ทั้งฮา และความรู้ คุยกับ "สุชล สุขเกษม" ปราชญ์เกษตร สมุทรสงคราม เจ้าของไอเดีย เลี้ยงไก่ชิงช้าสวรรค์ พร้อมต้นแบบวิถีเกษตรฯ แบบยั่งยืน ปลูกพืชขั้นบันได 1 ไร่ 2 แสน ...
เรียกว่าเป็นปราชญ์เกษตรไอดอล ที่ดังไปทั่วโลก สำหรับ ลุงสุชล สุขเกษม ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2564 เจ้าของ “บ้านสารภี” ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.สมุทรสงคราม โดยเฉพาะความเก่งกาจในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ตามรอยพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ที่เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา อย่างแท้จริง
เพื่อเป็นความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ลุงสุชล” ถึงเรื่องราวชีวิต และทฤษฎีเกษตร และการเพิ่มมูลค่าจากที่ดินเพียงไร่เดียว
เริ่มต้นชีวิต ด้วยต้นทุนการศึกษาแค่ ป.6
ลุงสุชล เล่าว่า ก่อนจะเริ่มต้นทำเกษตรฯ ก็เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมา 18 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยที่ไม่ได้เรียนสูง จบแค่เพียง ป.6 โรงเรียนวัดตะโหนดราย เมื่อเรียนไม่จบ จึงไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ทำงานในโรงงาน 10 ปี กระทั่งอายุ 21 ปี ได้บวชทดแทนคุณให้กับพ่อแม่ ไม่นาน ก็ลาออกจากงาน เพราะกลับไปสร้างครอบครัวที่บ้านเกิด
...
“เอาที่ดินไป 100 ตารางวา ปลูกบ้าน แต่งงานแล้วก็ปลูกบ้าน หากินแบบบุฟเฟต์ เอง” ลุงสุชลเล่าแบบติดตลก ว่าเตี่ยพ่อยกที่ดินนิดหน่อยให้
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เล่าต่อว่า หลังแต่งงานก็เริ่มสร้างหนี้ทันที กู้เงินมา 9 หมื่น (พ.ศ.2529) เสร็จแล้วก็ไปกู้เงินเพิ่ม เพื่อเช่าที่เตี่ยตัวเอง โดยเช่า 1 ไร่ (เตี่ยมี 10 ไร่ ลูก 8 คน แบ่งกันไป)
สิ่งที่ทำตอนแรก คือ เลี้ยงปลาช่อน ในร่องสวน, ข้างบนเลี้ยงไก่ และเลี้ยงเป็ดไร่ทุ่ง ทำมา 2 ปี เจอคำว่า “เจ๊ง!” สาเหตุที่ขาดทุน เพราะเราไม่มีความรู้ในการเลี้ยง เห็นบ้านอื่นๆ เขาทำ เราเดินตามกระบวนการคนอื่น คือ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” กิจการเจ๊ง เป็นหนี้เพิ่มอีก 400,000 บาท
ลัดฟ้าขุดทองไปซาอุฯ แต่จังหวะไม่ดี
ด้วยที่เป็นหนี้ท่วมหัว ลุงสุชล เผยว่า ไม่รู้จะทำยังไง จังหวะมีเพื่อนมาชวนขุดทองที่ซาอุฯ จึงตัดสินใจไปทำงานเป็นช่างเชื่อม และ ช่างประกอบ
“ช่วงที่ไป เราไปหลังคนอื่น ทำงานแค่เพียง 9 เดือน เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย อิรัก-คูเวต โรงงานที่ทำงานถูกสั่งปิด พร้อมส่งคนงานกลับ แต่...ใครจะไม่กลับก็ได้ เขาให้ลงชื่อเสี่ยงตายไว้ ผมต้องยอม”
เสี่ยงตาย เพราะไฟสงคราม ยังไม่เท่าไร 9 เดือนต่อมา มาเจอปัญหา “เพชรซาอุฯ” อีก
ลุงสุชล เล่าว่า คนไทยมากมายถูกส่งกลับประเทศ แต่ผมก็ไม่กลับ และทนทำงานต่อยาวจนครบ 8 ปี จากหนี้สิน 4 แสน ทยอยใช้จนเหลือ 4 หมื่น กระทั่ง ตัดสินใจลาออก โดยได้สวัสดิการต่างๆ เป็นเงินกว่า 9 หมื่นบาท กลับมาประเทศไทย ก็ใช้หนี้ ธ.ก.ส. จนหมด และมีเงินเหลือในมืออีก 5 หมื่น
จังหวะชีวิตซ้ำเติม กลับบ้านเจอ ฟองสบู่แตก กลายเป็นผู้ช่วยนักบิน!
“เรากลับมาพร้อมความหวัง แต่กลายเป็นว่า ต้องหาเช้า กินกลางวัน เหลือไม่ถึงตอนค่ำ เหมือนตอนที่ไปขุดทองที่ซาอุฯ”
ลุงสุชล เล่าความหลังว่า ตอนแรกคิดว่าจะหางานได้ง่าย เพราะ ได้ใบการผ่านงาน “ช่างเชื่อม” กับ “ช่างประกอบ” เพื่อนบอก ไปสมัครโรงงานใหญ่ได้แน่นอน พอไปสมัครจริงๆ ที่โรงงานในมหาชัย (สมุทรสาคร) บอกว่า จะมาสมัครทำไม โรงงานจะปิดอยู่แล้ว!!
เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ก็ไม่มีงานทำ จึงตัดสินใจว่าไปเป็น “ผู้ช่วยนักบิน...” คือ ช่วยพระบิณฑบาต (ฮา) และก็ทำงานรับจ้างทั่วไป ใครใช้ทำอะไรก็เอาหมด ซึ่งมันก็อยู่ได้ เนื่องจาก “ความรู้ไม่เลือกที่ ความดีไม่เลือกคน” ขอแค่รู้จักหาความรู้ ก็ไม่จำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัย เราทำอยู่แบบนี้จนถึงปี 2547
...
จุดเริ่มต้น เกษตรฯ เดินตามรอย ในหลวง ร.9 1 ไร่ 1 แสน
ลุงสุชล เล่าต่อว่า ปีนั้น พ่อได้แบ่งมรดกให้ เป็นที่ดิน ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งเราเห็นว่า พ่อหลวง ร.9 มีทฤษฎีเกษตรฯ 1 ไร่ 1 แสน ฉะนั้น ก่อนลงมือทำครั้งนี้ จึงต้องไปศึกษาหาความรู้เสียก่อน
“ผมไปอบรมกับ อ.ยักษ์ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อยู่ที่นั่น 4 คืน 5 วัน จากนั้น ก็ตระเวนไปฟังบรรยายเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่กรุงเทพฯ โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และก็ได้หนังสือมา 1 เล่ม อบรมเกษตรฯ ทั่วประเทศ ในฐานะ สมาชิก อบต. คนหนึ่ง
“จากความรู้ที่ไปเก็บเกี่ยวมาทั้งหมด เราจึงเริ่มนำปรับใช้กับพื้นที่ 1 ไร่ของตัวเอง โดยยึดแนวพระราชดำรัส ของในหลวง ที่บอกว่า ใครที่อยากลงมือทำ ต้องเข้าใจ 3 เรื่องก่อน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
เข้าใจ : วิธีการทำ
เข้าถึง : ลงมือทำ
พัฒนา : การขยายผลและต่อยอด
ดังนั้น การเริ่มต้น ก็ต้องมาดูก่อน ว่าที่ดินของตัวเอง เป็นอย่างไร โดยของเดิม มีการปลูกมะพร้าวเอาไว้ 50 ปี เราไปปรึกษา อาจารย์ยักษ์ อาจารย์บอกว่า ถ้าอยากทำให้ที่ดินของตัวเองเป็น 1 ไร่ 1 แสน ต้องเริ่มต้นด้วยโค่นต้นมะพร้าวทิ้ง เพราะใน 1 ไร่ มีต้นมะพร้าวประมาณ 40-50 ต้น มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 2,000 บาท
...
พลิกฟื้นผืนดิน หัวใจในการทำเกษตร
เมื่อกลับมาที่บ้าน ก็โค่นทิ้งหมดเลย จากนั้นให้เปิดหน้าดินออก เพราะในดินมีแต่กากมะพร้าว จากนั้นให้เอาขี้ไก่มาหว่าน จากนั้นก็เอา “ปอเทือง” มาหว่าน พืชที่ในหลวงเคยบอกว่าสามารถปรับปรุงดินได้ดีที่สุด เมื่อมันออกดอกสีเหลือง เหมือนดอกโสน ก็สับหมกไปเลย จากนั้น รดน้ำ ตากแดด ทำแบบนี้ 1 เดือน จากดินที่แข็ง เหยียบไม่ลง พอทำแบบนี้ เราเหยียบดินแล้ว ดินยวบไป 1 คืบ
ปราชญ์ของแผ่นดิน ต่อว่า เราอยากจะปลูกผลไม้ แต่คิดว่ายังไม่เพียงพอ จึงกลับไปอ่านหนังสือที่ ดร.สุเมธ ให้มา พบว่า คำแนะนำของในหลวง คือ ให้ปลูกพืชผสมผสาน “ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก”
“ผมปลูกพืชหลากหลายชนิดเต็มไปหมด พอปลูกเสร็จได้รอบหนึ่งเราก็เก็บผล ซึ่งมีพืชชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ข้าวโพด” เมื่อเราปลูกเสร็จ ออกดอก เราก็สับทิ้ง จากนั้นที่ตรงที่ปลูกข้าวโพด ราว 30 หลุม มันก็โล่ง เราก็เอาพืชชนิดอื่นไปปลูกแทน ปรากฏว่า พืชอะไรก็ตามที่ไปปลูกใกล้ตอข้าวโพด มันโตเร็วมาก ส่วนต้นไกลตอข้าวโพด มันโตช้ากว่า เราก็ไปสังเกตดูและพบว่า บริเวณตอข้าวโพดมันมีรู ซึ่งคิดว่าอากาศมันรอดผ่านรูรากข้าวโพด แปลว่าพืชเราต้องการออกซิเจน”
...
จากนั้น เราจึงตัดสินใจซื้อพันธุ์ข้าวโพดมาปลูก ผลปรากฏว่า “มันไม่พอจะได้ดอก...แต่พอได้แดก” (ฮา) ลุงสุชลปล่อยมุกอีก 1 ตับ
เรียกว่าพอได้กินบ้าง...ขายบ้าง จากนั้นก็ใช้วิธีการเดิม สับทิ้ง น้ำรด ตากแดดไป 1 เดือน
วิธีการนี้ พอเราลงไปเหยียบที่ดิน ของเดิมจมเท้าแค่ 1 คืบ คราวนี้ 2 คืบ...นี่แหละคือสิ่งสำคัญ หากดินไม่ดี อย่าคิดปลูกพืช ก่อนอื่น เราต้องเตรียมดินให้มีธาตุสารอาหารต่างๆ ก่อน NPK (N ไนโตรเจน, P ฟอสฟอรัส และ K โพแทสเซียม) หากเราไม่ซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ เราจะเอามาจากไหน ก็เอามาจากมูลสัตว์ไง..
“ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” คือโจทย์ อย่ารีบลงมือทำ
กับวลีข้างต้น ปราชญ์เกษตรสมุทรสงคราม ยอมรับว่าเพิ่งมาเข้าใจภายหลัง และเตือนว่า อย่าเพิ่งรีบทำ เราต้องเข้าใจให้ลึกกว่านั้น คือ ต้องรู้จักการปลูกแบบ “ขั้นบันได” แต่ในพื้นที่สมุทรสงคราม เป็นพื้นที่แบบร่องสวน การจะทำให้เป็นขั้นบันได อาจจะต้องไปเชียงใหม่ เชียงราย ในแถบตีนเขา
คำว่า “ขั้นบันได” ที่ว่า พระองค์ท่านสอน ไม่ได้หมายถึง “ที่ดิน” แต่หมายถึง “พืช” ต่างหาก
นายสุชลอธิบายว่า หากเป็นพืชเตี้ยๆ ให้ปลูกในพื้นที่ทิศตะวันออก พืชสูงในทิศตะวันตก เพราะพืชต้องการแสงแดด และพืชที่ปลูก พระองค์ท่านไม่ได้ระบุว่าเป็นพืชอะไร เพราะความแตกต่างเชิงพื้นที่ ทั้ง 77 จังหวัด แต่สิ่งที่พระองค์แนะนำคือ ปลูกพืชที่เป็นรายได้ แบ่งเป็น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และ รายปี
พืชที่เป็นรายสัปดาห์ เดือน หรือ ปี ผมพอหาได้ แต่รายวัน นี่เดินหาเกือบเดือน!
ลุงสุชล ค้นพบว่า พืชที่ให้เงินรายวัน คือ “มะลิ” เพราะมะลิ จำเป็นต้องเก็บขายทุกวัน หากไม่เก็บมันก็จะบานหมด เมื่อก่อนขายเป็นกิโลกรัม แต่เดี๋ยวนี้เขาขายเป็นลิตร
หากไล่เรียงตั้งแต่ทิศตะวันออก ไล่ไปตะวันตก จะเรียงจาก ผัก มะลิ มะนาว มะม่วง มะพร้าว นี่คือ ขั้นบันได
“กว่าจะได้ภูมิความรู้แบบนี้ เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน ด้วยการปลูกมะลิ หวังรายได้ดีทุกวัน กระทั่งปี 2550 เกิดแล้ง ฝนไม่ตก มีแต่แดด มะลิ ออกมากเก็บกันไม่ทัน พอมีเยอะ ราคาตก จาก 100 เหลือ 50 บาท พอจะปลูกมะพร้าวเสริม หวังทำน้ำตาลมะพร้าว ปรากฏว่า มะพร้าวเกิดตกจั่น ใบมะพร้าวไปคุมมะลิจนหมด เรียกว่า ตายทั้งมะพร้าวและมะลิ เพราะมะลิ ไม่โดนแสงแดด นี่คือความไม่เข้าใจและทำให้เกิดปัญหา”
นายสุชล กล่าวว่า หากเราปลูกพืชแล้วไม่โดนแสงแดด จะเป็นแบบ 3 ด. คือ ถ้าเราไม่มีแดด มันจะไม่มีดอก และจะไม่มีแดก! (ฮา...มาอีก 1 มุก) นี่คือสัจธรรม
ปลูกพืช ต้องเลี้ยงสัตว์ควบคู่
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ขึ้นหัวข้อที่สอง จากการปลูกพืชสู่การเลี้ยงสัตว์ควบคู่
ตอนแรกตีโจทย์ไม่แตก เหมือนเดิม ไปซื้อเป็ด ไก่ เลี้ยงแบบสะเปะสะปะ ยังดีคือช่วงปี 2552 ได้ไปดูงานโครงการพระราชดำริ ของในหลวง ร.9 3 โครงการ คือ 1.เขาหินซ้อน ที่ฉะเชิงเทรา ไปดูหัวเขาโล้นๆ ทำจนกลับมาปลูกพืชได้ 2.ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวิสาหกิจชุมชน และ 3.สุพรรณบุรี สองพี่น้อง ไปดู “หมูหลุม” ซึ่งเขาเลี้ยง 7-8 เดือน ได้เนื้อหมู เอาขี้หมูมาทำปุ๋ย และแก๊ส ใช้ในครัวเรือน
พอกลับมา ไม่รอช้า เลย เตรียมอิฐ สร้างบ่อทำหมูหลุม แต่พื้นที่ของเราแตกต่างกับเขา เพราะลักษณะเป็นร่องสวน หากหมูตกน้ำไป ก็ลำบาก หรือ ถ้าเลี้ยงแล้ว มันส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน และ เรื่องสำคัญ คือ เลี้ยงหมู ไม่ได้เงินรายวัน เพราะเหตุนี้ จึงเปลี่ยน เพราะคำสอนของพระองค์ บอกว่า หากเราไปดูงานที่ไหนมาก็แล้วแต่ ให้เอาแนวคิดเขามาปรับใช้
เมื่อเลี้ยงหมู ไม่ได้ ก็เลยเอาไก่ ไปใส่แทน และทุกวันนี้ กลายเป็น “ไก่หลุม” และต่อยอดด้วยการทดลองการใช้สุ่มไก่ เพื่อดูว่า ไก่ 1 ตัวขี้วันละกี่ก้อน ปรากฏว่าได้คำตอบ 5-6 ก้อน ฉะนั้น ไก่หลุมของผม หลุมละ 10 ตัว จะได้ขี้ไก่ วันละ 50-60 ก้อน
ด้วยแบบนี้ เราจึงเอาขุยมะพร้าวสับ แบบละเอียด แกลบดิบ ใส่ลงไปในหลุมไก่ ซึ่งสัญชาตญาณไก่ มักจะคุ้ยเขี่ย ขณะที่สัญชาตญาณหมู ชอบเหยียบย่ำ ก็เลยไปนั่งดูไก่คุ้ยเขี่ย ก็ได้คำตอบว่า วันหนึ่งมันคุ้ยเขี่ย ประมาณ 2 ชั่วโมง แต่หากเราไปคุ้ยเอง ชั่วโมงหนึ่งก็หอบแล้ว
ดังนั้น ไก่มันขี้ไปคุ้ยไป กลายเป็นปุ๋ยขี้ไก่ กระสอบละ 100 บาท 1 หลุม 7-8 กระสอบ โดยผมสร้างไว้เป็น 10 หลุม
กระสอบละ 100 บาท มันราคาถูกไป ก็เลยเอาขี้ไก่ มาอัดแท่ง ขายเป็นกิโลกรัม 20 บาท จากราคากระสอบ 100 กลายเป็น 600 บาท คนมาซื้อไม่ต่อสักคำ...นี่คือ การเพิ่มมูลค่าของเรา
จากไก่หลุม ก็กลายเป็นไก่ ตะกร้า และต่อมา ก็กลายเป็นไก่ชิงช้าสวรรค์ โดยในปี 56 รัฐบาลพาคณะดูงานจากต่างประเทศ 90 ประเทศ 350 คน เขาเห็นไก่ชิงช้าสวรรค์ เขาพูดไปเสียงเดียวกัน ว่า “คิดได้ยังไง” ไปดูมาทั่วโลกแล้ว ไม่มีใครเลี้ยงไก่แบบนี้
แปรรูปผลผลิต เพิ่มมูลค่า
ลุงสุชล ขึ้นหัวข้อที่ 3 คือ การเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เพราะคือสิ่งสำคัญ ที่จะเพิ่มจาก 1 ไร่ 1 แสน เป็น 2 แสน เราแปรรูปผลผลิต มะกรูด มะนาว ทำน้ำยาล้างจาน, ตะไคร้หอม มาแปรรูปไปน้ำยาถูพื้นไล่ยุง ไข่เป็ด ไข่ไก่ มาทำไข่รสต่างๆ ไข่เค็ม ไข่ต้มยำ รสกาแฟ รสกระท่อม รสกัญชา
“อะไรที่เราเลียนแบบเขามาทำ เขาเรียกว่า นวัตกรรมทางความคิด แต่อะไรที่เราคิดทำเอง เราเรียกว่า ความคิดที่เป็นนวัตกรรม เราสามารถจดสิทธิบัตรได้ เราจดไว้นับสิบตัว นอกจากนี้ ยังจดแบบเป็นกลุ่มด้วย เวลาหน่วยงานรัฐชวนออกงาน “อีเวร” เอ๊ย...“อีเวนต์” (มาอีกมุกตลก) เมื่อก่อนอาจจะไปขายเอง แต่ต่อมา ส่งของไปขาย กระทั่งล่าสุดไม่ต้องออกไปไหน นุ่งผ้าขาวม้าอยู่บ้านขายของออนไลน์”
ปัจจุบัน ไร่ของลุงสุชล สามารถปลูกเมล็ดกาแฟ ทั้ง อาราบิก้า และโรบัสต้า ได้ ทั้งที่จำเป็นต้องปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ แต่ ปราชญ์เกษตรผู้นี้บอกว่า ปลูกแล้วรสชาติไม่ต่างจากของเชียงราย เชียงใหม่เลย
นี่คือ อีก 1 ตัวอย่าง ในการปลูกพืช ทำเกษตรจากทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่คิด ทดลอง และลงมือทำ ส่งผลให้อยู่อย่างมีความสุขและยั่งยืน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ