลูกอะไร ก็ต้องดูบริบทในพื้นที่ด้วย เช่น ความนิยมในพื้นที่นั้นๆ หรือ ถ้าที่อื่นก็จำเป็นต้องหาตลาดก่อน ซึ่งตลาดเชื่อว่าหาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ คุณต้องทำสินค้าให้มีคุณภาพเสียก่อน ส่วนตลาด คุณก็ต้องค่อยๆ แนะนำ พยายามทำให้ทุกคนรู้จัก โดยตอนที่เราเริ่มทำ เรานำของที่มีไปแจกจ่าย ไปโรงพยาบาล ร้านอาหาร เจอใครก็ให้ทดลองกิน หลังจากนั้น เขาก็จะกลับมาหาเราเอง การเริ่มต้น อย่า “โลภ” เพราะถือเริ่มด้วยความโลภ จะเดินต่อได้ยาก” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ