เปิดใจ "ชวน หลีกภัย" ถึงจุดยืน และความจริงปมเห็นต่างภายในพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมย้ำ ไม่เห็นด้วยเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย!...

ปรากฏการณ์ “รอยปริแยก” ภายใน "พรรคประชาธิปัตย์" อันมีปฐมเหตุจากการโหวตเลือก “นายเศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีปัจจัยสำคัญมาจากอะไร? แล้วเพราะเหตุใด สส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ถึง 16 คน ซึ่งนำโดย "นายเดชอิศม์ ขาวทอง" ฝืนมติพรรคที่ให้ “งดออกเสียง” แปรเปลี่ยนเป็น “ยกมือสนับสนุน” กันแน่? 

วันนี้ “เรา” ไปร่วมกัน รับฟังทุกถ้อยคำที่บรรยาย “ความจริง” ตั้งแต่วันประชุมกรรมการบริหารพรรค จนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จาก “นายชวน หลีกภัย” แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อคลายปมทุกข้อที่เกิดขึ้น ผ่านการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” กันดู! 

...

ความเห็นต่างเรื่องการร่วมรัฐบาลภายในพรรคประชาธิปัตย์ :

“ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ เพียงแต่ว่าใครจะพูดหรือไม่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความพยายามดิ้นรนที่จะไปร่วมรัฐบาลนั้น...มีอยู่จริง เพียงแต่พอถึงเวลาไม่ได้เป็น...ก็เลยปฏิเสธ แต่ความพยายามมีอยู่จริง 

แต่ที่จริง...ก็ไม่ได้มีปัญหานะครับ เพราะสมมติหากอยากจะร่วมรัฐบาล กระบวนการพรรคมันก็มีอยู่แล้ว คือ สส. กับ กรรมการบริหารพรรคจะประชุมร่วมกันและมีมติ แต่ก็เหมือนอย่างที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยพูดไปแล้วว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยส่งคนไปเจรจาและไม่เคยมีใครมาทาบทามเพื่อไปร่วมรัฐบาล แต่...จริงๆ คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็เคยพูดตั้งแต่วันแรกว่า รัฐบาลเขา ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ เขาพูดเองครับ 

แต่ก็ยังมีคนของเรา พยายามดิ้นรนที่จะไปร่วมกับเขา ซึ่งความจริงวันหนึ่งมันจะปรากฏว่า...เพราะอะไร? เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ถือว่า...ความเห็นยังต่างกัน ในส่วนของเรา คุณจุรินทร์ ก็พูดในที่ประชุมไปแล้วว่าในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มันมีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป พรรคประชาธิปัตย์เองก็มีประสบการณ์อย่างนี้มาแล้ว สำหรับเที่ยวนี้ แน่นอนที่สุดว่า เมื่อเราไม่ได้ร่วมรัฐบาล เราก็เป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ฝ่ายครึ่งๆ กลางๆ นี่คือสิ่งที่ปรากฏ”

ข้อเท็จจริงในวันประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ : 

“สำหรับในตอนลงมติ ที่ขัดแย้งกันเป็นอย่างนี้ครับ ขอเล่าในข้อเท็จจริงแบบนี้ครับว่า ในวันประชุมวันที่ 21ส.ค. ที่ผ่านมา คนที่เสนอก่อนคนอื่นคือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ โดยเสนอว่า เมื่อไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ไม่ควรจะให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านเป็นคนเสนอเอง ก็เลยมีการอภิปรายกันว่า วิธีที่จะลงมติ ควรจะเป็น งดออกเสียง หรือ วิธีใด 

ผมก็เลยเสนอของผมเองว่า สำหรับตัวผมนั้น ต้องขอเป็นกรณี ขออนุญาตที่ประชุมว่า ผมขอลงมติชัดเจนว่า ไม่งดออกเสียง แต่จะประกาศชัดเจนว่า ไม่เห็นชอบ ซึ่งผมได้ให้เหตุผลไปว่า ผมรณรงค์ตลอดมาสู้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทย มาตลอดว่า...พรรคนี้แกล้งคนภาคใต้และเลือกปฏิบัติกับประชาชน เช่นการบอกว่า...จะไม่พัฒนาจังหวัดที่ไม่เลือกอะไรเหล่านี้เป็นต้น....ซึ่งแตกต่างจากสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะเราไม่เคยเลือกปฏิบัติกับประชาชน 

ฉะนั้น เราจึงต่อต้านด้วยการอย่าเลือกพรรคที่แกล้งเรา ซึ่งประชาชนภาคใต้ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับผม ดังนั้นเมื่อต้องถึงเวลาที่ต้องแสดงให้เห็นว่า เรามีแนวทางชัดเจนว่า เราไม่สนับสนุนพรรคนี้ (พรรคเพื่อไทย) ผมก็ขออนุญาตลงชัดเจนว่า ไม่เห็นชอบ ซึ่งความจริงมันไม่ได้แตกต่างกันเลยครับ ระหว่าง งดออกเสียง หรือ ไม่เห็นชอบ เพราะผลมันก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ในเวลาแสดง การไม่เห็นชอบ มันชัดเจนที่สุด ซึ่งในที่ประชุมก็ไม่มีใครขัดข้อง และผมก็ได้ขออนุมัติแล้วในเรื่องนี้ 

...

เพียงแต่ในที่ประชุมเขามีการหารือกันต่อ และมี...บางคน ที่อยากจะร่วมรัฐบาล แต่ว่าก็เป็นคนสองคน แต่ว่าในที่สุด คุณจุรินทร์ ก็ได้เสนอว่าในระบอบรัฐสภา มันมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเมื่อเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเราก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลเรื่องความเป็นฝ่ายค้าน จากนั้น คุณจุรินทร์ ก็เสนอว่า...อย่าโหวตเลย! แต่ว่าที่ประชุม ไม่เห็นด้วย โดยบอกคล้ายๆว่า มันไม่ชัดเจน ในที่สุดก็เลยเป็นมติงดออกเสียง ซึ่งผมอยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่า คนที่เสนอ ไม่ให้รับ นี่ก็คือ...พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่และอยู่ในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม 16 เสียง 

สำหรับ สส. นอกนั้นก็มีความเห็นบ้างครับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วความเห็นก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก เพราะเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ว่าควรงดออกเสียง คือ ไม่รับ ซึ่งนี่ก็คือที่มาทั้งหมดครับ” 

มติโหวตนายกรัฐมนตรี งดออกเสียง เห็นชอบ หรือ คัดค้าน : 

“คือ...ที่ประชุมพรรคมีข้อยุติไปแล้วว่า...ไม่รับโดยการงดออกเสียง ยกเว้นให้ผม ได้ประกาศชัดเจนว่า ไม่เห็นชอบ เพียงแต่ในวันที่ 22 ส.ค. ชื่อแรกๆ คือ คุณกาญจน์ ตั้งปอง หนึ่งใน สส. ที่อยู่ในกลุ่ม 16 เสียง กลายเป็นชื่อแรกที่ หายไป ไม่ใช่ หายไปตอนหลังนะครับ (หัวเราะ) หายไปตั้งแต่ต้นๆ เลย (หัวเราะ) ไม่ลงคะแนน ไม่ลงมติ และในที่สุดก็...คนเหล่านั้น ก็ไม่ได้ลงมติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาไปเจรจาอะไรกันตอนนั้น 

...

จนกระทั่งลงมติเรียบร้อยแล้ว ประธานก็อนุญาตให้คนที่ยังไม่ลงมติ ได้ลงมติอีกครั้งหนึ่ง คนเหล่านี้ก็เลยทยอยกันมาลงมติ เห็นชอบ อันนี้คือ ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องที่เกิดขึ้นนะครับ”

“กรณีเช่นนี้ ถือเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหรือไม่ครับ?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รีบสอบทานในทันที

“ที่จริงแล้ว...ต้องถือเป็นหน้าที่ของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ผมไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ผมคิดว่ากระบวนการและวิธีการเนี่ย ปกติพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้มาก่อน 

แต่ถ้าหากใครจำได้ คุณเดชอิศม์ ขาวทอง (แกนนำกลุ่ม 16 เสียง) เคยไปให้สัมภาษณ์นะครับว่า ห้ามแตกแถว และถ้าสมาชิกคนใดไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ให้ลาออก! คือผมเข้าใจว่าตอนพูดตอนนั้น ท่านคงนึกว่า ผมนี่แหละ! เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยในการร่วมรัฐบาล ก็เลยดักไว้ล่วงหน้าว่า หากผมไม่เห็นด้วย ก็พูดคล้ายๆ ดักไว้ล่วงหน้าว่า ผมต้องลาออก! แต่บังเอิญ (เสียงสูง) สถานการณ์มันเปลี่ยนไป ก็กลายเป็นว่า...คนที่ฝืนมติพรรค คือ พวกเขากันเอง! (หัวเราะ) และพวกเขาเองก็เป็นผู้เสนอด้วยว่า...ไม่ให้รับ ไม่ใช่พวกผมเป็นคนเสนอ (หัวเราะ)

ผมขอพูดตรงๆ เลยนะครับ ผมรู้ว่า...เจตนาของพวกเขาคืออะไร? วันนั้นผมก็เลยออกจากจังหวัดตรังตั้งแต่ตี 4 นั่งรถยนต์มาประชุมพรรค (หัวเราะ) เพราะผมไม่อยากให้พวกเขาขับผมออกจากพรรค (หัวเราะ) เพราะเหตุว่าฝืนมติพรรค ผมเลยมาขออนุญาตเขา ผมเรียนตรงๆ ว่า ผมก็เป็นหนี้บุญคุณคนและรู้สึกขอบพระคุณที่เขา (ประชาชน) เชื่อเราแล้วไม่เลือกพรรคไทยรักไทย หรือ พรรคเพื่อไทยเลย ซึ่งก็แสดงว่าพวกเขา (ประชาชน) เห็นด้วยกับเรา 

...

อย่างไรก็ดีแม้ในที่ประชุมจะมีการพูดกันในทำนองที่ว่า...อย่ารื้อฟื้นเรื่องความโกรธแค้นกันในอดีต ผมบอกไปว่า มันไม่ใช่ความเคียดแค้นหรือโกรธแค้น มันเป็นเรื่องที่เราเสนอประชาชนว่า อย่าไปเลือกเพราะเขาแกล้งเรา เราจะไปทำอะไรในทำนองที่ว่า เราไม่มีน้ำยา เขาแกล้งแล้วยังไปเลือกเขา มันเสียศักดิ์ศรี!

ผมก็เลยบอกไปว่า ผมขออนุญาต เฉพาะผมนะครับ ผมย้ำเลย! ผมไม่อยากให้กระทบกระเทือนต่อคนอื่น ผมบอกเฉพาะผมนะครับ ผมขออนุญาตลงมติไม่รับ เพราะผมไม่ต้องการทรยศต่อคนภาคใต้ เพราะผมมาจากชาวบ้านเลือกมาโดยสุจริตตลอดมาทุกสมัย! ซึ่งที่ประชุมก็ไม่คัดค้านเลยครับ ในที่สุด...ก็จบเมื่อเห็นว่าจบแล้ว ผมก็เลยขออนุญาตว่า ขออนุญาตไปก่อนนะ แต่ไม่ใช่วอล์กเอาต์นะครับ (หัวเราะ) เพราะผมต้องไปร่วมงานศพคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ เพราะคุณพ่อของคุณเพชร เป็น สส. รุ่นเดียวกันกับผม อันนี้คือข้อเท็จจริงครับ” 

กลุ่ม 16 เสียงพรรคประชาธิปัตย์ :

"ในความเป็นจริง...คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านพยายามเสนอมาตลอดว่า มีปัญหาอะไรให้คุยกัน ซึ่งในการประชุมพรรควันนั้น บรรยากาศก็เป็นไปด้วยดีครับ แต่ทุกอย่างมันมาเปลี่ยนเอาตอนวันลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีนี่แหละครับ (หัวเราะ) คือ บรรยากาศวันนั้นอะไรๆ มันก็ดี (หัวเราะ) คือทางฝ่าย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็พูดเองว่าให้ไม่รับ เมื่อเราไม่ได้ร่วมงาน เราก็ไม่รับ ซึ่งท่านเสนอเอง แต่มันกลับมาตาลปัตรเอาวันรุ่งขึ้น (หัวเราะ) แล้วก็หายกันไป ซึ่งไอ้ช่วงที่หายไปเราก็ไม่รู้ว่า เขาไปเจรจากันอย่างไร? มันก็เลยออกมาอย่างที่เราเห็นอยู่ ก็เลยไปฝืนมติพรรคกันเอง ทั้งๆ ที่ตัวเองประกาศเอาไว้ว่าไม่ให้แตกแถว ไม่ให้ฝืนมติพรรค 

ซึ่งที่จริงผมก็รู้ว่า เขาก็มุ่งมาที่ผมครับ เพราะเขารู้ว่าผมไม่เห็นด้วย (หัวเราะ) ผมก็เลยพยายามที่จะไม่ขัดต่อมติ ก็เลยรีบเดินทางมา ตี4 นะครับวันนั้น ที่ผมออกเดินทางมานั่งรถยนต์มาเพื่อให้ทันประชุมพรรคแล้วก็มาทันครับ (หัวเราะ) ก็เลยบอกเขาตรงๆ ไปว่า ผมขออนุญาตที่ประชุม ผมมีเหตุผลของผมอย่างนี้  ผมขอไม่รับ และผมไม่ขอทรยศคนภาคใต้ 

ความจริงถ้าผมงดออกเสียง เหมือนอย่างเขาก็ได้ แต่ผมอยากให้ชัดว่า ผมไม่ทรยศ เพราะผมเคยแนะนำคนภาคใต้ไม่ให้เลือก และคนภาคใต้ก็ไม่เลือกคนพวกนั้น ฉะนั้นผมก็ชัดเจนว่าผมจะไม่สนับสนุนพรรคนั้นในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อันนี้ก็เป็นจุดยืนที่ชัดเจน ก็เรียนเพื่อทราบครับว่า...ทั้งหมดนั้นไม่มีปัญหาส่วนตัวกับกลุ่มคนเหล่านี้ (กลุ่ม 16 เสียง) เพียงแต่จุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าอยากร่วมรัฐบาลก็ทำได้โดยวิธีขอประชุม สส. กับ กรรมการบริหารพรรค แล้วเจรจาไปร่วมรัฐบาล อันนี้ก็ทำได้ แต่...ก็อย่างที่ท่านหัวหน้าพรรค (คุณจุรินทร์) บอกเอาไว้ คนใดคนหนึ่งจะไปเจรจาขอร่วมรัฐบาลโดยไม่ผ่านมติพรรคเนี่ย...มันไม่ได้! (เสียงสูง) 

อย่างเที่ยวที่แล้ว กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้วิธีนั้น (ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการบริหารพรรค) บังเอิญเที่ยวที่แล้ว ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในเที่ยวที่แล้ว แต่ในหลักการเขาก็ทำกันแบบนั้น ก็คือ มติที่ประชุมเห็นว่า สมควรจะร่วมรัฐบาล หรือ ไม่ร่วมรัฐบาล นี่ก็คือเหตุผล 

ส่วนกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม 16 เสียง ก็ขอเรียนว่า มันไม่ใช่ทุกคนหรอกครับที่แสดงความคิดความเห็น แต่ผมก็พอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะไปพูดในขณะนี้ ก็ได้แต่หวังอย่างยิ่งว่า ท่านหัวหน้าพรรค (คุณจุรินทร์) จะได้ดูแล ดำเนินการต่อไปตามระเบียบของพรรค ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรค 

ซึ่งผมขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ผมไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค เพียงแต่เป็นหนึ่งที่ถือว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน แล้วก็อยากให้พรรคดำรงอยู่ และผมก็คิดว่าผมเป็นคนรุ่นเก่า ที่ต้องมีความกตัญญูรู้คุณคน กตัญญูรู้คุณพรรค เพราะพรรคทำให้เราได้เป็นนักการเมือง ได้เป็นอะไรต่ออะไรก็เพราะบารมีของพรรค ไม่ใช่บารมีส่วนตัวผม เป็นเพราะบารมีพรรคที่ให้ครับ 

ท่านบัญญัติ ท่านก็แบบเดียวกันครับ (ลงมติคัดค้านวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี) ส่วนคนอื่น...คนอื่นเนี่ย เช่น ผมขอยกตัวอย่าง คุณเพชญ (คุณสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์) ตอนลงมติเขายังมาถามผมเลยครับว่า เขาอยากจะลงแบบผม ผมจึงบอกไปว่า เพชญต้องลงตามมติพรรค เขาเลยลงตามมติพรรค คือ งดออกเสียง นั่นเป็นเพราะผมได้ขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว ส่วนคุณเพชญเขาไม่ได้ขออนุญาต ผมบอกไปว่าจะลงแบบผมไม่ได้หรอก ต้องลงตามมติพรรค 

ส่วนพฤติกรรมเบื้องหลังจะเป็นอย่างไร จริงๆ เราไม่ได้เห็น กลุ่มเขาน่ะเห็นว่าเขาไปเจรจาอย่างไร ตกลงกันอย่างไร เนี่ย...เราไม่รู้ไม่เห็นนะครับ

เดชอิศม์ ขาวทอง : 

ผมเป็นคนถามนะครับ เพราะมันมีข่าวว่า...คุณเดชอิศม์ไปพบ ฉะนั้นในที่ประชุมพรรคครั้งหนึ่ง ผมเลยถามตรงๆ ว่า เป็นเรื่องจริงหรือ? (เน้นเสียง) คุณเดชอิศม์ ก็ยอมรับว่าไป แต่ไม่ได้ไปเจรจาเรื่องนั้น แกบอกว่าไม่ได้พบคุณทักษิณ ชินวัตร แต่พอไปแล้ว คุณทักษิณรู้ว่าแกไป คุณทักษิณก็เลยเชิญแกไปพบ แกบอกอย่างนั้นนะครับ  

จุดยืนทางการเมืองของ ชวน หลีกภัย : 

สำหรับกรณีคุณทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศ ผมขออนุญาตไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไร แต่ในแง่ของบ้านเมือง กฎหมายบ้านเมือง ผมว่าประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมีความสำคัญ 

การที่คุณทักษิณไปต่างประเทศ ไม่ใช่ไปอย่างที่สื่อบอกว่าเป็นการลี้ภัย นั้น ไม่ใช่ครับ! แต่เป็นการหนีคดีไป อันนี้ต้องเข้าใจ ผมคิดว่าสื่อใช้ถ้อยคำที่ผิด เพราะความจริงแล้วหนีคดีไป เพราะฉะนั้นเมื่อกลับมารับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ก็ต้องถือว่าปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองย่อมเป็นสิ่งที่ดี

อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาแล้ว ข่าวคราวเรื่องอะไรต่างๆ ที่เราเห็นกันอยู่ต้องพยายามระวัง เพราะในระบอบประชาธิปไตยสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งผมเคยพูดไว้ตลอดเวลา คือ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนรวยเหมือนกันหมด แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน 

อันนี้คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความสามัคคี ถ้าเราจะให้เกิดความสามัคคี เราต้องไม่เลือกปฏิบัติไม่ไปแกล้งใครต่อใคร เหมือนอย่างกรณีที่ผมย้ำเรื่องภาคใต้ เพราะภาคใต้เป็นแหล่งที่เก็บภาษีได้มาก ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ช่วยภาคอื่นๆได้ทุกภาค แต่ว่าเวลาเราเป็นรัฐบาล ผมไม่เคยเลือกปฏิบัตินะครับ ผมจะพัฒนาทุกภาคอย่างยุติธรรม เพราะผมถือว่า ผมมาจากประชาชน ถึงจังหวัดใดไม่เลือกเราก็เป็นสิทธิของเขา แต่เราต้องพัฒนา

แต่พอถึงระบบพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคไทยรักไทยในอดีต เขากลับคิดอีกอย่าง เขาบอกว่าเมื่อไม่เลือกเราก็ไว้พัฒนาทีหลัง จังหวัดอื่นเลือกต้องพัฒนาจังหวัดอื่นก่อน อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายมากในภาคใต้ แต่คนรุ่นใหม่บางคนไม่รู้เรื่องนี้ ไม่ตระหนักเรื่องนี้ แต่คนรุ่นผมเนี่ยจำแม่นเลย! (เน้นเสียง) ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย...มันไม่มีหรอกครับ 

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อความเป็นธรรมต่อภาคใต้มากๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติ เพราะนอกเหนือจากภาคใต้ก็มีอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่รู้ แต่ผมอยู่มานานแล้วก็จำเหตุการณ์ได้ดี จำได้ทุกถ้อยคำที่เขาเคยพูด" 

“แสดงว่าคุณชวน ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยใช่ไหมครับ?” ทีมข่าวฯ สอบถามโดยพลัน 

“ผมไม่เห็นด้วยครับ! (เน้นเสียง) ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าหน้าที่เรา ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้านมา 3 ครั้งแล้ว เมื่อไหร่เราเป็นรัฐบาล เราก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับคนทั้งประเทศ เมื่อไหร่เราไม่ได้เป็นรัฐบาลก็เป็นฝ่ายค้านอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือ ค้านในสิ่งที่ควรค้าน อะไรที่รัฐบาลทำแล้วเป็นประโยชน์เราก็ต้องสนับสนุน อันนี้คือสิ่งที่ฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ไม่เป็นอันตราย แต่ว่าเมื่อไหร่...โคตรโกง โกงทั้งโคตร ฝ่ายค้านก็ต้องเอาจริง 

หน้าที่ฝ่ายค้าน ถ้าทำหน้าที่ตรงไปตรงมา จะได้ประโยชน์และรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนได้ ในระบอบนี้มันต้องมีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผมพูดในสภาก่อนครบ 4 ปีด้วยซ้ำไปว่า บ้านเมืองไม่แน่นะวันหนึ่งฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลได้ รัฐบาลเป็นฝ่ายค้านได้ ฉะนั้นทุกคนต้องเคารพปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง ผมย้ำอยู่เสมอ แล้ววันนี้มันก็เป็นแบบนั้น ฝ่ายค้านเที่ยวที่แล้วก็ได้มาเป็นรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลเที่ยวที่แล้วก็มีประชาธิปัตย์ (หัวเราะ) นี่ที่มาเป็นฝ่ายค้าน อันนี้ยิ่งจำเป็นต้องมีพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้มแข็งพอสมควร ผมบอกกับคุณจุรินทร์ ไปว่า คุณจุรินทร์จะเป็นบุคคลสำคัญในการอภิปรายเพราะอยู่ร่วมกับรัฐบาลที่แล้ว มีอะไรก็สามารถอธิบายแทนรัฐบาลได้ อะไรไม่ถูกต้องก็มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน เพราะในระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องมีฝ่ายตรวจสอบด้วย จะแย่งกันเป็นรัฐบาลหมดก็จะขาดคนที่จะเข้ามาตรวจสอบเพื่อทำให้กลไกต่างๆ เกิดความสมดุล

ฉะนั้นการที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ก็จะทำหน้าที่ให้ดี ไม่ใช่เป็นเพื่อรอเป็นตัวสำรอง เป็นอะไหล่ มันไม่ได้ มันเสื่อม แล้วมันเสียหายต่อส่วนรวม เพราะฉะนั้น ผมขอยืนยันว่าจะมีกี่คน ก็จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถเป็นได้ครับ!” อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวทิ้งท้าย 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :