สัมภาษณ์ 2 มุม สรรเพชญ VS เดชอิศม์ กับเบื้องหลังการโหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ และศึกภายในพรรคที่กำลังระอุ...

เรียกว่าถูกจับตาไม่แพ้การตั้งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” สำหรับกรณีพรรคเก่าแก่ นาม “ประชาธิปัตย์” ที่เวลานี้เกิดความแตกแยกอย่างหนัก มิหนำซ้ำวันโหวตนายกรัฐมนตรียังแสดงถึงความไม่มีเอกภาพภายในพรรค ด้วยการโหวตแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ เห็นชอบ, ไม่เห็นชอบ และ งดออกเสียง จนกลายเป็นเรื่องดราม่ากับข้อครหา สส.งูเห่า 

“คนที่จะเป็นงูเห่า ต้องส่วนน้อยของพรรค แต่นี่ผมมี 21 สส.นะ พวกผมไม่ใช่งูเห่าแน่นอน”

นี่คือเสียงของ “เดชอิศม์ ขาวทอง” รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในรายงานพิเศษครั้งนี้ โดยทีมข่าวฯ ได้สัมภาษณ์ 2 สส.ประชาธิปัตย์ คือ นายเดชอิศม์ และ นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ที่ล่าสุดได้โพสต์ความในใจผ่านเฟซบุ๊กว่า “ขอเป็นฝ่ายค้าน” 

...

จุดยืน สรรเพชญ และ เดชอิศม์ 

สรรเพชญ : การโพสต์เฟซบุ๊กคือจุดยืนที่พูดมาตลอด หลังทราบผลคะแนนเลือกตั้ง และการโพสต์ครั้งนี้คือการย้ำในฐานะ สส. ตัวแทนของพี่น้องประชาชน หากไม่พูดอะไรก็อาจจะเกิดความสับสน และอธิบายให้พี่น้องประชาชนว่า “มติพรรค” เป็นอย่างไร อุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร...

เดชอิศม์ : ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเราเป็นฝ่ายค้าน การโหวตวันนั้นเราหวังว่าจะแก้ปัญหาให้กับชาติ เพราะ 100 กว่าวันแล้วยังไม่ได้ เราเองอยากได้รัฐบาลมาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนซึ่งมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเราไม่อยากเห็นการ “สุญญากาศ” จากนั้นเราก็มาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หากเห็นว่าเรื่องไหนที่เขาทำดี เราก็ต้องสนับสนุน มันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องจับมือเดินไปข้างหน้า  

บรรยากาศประชุมพรรค ก่อนโหวต มีมติ “งดออกเสียง?” 

นายสรรเพชญ บอกตรงกันว่า ที่ประชุมมีการพูดคุยถึงการโหวต โดยมีเสียงแตกออกเป็น 3 เสียง คือ งดออกเสียง เห็นชอบ และ ไม่เห็นชอบ โดยมีรายละเอียดต่างกัน... 

สรรเพชญ : ในที่ประชุม ก่อนลงมติโหวตนั้น พรรคได้มีการหารือกัน และท่าน สุรินทร์  ปาลาเร่ ลุกขึ้นพูดพร้อมข้อเสนอ 2 ทาง 

1.งดออกเสียง 

2.ไม่เห็นชอบ 

หลังเสนอ 2 ทางดังกล่าว คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็พูดสนับสนุน 2 แนวทางนี้ จากนั้นสมาชิกหลายๆ คนก็ลุกขึ้นอภิปรายความเห็น 

ในที่ประชุมมีเสียง 1-2 เสียงที่บอกว่าจะโหวตให้พรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสนับสนุนการทำงานรัฐบาล โดยมี 2 เสียง คือ ท่านชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน ยืนยันว่าจะไม่โหวตให้ โดยยืนยันชัดเจน ซึ่งให้เหตุผลที่ชี้แจงกับสื่อไปแล้ว (คัดค้านพรรคเพื่อไทย) ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบแนวทางนี้ 

“เข้าใจว่าท่านหัวหน้าพูดนั้นเป็นเรื่องเอกสิทธิ์ สส. และออกมา 2 แนวทาง คือ งดออกเสียง กับ ไม่เห็นชอบ ซึ่งในทางกฎหมายนั้นมีค่าเท่ากัน คือ ไม่โหวตให้คุณเศรษฐา ทวีสิน และท่านหัวหน้าจุรินทร์ ยังบอกว่า คงไม่ต้องมี “มติ” อะไรดีกว่า แต่บางท่านก็ยืนยันว่าควรลงมติให้ชัด สุดท้ายมติของคนส่วนใหญ่ก็ลงมติ “งดออกเสียง” มีเพียง ท่านบัญญัติ กับ ท่านชวน ที่ยืนยันว่าจะไม่โหวตให้ โดยไม่มีใครเห็นแย้ง” นายสรรเพชญ กล่าว 

...

เดชอิศม์ : เรื่องประชุมวันนั้น จริงๆ ยังไม่ได้เป็น “มติพรรค” สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ ไม่เห็นชอบ ซึ่งก็คือ ท่านชวน หลีกภัย กับ ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน เราก็ถามเหตุผล ซึ่งก็ได้รับคำตอบ เรื่องราวในอดีตตั้งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายเราเองก็เห็นแย้งว่า วันนี้ในพรรคกลายเป็นเด็กรุ่นใหม่หมดแล้ว เราไม่อยากเอาเรื่องความขัดแย้งในอดีตมารวมกับหน้าที่ของ สส. ซึ่งระหว่างโต้เถียงกัน นายชวน ก็วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม

ประเด็นที่ 2 คือ ให้ความเห็นชอบไปเลย วันก่อนไม่เอาพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วันนี้เราจะไม่เอาเศรษฐาอีกหรือ คำถามคือ เราจะเอาใคร  

ประเด็นที่ 3 งดออกเสียง ตอนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือ งดออกเสียง ครั้งนี้จึงอยากให้งดออกเสียง กระทั่งสุดท้ายหัวหน้าพรรคลุกขึ้นพูดบอกว่า มันเป็น “เอกสิทธิ์” ของ สส. จากนั้นก็มีคนอยากให้โหวต เป็นมติพรรค แต่ก็ไม่มีการโหวต 

“เราไม่แน่ใจว่าเป็น “มติ” หรือ “ไม่เป็นมติ” เพราะไม่มีการโหวต เพราะปกติต้องโหวต” นายเดชอิศม์ กล่าว 

...

จุดพลิกผัน วันประชุมสภาฯ และ 2 ชั่วโมงพิศวง

ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการโหวต จาก “งดออกเสียง” เป็นเห็นชอบ คือสิ่งที่หลายฝ่ายอยากรู้มากที่สุด...

เดชอิศม์ : วันนั้นผมเห็นการโหวตของสามเสาหลักประชาธิปัตย์ คือ ท่านชวน บัญญัติ และคุณจุรินทร์ ไม่เหมือนกันคือ ท่านชวนกับบัญญัติ ไม่เห็นชอบ ขณะที่คุณจุรินทร์งดออกเสียง แบบนี้จะถือเป็น “มติพรรค” หรือ...?  

“เมื่อเป็นอย่างนี้ พวกเรา (21 คน) ก็นัดประชุมที่ห้องประชุมเล็ก เรามาทบทวนกันดีกว่า ระหว่างพรรค (ประชาธิปัตย์) กับประชาชน จะเอาอะไร คำตอบคือเอาชาติและประชาชนดีกว่า ผมนั่งคุยทีละคนๆ ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าโหวตให้เขาไป แต่เรายังเป็นฝ่ายค้าน อะไรไม่ดีก็คัดค้านได้ แต่ต้องให้ประเทศเดินหน้าไปได้ เราก็โหวตให้ ซึ่งมีการพูดคุยกันประมาณ 2 ชั่วโมง โดยถามทั้ง 21 คน ซึ่งบางคนโหวต “งดออกเสียง” ไปก่อนแล้ว จึงกลายเป็น 16 เสียง สส. แต่...วันนี้ (24 ส.ค.) ที่แถลงข่าวก็ครบ 21 คน” นายเดชอิศม์ เล่าเบื้องหลัง 2 ชั่วโมงที่หายไป ในระหว่างประชุมสภาฯ 

สรรเพชญ : ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่าจะมีการโหวตสวนมติพรรค มารู้ คือก่อนโหวตไม่กี่นาที ด้วยความสัตย์จริงคือมารู้ตอนที่ขานชื่อและไม่ปรากฏตัวในห้องประชุม จากนั้นเริ่มเอะใจ ก็เลยรู้ว่าทิศทางน่าจะออกมาแบบนี้... ซึ่งตอนแรกในใจลึกๆ ก็หวังว่าจะกลับมา แล้วโหวตว่า “งดออกเสียง” แต่ไม่คิดว่าผลมันจะไปอีกทางเลย...

“คำถามคือ ทำไมวันนั้นไม่มีมติเห็นชอบไปเลย โดยเฉพาะวันประชุม สส. ในเมื่อท่านบอกว่า ท่านมี สส.ในมือเยอะ ถ้าวันนั้นเสนอมติก็ต้องออกมา “เห็นชอบ” อยู่แล้วสิ แต่พอมีการลงมติ บอก “งดออกเสียง” เวลาผ่านไปไม่ถึงคืนมาโหวตบอกว่า “เห็นชอบ” ซึ่งผมก็ติดตามจากหน้าสื่อ”  

...

ใครขับใคร..ออกจากพรรค 

เดชอิศม์ : การขับออกมันยาก เพราะเราคือเสียงส่วนใหญ่ เรามี 21 จาก 25 คน และคนที่ขับได้ก็คือ กรรมการบริหารพรรค ร่วมกับเสียง สส. 3 ใน 4 แบบนี้ไม่รู้จะขับออกยังไง 

สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือ ต้องรีบเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ว่ามีกระบวนการให้ล้มเพราะมีไม่ครบองค์ประชุม นั่นคือจุดเริ่มต้นของการไม่มีเอกภาพ บางคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แต่กลับทำร้ายพรรคเสียเอง ซึ่งมันเสียเงิน เสียเวลา นี่คือจุดเริ่มต้นของการไม่มีเอกภาพของพรรค ซึ่งการที่องค์ประชุมไม่ครบมันเกิดความเสียหายภาพลักษณ์ ดังนั้นสิ่งที่ต้องรีบคือ การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้เร็วที่สุด 

“เวลานี้กรรมการบริหารพรรคยังไม่กล้านัดประชุม เพราะกลัวล่มอีก เพราะมันจะทำให้เสียค่าใช้จ่าย” 

สรรเพชญ : ขั้นตอนหลังจากนี้คงเป็นไปตามวาระ คาดว่าจะมีการพูดคุยในสัปดาห์ที่มีการประชุม สส.ซึ่งมีการประชุม  

“ฝ่ายหนึ่งทำตามมติพรรค ถ้าเสียงส่วนใหญ่จะขับเสียงส่วนน้อย คำถามคือ เราจะมีมติพรรคไว้ทำไม สิ่งที่คาใจคือ ทำไมวันนั้น วันประชุม สส. ไม่มีมติเห็นชอบไปเลย ในเมื่อท่านบอกว่า ท่านมี สส.ในมือเยอะ แต่พอมีการลงมติ บอก “งดออกเสียง” เวลาผ่านไปไม่ถึงคืน มาโหวตบอกว่า “เห็นชอบ” ซึ่งผมก็ติดตามจากหน้าสื่อ” นายสรรเพชญ กล่าว 

ทางออก ต้องเลือกหัวหน้าพรรคโดยเร็ว! 

สรรเพชญ : หลังจากนี้คงเป็นเรื่องภายในพรรค ที่ต้องไปดูกันว่าเป็นอย่างไร ส่วนตัวผมก็อยากได้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคเร็วๆ เพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตเร็วๆ นี้ จะได้รู้ทิศทางและแนวทางพรรค ซึ่งสมาชิกพรรคหลายหมื่นหลายแสนคนก็จะได้รับรู้รับทราบ 

เดชอิศม์ : ครั้งที่แล้วผมไม่ได้เลือกจุรินทร์ แต่เมื่อคุณจุรินทร์ชนะ ท่านก็คือหัวหน้าผม และทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่อปกป้อง เพราะมติการเลือกหัวหน้ามันจบไปแล้ว 

แปลว่า หากมีการเลือกหัวหน้าพรรคจบ ปชป.จะเป็นเอกภาพขึ้น เดชอิศม์ บอกว่า เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ส่วนตัวอยากได้ ดร.เอ้ (สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) แต่ปรากฏว่า ดร.เอ้ มาอยู่กับพรรคไม่ถึง 5 ปี ซึ่งตามกฎคือ ต้องเป็นสมาชิกพรรคเกิน 5 ปี, เคยเป็น ส.ส. ซึ่ง ดร.เอ้ ไม่เคยเป็น ส.ส. แต่เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค และลงปาร์ตี้ลิสต์ในนามพรรค เรามองว่าท่านก็เป็นคนของพรรคอยู่แล้ว เราเคยไปคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคว่าขอได้ไหม หรือจะเป็น “มาดามเดียร์” (วทันยา วงษ์โอภาสี) แต่ผู้ใหญ่ไม่ยอม และบอกว่ายึดตามข้อบังคับพรรค 

นอกจากนี้เราก็คุยกับ “นราพัฒน์ แก้วทอง” ให้มาเป็นหัวหน้าพรรค เขาก็บอกว่า เขาแค่มาช่วยสัก 1-2 ปี เพื่อปรับปรุงแก้ไข หากได้เป็นแล้วเขาก็จะลาออก เพื่อมาแก้กฎพรรคต่างๆ จากนั้นเขาก็จะลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แข่งขันกัน 

ใคร...จะกอบกู้ประชาธิปัตย์? 

สรรเพชญ : พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และอยู่มานาน สิ่งที่เป็นห่วงคือ เรื่องจุดยืนทางการเมืองต้องชัดเจน จากนั้นก็ทำหน้าที่ของตัวเอง แน่นอนว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง ทุกพรรคก็อยากเป็นรัฐบาล ประชาชนที่เลือกเรา ก็อยากเห็นเราเป็นรัฐบาล แต่เมื่อเรามีเสียงเท่านี้ มันจึงเป็นข้อกังวลว่าเราต้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียวหรือ ถึงจะเห็นว่าเป็นผลงานของเรา

“ตอนนี้เราอยากจะกลับมาฟื้นฟูพรรค กลับมาเป็นทางเลือกของพี่น้องประชาชนให้ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่สำคัญกว่า “ร่วม” หรือ “ไม่ร่วม” รัฐบาล ถ้ารอบนี้ฟื้นฟูไม่ได้ คราวหน้าจะเหลือสักกี่ที่นั่ง โดยไม่ต้องพูดเรื่องการร่วมรัฐบาลเลย..” นายสรรเพชญ กล่าว 

เดชอิศม์ : ตอนนี้ยังอยากอยู่ในพรรค อยากสร้างพรรคให้ดี วันนี้เรายังอยู่ในพรรค เราต้องซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับพรรค เว้นเสียแต่เราอยู่ไม่ได้จริงๆ หรือเสียงส่วนใหญ่อยากให้เราออก เราก็ไม่ว่ากัน 

“ต้องบอกพี่น้องประชาชนว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ อยากนับ 1 ให้กับประเทศไทย ท่านทักษิณก็ยอมมารับโทษแล้ว เมื่อก่อนท่านทักษิณกับ เนวิน ชิดชอบ ก็เคยแตกหักกัน วันนี้เขายังจับมือกันได้ หรือเมื่อก่อน กปปส.เคยไล่ยิ่งลักษณ์ วันนี้เขามาตั้งรัฐบาลด้วยกัน แสดงว่าสลายขั้ว สลายความขัดแย้งแล้ว จะมาอคติกับนายกฯ ทักษิณ หรือ เพื่อไทย เราไม่อยากให้บรรยากาศอย่างนั้นกลับมาอีก 

มีหลายคนมองว่ากลุ่มพี่เป็นงูเห่า นายเดชอิศม์ กล่าวว่า คนที่จะเป็นงูเห่า ต้องส่วนน้อยของพรรค แต่นี่ผมมี 21 สส.นะ พวกผมไม่ใช่งูเห่าแน่นอน 

รอยร้าวของประชาธิปัตย์ในห้วงเวลานี้ถือว่ารุนแรงกว่าทุกครั้ง ส่วนใครจะเป็นผู้กอบกู้ จะกู้ได้สำเร็จหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป. 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ