เมื่อ พลเรือน คุมกลาโหม ย้อนประวัติศาสตร์ การเมือง และการทหาร และความหวาดระแวง...

ต้องยอมรับว่า ไม่บ่อยนัก ที่จะมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาจาก “พลเรือน” ยกเว้นเสียแต่ จะควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสมัย ชวน หลีกภัย, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึง สมัคร สุนทรเวช หรือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เหลือนอกนั้นก็เป็นทหารเกือบหมด

แต่กับ โผ คณะรัฐมนตรี รัฐบาล “เศรษฐา 1” กลับมีชื่อ “สุทิน คลังแสง” โผล่เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด และนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การทหารและการเมือง

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร มองว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มี รมว.กลาโหม ที่ไม่ได้เป็นทหารหลายท่าน อาทิ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช, ชวน หลีกภัย หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งโดยปกติแล้ว ความมั่นคงของประเทศ ถูกกำหนดโดยรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งหลายรัฐบาล มาจากนายกรัฐมนตรี “พลเรือน” โดยหน้าที่ “กลาโหม” ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล มีการปรับยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ ให้เข้ากัน ดังนั้น หากในเชิง “หลักการ” เชื่อว่าการที่ รมว.กลาโหม มาจากพลเรือน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

...

ใน “เชิงปฏิบัติ” สำหรับสังคม การเมืองไทย เป็นอย่างไร พล.อ.บัญชร มองว่า สิ่งสำคัญมันขึ้นอยู่กับ “นโยบาย” เพราะก่อนเสนอตัวเข้าสู่หมวดการเลือกตั้งจะมีการเสนอนโยบายก่อน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่อำนาจ จะดำเนินไปตามขั้นตอน

“ส่วนตัวเชื่อว่า หาก รมว.กลาโหม จากพลเรือน จะนำนโยบายใดมาปฏิบัติ คงต้องหารือกับฝ่ายผู้ปฏิบัติ หรือคือ “ทหาร” ก่อน หากทั้ง 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลพลเรือน กับทหาร เห็นว่ามีเจตนาที่ดี ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ ก็น่าจะไม่มีอะไรขัดแย้งกัน”

สุทิน คลังแสง
สุทิน คลังแสง

เมื่อถามว่า ถึงเวลาจริง เหล่ากองทัพ จะยอมรับคำสั่งจากพลเรือนได้ขนาดไหน เพราะธรรมเนียมต่างๆ หรือสังคมในอดีตยังมีคติเหล่านี้อยู่ พล.อ.บัญชร มองว่า ในอดีต เราอยู่ในยุคสงครามเย็นมาโดยตลอด ประเด็นการคุกคามจากกำลังต่างชาติ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบาย จึงกลายเป็นว่า หากเป็นเรื่องความมั่นคง ต้องยกให้ฝ่ายทหารดูแล

แต่เมื่อถึงวันนี้ ผู้ที่รู้ดีเรื่องความมั่นคง ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ทหาร นักวิชาการที่มีความรอบรู้เรื่องความมั่นคง รวมถึงการศึกษาบริบทต่างประเทศ ก็มีมากขึ้น และบริบททางสังคมก็บ่งบอกว่า ไม่ใช่เรื่องการทหารอย่างเดียว และที่สำคัญ คือ “ความมั่นคง” เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของพลังอำนาจของชาติเท่านั้น ซึ่งพลังอำนาจของชาติ มันรวมถึง “การเมือง” ทั้งในและต่างประเทศ พลังทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และทหาร

ความหวาดระแวงของกองทัพ กับนโยบายรัฐบาล

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด ยกตัวอย่างว่า หากทหารอยากซื้อรถถัง ไม่ได้แปลว่า ประเทศจำเป็นต้องจัดงบให้ เพราะประเทศเรามีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง อาทิ สภาพเศรษฐกิจ การเมืองภายในและต่างประเทศ ความเข้าใจของประชาชนด้วย

มีหลายประเด็น ที่ฝ่ายการเมืองและกองทัพคิดเห็นแตกต่างกัน เช่นการลดขนาดกองทัพ ตรงนี้จะเป็นประเด็นเรื่องความไว้วางใจกันหรือไม่ พล.อ.บัญชร มองว่า เรื่องการปรับขนาดกองทัพ กระทรวงกลาโหม เป็นเรื่องที่ “พวกเรา” อยากให้เกิดขึ้น

...

ที่ผ่านมา การมีทหารประจำการเยอะ ก็เป็นภาระในด้านงบประมาณ เท่าที่จำได้ คือ ค่าใช้จ่ายประมาณ 60% จากงบทั้งหมด โดยเอามาจ่ายเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการต่างๆ ที่เหลือเป็นงบลงทุนอื่นๆ เช่น วิธีการรบ เรียนรู้ และหาวิธีการใหม่ๆ หรือแม้แต่ซื้ออาวุธ ก็เหลือน้อยลง....

สิ่งที่เป็นข้ออึดอัด สำหรับ “เรา” คือ การมีทหารมาก โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยๆ คือ ตำแหน่ง “นายพล” หรืออีกเรื่อง คือการ “เกณฑ์ทหาร”

“ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมคนแย่งกันเข้าโรงเรียนนายร้อย นายสิบ แต่ถึงเวลาเกณฑ์ทหาร ก็พบว่ามีคนไม่อยากเป็นและต้องบังคับกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องแปลก หากคิดตามตรรกะง่ายๆ หากมีการสร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้นกับการรับสมัครนายร้อย นายสิบ ก็ให้หาวิธีการทำให้คนอยากมาเป็นพลทหาร แน่นอน...วิธีการ ก็แค่ให้เขาได้รับสิทธิ์เหมือนนายร้อย นายสิบ เพียงเท่านี้ก็มีคนแย่งอยากมาเป็นทหาร แต่ความสำคัญ ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งบประมาณ”


นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ที่ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งสิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ “การทำความเข้าใจต่อกัน”

...

พล.อ.บัญชร บอกว่า ทหารเองก็มีความ “หวาดระแวง” เมื่อมีบางพรรคการเมืองพูดถึงการปรับโครงสร้างกองทัพ แต่กลับถูกแปลเจตนา โดยเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยว และมาพูดว่าจะเลิกการเกณฑ์ทหาร บอกว่าไม่ต้องมีแล้วพลทหาร ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ การทำความเข้าใจต่อกัน ซึ่งการจะปรับโครงสร้างทหาร ก็ควรพูดคุยกันให้เป็นเหตุผล ทหารเองก็ต้องรับฟัง อย่างมีเหตุผล เช่นเดียวกัน อย่างเช่น บางคำพูดว่า “ทหารมีไว้ทำไม” แล้วมาตีโพยตีพาย แล้วบอกว่าเขาจะไม่ให้มีทหาร ดังนั้น คนที่พูดเรื่องนี้เองก็ต้องระวังหน่อย และต้องใช้วิจารณญาณ พินิจพิเคราะห์ให้ดี...

เมื่อใครพูดเรื่องการปรับโครงสร้างทหาร มักถูกโต้ตอบจากกองทัพทันที ทำให้บรรยากาศ ที่ผ่านมา เกิดความห่างเหินและระแวงกันและกัน ซึ่งความจริงต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล อะไรทำได้ ก็ว่าด้วยเหตุผล
“ปัญหาไม่ใช่พลเรือน หรือทหาร มันอยู่ที่นโยบายที่กำหนด และทำความเข้าใจกันและกัน”

...

ย้อนรอยการทหาร การเมือง และการเข้าใจผิด

นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การทหารและการเมือง ได้เล่าย้อนถึงความเข้าใจผิดในอดีต ที่แม้แต่ทหารด้วยกันยังเข้าใจผิดกันเอง โดยหลังสิ้นสุดสงครามโลก เราส่งทหารเข้าไปอยู่ในตอนเหนือของเมียนมา เพื่อป้องกันจีน หลังญี่ปุ่นแพ้ ก็มีทหารคนใหม่มาประจำ รมว.กลาโหม ซึ่งทหารผู้นั้น คือ พลเอก จิร วิชิตสงคราม

ความเข้าใจผิดถูกบอกต่อเป็นปากต่อปากว่า “ตอนสงครามใช้พวกเราข้ามแดนไปรบ พอเลิกรบก็ปลดพวกเรากลางอากาศ” ทั้งที่ท่านเป็นทหารแท้ๆ มาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม และท่านถูกเข้าใจผิดมาตลอด จนกระทั่งได้มาอ่านหนังสือคำแถลงจากงานศพของท่าน รวมถึงศึกษาบริบทแวดล้อมจนได้พบความจริงว่า

“ทหารเดินนับไม้หมอนรถไฟกลับบ้านเป็นเรื่องจริง แต่ความจริงประกอบของเรื่องนี้ คือ เวลานั้นเราเหมือนจะแพ้สงครามไปพร้อมกับญี่ปุ่น เวลานั้น ฝ่ายสัมพันธมิตร เข้ามามีอำนาจเหนือเรา เขาจึงให้ความเร่งด่วนในการขนเชลยกลับญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก ขณะที่ทหารไทยที่ตกค้าง ก็เป็นความสำคัญรองลงมา ดังนั้น ทหารไทยที่อยู่ในเมียนมาเวลานั้น มีความคิดถึงบ้าน ก็เลยเดินนับไม้หมอนรถไฟกลับ เรียกว่า เราจะไปโทษ พล.อ.จิร อย่างเดียวไม่ได้ จะโทษทหารที่เดินกลับบ้านก็ไม่ได้ ด้วยความคิดถึงบ้านมันทำให้ทหารเหล่านั้นรอไม่ไหว ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติ จะมีเรื่องบกพร่องบ้าง และที่สำคัญ คือ ช่วงนั้นเราล่อแหลมจะถูกจับแพ้”

นี่คือตัวอย่างว่า ขนาด พล.อ.จิร เป็นทหารแท้ๆ เป็นเพื่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรายังเข้าใจผิดกันเอง ซึ่งแม้เรื่องจริงจะมีอยู่ แต่มันก็มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการกล่าวหาโจมตีกัน

พล.อ.บัญชร ทิ้งท้ายว่า กองทัพบก ถูกออกแบบโครงข่ายงานข่าวแบบสหรัฐฯ คือ หาข่าวจากศัตรูนอกประเทศ แต่พอถูกใช้มาหาข่าวกับนักการเมือง มันจึงเกิดเป็นความวุ่นวาย ยกตัวอย่าง ช่วง รสช. ซึ่งมีปัญหากับอดีตยังเติร์ก เมื่อมีการส่งคนหน่วยข่าวไปประกบ แต่ปรากฏว่า คนประกบกับคนถูกประกบรู้จักกัน เพราะเราไม่ได้ออกแบบมาให้หาข่าวการเมือง แต่เราออกแบบเพื่อหาข่าวศัตรู นี่คือเรื่องผิดฝา ผิดตัว ในยุคหนึ่ง และนี่เอง คือเรื่องที่กองทัพต้องถอนตัวเองเข้ามาอยู่ในเรื่องภารกิจป้องกันประเทศ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ