คุยกับ “สุธีร์” จากวิศวกร สู่ชาวสวนเมืองจันทน์ ทำออร์แกนิก ทุเรียน มังคุด ลองกอง ใช้เวลา 5 ปี ตามรอยหาวิธีกำจัดศัตรูพืชด้วยธรรมชาติ ด้วยหลักห่วงโซ่อาหาร โดยไม่พึ่งสารเคมี..

“ความยั่งยืนในมุมมองของผม คือ การเลียนแบบธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ฝรั่งอาจจะเรียกว่า “Biodynamic agriculture” แต่ในความเป็นจริง มันซ้อนทับกับวิถีชีวิตของคนไทย เพียงแต่คนไทยไม่มีคำเท่ๆ ซึ่งแท้ที่จริงมันก็คือเรื่องเดียวกันเกษตรธรรมชาติ เกษตรยั่งยืน”

นี่คือความเห็นของ “สุธีร์ ปรีชาวุฒิ” เจ้าของ “สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม” ผลไม้ออร์แกนิก ในพื้นที่ จ.จันทบุรี แหล่งที่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ โดยเฉพาะราชาและราชินีแห่งผลไม้ คือ ทุเรียน มังคุด ซึ่งการปลูกผลไม้ของสุธีร์ จะไม่ข้องเกี่ยวกับสารเคมี ใช้วัฏจักรธรรมชาติ ดูแลธรรมชาติ

จากลูกชาวนา วิศวกรเครื่องกล สู่อาชีพเซลล์

สุธีร์ เล่าว่า เป็นลูกชาวนา ชาวสวน ตั้งแต่เกิดเห็นการขนผลไม้ หรือ ข้าวไปขาย โดยไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้เลย มีแต่จะถามเขาว่าจะรับซื้อเท่าไร นี่คือความทรงจำในวัยเด็กจนถึงวัยมัธยม ในฐานะเด็กหลังรถช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งช่วงเวลานั้นการส่งออกไม่ได้บูมมาก แตกต่างจากสมัยนี้ที่การส่งออกจะลักษณะ การประมูล...

...

“ทำไมอาชีพนี้มันโคตรต้อยต่ำ เรารู้สึกอย่างนั้น จะทำยังไงให้พ่อแม่ที่พอมีที่ดิน เป็นชาวสวนแต่รายได้ไม่เพิ่ม ลงทุนไป 2-3 แสน ขายได้ 4-5 แสน บางปีเจอแมลง เจอภัยธรรมชาติ ขาดทุน เราเติบโตมาตรงนี้ ก็คิดหาหนทางมากมาย แปรรูปสินค้าไหม ก็เลยไปเรียน คณะวิทยาศาสตร์ จุลชีวะ แต่เมื่อเรียนแล้ว รู้สึกไม่สนุก เพราะสิ่งที่อยากรู้มีแค่น้อยนิดมาก ตัดสินใจเอ็นทรานซ์ใหม่ หวังจะเข้าคณะเกษตรฯ เพราะคะแนนที่เรียนมันถึง แต่พ่อแม่ก็แนะนำว่าไปเรียนอย่างอื่นดีกว่า ก็เลยไปจบที่ วิศวะ เครื่องกล”

แปลว่า ครอบครัวไม่ได้ส่งเสริมให้เรียนเกษตรฯ นายสุธีร์ ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น เพราะมันลำบาก และมีความเสี่ยงกับอาชีพ...

หลังเรียนใกล้จบ ก็ไปฝึกงานที่ “มาบตาพุด” ซึ่งไปอยู่ในสายงานประกอบชิ้นส่วนเหล็ก พอเราฝึกงานแล้ว รู้สึกว่าไม่ชอบ จึงหันเหมาเป็น “เซลล์” แทน ซึ่งก็ขายชิ้นส่วนอะไหล่โรงงาน เมื่อทำได้สัก 2 ปี ด้วยที่ค่าครองชีพในการทำงานสายนี้มันสูง และสุขภาพก็ไม่ค่อยดี ต้องกินยาแก้แพ้ทุกวัน และรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ จังหวะนั้นเอง แม่ก็ถามว่า “กลับบ้านไหมลูก”...เราก็ตอบ “กลับครับ” ตกลงง่ายๆ แบบนี้ ที่กลับเพราะ ทำงานตรงนั้นมันสนุก ได้เที่ยว แต่ภาษีสังคมมันก็สูงและปัญหาด้านสุขภาพ

1 ปีแห่งการค้นหาเป้าหมายการทำเกษตรฯ

การกลับบ้านสุธีร์ คือ การกลับมาทำอะไรแบบเก่าๆ ใครสอนให้ทำแบบไหนก็ทำแบบนั้น ใช้ปุ๋ยแบบไหน หว่านปุ๋ยอย่างไร ใช้สารเคมีอะไรก็ใช้ก็ทำหมด ถึงแม้ที่ผ่านมา เราพอมีความรู้ด้านเกษตรมาบ้างเพราะเป็นลูกชาวนา ชาวสวน แต่เราไม่เคยทำอาชีพ ถามว่ารู้วิธีการทำหรือไม่ คำตอบคือ รู้ แต่ตอนนั้นมันไม่มีเหตุผลที่จะทำ ดังนั้นในรอบ 1 ปี ที่ลงมือทำเกษตรจริงๆ คือ การหาเหตุผลในการทำ

“สิ่งที่ติดอยู่ในใจตลอด คือ พ่อเราเป็นชาวนา ใช้สารเคมีเยอะ มีอยู่วันหนึ่งเขาก็วูบ หมดแรง พอไปตรวจร่างกาย หมอก็บอกเลยว่ามีสารเคมีตกค้างเยอะ กระทั่งต้องลดการใช้สารเคมี เนื่องจากเดิมก็พ่นสารเคมีทุกระยะ เมื่อแตกยอดอ่อนก็พ่น ต่อจากนั้น พยายามลด เหลือปีละ 1-2 ครั้ง และใช้ปุ๋ย 2 สูตร เมื่อดูตรงนี้ก็คิดว่า หากเราลดการใช้สารเคมีได้ ก็เลยเริ่มทดลอง จากการปลูกลองกองก่อน ซึ่งถือว่าเป็นผลไม้ที่ปลูกไม่ยาก”

ทดลองเลิกใช้สารเคมี เจอศัตรูพืชรบกวน

สุธร์ เล่าว่า ได้มีการทดลองเลิกใช้สารเคมีฆ่าแมลง ผลปรากฏว่า เจอมดที่ศัตรูพืช กัดทั้งตัวเรา กินผลผลิต ซึ่งทำให้เราเสียหายเยอะ แต่มันก็ยังพออยู่ได้ จากนั้น จึงพยายาม หาทางออก ด้วยการหาความรู้ อ่านหนังสือ หรือถามไถ่จากผู้ประสบการณ์ บ้างแนะนำให้ใช้น้ำยาล้างจานผสม มาฉีด ซึ่งก็ได้ผล แต่มันไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน เพราะน้ำยาล้างจานซื้อมาจากอุตสาหกรรมมันก็มีสารเคมีบางส่วน ก็เลยเลิกใช้ หันมาใช้วิธีบ้าน หารังมด ก็เอาไฟเผาเลย เรียกว่าเป็นการลองผิดลองถูก

...

3-5 ปี แห่งการสังเกตธรรมชาติ ใช้ “ห่วงโซ่อาหาร” สร้างสมดุล 

สุธีร์ เผยว่า เขาใช้เวลาในการสังเกตธรรมชาติ และค่อยเรียนรู้ และค้นพบว่ามดที่เคยกัดเรา มันน้อยลง แต่กลับมีมดชนิดอื่นมาอยู่แทน เหมือนกับว่า มด แบ่งเป็น 3 จำพวก

จำพวกที่ 1 : มดกินน้ำหวาน กินพืช 

จำพวกที่ 2 : กินซากสัตว์ ไม่กินน้ำหวาน

จำพวกที่ 3 : กินน้ำหวาน ก้บ ซากสัตว์ แต่จะเลือกกินน้ำหวานก่อน

เราจะมองไปถึง “ห่วงโซ่อาหาร” แบ่งเป็น สัตว์กินพืช สัตว์กินเนื้อ ดังนั้น เวลาเราจะฉีดยาฆ่าแมลง ไม่ว่าเป็นแมลงประเภทไหน ก็ตายเรียบ แต่เมื่อเราหยุดใช้สารเคมี

มดและแมลงจำพวกที่ 1 จะมีมาก ในสวน และเมื่อมันตาย ก็จะมีมดจำพวกที่ 2 มา กินซาก แต่...เมื่อไรก็ตาม ห่วงโซ่ที่ 2 เพิ่มจำนวน มันก็ไปลดจำนวนห่วงโซ่ที่ 1 ลง และเมื่อไรก็ตามห่วงโซ่ที่ 1 ลดลงไปมาก ห่วงโซ่ที่ 2 ก็จะลดลงตาม

“เมื่อก่อนรังมดแดงในสวนผมมีเยอะมาก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงรังเดียว (เท่าที่เจอ) ซึ่งทุกอย่างมันเป็นไปตามวงจรธรรมชาติ เหมือนกับ ป่า หากไม่มีกวาง ก็ไม่มีเสือมาล่า เสือก็ไม่มีชีวิตอยู่”

...

ความรู้ที่ได้มา เกิดจากการสังเกต เพราะ เราเห็นมดที่กัดเจ็บๆ อาศัยใต้ต้นลองกอง ตอนแรกมีเยอะ ต่อมามันเริ่มหายไป โดยมีมดอื่นมาแทน ก็คือ มดเหม็น ที่ชอบกินน้ำหวาน และเดินเร็วๆ ซึ่งมดเหม็นจะไม่ทำรัง ชอบอยู่ตามซอกพื้น ด้วยความสงสัย เลยเอามดเหม็น ไปใส่รังมดที่มันกัดเรา เมื่อมดเหม็นเข้าไป รังมดที่อยู่ก่อนแตกรังหนีเลย คาดว่ามันคงมีกลิ่นที่ไม่ชอบ ซึ่งตรงนี้เองเป็นข้อมูลของเรา เพราะมดเหม็น มันกินซาก และ กินน้ำหวาน แต่ถ้ามี 2 อย่าง มันจะเลือกกินน้ำหวานก่อน โดยเราทดลองเอาน้ำ ผสมน้ำตาลมาวาง มันรีบมาอาศัยอยู่แถวนั้นเลย ซึ่งมันชอบอยู่ในพื้นที่ชื้น และมีน้ำหวานให้มันกิน

สุธีร์ บอกว่า เมื่อเราจับจุดได้ เราก็เลยปล่อยให้หญ้าขึ้น เพื่อให้มันออกดอกมีน้ำหวาน จากนั้นก็จัดลำดับในการตัดหญ้า เพื่อให้มดเหม็นย้ายที่อยู่ตามที่เราต้องการ เช่น ตัดหญ้าบริเวณที่ปลูกลองกอง จากนั้น เปลี่ยน มาตัดตรงที่ปลูกเงาะ หรือ เปลี่ยนมาตัดตรงที่ปลูกทุเรียน เราทำแบบนี้เหมือนตัดทางม้าลาย มันก็จะสลับไปมา เป็นการให้ที่อยู่ และไล่มดอื่นๆ ไปด้วยโดยธรรมชาติ

“กว่าจะรู้เคล็ดลับนี้ ใช้เวลาสังเกตถึง 5 ปี! เพราะใช้เวลาทดลองในการทำเกษตรอินทรีย์ถึง 3 ปี ฉะนั้น ใครที่บอกว่าการทำเกษตรง่าย ขอบอกเลยว่า ไม่จริง สิ่งที่ต้องเตรียม คือ ทุน กับ ความรู้”

เจ้าของสุธีร์ ฟาร์ม ออร์แกนิก อธิบายว่า ความรู้ที่ได้จากมด มาจัดการแมลงอื่นๆ ไม่แตกต่างกัน โดยใช้หลัก “ห่วงโซ่อาหาร” เช่น เจอหนอนเยอะ เราก็มาดูว่าหนอนที่กินผลไม้เราคืออะไร ปรากฎว่าเป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน แล้วอะไรละที่กินหนอนกลางคืน ค้างคาว ใช่ไหม แล้วในพื้นที่เรามีค้างคาวหรือไม่ ถ้าไม่มี อาจจะต้องใช้ไฟดักแมลงหรือไม่ หรือ ถ้ามี แล้วค้างคาวมาบินเข้ามาได้หรือไม่ ก็ต้องไปทำช่องระหว่างต้นไม้ เพื่อให้ค้างคาวเข้ามาโฉบกินได้ เพราะก่อนหน้านี้สวนเงาะเรามันรกมาก มันก็บินเข้ามาไม่ได้

...

“ผมยอมเสียเวลามาเฝ้าดู ตัดแต่งต้นเงาะ ก็เห็นค้างคาวเข้ามาโฉบกินแมลง เออ...ได้ผล ถ้างั้นลองติดไฟดักแมลงสิ มานั่งเฝ้าดูอีก กระทั่งช่วง 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม เราก็เห็นค้างคาวบินเข้ามาโฉบแมลงที่มาเล่นไฟ”  

ทฤษฎีการปลูกพืช ผลไม้

เจ้าของ สุธีร์ ฟาร์มออร์แกนิก เผยว่า ที่ผ่านมา เราไม่เคยจัดสวน เพิ่งจะมีเวลาช่วงนี้ที่เราเริ่มไล่ระดับ การปลูกผลไม้ใหม่ โดยปลูกไล่ระดับจากความสูง และรับแสง เช่น ทุเรียนโตเร็ว ต้องการแสงแดด, มังคุด ไม่ชอบแสง ก็ให้มันอยู่ใต้ต้นทุเรียน โดยทุเรียนกับมังคุด ชอบกินน้ำคล้ายกัน คือ ต้องการน้ำน้อย แต่บ่อยๆ หากทิ้งช่วงรดน้ำ มังคุดเกิดปัญหา ทุเรียนตาย...แต่ “ลองกอง” ต้องปล่อยให้อดน้ำ อย่างน้อยปล่อยไป 4 สัปดาห์ เขาถึงจะออกดอกให้

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ทุเรียน” กับ “ลองกอง” ไม่ควรอยู่ด้วยกัน เพราะนิสัยต่างกันสุดขั้ว หากปลูกใกล้กัน เราให้น้ำทุเรียนบ่อยๆ ลองกอง ก็จะไม่ยอมออกดอก แล้วอะไรมันแพงกว่ากันล่ะ (หัวเราะ)

เดินหน้า “ป่าผลไม้” สร้างรายได้ ทั้งปี

นายสุธีร์ เผยว่า เวลานี้ ต้องดูแลสวนผลไม้จริงๆ ประมาณ 30 ไร่ ที่เป็นของตัวเอง หากรวมของครอบครัวด้วยก็ประมาณ 100 ไร่ โดยมีรายได้หลัก คือ ทุเรียน คือ 40% ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลือก็เป็นผลไม้อื่นๆ เงาะ ลองกอง มังคุด เป็นต้น โดยที่พอส่งออกได้คือ “ลองกอง” ส่วนทุเรียนก็มีบ้าง

หลายคนนึกว่า การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ ต้องปลูกป่า ปลูกผักผสม แต่สำหรับผม ผมอยากให้เป็น “ป่าผลไม้” ได้ไหม ด้วยการลองปลูกผลไม้ต่างๆ เช่น มีการทดลองปลูกส้มโอ 7 สายพันธุ์ ปรากฏว่า ธรรมชาติคัดสรรให้อยู่กับเรา 2 สายพันธุ์ ก็ปลูกโซนหนึ่ง โดยเลือกให้อยู่ใกล้ถนน รถกระเช้าเข้าไปเก็บได้  ปลูกหมาก ปลูกพริกไทย ริมถนนที่ต้องขึ้นลงเก็บบ่อย 

แผนคือ การวางแบบรายปี ด้วยความเป็นเซลล์มาก่อน เราเห็นโรงงานเขาวางแผนแบบ “นับก้าวพนักงาน” เช่น โต๊ะตัวนี้ต้องอยู่ทางซ้าย ห่างไป 2 ก้าว เจอทางขวา พูดง่ายๆ ว่า การวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ คำนวนการก้าวของพนักงานเป็นต้นทุน ก้าวละกี่บาท เขาคิดถึงขนาดนั้นเลย3

“ดังนั้น พืชของเรา หากต้องเก็บบ่อยๆ และมีความเสี่ยงเสียหาย จะปลูกไว้ใกล้ถนน จะได้เก็บง่าย ถือเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิต และลูกน้องที่ปีนขึ้นเก็บ รวมไปถึงทิศทางลม ทิศทางแดด ทุกอย่างผ่านการคิดทั้งหมด เมื่อพระอาทิตย์วนอ้อม ทิศที่ได้รับแดดมากที่สุด คือ ทิศใต้ เราก็เอาผลไม้ที่ชอบแดดไว้ทิศใต้ เป็นต้น

สุธีร์ เผยว่า องค์ความรู้ที่เราได้ มาจากการสังเกตทั้งหมด ก่อนที่จะลงมือจัดผังผลไม้ เช่น เราพบว่า ลองกองต้นนี้ไปอยู่ใต้ต้นไม้อื่น ผลที่ออกมาเล็ก รสชาติไม่จืดๆ ไม่อร่อย เพราะไม่ได้แดด ขณะที่ มังคุด อยู่ตรงไหนก็ได้ ได้รสชาติเหมือนกัน หากอยู่ในร่มเงา เปลือกของมันจะดูสวยมาก ผลที่ได้คือไม่ต่างจากการพ่นยาฆ่าแมลงทุก 10 วัน นี่แหละ ว่าทำไมต้องจับมังคุดไปอยู่ใต้ต้นไม้อื่น

เกษตร กับ ความยั่งยืน

ความยั่งยืนในมุมมองของผม คือ การเลียนแบบธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา เรามีคีย์เวิร์ดไม่กี่คำ คือ เกษตรยั่งยืน เกษตรธรรมชาติ ถ้าหากเป็นฝรั่งเขาอาจจะเรียกว่า “Biodynamic agriculture” แต่ในความเป็นจริงหลายๆ เรื่องมันก็ซ้อนทับกับวิถีชีวิตของคนไทย เพียงแต่คนไทยไม่มีคำเท่ๆ ซึ่งแท้ที่จริงมันก็คือเรื่องเดียวกันเกษตรธรรมชาติ เกษตรยั่งยืน เพียงแต่ ฝรั่ง เขานิยามคำขึ้นมา ก็กลายเป็นเท่ กลายเป็นเรื่องใหม่ แท้จริงคือ เรื่องเดียวกัน

ระบบน้ำ และ ดิน สำคัญที่สุดในการทำเกษตร  

สุธีร์ ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ระบบน้ำและดิน ทำให้ดินมีไส้เดือนมากที่สุดเพื่อให้มันร่วนซุย ไม่ได้มาจากการพรวนดิน ทำอย่างไรให้เปิดหน้าดิน เรียนรู้ว่า ไส้เดือนชอบกินอะไร จากนั้นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ

“ส่วนตัวมองว่าหากเราไปยุ่งกับมันมาก มันจะไม่ใช่ความยั่งยืน สิ่งที่เราทำ คือการจัดการให้ธรรมชาติพึ่งพากันเอง"

น้ำ : เราต้องมีการจัดสรร ต้องเตรียมตัวรองรับ เช่น ขุดบ่อ ทำระบบน้ำ เพราะเราต้องการความแน่นอน เพื่อควบคุมคุณภาพให้แน่นอน

“หว่านปุ๋ย ไม่มีน้ำก็จบ ไม่หว่านปุ๋ย แต่ได้น้ำสม่ำเสมอ ลูกก็โต ฉะนั้น น้ำสำคัญมาก”

นายสุธีร์ ยกตัวอย่างจากสวนเพื่อนที่ทำระบบน้ำอย่างดี ให้น้ำทุกวัน ปรากฏว่า ใช้ปุ๋ยน้อยลงไปมาก จากที่เคยให้ 70% ลดเหลือ 30% แต่ผลผลิตดีกว่าเดิม การให้น้ำบ่อยๆ มันเกิดเรื่องความชื้น

คนที่เป็นสาย Biodynamic บอกว่า ระบบความชื้นมันช่วยเรื่องจุรินทรีย์ต่างๆ ให้เติบโตด้วย เพราะจุรินทรีย์บางตัวมันช่วยย่อย เม็ดดิน เม็ดทรายเพื่อย่อยสารอาหารให้ต้นไม้ด้วย ดังนั้นเราเป็นมนุษย์ก็มีหน้าที่สนับสนุนธรรมชาติให้ทำงานได้เต็มร้อย

“สำหรับคนที่สนใจทำเกษตร ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือการเรียนรู้ธรรมชาติ ต้องรู้จักธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ก่อน ว่าเหมาะกับอะไร ในพื้นที่นั้นมีอะไร ประยุกต์มาใช้ได้อย่างไร เข้าใจตัว เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตลาด การทำทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานการทดลอง”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน