จากกรณี "หมออ๋อง" โพสต์ภาพเบียร์คราฟต์ ถึงประเด็นที่มา กฎหมาย พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ การห้ามโฆษณา และจำกัดเวลาขาย...

จากกรณี “หมออ๋อง” หรือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก จากพรรคก้าวไกล และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้โพสต์ข้อความพร้อมกับกระป๋องเบียร์คราฟต์ท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่

ในเวลาต่อมา วันที่ 16 ส.ค. นายปดิพัทธ์ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ระบุว่า “ผมลองไต่เส้นดู ไม่ได้เชิญชวนให้มาดื่ม แต่แจ้งให้ทราบว่ามีแล้ว ผมลองกินให้ดูก่อน เพราะคราฟต์เบียร์ กินแล้วผื่นขึ้นหรือไม่ มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ผมจึงดื่มในเวลานอกราชการ ไม่ได้มีเจตนาท้าทายกฎหมาย"

ในวันเดียวกัน (16 ส.ค.) นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เตรียมเชิญหมออ๋อง มาให้ข้อมูล ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่ส่งหนังสือไป (ตอนนี้ร่างหนังสืออยู่) 

นพ.นิพนธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อตอนหนึ่งว่า “เมื่อเช้านายปดิพัทธ์พูดเอง คล้ายเป็นการรับกลายๆ แต่ก็ยังมีขั้นตอนตามกฎหมายที่เราต้องดำเนินการ” 

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงเจตนารมณ์การห้ามโฆษณา ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น มองว่า การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมองเป็น “สินค้าอันตราย” นี่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป เช่น ข้าว น้ำตาล หรือนม นอกจากอันตรายของตัวสินค้าแล้ว ยังไม่จำเป็นต่อชีวิตด้วย ถ้าไม่มี เหล้าเบียร์ คนไม่ตาย แต่ถ้ามี อาจจะนำไปสู่ความตาย 

...

“เมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่มันอันตรายสูง ก็ต้องมีการควบคุม โดยแบ่งเป็นระดับนโยบาย คณะกรรมการควบคุมนโยบาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะรัฐมนตรี ไล่ไปถึงระดับกรม กอง ตรงนี้เป็นการสะท้อนการให้ความสำคัญ และเป็นที่มาของกฎหมาย ซึ่งหนึ่งในกฎหมายก็คือการห้ามโฆษณา เฉกเช่นเดียวกับ ปืน ระเบิด ดินระเบิด หรือแม้แต่บุหรี่ โฆษณาไม่ได้” 

เรารู้ความหมายอยู่แล้วว่า “โฆษณา” คืออะไร ก็คือ ชักชวน โชว์สรรพคุณ แต่...ตัวโฆษณานั้น ยังเปิดช่องว่างที่ว่า สามารถเปิดชื่อได้ แต่ต้องเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสังคม เช่น สนับสนุนการข้ามทางม้าลาย เป็นต้น แต่จะมาบอกว่าเหล้ายี่ห้อนี้ ดีแบบนี้ รสชาติแบบนี้ไม่ได้ 

ประเด็นของเรื่องนี้ หากย้อนไปสมัยก่อน มี “ดารา” มาถือขวดเหล้า เบียร์ ยังโดนเล่นงานเลย แต่นี่เป็นถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, เป็น สส. ซึ่งการได้เป็น สส. หมายความว่า คุณคือ “คนสำคัญ” คนหนึ่งแล้ว แต่กลับมาพูดและโพสต์ในลักษณะ “ผิดกฎหมาย” จากนั้นแล้วมาพูดว่า ไม่เจตนา คำถามคือ “คนระดับนี้” พูดแบบนี้ได้หรือไม่ คุณไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป อย่างนาย ก หรือ นาย ข มาถ่ายโพสต์รูปใน IG แล้วไม่มีใครสนใจ

การไปกล่าวถึง “คุณสมบัติ” ของเบียร์ ว่าดียังไง ดื่มแล้วเป็นอย่างไร มันก็ยิ่งชัด...

เมื่อถามว่า กรณีลักษณะนี้ โทษทางกฎหมายเป็นอย่างไร นพ.แท้จริง กล่าวว่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะปรับกี่บาทก็ได้ ปรับ 1 บาทก็ได้ 

เมื่อถามว่า จากกฎหมาย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ผลหรือไม่ เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ อธิบายว่า คำว่า ได้ผลในที่นี้ เราต้องไปย้อนดูว่าบริษัทน้ำเมา อยากจะทำโฆษณาอยู่หรือไม่ คำตอบคือก็อยากที่จะทำ แม้จะไม่ใช่การโฆษณาตรงๆ ก็ตาม 

“การทำโฆษณา มันใช้งบเยอะมาก ถามว่า ใครอยากที่จะเสียเงินแล้วไม่ได้อะไรเลย ฉะนั้น เรายังเห็นการบิดโฆษณา เปลี่ยนเป็นโฆษณาอ้อม แล้วอย่าพูดเลยครับว่า โฆษณาไม่มีผล ตอบเลยว่ามีผลมาก ยิ่งปัจจุบันมีการโฆษณาออนไลน์ด้วย ยิ่งไปกันใหญ่” 

เมื่อถามว่า มีคำอธิบายว่า ต่างประเทศทำได้ และเหมือนเป็นการโปรโมตสินค้าในลักษณะ Soft Power นายแพทย์แท้จริง บอกว่า บางครั้งคำอธิบายดังกล่าว ไม่ได้พูดหมด เพราะกฎหมายแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน 

...

ยกตัวอย่างเรื่องการขับรถ หากเมืองไทย ห้ามขับรถเกิน 90 กม./ชั่วโมง แล้วญี่ปุ่น ห้ามขับรถเกิน 110 กม./ชั่วโมง คำถามคือ เขายังมีมาตรการห้ามขับรถเร็วไหม คำตอบคือมี เรื่องแบบนี้มีทุกประเทศ 

เจตนารมณ์ ห้ามขายเหล้า 2 ช่วงเวลา 

เมื่อถามว่า กรณีห้ามขายเหล้า 2 ช่วงเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ปิดกั้นเสรีภาพหรือไม่ หมอแท้จริง มองประเด็นนี้ว่า ขนาดมีเวลาห้ามขาย ยังคุมไม่อยู่ แล้วถ้าไม่มีจะขนาดไหน 

“เรื่องนี้ต้องมอง 2 มุม การจะฟันธงไปเลยว่า ไม่จำเป็น หรือจำเป็น จะพูดแบบนั้นไม่ได้ สมมติว่าประเทศไทยมีมาตรการควบคุมคนเมาไม่ขับอย่างดีเยี่ยม เรียกว่า ใครเมาขับแล้ว โดน! มาตรการคุมเวลาไม่จำเป็นเลย จะขายเวลาไหนก็ได้ คำถามคือ ประเทศไทยควบคุมการเมาแล้วขับ ได้หรือไม่”

กฎหมายประเทศไทยแทบทุกเรื่อง คุมคนแทบไม่ได้ ฉะนั้น การมีข้อห้ามเหล่านี้ ก็อาจจะช่วยได้บางส่วน เพราะเรามี “ข้อเสีย” อย่างหนึ่ง เลยทำให้อีกอย่างดูมีคุณค่ามากขึ้น

แต่เมื่อถามอีกมุมหนึ่งว่า ไม่จำเป็นเลย เพราะประเทศอื่นไม่เห็นมีข้อนี้ คำถามคือ ประเทศอื่นเมาแล้วขับ โดนไหม แต่ประเทศเรา บางครั้งเมาขับรถชนคนตายยังไม่ติดคุกเลย  

...


“ประเทศไทยยังมีบางเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องมี แต่ต้องเอามาทำ เพราะแบบนี้จึงไม่สามารถฟันธง”

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่หมอแท้จริง ยกตัวอย่างว่า “ห้ามขายเหล้า” วันพระ ที่บอกว่าไม่ใช่ชาวพุทธ ทำไมต้องห้าม มันก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า หากเราควบคุมได้ เรื่องพวกนี้ไม่จำเป็นเลย แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ เรื่องเหล่านี้ก็ช่วยได้บ้าง...

ตัวอย่างเหล่านี้ คือ ข้อสังเกตที่ หมอแท้จริง อธิบาย เพราะไม่สามารถตัดสินจากบางบริบทในประเทศไทย ประเทศเราเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง หรือเรียกอีกแบบว่า “ไทยแลนด์ โอนลี่” มันเป็นสังคมที่กลับกลอก ไม่ตรงไปตรงมา และมักมีข้อแก้ตัวให้ได้ และบางคนถึงขั้นไปเป็นรัฐมนตรียังได้ 

“ประเทศไทยมีจุดบกพร่องใหญ่ 2 เรื่อง คือ ปัญหาคอร์รัปชัน และระบบอุปถัมภ์ คนไทยมองทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา มันทำให้ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไขยาก เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ในต่างประเทศก็มีปัญหามาจากการอุปถัมภ์ แต่เขาไม่หนักเท่าเรา และเขาจะเลือกเรื่องที่จะอุปถัมภ์ แต่บ้านเราอุปถัมภ์แบบพวกพ้อง ถูกหมด ถ้าไม่ใช่ คือ ผิดหมด แบบนี้ไม่ใช่...” 

...

หมอแท้จริง กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีหมออ๋องนั้น จะผิดหรือถูกหรือไม่ คงต้องไปสิ้นสุดที่กระบวนการศาล แต่สิ่งที่ควรทำคือ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจน และนำเรื่องนี้นำไปสู่ศาล เพื่อให้ศาลชี้ว่า “ผิด” หรือ “ถูก” ซึ่งทุกเรื่องมันจะมีผลที่ตามมา 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ