คุยแบบเปิดใจกับ 'น้านิต สโมสรผึ้งน้อย' ถึงความกังวลของรายการเด็กไทย และมุมมองที่ว่า 'รายการเด็กไม่ใช่ธุรกิจ'...
"ผึ้งน้อยแสนขยัน ทำงานทั้งวัน ทำงานทั้งวัน เดี๋ยวก็หึ่ง เดี๋ยวก็หึ่ง บึ่งเร็วพลัน เดี๋ยวก็ฉึบ เดี๋ยวก็ฉับ กลับมาทัน ทุกเมื่อเชื่อวันผึ้งน้อย... ผึ้งน้อยพึงค้ำจุนไว้ สร้างสังคมไทย สร้างสังคมไทย เดี๋ยวก็ฉึบ เดี๋ยวก็ฉับ กลับมาไว้ ส่วนรวมเป็นใหญ่ ผึ้งน้อย..."
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่า หากใครที่ได้อ่านเนื้อร้องและรู้จักจนใส่ทำนองเพลงข้างต้นที่ น้าประชา พงศ์สุพัฒน์ แต่งไว้ได้ นั่นแสดงว่าคุณไม่เด็กแล้ว...
แต่ไม่เด็กแล้วยังไง!!! ในเมื่อนี่คือเพลงประกอบรายการเด็กระดับตำนาน และถือเป็นต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย ที่เด็กๆ ในปี 2521 ต้องเคยรับชมและมีความทรงจำที่ดี เพราะนี่คือ 'สโมสรผึ้งน้อย' แต่หากใครที่เกิดไม่ทันหรือไม่รู้จัก ทีมข่าวฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเล่าให้ฟัง...
สโมสรผึ้งน้อย เป็นรายการที่คอยผลักดันให้เด็กไทยกล้าแสดงออก มีการเปิดรับสมัครสมาชิก ทั้งที่เป็นสมาชิกทางบ้านและสมาชิกประจำ โดยสโมสรจะมีบัตรสมาชิกให้ทุกคน และเหล่าสมาชิกจะถูกเรียกด้วยคำน่ารักๆ นำหน้าชื่อว่า 'ผึ้งน้อย' เช่น ผึ้งน้อยเมฆ ผึ้งน้อยอั๋น ผึ้งน้อยโบว์ ฯลฯ
...
แม้ว่า สโมสรผึ้งน้อย จะเคยสร้างความสุขให้เด็กๆ และมีบทเพลงของรายการที่ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมากแค่ไหน แต่ทุกอย่างก็มีการจากลา แต่ถึงอย่างนั้นชื่อสโมสรแห่งนี้ก็กลายเป็นตำนานของวงการโทรทัศน์ไทย ให้ผู้คนได้เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังสร้างบุคลากรและคนมีคุณภาพสู่สังคมมากมาย
แต่ก็อย่างที่ทุกคนได้เห็น ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่เพียง สโมสรผึ้งน้อย ที่หายไป แต่รายการเด็กก็แทบจะไม่เหลือแล้วด้วยซ้ำ สิ่งนี้ทำให้ "น้านิต-ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์" ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย มีเรื่องอยากฝากถึงผู้ใหญ่รวมถึงภาครัฐ ให้หันมาสนใจ ใส่ใจ และจริงจังกับเรื่องนี้ ส่วนความกังวลใจของน้านิตจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามกันได้นับจากนี้...
ผึ้งน้อยสร้างรัง :
สโมสรผึ้งน้อย เริ่มออกอากาศครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2521 หรือ ประมาณ 45 ปีที่แล้ว จากพลังการอยากสรรค์สร้างสื่อดีๆ ให้เด็กไทยของ ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ หรือที่คนในยุคนั้นเรียกกันว่า น้านิต น้านิตเล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ตอนนั้นตนเห็นว่าโทรทัศน์ไม่มีอะไรให้เด็กดู จึงคิดอยากทำรายการเด็ก เลยชวนเพื่อนที่รู้จักมาช่วยกันทำ โดยช่วงแรกทดลองถ่ายทำนิทานและเทพนิยายต่างๆ แต่ทำไปได้เพียงนิดเดียว น้านิตก็รู้แล้วว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ และทำให้คนที่มาลงทุนต้องสูญเงินไป
น้านิตและทีมงานจึงรวมพลังคิดกันอีกครั้ง และมองเห็นว่าต้องทำรายการที่เด็กมีส่วนร่วม จึงเปลี่ยนจากการทำนิทานสู่รายการ สโมสรผึ้งน้อย ในช่วงเริ่มต้นเหล่าเพื่อนๆ ของน้านิตก็เสียใจเล็กน้อยที่ไม่ได้ทำนิทานอย่างที่หวัง
"เราคิดว่ารายการเด็กที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น ต้องเป็นรายการที่เด็กมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่นั่งดูเฉยๆ เราต้องทำให้เด็กเชื่อว่า เขาคือเจ้าของรายการ เขาต้องมาช่วยกันทำ ช่วยกันจัด และเขาสามารถทำตำแหน่งต่างๆ ได้ เช่น พิธีกร
...
แต่พิธีกรก็จะยากสุดๆ เพราะเด็กในยุคนั้นขี้อาย และยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการเป็นผู้นำ เนื่องจากพิธีกรต้องเป็นผู้นำ จึงจำเป็นต้องฝึกเด็ก เราคิดประมาณว่าผู้ใหญ่มีรายการอะไรในโทรทัศน์ เราก็อยากให้สโมสรผึ้งน้อยมีแบบนั้น" น้านิต กล่าว
อีกหนึ่งอย่างที่น้านิตเห็นว่าสำคัญ คือ เด็กชอบร้องรำทำเพลง จึงคิดว่าต้องทำเพลงให้เด็กได้ร้องและเต้น นอกจากนั้นยังต้องมีละครสั้นให้เด็กดู แม้ทุกอย่างจะดูเหมือนง่ายและผ่านการคิดมาแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้น้านิตบอกว่า "ไม่ใช่คิดปุ๊บจะได้ปั๊บเลย" การหานักแสดงมาอยู่ในสโมสรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป
ยุคนั้น สโมสรผึ้งน้อย จะออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 16.30-17.30 น. ช่วงน้านิตถือว่าเป็นช่วงเวลาปราบเซียน เพราะสปอนเซอร์ทุกเจ้าจะบอกว่าเด็กยังไม่ถึงบ้าน จึงทำให้กลายเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครอยากลงโฆษณา แต่น้านิตให้ความเห็นว่า นั่นอาจจะเป็นการมองแค่เด็กเมืองกรุง ที่ไม่ได้มองถึงเด็กต่างจังหวัดที่ไม่ต้องนั่งรถกลับบ้าน
"ตอนแรกที่เราออกอากาศ เป็นการชวนเด็กๆ ใกล้ตัวมาทำร่วมกัน ครั้งแรกก็ล้มกลิ้งเลยนะ (หัวเราะ) เพราะเป็นรายการสด มีติดขัดบ้าง แต่ยังถือว่าสำเร็จไปได้ด้วยดี
...
เรามองว่ารายการผึ้งน้อยตอบโจทย์เด็ก เพราะเราบอกเด็กว่า นี่เป็นรายการที่พวกเขาต้องมาช่วยกันทำ พอศุกร์ต่อมามีเด็กเดินมาที่ช่อง 5 เพื่อสมัครเป็นสมาชิกสโมสรผึ้งน้อย เราเพิ่งออกอากาศไปเพียงครั้งเดียวก็มีเด็กเข้ามาขอฝึก มาช่วยทำ และกว่าจะได้อย่างที่เราคิดใช้เวลาถึง 3 เดือน"
ถึงน้านิตและทีมงานจะใช้ความพยายามในการสร้างสิ่งนี้มากแค่ไหน แต่น้านิตก็คิดว่า "รายการสโมสรผึ้งน้อย เป็นเพียงรายการที่ผู้ใหญ่ช่วยกันคิด และเด็กช่วยกันทำ ยังไม่ใช่รายการที่เด็กคิดเด็กทำ"
ปลูกกล้าแห่งความคิดดี :
ความพยายามของน้านิต คือการสร้างเด็กดีให้กลายเป็นคน ปลูกฝังให้เด็กมีความคิดที่ดี เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ อีกทั้งยังต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง โดยสะท้อนผ่านเพลงที่มีชื่อว่า ประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อร้องต้นเพลง คือ 'เพื่อนเอ๋ย เพื่อนจงฟังคำนี้สักนิด เพื่อนมีสิทธิ์ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นของพี่น้อง พวกเราต้องเอาใจใส่ประเทศของเรา' "เนื้อเพลงอันนี้เป็นเพลงที่เราเขียนขึ้น เพื่อให้เด็กเห็นว่าพวกเขามีความสำคัญ ถ้าเขาไม่ลุกขึ้นมาดูแลประเทศ มันก็จะเชื่อมโยงถึงตัวเอง" น้านิต กล่าว
...
แหล่งบันเทิงที่เข้าถึงง่าย :
แม้สังคมจะมองว่าโทรทัศน์ล้าหลังและเริ่มไร้ความสำคัญมากแค่ไหน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้ก่อร่างสโมสรผึ้งน้อยคิด น้านิตยังมองว่า โทรทัศน์ยังคงเป็นแหล่งความบันเทิงที่เด็กและครอบครัวเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
"การนั่งดูโทรทัศน์ คือการได้ใช้เวลาร่วมกัน มีความสุข หัวเราะ และคุยเรื่องเดียวกัน จึงทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันได้ เราก็มองว่ายังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะโทรทัศน์สามารถปลูกฝังเด็กได้ เหมือนกับว่า พอเด็กได้เห็นแบบอย่างในนั้น เขาก็จะเริ่มคิดพิจารณา โดยเฉพาะเด็กเล็กตั้งแต่ 3 ขวบเป็นต้นไป ผู้ใหญ่ไม่ได้รอบรู้และสามารถชวนเด็กคุยไปได้ทุกอย่าง รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กจึงยังจำเป็นมากๆ
เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว มีการรณรงค์ด้วยนะ ว่าให้เด็กปิดโทรทัศน์แล้วออกมาวิ่งเล่น คือ ผู้ใหญ่ยุคนั้นทนไม่ไหวที่เสาร์-อาทิตย์ เห็นเด็กนั่งจ๋องอยู่หน้าจอ (หัวเราะ) เราก็เห็นใจเด็กๆ นะ เขามีเวลานั่งดูรายการแค่ช่วงเช้า หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร ตอนนั้นยังดีเพราะมีพื้นที่ให้วิ่ง แต่ไม่กี่ปีต่อมาพื้นที่วิ่งเล่นของเด็กก็หายไป มีแต่พื้นที่รถยนต์"
การทยอยหายของรายการ และความกังวลใจที่มีให้เด็ก :
ทีมข่าวฯ ถามว่า สำหรับน้านิตแล้ว ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้รายการเด็ก ทยอยหายไปจากสังคมไทย
"มันง่ายๆ เลยค่ะ ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย แต่คนทำรายการเด็กต้องใช้เงินส่วนตัวมาลงทุนทำรายการ ค่าสถานีก็ต้องจ่าย ค่าทีมงานก็ต้องมี รายการโทรทัศน์มันทำคนเดียวไม่ได้ ผู้ผลิตล้มหายตายจากกันไป เพราะว่าหมดทุนในการทำงาน และรายการไม่ได้รับการสนับสนุน ส่วนช่องก็จำใจมีรายการเด็ก เพราะถูกบังคับให้ต้องมี แต่เขาก็เอาไปอยู่ในช่วงเวลาที่สปอนเซอร์จะอ้างไ้ด้ว่าไม่มีคนดู นั่นจึงทำให้รายการเด็กก็ไม่มีสปอนเซอร์ไปด้วย
บางคนอาจจะลืมไปว่ารายการเด็กไม่ได้ใช้ทุนน้อยไปกว่ารายการผู้ใหญ่ เมื่อก่อนทีมงานทำกันเองหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือฉาก ส่วนเด็กเราก็ฝึกเอง ทีมงานก็ช่วยกันไป รายการมันจึงอยู่ได้เป็น 10 ปี
ตอนนี้กังวลว่าเด็กของเราจะดูอะไร และเด็กดูอะไรกันอยู่ มีรายการใดให้พวกเขาดูบ้าง ถ้าปล่อยให้เขาดู เขาอาจจะเปิดรายการอะไรก็ได้ที่กดไปเจอ สิ่งที่เขาเสพทุกวันนี้เรารู้ได้ไงว่าปลอดภัยและมีผลดีต่อเด็กของเรา ข้อกังวลมากคือเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ปล่อยให้ดูทีวีเอง หรือโยนโทรศัพท์มือถือให้เล่น
ในยูทูบใครจะควบคุมได้ขนาดนั้น ส่วนรายการดีๆ บางอย่างก็อยู่ในช่องทางที่ต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น ซึ่งบางคนอาจจะเข้าไม่ถึงตรงนั้น ดังนั้น ถ้าเราคิดถึงเด็กทั้งประเทศ โทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่ดีที่สุดรองจากหนังสือนะ หนังสือก็ยังหาอ่านลำบาก เพราะพ่อแม่อาจจะไม่มีเงินซื้อให้อ่าน หรือไม่มีเวลาอ่านให้ฟัง จึงคิดว่าทำไมเราไม่ใช้สื่อเดียวที่มีและเข้าถึงส่วนใหญ่ได้อยู่ (โทรทัศน์) ในการสร้างเด็กของเรา"
ผู้ใหญ่อย่าคิดแบบผู้ใหญ่ :
น้านิต มองว่า หากผู้ใหญ่คิดแบบผู้ใหญ่ คือ ตนเองมีเงินในมือ จะซื้อหรือดูอะไรก็ได้ แล้วเด็กที่ไม่มีเงินจะทำอย่างไร น้านิตไม่อยากให้เด็กติดเกม เพราะหากพวกเขาติด จะทำให้ความสนใจไปจมอยู่กับเกมในช่วงเวลาที่สมองต้องการการพัฒนา ต้องการความคิดและจินตนาการ
"เกมที่มีมักจะเป็นเกมฆ่ากัน ไม่ต้องคิดอะไรมากแค่ฆ่าให้เร็วที่สุด ยิงกัน ฟันกัน เพื่อชนะ นั่นจึงทำให้เด็กตัดสินใจเร็ว ด้วยปฏิกิริยาที่รุนแรง จึงไม่แปลกที่เด็กยุคนี้จะโหดร้าย หรือกระทำบางอย่างที่เราคิดไม่ถึงว่าเขาจะทำกัน เหล่านั้นล้วนมาจากความรุนแรงต่างๆ ที่เขาเห็น
แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดให้เด็ก เราไม่มีเวลากับเด็ก ไม่มีเวลาเล่นกับเขา พอไม่รู้จะทำยังไงก็ยื่นมือถือให้เล่น แต่อยากบอกว่า ยังไงเด็กก็ยังต้องการมนุษย์จริงๆ ให้คอยอยู่ข้างเขา"
ทีมข่าวฯ ถามกลับว่า หรือว่าเพราะสภาพสังคมปัจจุบันที่ทุกอย่างต้องรวดเร็ว และทุกคนต้องหาเงิน จึงทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่มีเวลาอยู่กับเด็ก
"จริงๆ ต้องยอมรับว่าผู้ใหญ่เองก็เครียด พอทำงานมาเหนื่อยๆ กลับบ้านมาก็อยากพักผ่อน และมีช่วงเวลาของตัวเอง หากทำได้สักนิด อยากให้จัดเวลาดีๆ ช่วงที่ลูกตื่นอยู่ ก็ให้เวลากับเขา แต่เด็กหลับแล้วจะเล่นอะไรก็เล่นไป" น้านิต ตอบ
อย่าคิดถึงเพียงธุรกิจ :
"เด็กเล็ก จนถึง 10 ขวบ เป็นช่วงวัยที่พวกเขายังฟังและอยู่กับเรา" ซึ่งเราในที่นี้ น้านิต ก็หมายถึงโทรทัศน์และรายการด้วย เพราะเด็กยังมีจินตนาการ และความนึกคิดที่พร้อมจะท่องเที่ยว แต่หากพ้น 10 ขวบไปแล้ว พวกเขาจะเป็นตัวของตัวเอง อยากตัดสินใจเอง และฟังเราน้อยลง
"ช่วงเวลาที่เขายังต้องการเรา ต้องการให้เราอยู่เคียงข้าง ก็ยังอยากให้สังคมอยู่กับเด็ก และอย่าทิ้งพวกเขาเลย ขอร้องว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรก็ทำกันไป แต่ช่วยรับผิดชอบกันหน่อย ช่วยกันดูแลเด็กของประเทศและโลกใบนี้ อย่าปล่อยปละละเลย
อย่าไปคิดทำรายการโทรทัศน์เด็กแบบธุรกิจว่า จะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องมีสินค้าเข้า ต้องมีสปอนเซอร์มาสนับสนุน เพราะสปอนเซอร์เขาก็ทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราเอารายการเด็กไปฝากไว้กับธุรกิจไม่ได้ เป็นหน้าที่ที่รัฐและผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศนี้ ที่ต้องใส่ใจและลงมาดูแลกันอย่างจริงจัง ส่วนเด็ก เดี๋ยวไม่กี่ปีก็กลายเป็นวัยรุ่นที่มีอำนาจในการซื้อ ช่วงนี้ก็ดูแลเขาหน่อย อยากให้คนทำธุรกิจคิดอย่างนั้น"
หากินกับเด็ก? :
น้านิต มองว่า คนทำรายการเด็กก็ถือเป็นอาชีพหนึ่ง หากใครจะบอกว่า "เราหากินกับเด็ก" ตนก็ไม่ได้รังเกียจคำนี้ เพราะว่าสิ่งที่พยายามทำนั้น เด็กได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ "อย่างเราตอนนั้น ก็อยากเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความสามารถ ในยุคนั้นผู้ใหญ่มองไม่ออกว่าเด็กจะมาทำอะไรในทีวี เขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เด็กจะมาดำเนินรายการ มันเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่เราให้พื้นที่และเชื่อมั่นว่าเด็กๆ มีความสามารถเพียงพอ"
ฝากถึงคนที่อยากสร้างสรรค์รายการเด็ก :
"ตอนนี้อยากให้ใส่ใจกับรายการของเด็ก 3-10 ขวบ คนที่ทำรายการเด็กทำความเข้าใจกันเลย ว่าเด็กแต่ละช่วงวัยเขาไม่ได้ดูอะไรเหมือนกัน เขาชอบไม่เหมือนกัน เด็ก 5 ขวบ เขาไม่ได้อยากดูอะไรเหมือนที่เด็ก 10 ขวบดู
อย่าผลักดันให้เขาโตเกินวัย ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างเรื่องการเห็นอกเห็นใจหรือแบ่งปัน ก็ควรใส่ช่วงเล็กๆ พอโตขึ้นค่อยให้เขาแกร่ง ค่อยๆ สร้างเด็กของเราให้เติบโตไปตามวัย
เวลาจะทำรายการเด็ก ต้องซื่อสัตย์กับเด็ก ต้องทำให้เด็กเขาเชื่อว่านี่คือรายการของเขา รายการต้องพูดและสื่อสารกับเด็ก ใช้ถ้อยคำ ใช้เรื่องราว ที่เด็กเขารอบรู้ในช่วงวัย ไม่ใช่พูดไปพูดมากลายเป็นพูดกับพ่อแม่ หรือชวนเล่นอยู่ดีๆ มีพระอาจารย์ขึ้นมาสั่งสอน รายการเด็กต้องเป็นเพื่อนกับเด็ก ให้เขาดูแล้วรู้สึกปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องทำรายการให้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เพื่อนต้องเข้าใจกัน
เด็กยุคนี้เก่ง มีความกล้า ไม่เหมือน 40 ปีที่แล้ว ตอนนี้เด็กเดินเข้ามาก็ทำได้เลย ไม่ต้องฝึกมาก สามารถโต้ตอบ แสดงความคิดเห็น ออกไอเดียได้เลย
ขอทีมที่ทำงานให้เข้าใจเด็กจริงๆ หากอยากดังหรือรวยส่วนตัว มองว่ารายการเด็กไม่ใช่ทาง เพราะรายการเด็กต้องการคนที่มีความรับผิดชอบสูง ต้องเป็นคนที่รอบรู้และเข้าใจพัฒนาของเด็กแต่ละวัย พอเอาเด็กเป็นที่ตั้งและเอาเขาเป็นศูนย์กลาง คุณจะเข้าใจว่าต้องทำอะไร และทำอย่างไร
ที่สำคัญคือไม่อยากให้คนทีวียอมแพ้กับระบบออนไลน์ ยังไงคุณก็ยังควรผลิตรายการดีๆ สู่โทรทัศน์ และมันจะไปอยู่ในโลกออนไลน์โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ตัดงบทั้งหมดเพื่อไปทำออนไลน์ คิดผิดเราคิดกันใหม่ได้
เราไม่ต้องกลัวคนว่าเราเชยหรือไม่ทันโลก เรารู้ทันโลกและความเจริญไว้ดีแล้ว แต่เราต้องเข้าใจและหยิบมาใช้ประโยชน์เป็นเรื่องๆ ไม่ใช่ยอมจำนนจนเทไปโลกออนไลน์กันหมด"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :