เบื้องหลังความสำเร็จ สู่การลงจอดบนดวงจันทร์ และ 'อินเดีย' มุมใหม่ที่ไทยต้องมอง...

"ทุกรัฐบาลส่งเสริมเรื่องของเทคโนโลยี และมีหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด แต่เขามองว่าตนเองมีหน้าที่มุ่งมั่นผลิตเทคโนโลยี วิจัยเพื่อให้นวัตกรรมต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อสังคม" คำกล่าวนี้มาจากบทสนทนาระหว่าง 'ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์' กับ 'ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล' จากศูนย์อินเดียศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

บทสนทนานี้เริ่มต้นขึ้นจากข่าวความก้าวหน้าของวงการอวกาศ เมื่อ ‘อินเดีย’ สามารถส่งยานอวกาศ Chandrayaan-3 (จันทรายาน-3) ลงจอดขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ตามเวลาประเทศไทย ทำให้ตอนนี้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลก ที่พายานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงสหรัฐอเมริกา จีน และอดีตสหภาพโซเวียต  

นอกจากนั้นอินเดียยังถือเป็นชาติแรกของโลก ที่สามารถลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ได้ บริเวณนี้เองถือเป็นอีกพื้นที่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการค้นพบร่องรอยน้ำแข็ง ที่จริงแล้วเดือนกันยายน 2562 อินเดียได้พยายามส่ง Chandrayaan-2 (จันทรายาน- 2) ลงจอดขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์มาแล้ว แต่ซอฟต์แวร์ล้มเหลว จึงทำให้ภารกิจนั้นไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกต่างจับตามองว่า หรืออินเดียจะกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางอวกาศแห่งใหม่ เพราะดูเหมือนจะแซงหน้าบางประเทศไปแล้ว 

...

ที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจาก เมษายน ปีเดียวกัน ชาติแห่งเทคโนโลยีอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ เคยมีลุ้นจะเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ แต่ความหวังก็ต้องดับสลาย เมื่อ ยาน Hakuto-R (ฮาคุโตะ-อาร์) ที่พวกเขาพยายามส่งไปดวงจันทร์ ขาดการติดต่อ และยานตกกระแทกพื้นผิวขณะพยายามลงจอด ทำให้ภารกิจนี้ล้มเหลวไปโดยปริยาย

ส่วน ‘รัสเซีย’ มีแผนการส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี โดยได้ส่งยานอวกาศ Luna-25 (ลูนาร์- 25) จากฐานปล่อยสู่ดวงจันทร์ เมื่อ 11 สิงหาคม 2566 แม้จะปรับแก้ไขไปหลายรอบ แต่ 19 สิงหาคม ปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถติดต่อกับยานได้ กระทั่ง 20 สิงหาคม รัสเซียออกมายอมรับว่า การเดินทางครั้งนี้ไม่สำเร็จ และยานตกกระแทกสู่ผิวดวงจันทร์ ปิดฉากภารกิจแห่งความหวังของรัสเซีย 

นั่นแสดงว่าความสำเร็จของอินเดีย เกิดขึ้นหลังจากความผิดหวังของญี่ปุ่นประมาณ 4 เดือน และความผิดหวังของรัสเซียแค่ไม่กี่วัน... นี่ยิ่งทำให้ทีมข่าวฯ อยากรู้ว่า ‘อินเดีย’ ในวันนี้ก้าวหน้าไปถึงไหน เขาพัฒนาอะไรบ้าง ถึงทะยานสู่ดวงจันทร์ได้ ร่วมติดตามความน่าสนใจนี้ ผ่านทรรศนะของ ‘ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล’

ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และแบ่งปันองค์ความรู้ : 

"ที่เขาไปได้ขนาดนี้ เพราะการส่งเสริมเรื่องวิทยาศาสตร์ในอินเดีย เป็นเรื่องที่มีมายาวนานแล้ว และประจักษ์ชัดแจ้งหลังจากได้รับเอกราช อย่างนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ชวาหระลาล เนห์รู ก็จบวิทยาศาสตร์ และจะใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ หลังจากนั้นมีสถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มุ่งมั่นมาแต่ไหนแต่ไร 

ในภายหลังเรื่องเทคโนโลยี ก็ได้รับการมองจากรัฐบาลอื่น ๆ ว่ามีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ส่วนตัวมองว่าอันนี้ไม่ได้แปลกอะไร หลายประเทศก็มองเห็นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอินเดียมุ่งมั่น ที่จะทำให้ตรงนี้สะท้อนความพยายาม ที่ตนจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ

ทุกรัฐบาลส่งเสริมเรื่องของเทคโนโลยี และมีหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด แต่เขามองว่าตนเองมีหน้าที่มุ่งมั่นผลิตเทคโนโลยี วิจัยเพื่อให้นวัตกรรมต่าง ๆ เป็นประโยชน์ต่อสังคม"

เมื่ออินเดียมีองค์ความรู้ ก็พร้อมจะแบ่งปันให้กับสังคมโลก ซึ่งนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เขาชัดเจนมาตลอด "จะเห็นว่า จันทรายาน-3 ที่เพิ่งประสบความสำเร็จจากการลงจอดไป นเรนทระ โมที (นายกคนปัจจุบันของอินเดีย) เน้นมาโดยตลอดว่า พวกเราเป็นครอบครัวเดียวกัน อนาคตเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความสำเร็จนี้เป็นของมวลมนุษยชาติ ไม่ได้เป็นความสำเร็จสำหรับอินเดียเท่านั้น"

อีกไม่กี่ปี 'วงการอวกาศอินเดีย' คงไม่เป็นรองใคร :

"ความก้าวหน้าทางวิทยาการของอินเดียมีมากพอสมควร ผมคิดว่าจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คงจะไม่เป็นรองใครง่าย ๆ แล้ว" ผศ.สุรัตน์ กล่าวกับเรา

...

การพัฒนาวงการอวกาศนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่อินเดียให้ความสนใจและสนับสนุน เพราะถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของชาติ 

"ถึงแม้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าทำได้จะสื่อให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะ หากพูดถึงเทคโนโลยีอวกาศ มันจะสัมพันธ์กับอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย ต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวข้อง ซึ่งอินเดียต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนนั้นมีความสามารถ และพร้อมจะขึ้นนำในอนาคตอันใกล้"

อีกหนึ่งเหตุผลที่ ผศ.สุรัตน์ คิดว่ามีส่วนทำให้อินเดีย พยายามผลักดันตัวเองขึ้นมา เกิดจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติ เดิมนั้นอินเดียเป็นสมาชิกสหประชาชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ไม่ได้เป็น คือ สมาชิกถาวร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council; UNSC) ซึ่งส่วนนี้จะมี 5 มหาอำนาจของโลกอยู่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สหพันธรัฐรัสเซีย, สาธารณรัฐฝรั่งเศส และ สาธารณรัฐประชาชนจีน 

อินเดียเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเกิดขึ้น เพื่อจะทำให้ตนเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกได้ แต่ก็ไม่ใช่แค่อินเดีย ยังมีสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และญี่ปุ่นด้วย "ส่วนนี้รัฐบาลอินเดียทุกพรรค พยายามจะพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า อินเดียควรจะได้นั่งตำแหน่งนี้ด้วย"

ผศ.สุรัตน์ บอกกับทีมข่าวฯ ว่า "จันทรายาน-3 มีเบื้องหลังความสำเร็จ เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงหลายคน"

...

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อินเดียทำได้ขนาดนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการศึกษา อินเดียมุ่งเน้นการศึกษามาโดยตลอด เข้าไปสนับสนุนให้มีสถาบันการศึกษา ตำราหนังสือ การวิจัย ขณะเดียวกันก็ไม่เคยปิดกั้น แต่แบ่งปันให้คนต่างชาติเข้าเรียนหนังสือในอินเดียได้ คนไทยก็ไปเรียนและได้ทุนอินเดียเยอะแยะ 

"ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อินเดียคิดมาตลอดว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องลงทุน เพราะว่าการศึกษาจะช่วยให้คนลืมตาอ้าปาก มีงานทำ และสร้างสิ่งดีให้สังคมได้ เหล่านี้คือสิ่งที่เขาทำตั้งแต่ได้รับเอกราช ทุกวันนี้ก็มุ่งเน้นเยอะมาก

ตอนที่อังกฤษเข้ามาปกครอง ก็มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่เสริมขึ้นมาคือ สถาบันการศึกษาอื่นที่อินเดียสร้างขึ้นมาเอง และไม่เกี่ยวกับอังกฤษเลย มีการสร้างสถาบันดัง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีออกมาเยอะมาก คนเหล่านี้ก็ขึ้นเป็น CEO ของบริษัทข้ามชาติยักใหญ่ในตะวันตกเยอะมาก"

ทำไมต้องไปดวงจันทร์ และใช้ทุนต่ำกว่าชาติอื่น :

...

"ดวงจันทร์ยังเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พิศวงอยู่ คำพูดของผู้บริหารนาซ่า ที่แสดงความยินดีกับการประสบความสำเร็จของอินเดียครั้งนี้ ก็ยังพูดถึงความสำคัญของดวงจันทร์ ส่วนขั้วใต้ที่อินเดียลงจอดได้ ก็ยังมีเรื่องน้ำแข็งและอีกหลายอย่างที่ยังไม่มีคำตอบ ความสำเร็จครั้งนี้จึงอาจช่วยเราได้หลายอย่างในอนาคต เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เน้นเรื่องของมวลมนุษยชาติอยู่ตลอด"

ผศ.สุรัตน์ คิดว่า... ศักยภาพของอินเดียนั้น ใกล้เคียงกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ หรือบางสิ่งบางอย่างก็คงดีมากเป็นพิเศษ มิเช่นนั้นทางนาซ่าคงแสดงความยินดีเพียงอย่างเดียว แต่ครั้งนี้นาซ่าพูดถึงการเป็นหุ้นส่วน แสดงว่าคงมองเห็นบางอย่างว่า อินเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรร่วมมือด้วย

ส่วนเรื่องที่มีข่าวระบุว่า “การลงจอดบนดวงจันทร์ของอินเดียสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการใช้ต้นทุนที่ต่ำ” สิ่งนี้ ผศ.สุรัตน์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการใช้เงินของอินเดีย

"อินเดียมีประวัติศาสตร์ที่ทำให้เขาต้องคิดอะไรแบบนี้ ในสมัยหนึ่งเขาไม่ได้มีเงินทองมากมาย ที่จะมาคิดเทคโนโลยีเพื่อตอบปัญหาผู้คน ดังนั้น เมื่อเขาคิดในขณะที่ยังไม่ได้มีงบประมาณมหาศาล มันเลยเกิดการประดิษฐ์คิดค้นแบบประหยัด ซึ่งหมายความว่าเป็นการนำโนโลยีมาใช้ โดยเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

เช่น ฟังก์ชันบางอย่างอาจไม่จำเป็น ก็เอาแค่ส่วนที่จำเป็น ที่ตอบสนองต่อคนหรือวัตถุประสงค์จริง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อคิดแบบนี้ จะทำให้วิถีการใช้งบประมาณต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในช่วงหนึ่งอินเดียมองว่า การใช้เงินเยอะ ๆ กับเทคโนโลยี ก็จะไปกระทบกับงบประมาณของกระทรวงอื่น ในขณะที่คนยังปากกัดติดถีบ สมัยนี้ถือว่าภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนยากจนอยู่ ดังนั้น เขาจึงคิดว่า หากต้องใช้เงินมหาศาลไปดวงจันทร์ แต่ไม่คิดถึงคนที่ยังลำบาก มันก็ไม่ใช่ปรัชญาที่ดี เพราะฉะนั้นจะต้องทำอย่างไร ถึงจะใช้งบประมาณพัฒนานวัตกรรมให้ดี โดยคำนึงไม่ให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนอีกมาก"

การแก้ไขภาวะสมองไหลของอินเดีย และพลังของความสำเร็จแห่งดวงจันทร์ :

อย่างที่ ผศ.สุรัตน์ ได้บอกว่า CEO ของบริษัทข้ามชาติยักใหญ่ในตะวันตกเป็นคนอินเดียเยอะมาก และคนอินเดียก็มักได้รับรางวัลโนเบล นั่นแสดงว่าคนอินเดียมีศักยภาพ และบางครั้งอาจจะถูกดึงตัวจากต่างชาติ นอกจากนั้นยังอาจเกิดภาวะสมองไหล ซึ่งอินเดียเองก็พยายามหาทางแก้ไขอยู่แล้ว

“มีทั้งการแก้ไขโดยตรง และการแก้ไขทางอ้อม ถ้าแก้ไขโดยตรง เช่น มีสถานภาพพิเศษให้ชาวอินเดียโพ้นทะเล สามารถกลับมาอยู่ประเทศได้ เฉกเช่นกับพลเมืองปกติ ซื้อที่ดินได้ ทำทุกอย่างได้ แค่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

ส่วนทางอ้อมเป็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สิ่งนี้ทำให้คนไม่ได้อยากไปข้างนอก หรือบางคนก็อยากกลับบ้าน ตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเจน เพราะว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย ดังนั้นจะไปห้ามไม่ให้ใครออกนอกประเทศไม่ได้ ทำได้อย่างเดียว คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศน่าอยู่ มีแรงจูงใจให้กลับมาใช้ชีวิต คิดว่าคงทำให้หลายคนที่ทำงานตะวันตกมานาน คิดอยากกลับบ้าน ถิ่นมาตุภูมิของตน”

ทีมข่าวฯ สงสัยว่า ความสำเร็จครั้งนี้ ส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกของประชากรอินเดียบ้าง 

"เท่าที่ผมเห็นนะ ผมเห็นแต่รอยยิ้ม เห็นแต่น้ำตา เห็นคนร้องไห้เยอะมาก มันเป็นน้ำตาที่เขารู้สึกอึดอัดมานานว่า ไม่มีใครเข้าใจเขา ทั้งที่จริงแล้วเขาก็เป็นประเทศหนึ่ง ที่มีความสร้างสรรค์ต่อโลก และมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด บางทีอาจไปพูดจาดูถูกดูแคลน การลงจอดของ จันทรายาน-3 ครั้งนี้ ต้องบอกได้เลยว่า มันสร้างความมั่นใจแก่พลเมืองอินเดียได้ไม่น้อย"

ไทยควรมองอินเดียใหม่ได้แล้ว :

"เราต้องปลอดอคติเกี่ยวกับอินเดีย ไม่อย่างนั้นเราจะดูแต่ภาพที่ไม่น่าจดจำ สิ่งเหล่านั้นจะมาย้ำเตือนเราตลอด จนทำให้มองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาพัฒนาแล้ว เมื่อนำออกได้ก็เปิดใจให้ขว้าง เราจะเริ่มเข้าใจว่า การเข้ามาสนับสนุนทางการศึกษา หมายความว่าอย่างไร การใช้เทคโนโลยีอย่างประหยัดเป็นแบบไหน

ที่ผ่านมาเราไปยึดอยู่กับบางประเทศ จนเรามองว่า 'ฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้' ก็ปล่อยให้เป็นไปตามนั้น กำลังจะบอกว่าเทคโนโลยีบางชนิด เราไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา เรื่องราวของอินเดียชวนให้เราคิดได้หลายอย่าง 

สำคัญตรงที่ว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมาก ในขณะที่ไทยบอกว่าเรากำลังมีปัญหาเยอะ เพราะเรามีความหลากหลายแบบนั้นแบบนี้ แต่ที่จริงแล้วความหลากหลายของเราไม่เท่าเขา นั่นจึงน่าคิดว่า ทำไมเขาไปถึงจุดนั้นได้ รัฐบาลเขาที่เข้ามาไม่จำเป็นต้องรื้อนโยบายดี ๆ ของพรรคเดิมออกหมด แต่ก็คงมีบริบทบางอย่างที่ต่างกัน เขาเคยต้องปากกัดตีนถีบ เคยถูกกดขี่จากอาณานิคมอังกฤษ ส่วนเราอาจจะไม่ได้เจออะไรแบบนั้น รู้สึกสบายมาตลอด เพราะฉะนั้นอินเดียมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ"

ระบบการศึกษาของไทยก็เป็นสิ่งที่ต้องรีบแก้ไข ซึ่งอาจจะศึกษาเรื่องราวของอินเดีย หรือพยายามแก้ไขปัญหาของบ้านเราให้ถูกจุดก่อน "บางอย่างสามารถตักตวงได้ อยู่ที่ว่ามีวิสัยทัศน์ไหม"

"ระบบการศึกษาของเขาก็คงมีปรัชญาบางอย่างซ่อนอยู่ ถูกปลูกฟังความสำคัญด้านการศึกษา และเขาก็กำลังทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการทะยานที่ค่อนข้างยั่งยืนด้วย การเปลี่ยนถ่ายอำนาจของเขา ก็ไม่ได้มีปัญหาแบบเราหรือหลายประเทศ ไม่ได้บอกว่าฝ่ายไหนของเราดีหรือไม่ดี แค่เอาอาจจะกำลังหมกมุ่นอะไรบางอย่าง จนอาจทำให้เราช้าไป 

เราอาจจะกำลังมองเขาว่าด้อยพัฒนา แต่ถ้าเราตื่นช้า เขาก็แซงเราไปแล้ว แต่แซงไปก็ไม่เป็นไร เราก็พยายามสู้ต่อ และขอความร่วมมือกับเขา เพราะเอเชียก็มีวัฒนธรรมที่ดี ในการร่วมมือกัน ที่จริงแล้วเราก็มีอาณาเขตติดกับอินเดีย คือ พื้นที่ทางทะเล แง่หนึ่งก็เหมือนเพื่อนบ้านกัน

ถ้าคุณหลงไหลแต่ข้อมูลข่าวสาร ที่เผยให้เห็นว่าอินเดียมีแต่คนจน มีวรรณะ โดยที่ไม่ให้ความสำคัญเรื่องสติปัญญา ที่เป็นความรู้อีกอย่างหนึ่ง เราก็จะไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าเรามองไปไกลกว่านั้น จะเห็นว่าเขามีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เขาเอาจริงทางการศึกษา มีความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ มีการเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า วันหนึ่งอินเดียจะทะยานขึ้นแน่นอน และถ้าวันหนึ่งเขาขึ้นมาได้ ก็จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเรา

คนอินเดียที่มาเมืองไทยเคยถามผมว่า เขาจะอยู่พื้นที่ไหนดี ลูกเรียนที่ไหนดี หรือจะไปเที่ยวพักผ่อนที่ไหน เขาไม่เคยมาถามผมว่าเด็กแว้นอยู่ไหน แต่เวลาเราไปชอบมองว่า สลัมอยู่ไหน จัณฑาลอยู่ไหน คนโดนกดขี่อยู่ไหน มันแสดงให้เราเห็นว่า บางทีเรายังหลุดพ้นไม่ได้"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :