เรื่องราวการเดินทางฝ่ามรสุม 32 ปี ของ 'เจ้าขุนทอง' ยังโบยบินต่อไปแม้ไร้คนเหลียวแล
"อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส เราเบิกบานรีบมาเร็วไว ยิ้มรับวันใหม่ยิ้มให้แก่กัน..." ไม่น่าเชื่อว่าบทเพลงที่ใช้ภาษาประพันธ์แสนเงียบง่าย เพื่อบรรยายบรรยากาศยามเช้า และชวนให้ทุกคนมีความสุขกับวันใหม่ จะมีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เพลงติดหูคนไทยจนก้าวสู่ปีที่ 32
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่า คนที่กำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ ไม่มีใครไม่รู้จักบทเพลงอมตะข้างต้น ที่มาจากรายการเด็กอันแสนโด่งดังอย่าง 'เจ้าขุนทอง' รายการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย ที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหุ่นนกขุนทองสีดำช่างเจรจา พร้อมผองเพื่อนสัตว์ไทยนานาชนิด
จากข่าวเรื่อง 'รายการเด็ก' ไปต่อก็ไม่กำไร มีไว้ก็ไม่สำคัญ? มีผู้อ่านแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามว่า "เจ้าขุนทองหายไปไหน" หรือไม่ก็บอกว่า "ไม่ปรับตัวตามยุคสมัย" คำถามและความคิดเห็นจากทุกคนล้วนเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ประเด็นรายการเด็กและเจ้าขุนทองถูกพูดถึงอีกครั้ง แล้วความจริงเจ้าขุนทองบินหายไปไหน หรือสิ้นใจตามอายุขัยไปไม่รอดเพราะไม่ปรับตัวอย่างที่เขาว่ากัน มาร่วมหาคำตอบผ่านการพูดคุยกับ 'ผาล-ผาล ภิรมย์' ผู้ผลิต-ผู้เขียนบทรายการเจ้าขุนทอง และผู้ให้เสียงฉงน
...
การเดินทางของ 'เจ้าขุนทองและผองเพื่อน' :
ผาลเล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เจ้าขุนทอง เริ่มต้นจาก คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ อยากทำรายการสอนภาษาให้เด็กไทย จึงชวน ครูอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์ มารดาของตนร่วมเสนอแนวคิด ครูอ้าวจึงเสนอให้ใช้หุ่นเชิด โดยมีตัวละครหลักเป็นนกขุนทอง ที่ปกติแล้วจะเลียนเสียงมนุษย์ได้ จึงเกิดเป็นรายการเจ้าขุนทอง ออกอากาศครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2534 ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โผบินยาวนานเรื่อยมาจนถึง ธันวาคม 2560
แม้ ผาล จะไม่ได้ทำเจ้าขุนทองมาตั้งแต่เริ่ม และเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อจากครูอ้าวได้ประมาณ 10 ปี แต่ผาลวิ่งเล่นในกองถ่ายรายการมาตั้งแต่เด็ก นั่นจึงไม่ได้ทำให้เขารู้จักเจ้าขุนทองน้อยลงเลย
ทุกคนอาจจะกำลังสงสัยว่า อ้าว! เจ้าขุนทองออกอากาศถึงปี 2560 แล้วตอนนี้บินหายไปไหนซะแล้วล่ะ... ผาลบอกกับทีมข่าวฯ ว่า เจ้าขุนทองไม่เคยหายไปไหน แต่ออกสื่อโชว์ตัวและยังเป็นนกช่างเจรจามาตลอด เพียงแต่ทีมงานเปลี่ยนพิธีกรหลัก จาก เจ้าขุนทอง เป็นเพื่อนของขุนทอง 2 กระบือช่างสงสัยนามว่า ฉงน และ ฉงาย
"พอหยุดทำกับช่อง 7 ทีมงานก็ไปเสนอขอทุนกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อผลิตรายการที่คล้ายกับเจ้าขุนทอง ใช้ชื่อว่า ฉงนฉงาย สองควายช่างสงสัย โดยยังใช้ตัวละครชุดเดิมจากเจ้าขุนทอง เคยออกอากาศทางช่อง Thai PBS ตอนนี้ยังได้รับทุนต่อเนื่อง และออกอากาศทางช่องสี่ ALTV ทีวีเรียนสนุกสำหรับเด็ก
ที่เปลี่ยนชื่อเพราะคิดว่าไม่ใช้ชื่อรายการซ้ำน่าจะดี อาศัยความต่อเนื่องของคนที่สามารถจดจำตัวละครได้ เด็กสมัยใหม่ที่อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเจ้าขุนทอง ก็ยังได้รู้เรื่องราวสาระผ่านกลุ่มตัวละครหุ่นสัตว์ไทยเหมือนเดิม"
การปรับตัวของขุนทองทีม :
แม้ใครจะมองว่าเจ้าขุนทองไม่ยอมวิวัฒนาการเป็นนกสมัยใหม่ แต่ผาลและทีมงานกำลังพยายามเรียนรู้ ปรับตัว และต่อสู้ท่ามกลางกระแสสื่อที่เปลี่ยนไป
"เราเองก็พยามยามพัฒนาปรับตัวอยู่ตลอด ส่วนบางอย่างที่เกี่ยวพันกับยุคสมัยอันนี้พูดยาก ภาพสื่อทั้งมวลต่างจากเดิม คนเคยเสพทีวีเป็นหลักก็เปลี่ยนสู่สื่อออนไลน์ ความสำคัญและบทบาทของทีวีลดลงไปตามยุคสมัย อันนี้เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
...
ในแง่มุมของเรา เราพยายามพัฒนาตัวเองในรูปแบบแง่มุมการนำเสนอ รวมทั้งคิดเนื้อหาให้ดึงดูดเด็กมากขึ้น แต่ก็ยังมีเกร็ดน่ารู้ของไทยอยู่ด้วย เราไม่โต้แย้งหากคนจะมองว่าเป็นเรื่องเก่า แต่เราเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญอยู่ จึงอยากนำเสนอควบคู่ไป แม้คนจะมองว่าเก่า แต่ก็พยายามทำให้มันสนุกมากขึ้น"
โลกออนไลน์ที่เข้ามาแทนที่โลกทีวี ทำให้เหล่าขุนทองทีม ต้องปรับตัวแบบเลี่ยงไม่ได้ ผาลยอมรับกับทีมข่าวฯ ว่า พวกเขาปรับตัวช้าไปหน่อย แต่ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาทีมงานไม่ทำอะไรเลย
"เรื่องการลงแพลตฟอร์มออนไลน์ เรามองว่าเราพัฒนากันช้าไปหน่อย ทีมเราเป็นทีมเล็กๆ ที่ทำทีวีกันมาตลอด พอวันหนึ่งต้องหันมาทำออนไลน์ ก็พยายามเรียนรู้ให้มากขึ้น ตอนนี้มีเฟซบุ๊ก ยูทูบ และกำลังจะมีติ๊กต่อก
พอเป็นรายการเด็กมันก็พูดยากนิดนึง การพัฒนาต่างๆ มันเหมือน งูกินหาง (สำนวน: พัวพันเกี่ยวโยงกันไปเป็นทอดๆ จนหาที่สุดไม่ได้) ยังไงรายการเด็กมันทำเงินได้ยากถ้าเทียบรายการทั่วไป ก็คงเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
...
เราเป็นทีมงานขนาดเล็กที่มุ่งมั่นทำส่วนของเรา พอต้องขยายเปลี่ยนแปลงแล้วเราไม่ถนัด มันก็ต้องใช้เวลา ยอมรับว่าบางอย่างค่อนข้างยาก และยอมรับอีกว่าตอนนี้ยังทำไม่ถึง การเปลี่ยนแปลงต้องมีหลายอย่างสนับสนุน ทั้งเรื่องของคนและทุน เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะพัฒนายังไงเพื่อให้คงอยู่ได้"
แม้ผาลจะมองว่ายังทำไม่สำเร็จ แต่วิดีโอของช่อง ขุนทองและผองเพื่อน และรายการ ฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย ที่ลงทางแฟลตฟอร์มออนไลน์ ก็ยังมีคนเข้ามาดูพอให้มีกำลังไปต่อได้อยู่บ้าง
"ใช่ครับ มีคนมาดู แต่สิ่งที่เราคิดอยู่ คือเราจะอยู่ยังไงและเผยแพร่ยังไงต่อไป เพื่อให้คนมาดูเยอะๆ ตอนนี้เรายังรุกไม่ค่อยเป็น แม้จะผลิตงานออกมาเยอะ มีเพลงและนิทานเป็นร้อยเรื่อง แต่คนดูก็ยังน้อย
อันนี้โทษใครไม่ได้ ผิดที่เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ดีพอ ถึงอย่างนั้นเราค่อนข้างมั่นใจในคุณภาพงานว่า อย่างน้อยมันไม่เป็นพิษเป็นภัยและสร้างสรรค์
ต่อไปนี้เราต้องผลักดันให้เต็มที่ขึ้น ที่ผ่านมาเราทำตามคนอื่น ทุกคนมีเราต้องมี เขามีคลิปเราก็ใส่คลิป แต่ตอนนี้หลังบ้านเริ่มพัฒนามากขึ้น ก็หวังว่าจะดีขึ้นและเห็นผลบ้าง"
...
ทำไมโทรทัศน์ไม่ยอมรับรายการเด็ก (แล้ว) :
ทีมข่าวฯ ถามผาลว่า มีความคิดเห็นอย่างไร ที่โทรทัศน์เหมือนจะไม่ยอมรับรายการเด็ก เขาให้ความเห็นว่า...
"เท่าที่ทราบและนี่เป็นความคิดเห็นจากเรา... ในฐานะคนที่ผลิตสื่อเพื่อเด็กมาอย่างต่อเนื่อง ก็พยายามทำเรื่องนี้มาตลอด และภาพใหญ่ก็มีการผลักดันอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ในทีวีมีรายการสำหรับเด็ก แต่สุดท้ายก็อย่างที่เห็น ซึ่งน่าจะเกิดจากองค์ประกอบหลายส่วน เงินไม่มา เงินไม่ได้ ช่องก็คงไปเลือกอย่างอื่นที่ทำได้มากกว่า เพราะเขาก็ต้องหาเงินเพื่อให้อยู่ได้
การสนับสนุนโดยตรงจากทีวีลดน้อยลง แต่เราก็เข้าใจเพราะทุกคนต้องเอาตัวรอดในธุรกิจ พอทุกอย่างเป็นธุรกิจมากขึ้นและเวลาลดน้อยลง เขาก็ต้องไปเลือกสิ่งที่แข่งกับคนอื่นได้
นโยบายของรัฐหรืออะไรก็แล้วแต่ที่บอกว่าต้องมีรายการเด็ก แต่ก็ไม่ได้มีใครทำตาม เราก็ทำอะไรกันไม่ได้ ที่เหลือต้องสู้กันไป เราในฐานะคนทำรายการ ก็พยายามเสนอสาระประโยชน์ที่เกิดกับเด็กต่อไป"
เราถามผาลว่า... เคยคิดจะเปลี่ยนจากหุ่นตุ๊กตาเป็นแอนิเมชันบ้างหรือไม่ เผื่อจะมีคนสนใจและเข้าถึงได้มากขึ้น
"ถ้าแตกแขนงก็น่าสนใจ แต่หุ่นมือเราก็จะยังทำต่อไป ไม่ใช่จะปรับปรุงหรือพัฒนาไม่ได้ แต่เนื่องจากมีความเชื่อว่าสื่อแต่ละชนิดให้อะไรที่ต่างกัน เวลาเห็นหุ่นมือจะให้ความรู้สึกผูกพัน ย้อนวัย มันก็เป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง แล้วเราก็อยู่กับหุ่นมือมาเป็น 10 ปีด้วย
ส่วนถ้าจะทำจริงๆ ก็อยากให้มีคนมาร่วมด้วย เพราะทีมเราคงทำกันไม่ไหว ยกตัวอย่างการทำรายการ ฉงน ฉงาย เราเพิ่งได้ทุนมาเมื่อต้นปี และกำลังเตรียมงานกันอยู่ตลอด ทุนมีระยะเวลา 1 ปี เราต้องผลิตรายการ 50 ตอน ตอนละ 10 นาที รวมแล้ว 500 นาที เพื่อออกอากาศทางโทรทัศน์ พร้อมทำรายงานส่ง เราแค่อยากจะเล่าว่า ลำพังทีมที่มีอยู่ ทำทั้งถ่ายและสร้างสรรค์ งานที่มีจึงเต็มมือ หากจะทำอะไรเพิ่มก็ต้องมีคนเพิ่มด้วย
ตั้งแต่เราได้รับทุน ทาง Thai PBS ก็เอื้อเฟื้อเวลาออกอากาศ ตอนนี้ฉงน ฉงาย ออกอากาศทางช่องหมายเลขสี่ ALTV ที่ Thai PBS ดูแล ส่วนรายการเด็กจะเข้าไปอยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ (ช่วงเวลายอดนิยมที่มีผู้ชมมากที่สุดของวงการโทรทัศน์) เป็นเรื่องที่ยาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมไม่เคยเห็น"
ทุลักทุเลแต่ยังไปต่อ :
ฟังผาลเล่าเรื่องราว ก็ทำให้ทีมข่าวฯ คิดแล้วคิดอีก จนอดถามไม่ได้ว่า ต้องพยายามขนาดนี้ ทำไมถึงยังไม่หยุดและเลือกที่จะไปต่อ
"นั่นน่ะสิครับ (หัวเราะ) มันก็เป็นความรักของเราในสิ่งเหล่านี้ เราเห็นว่ายังมีคนดูเราอยู่ ยังมีคนเห็นคุณค่าและประโยชน์ในสิ่งที่ทำ และเราเชื่อว่าเรื่องที่มอบให้เด็กมันดีแน่นอน เพราะต้องกรองแล้วกรองอีก เพื่อตอนออกอากาศไปแล้ว จะต้องเป็นประโยชน์และไม่เป็นพิษภัยต่อเด็ก
เมื่อยังมีคนโอบกอดและรักตัวละครเหล่านี้อยู่ มันก็ยังมีเรี่ยวแรงทำ จะมามัวนั่งตัดพ้อก็คงไม่ใช่ แน่นอนว่าเราเหนื่อยแต่เราก็ยังสู้ต่อไป" ผาล กล่าว...
ผาลบอกทีมข่าวฯ ว่า... ทุกวันนี้เขาดัดแปลงห้องส่วนหนึ่งในบ้านเป็นสถานที่ถ่ายทำ อยู่แถวลาดพร้าว 130 คล้ายกับสตูอิโอที่สร้างขึ้นเองในห้องสี่เหลี่ยม ตั้งฉาก ตั้งกล้องถ่าย แต่ยังไม่เคยมีโอกาสเปิดให้ผู้คนเข้าชม
เขาเผยกับเราว่า ในอนาคตอยากพึ่งพาโทรทัศน์ให้น้อยลง เพราะเมื่องานหลักคือโทรทัศน์ ทำให้พวกเขาต้องเร่งทำงานแต่ละอย่างในทุกๆ ปี จนบางครั้งอาจจะมีเวลามาแตกแขนงสิ่งที่อยากต่อยอดไม่พอ แต่ถึงอย่างนั้นผาลก็ยังอยากให้ทุกอย่างคงอยู่
"เราอยากบอกทุกคนว่าเรายังอยู่ตรงนี้ ยังอยากนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับเด็กและสังคมไทย ถ้าพบเห็นเราเมื่อไร ก็แวะเวียนมาให้กำลังใจเราได้ แค่นี้ก็ดีใจมากแล้วครับ"
ในฐานะผู้ชมที่เคยมีช่วงวัยแห่งความสุขร่วมกับเจ้าขุนทองและผองเพื่อน เราไม่มีทางรู้อนาคตได้เลยว่า นกขุนทองตัวนี้จะบินหายไปจากเราวันไหน เพราะทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาอย่างที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงอย่างนั้นทีมข่าวฯ ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งมอบพลังให้ผู้ผลิต และให้เจ้าขุนทองยังมีแรงบินต่อ เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังรักในตัวละครหุ่นสัตว์ไทยเหล่านี้ และยังอยากให้รังสรรค์สิ่งดีๆ สู่กับสังคมไทยต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : เฟซบุ๊ก แฟนเพจเจ้าขุนทอง Chao Khun Tong
อ่านบทความที่น่าสนใจ :