คุยกับ สุริยะใส อดีตแกนนำเสื้อเหลือง มองการพา "ทักษิณ" กลับบ้าน มาจาก 3 ปัจจัยที่ลงตัว แต่การ "สลายขั้ว" การเมืองยังเป็นคำถาม...

ต้องยอมรับว่า การที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับบ้าน คือ ประเทศไทยในรอบ 17 ปี ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่อง “เซอร์ไพรส์” แม้แต่นักวิเคราะห์ กูรูทางการเมือง ก็คาดเดาไม่ถูก เนื่องจากไม่เคยมีใครเดาใจ อดีตนายกฯ ผู้ทรงอิทธิพลคนนี้ หรือแม้แต่มีความมั่นอกมั่นใจ นอกเสียจากเห็น “ตัวเป็นๆ” เท้าเหยียบพื้นสนามบิน ได้หายใจร่วมกับคนไทย อย่างที่เจ้าตัวบอกไว้ 

กระทั่งช่วงเช้าของ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ก็กลับมาจริงๆ และในเวลาเดียว ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ภาพตัดมาที่สภาผู้แทนราษฎร ชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” ถูกโหวต ให้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วย มาเสียง สว.ให้การสนับสนุนมากเกิน 150 เสียง ซึ่งทุกอย่างมันลงตัว พอเหมาะพอเจาะ ได้ นายกฯ จาก เพื่อไทย ขั้วการเมืองที่เคยขัดแย้ง ยอมสลายขั้ว ร่วมตั้งรัฐบาล และ “ทักษิณ” ได้กลับบ้าน (เสียที) 

นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ อดีตแกนนำเสื้อเหลือง มองการรีเทิร์นของ “ทักษิณ” ว่า ต้องยอมรับว่า การกลับบ้านของคุณทักษิณ เป็นโจทย์ของการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว  

...

อดีตแกนนำเสื้อเหลือง มองว่า ปัญหาต่อไปต้องคิดคือ โครงสร้างรัฐบาลใหม่นั้น ที่มี “ราคา” บางอย่างที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับโจทย์การเมืองนั้น มีผลได้ หรือผลเสีย และจะประคองให้ตลอดรอดฝั่งอย่างไร เพราะเท่าที่ดูคร่าวๆ แม้ ว่าที่รัฐบาลใหม่จะพยายามพูดเรื่องความปรองดอง สมานฉันท์ แต่ก็ยังไม่เห็นรูปธรรม 

“สิ่งที่ต้องระวัง คือการพูดที่เป็นวาทกรรม แค่ใช่เทคนิคการพูดเพื่อช่วยเหลือใครบางคน และไปกระทบกับหลักการใหญ่ มันจะส่งผลถึงปัญหาในระยะยาวตามมา ผมถึงอยากดูว่า รัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง ภายใต้นายกฯ ที่เป็นคุณเศรษฐา จะนำพาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้งได้อย่างไร มีหลักประกันอย่างไรว่านี่ไม่ใช่ “เกมฮั้วทางการเมือง” จากกลุ่มก้อนทางการเมือง โดยมีข้ออ้างของประชาชนเป็นเดิมพันเท่านั้น เพราะคำว่า “ฮั้ว” กับ “ปรองดอง” ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องพิสูจน์” 

หลายฝ่ายมองว่า “Win-Win” นายสุริยะใส มองว่า ต้องถามว่า ประชาชนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไหม เรื่องนี้มันต้องคิดให้มาก ส่วนตัวไม่ได้ด่วนตัดสินใจ ต้องรอดูการทำงานของรัฐบาลก่อน โดยเฉพาะรัฐบาลที่พูดเรื่องปรองดอง เราพร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตาม ขอแค่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการพาบ้านเมืองออกจากความขัดแย้ง เพียงแต่ว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้คนรู้ว่านี่เป็นการฮั้ว เป็นปาหี่ของผลประโยชน์หรือไม่ เอาประชาชนมาอ้างหรือเปล่า 

3 ข้อสำคัญ เปลี่ยนการเมืองไม่เหมือนเดิม 

นายสุริยะใส ประเมินว่า ความแตกแยกในอดีตมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนลึก และส่งผลมาถึงปัจจุบัน การแก้ไขจำเป็นต้องใช้เวลา แม้ที่ผ่านมาจะพยายามเริ่มต้นปรองดอง แต่มักไปต่อไม่ได้ เพราะเป็นการเริ่มต้นผิด มีการเริ่มต้นแบบมีวาระซ่อนเร้น ทุกอย่างมันจึงเละ ตั้งแต่การนิรโทษกรรมสุดซอย 

แต่เมื่อเทียบกับปัจจุบัน 

1.เริ่มจากการจับมือข้ามขั้ว...เอิ่ม มันน่าคิดนะ 

2.คุณทักษิณ ยอมกลับมาติดคุก จากที่เคยบอกว่าจะกลับบ้านอย่างเท่ๆ เพราะว่าไม่ผิด ซึ่งมันแปลว่าเกมนี้คนละกระดาน 

3.รัฐบาลพูดเรื่องความปรองดอง แก้ความแตกแยกในสังคม ซึ่งต้องรอดูแผนต่อไปว่ามียุทธวิธี ที่เป็นรูปธรรมอย่างไร โดย ณ เวลานี้ ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึง ว่าปรองดองแล้ว เพราะนี่เป็นเพียง จุดเริ่มต้น จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อดูว่าเกมนี้มีอะไรซ่อนเงื่อนอีกหรือไม่...อย่างน้อย 1-2 เดือน 

ความแตกที่เกิดขึ้นในอดีต มันมาจากการเมือง และนำไปสู่คนในสังคม แต่ปัจจุบัน มันลามขยายใหญ่ กลายเป็นความแตกแยกในครอบครัว ในองค์กร ในมหาวิทยาลัย มันกลายเป็นความรุนแรงและร้าวลึกไปกว่าที่คิด หากมองย้อนกลับไป 15-16 ปีที่ผ่านมา

ฉะนั้น หากจะแก้เรื่องนี้ ก็ไม่ควรคิดแค่ว่า นักการเมืองเลิกทะเลาะกัน มันต้องปรับความเข้าใจ คืนความยุติธรรม สร้างระบบกลไกที่น่าเชื่อถือ ทำระบบการเมืองที่น่าเชื่อมั่น หรือรวมไปถึงการเยียวยาผู้สูญเสีย การนิรโทษกรรมคดีการเมือง เรื่องความขัดแย้งต้องคิดหลายปัจจัย  

...

การก้าวเท้าสู่เรือนจำของ “ทักษิณ” กับสิ่งที่ต้องระมัดระวัง 

นายสุริยะใส กล่าวถึงคุณทักษิณ หลังเข้าเรือนจำในวันนี้ว่า สิ่งที่ต้องดู คือ วิธีปฏิบัติกับคุณทักษิณ แตกต่างกับคนอื่นหรือไม่ ได้อภิสิทธิ์มากกว่านักโทษคนอื่นหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องระมัดระวัง เพราะเดี๋ยวอาจจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกฟ้องร้องและร้องเรียนตามมา แม้ระเบียบราชทัณฑ์จะเอื้อ แต่ก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน หรือ เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่มีความผิดในฐานเดียวกัน หรือแม้แต่วิธีปฏิบัติในเรือนจำเองก็ตาม เพราะเรื่องแบบนี้มันปกปิดไม่ได้ ในเรือนจำไม่มีห้องใต้ดินที่จะหลบได้ 

เมื่อถามว่า ตอนที่เข้าเรือน ครั้งแรก เครียด กดดัน หรือไม่ อดีตแกนนำพันธมิตรฯ บอกว่า ผมนี่นอนอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ชั่วโมงแรกถึงชั่วโมงสุดท้ายที่ออก ความรู้สึกของผม เหมือนกับการไปกิจกรรม ออกค่าย ก็เลยไม่กดดันมาก แม้จะมีปัญหาเรื่องที่อยู่ ที่นอน 

“ความลำบาก เวลานั้น นักโทษล้นคุก แดน 1 ที่อยู่ ความจริงควรมีนักโทษ 250 คน แต่ตอนนั้นมี 500 คน นอนเรียงกันเต็มไปหมด ผมนอนที่ริมทางเดิน ใครเดินไปมาก็ข้ามไป หรือจะเข้าห้องน้ำ ปวดท้องหนัก-เบา ก็ต้องรอคิว”

...

 

ในรั้วกำแพงสูง ไร้ขั้วไร้สี เพราะทุกคนเท่าเทียม  

เมื่อถามว่า เข้าไปข้างใน ไปเจอขั้วตรงข้ามการเมือง คุยกันบ้างไหม บรรยากาศเป็นอย่างไร อดีตแกนนำพันธมิตรฯ บอกว่า ไม่ว่ากลุ่มการเมืองกลุ่มใด สีใด เข้าไปข้างในไม่มีความขัดแย้งเลย เป็นลักษณะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอง เรียกว่า เป็นประชาชนด้วยกัน มันคุยกันง่าย แต่เมื่อไหร่ก็ตาม มีเรื่องอำนาจมาเกี่ยวข้อง ก็จะมีปัญหา แต่ข้างในทุกอย่างมันเท่ากันหมด กิน นอน เหมือนกัน มันเลยไม่มีปัญหา 

“เราทำให้เขาเห็นว่า เราไม่อภิสิทธิ์ใดๆ ไม่มีห้องแอร์ ไม่มีห้องนอนส่วนตัว เรื่องแบบนี้ ตอนที่ผมเข้าไป กรมราชทัณฑ์เขาเคลียร์หมด นอกจากนี้ ยังสามารถดูแลอย่างดี มีสิทธิมนุษยชน การทำร้ายนักโทษไม่เกิดขึ้นเลย ตอนที่ผมอยู่ข้างใน” 

แดน 7 ที่ นายทักษิณเข้าไปเป็นอย่างไร สุริยะใส กล่าวว่า เหมือนแดนอื่นๆ ทั่วไป ไม่มีอะไรพิเศษ ซึ่งเบื้องต้น คาดว่า คุณทักษิณอาจจะขอไปนอนในแดนโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อน ซึ่งแดนนี้มีเตียงกับพัดลม ซึ่งอาจจะนอนแค่คืนเดียว และย้ายไปโรงพยาบาลก็เป็นไปได้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของผู้คุม 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...