การเติบโตของ 'ซีรีส์วาย' สู่การแข่งขันที่เฟื่องฟูจน 'ล้นตลาด' และปัญหาที่กำลังตามมา...

แม้ว่าหลายสิบปีก่อน 'ซีรีส์วาย' จะเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ของสังคมไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นซีรีส์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจล้นหลามจากทั้งคนไทยและต่างประเทศ แต่ละปี 'วงการซีรีส์วายไทย' แข่งขันผลิตเนื้อหาและพัฒนาเนื้อเรื่องให้หลากหลายขึ้น หลายเรื่องประสบความสำเร็จจนสามารถตีตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถพาเม็ดเงินสู่ประเทศได้ดีทีเดียว

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปพบกับเรื่องราวของวงการซีรีส์วายไทย การทำธุรกิจ ปัญหาที่เกิดขึ้น การสนับสนุนจากภาครัฐ และภาพจำผิดๆ (?) ที่ถูกสร้างขึ้นมา ผ่านการพูดคุยกับ 'วรฤทธิ์ นิลกลม' หรือ 'แก๊ปเปอร์' ผู้จัด-ผู้กำกับซีรีส์และภาพยนตร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ๙ หน้า โปรดักชั่น จำกัด ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาค่ายหนัง M39 ภายใต้บริษัทเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์

แก๊ปเปอร์ วรฤทธิ์ นิลกลม
แก๊ปเปอร์ วรฤทธิ์ นิลกลม

...

ซีรีส์วายไทยในปัจจุบัน :

แก๊ปเปอร์ มองว่า แต่ก่อนเนื้อหาซีรีส์วายจะเน้นที่เรื่องความรักของเด็กมัธยม อาศัยความน่ารัก ชวนฟิน ชวนจิ้น มีฉากหวือหวาผสมบ้างเล็กน้อย และมีข้อจำกัดของเรื่องสรีระ เพศสภาพ ทำให้ LGBTQ+ ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับเหมือนในปัจจุบัน

"ทุกวันนี้เนื้อหาของซีรีส์วายเป็นไปตามกระแสของตลาด บางกลุ่มชอบรักใสๆ บางกลุ่มไม่ชอบมัธยม บางกลุ่มชอบวัยทำงาน หรือบางกลุ่มก็ชอบฉากเลิฟซีน อีโรติกเยอะๆ ซึ่งผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซีรีส์วายก็เหมือนเป็นละครประเภทหนึ่งที่มีหลากหลายแนวมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น"

ความหลากหลายนี้ทำให้เนื้อหาของซีรีส์วายกลายเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และนี่ก็ถือเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"ปัจจุบันผมดูเกี่ยวกับเรื่อง Y Moment Project Lineup 2023 ที่ทำร่วมกับกันตนา เราได้เห็นแล้วว่าเนื้อหาซีรีส์วายไทยมีความหลากหลาย และตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงขึ้น

ทุกวันนี้มีการร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ผมถึงบอกว่ากระแสมันเปลี่ยนไป แต่ก่อนออกอากาศแค่ทางโทรทัศน์ ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นมาเยอะมาก อย่างผมก็จะทำกับ iQIYI เป็นหลัก"

แก๊ปเปอร์ มองว่าทุกวันนี้การผลิตซีรีส์วายจึงไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้คนไทยดูเป็นหลัก แต่กำลังเข้าสู่ตลาดเอเชีย ตลาดโลก ซึ่งหลายเรื่องประสบความสำเร็จแล้ว และหลายเรื่องก็พยายามหาแนวทางอยู่ที่จะพัฒนาต่อยอด

การยอมรับระดับโลก :

ส่วนตัวของแก๊ปเปอร์แล้ว เขารู้สึกว่าตอนนี้ซีรีส์วายถูกยอมรับในระดับโลก เนื่องจากมีกรณีศึกษาของซีรีส์บางเรื่องที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่ไปถึงต่างประเทศอื่นๆ ที่สามารถจัดคอนเสิร์ตทั่วโลกได้ เขามองว่าสิ่งเหล่านี้คืออีกหนึ่งก้าวของการเติบโตของวงการ สำหรับเขาเองก็กำลังพยายามก้าวขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

"ต้นเดือนตุลาคมนี้ ผมเตรียมตัวไปที่ปูซาน เกาหลีใต้ เพื่อนำเนื้อหาซีรีส์วายไปขาย จะมีลูกค้าจากประเทศอื่นๆ มาทำการซื้อขายกันที่นี่ ส่วนสิ้นเดือนตุลาคมไปโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นการทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเขาจัดเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับซีรีส์วายเลย"

แม้ซีรีส์วายไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ในหลายประเทศเริ่มผลิตซีรีส์วายแล้วเหมือนกัน "แต่อาจจะยังไม่หวือหวา หรือหลากหลายเท่าประเทศไทย" แก๊ปเปอร์ กล่าว

...

วงการซีรีส์วายตอนนี้เขาถือว่า เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นประเทศหลักๆ ของตลาดซีรีส์วาย แต่ยกให้ญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่ง "บางทีมีการผลิตขึ้นมา ญี่ปุ่นก็ขอซื้อเป็นพิเศษสำหรับประเทศเขาเลย ส่วนประเทศที่น่าสนใจที่จะไปตีตลาดคือแถบลาตินอเมริกา เช่น บราซิล เขาสนใจซีรีส์วายมาก แม้การติดต่อซื้อขายค่อนข้างวุ่นวายกว่าทั่วไป แต่ถ้าทำได้ก็น่าสนใจมาก เพราะฐานแฟนคลับจากลาตินอเมริกามีเยอะ ส่วนประเทศใกล้บ้านเรา เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เขายังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น"

แก๊ปเปอร์ กล่าวว่า "เราจะไม่ทำแบบฉาบฉวย ซื้อมา-ขายไป" ที่เอ่ยเช่นนั้นเพราะทุกวันนี้ที่ทำธุรกิจอยู่ หากมีต่างประเทศมาซื้อผลงาน เขาจะไม่ขายแค่เนื้อหา แต่จะถามไปสู่การต่อยอด Ecosystem Business (รูปแบบธุรกิจอีกหนึ่งประเภท ที่จำลองเอาระบบนิเวศตามธรรมชาติมาปรับใช้กับการทำธุรกิจ มีแนวคิดเบื้องต้นคือการถ้อยทีถ้อยอาศัย) ว่า มีแฟนมีตได้ไหม จัดกิจกรรมได้หรือเปล่า สามารถต่อยอด หรือส่งเสริมอะไรได้บ้าง

ความสำเร็จที่นำไปสู่ปัญหา :

...

เหตุผลหลักๆ ที่ซีรีส์วายสามารถประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ แก๊ปเปอร์ ให้ความเห็นว่ามี 2 เหตุหลักๆ คือ

1. เนื้อหาที่แปลกใหม่ และมีความหลากหลาย ซึ่งบางประเทศอาจไม่กล้าเสี่ยงทำ

2. นักแสดงกับเคมีที่เข้ากัน เพราะนักแสดงซีรีส์วายไทยหน้าใหม่เยอะ ต่างก็มีแฟนคลับที่พร้อมสนับสนุนและเหนียวแน่น นักแสดงบางคนอาจมีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว เมื่อหมดสัญญาจากที่เดิมก็อาจจะลองเข้ามาสู่วงการซีรีส์วาย

ความสำเร็จเหล่านั้นทำให้หลายคนพยายามผลิตซีรีส์วายสู่ตลาด แต่เมื่อการแข่งขันและอุปทานมากขึ้น ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกจนได้...

แก๊ปเปอร์ มองว่าปัญหาหลักคือ การแข่งขันสูง เนื่องจากแต่ละปีมีซีรีส์เกิดขึ้นเยอะมาก บางเรื่องเกิดได้จริง บางเรื่องทำไม่ได้จริง พอการแข่งขันสูง ตัวเลือกเยอะขึ้น ทำให้สินค้าล้นตลาด ราคาการขายในไทย หรือต่างประเทศ จึงเกิดข้อเปรียบเทียบกัน

"ต่างประเทศก็งงว่าจะซื้อใคร เราเองงงว่าจะขายใคร คนที่อยู่มาก่อนสามารถทำราคาได้ ส่วนคนมาใหม่ต้องลดราคาลงเพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่ในตลาด อย่างเรื่องคนที่ไม่มีประสบการณ์เฉพาะทางหันมาทำตรงนี้ บางทีส่งผลกระทบในเชิงกว้าง เช่น ไม่สามารถปิดกล้องได้ ทำให้โปรเจกต์ล่ม และไม่จ่ายค่าตัวนักแสดง

...

อีกเรื่องคือ การไปไม่ถึงตลาดต่างประเทศในแบบที่ควรจะเป็น ทุกคนอยากเติบโต แต่ไม่มีเส้นทางที่จะไป การผ่านคนกลางหลายทอดก็ทำให้เงินที่ได้กลับมาไม่เพียงพอ เมื่องบประมาณไม่พอก็ผลิตไม่รอดอีก"

ปัญหาในตลาดต่างประเทศ :

แม้ต่างประเทศจะยอมรับมากขึ้น และดูเหมือนว่าอะไรก็สวยงามไปหมด แต่ลึกๆ ก็มีบางอย่างที่ถูกซ่อนไว้ ซึ่งทำให้การทำธุรกิจระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

"ต่างประเทศยอมรับซีรีส์วายไทยเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก อย่างล่าสุดผมเอาเรื่องที่กำลังจะออกอากาศ Venus in the sky ห้ามฟ้าห่มดาว ไปจัดกิจกรรมที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็มีฐานแฟนต่างประเทศที่ให้ความสนใจ

ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าอะไรที่ทำให้ต่างชาติเสพเนื้อหาซีรีส์วายไทยเยอะขึ้น หลายประเทศช่วงชิงการซื้อเนื้อหา แต่ถึงอย่างนั้นต่างประเทศเขาก็จะมีความกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือของการผลิตซีรีส์วาย เพราะต้องยอมรับว่ามีผู้สร้างบางกลุ่มมีการทุจริตโกงเงินเกิดขึ้นระหว่างประเทศ ซึ่งก็ส่งผลกระทบเชิงกว้าง ซีรีส์วายในวันนี้จึงไม่ใช่ใครทำก็ได้"

ทีมข่าวฯ ถามกลับว่า การทำผิดสัญญากับต่างประเทศของคนบางกลุ่ม ถือว่าลดความน่าเชื่อถือให้วงการซีรีส์วายไทยใช่ไหม?

"ใช่ครับ ถูกต้อง อันนี้เรื่องจริง กรณีที่ผมเคยเจอก็คือ ถ่ายแค่ตัวอย่างแล้วเอาไปหลอกเงินนายทุนต่างชาติ สุดท้ายงานไม่สำเร็จ มันเลยทำให้เกิดความขัดแย้ง และถ้าต่างชาติจะเข้ามาเอาเนื้อหาของไทย เขาก็จะมองความน่าเชื่อถือของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งแต่ก่อนเขาไม่สนใจ เขาสนใจแค่เนื้อหา ถ้าเนื้อหาดังติดต่อมาซื้อเลย แต่เดี๋ยวนี้ต้องขอดูประวัติบริษัท และความน่าเชื่อถือในประเทศ ซึ่งมีผลต่อราคา และการทำงานทุกอย่าง"

ภาครัฐกับการสนับสนุนซีรีส์วาย :

"ต้องบอกก่อนว่าหลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เขามีนโยบายแผนงานเกี่ยวกับซีรีส์วาย ให้คนไทยสามารถไปเติบโตได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ผ่าน มันจะมีเรื่องของผลงานบริษัท เอกสาร รวมถึงความน่าเชื่อถือต่างๆ ยังไงก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เขากำหนด"

แก๊ปเปอร์ มองว่า อยากได้กำไรจากการทำซีรีส์นั้นไม่ผิด แต่อยากให้มองถึงการพัฒนาและต่อยอดเนื้อหาด้วย ส่วนการส่งเสริมจากภาครัฐ เขามองว่าไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐอย่างเดียว แต่คนผลิตก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ต้องไปด้วยกันทุกภาคส่วน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง "ผมก็ไม่กล้าตอบฟันธงว่าใครควรขึ้นมาผลัดกันเรื่องนี้ เพราะแต่ละฝั่งก็มีเหตุผลของตัวเอง"

สร้างค่านิยมผิดๆ ให้สังคม? :

'ซีรีส์วายสร้างค่านิยมผิดๆ ให้สังคม' นี่คือหนึ่งในประโยคที่ทีมข่าวฯ เคยพบ จึงนำมาคุยกับแก๊ปเปอร์ว่า ได้ยินแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

"อย่างผมไม่ชอบละครตบจูบ แย่งผัวแย่งเมีย ก็ต้องถามกลับว่าอะไรคือค่านิยมที่แท้จริง ค่านิยมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล สังคมทุกวันนี้เปิดกว้างการมีตัวตนมากขึ้น ทำไมเราไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ความบันเทิง ค่านิยมไม่มีบรรทัดฐานวัดว่าอะไรผิดถูก มีแต่การเอาตัวเองไปวัดกับกรอบที่สร้างว่าควรจะเป็นแบบนี้"

อีกประเด็นที่สังคมมักจะพูดถึงกันคือ 'ซีรีส์วายไม่ได้ขับเคลื่อนสังคม และเอาแต่ชายแท้มาแสดง' แก๊ปเปอร์ให้ความเห็นเรื่องนี้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ และกล้ายืนยันว่านี่เป็นประสบการณ์ตรง

"การเลือกนักแสดงนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น บางประเทศชอบนักแสดงที่เป็นผู้ชาย เพราะเขามองว่ามันเป็นหนังมิตรภาพแมนๆ หรืออย่างแดร็กควีน ถามว่าเล่นได้ไหมก็เล่นได้ แค่อาจจะอยู่ในบริบทที่เหมาะสมกับอีกแบบหนึ่ง

ที่ผมกล้าตอบแบบนี้ เพราะเคยทำธุรกิจกับต่างประเทศ เขาเป็นผู้ชายแท้ๆ ผมบอกเขาว่า 'ลองเอาแดร็กควีนมาทำไหม เป็นการขับเคลื่อนสังคม' เขาบอกว่าภาพลักษณ์ไม่ชัดเจน ผมเสนอต่อว่า ถ้าเปลี่ยนการเล่าว่าคนกลุ่มนี้กลางวันเป็นผู้ชาย แต่กลางคืนเป็นแดร็กควีน เพราะมีบางอย่างที่ทำให้เป็นแบบนี้ เชื่อไหมว่าลูกค้าก็ยังไม่เอา

พอลูกค้าไม่เอา เราทำอะไรไม่ได้ จริงๆ มันทำได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจับวางไว้ยังไง ไม่ให้คนดูรู้สึกว่าเหยียดหยาม ดูถูกดูแคลน หรือดูยัดเยียดเกินไป

ทุกวันนี้จะทำเรื่องอะไร ทีมงานก็ศึกษาหาข้อมูล จะทำเกี่ยวกับแดร็กควีน พวกเราก็ไปสีลม ไปดูให้เห็นความสามารถ หรือบางทีไปบาร์โฮส มองว่าเด็กมีความสามารถ เรื่องราวน่าถ่ายทอด แต่ข้อจำกัดบางอย่างที่มี อาจจะเป็นเรื่องของความถูกต้อง จรรยาศีลธรรม จึงทำให้เราไปมากกว่านี้ไม่ได้"

ท้ายที่สุดแล้ว ซีรีส์วาย ก็คือการเล่าเรื่องประเภทหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิง ที่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่แจ้งเกิดให้กับทีมงาน หรือนักแสดงบางคน

ข้อผิดพลาดต่างๆ ที่สังคมมองเห็นและพยายามตั้งคำถาม จึงเป็นเรื่องปกติที่ทำกันได้ บางคนอยากให้สิ่งนี้ขับเคลื่อนสังคม บางคนก็อยากดูเป็นความบันเทิง ดังนั้น นิยามคำว่า 'ดี' ของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป เราจึงต้องเสพสื่ออย่างมีสติ ยอมรับรสนิยมด้วยวิจารณญาณ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :