เจาะปัญหาวัดอรุณฯ เรื่องที่นักท่องเที่ยวไม่เข้าใจ และปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อปรับความเข้าใจต่างวัฒนธรรม...

ภาพพระปรางค์สีขาวนวลแห่ง “วัดอรุณฯ” ตั้งโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คงเป็นสิ่งที่ทำให้วัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาแวะเวียนเยี่ยมชมได้อย่างไม่ขาดสาย สถาปัตยกรรมโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแห่งนี้ เป็นสถานที่สวยงาม ทั้งยังควรค่าแก่การอนุรักษ์ ความงดงามของพระปรางค์จะยิ่งทวีคูณเข้าไปอีก หากได้ยืนชมจากฝั่งแม่น้ำตรงข้าม ในยามย่ำสนธยาที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าไป

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เดินทางไปวัดอรุณฯ ในวันศุกร์ จำนวนนักท่องเที่ยวดูบางตากว่าวันหยุดพอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นร้านเช่าชุดไทยรอบวัดก็ยังดูครึกครื้น

เมื่อเดินเข้าภายในวัด แม้ผู้คนจะเดินไปเดินมา แต่บรรยากาศโดยรอบก็ดูสะอาดตา หากมองขึ้นไปจะพบกับความสูงตระหง่านของพระปรางค์ และเห็นคนใส่ชุดไทยถ่ายรูปอยู่ แค่มองด้วยสายตาก็รู้แล้วว่านั่นคือ “ชาวต่างชาติ” แม้ว่าอากาศจะร้อนและแดดแรงจนแสบตา ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาลดความพยายาม ที่จะโพสท่าสวยๆ ในชุดไทยเหล่านั้นได้เลย

...

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

วัดอรุณฯ ในสายตาชาวต่างชาติ:

ความสวยงามและโด่งดังของวัดอรุณฯ คงไม่ใช่สิ่งที่เราคนไทยคิดไปเอง “Milena” นักท่องเที่ยวสาวจาก วอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา เธอเพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นวันที่ 2 และตัดสินใจมาวัดอรุณฯ ก่อนที่จะเดินทางไปเชียงใหม่และภูเก็ต “ฉันก็ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงเลือกมาที่นี่ แต่ตอนที่เห็นรูปวัดอรุณฯ ในอินเทอร์เน็ต มันสวย สวยมากจริงๆ” เธอยังชื่นชมถึงความงามของวัดให้เราฟังต่อ

“ฉันรักมันนะ ถึงอากาศจะร้อนมากๆ แต่พอได้เดินดูรอบๆ แล้ว มันสง่างาม ถ้ามีโอกาสฉันก็อยากลองใส่ชุดไทยนะ เห็นคนอื่นใส่แล้วดูดีมาก แต่ตอนนี้มันร้อนจริงๆ และตอนนี้ฉันคิดว่าไม่มีอะไรที่ต้องปรับปรุงนะ ทุกอย่างสะดวกและรวดเร็ว”

เมื่อเราถามว่าเธอรู้สึกยังไงกับคนไทยบ้าง เธอก็ตอบกลับด้วยรอยยิ้มว่า... “ผู้คนเป็นมิตรมาก”

ความคิดเห็นของเธอ สอดคล้องกับความคิดเห็นของ “James” ชายชาวอังกฤษ ที่เดินทางมาวัดอรุณฯ เป็นครั้งแรกแต่รู้สึกชื่นชอบมาก “ผมเดินทางมาที่นี่เป็นครั้งแรก เคยเห็นในรูปมาก่อนบ้างแล้ว แต่พอได้มาเห็นของจริง มันสวยงามและยิ่งใหญ่มาก ผมโอเคกับทุกอย่างในตอนนี้ และคนไทยก็เป็นมิตรมากๆ ด้วย”

นอกจากนั้น สาวเอเชียชาวเวียดนามคนหนึ่งยังเล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า “ที่เวียดนามภาพยนตร์บุพเพสันนิวาสดังมาก พอมีโอกาสมาเที่ยวที่ไทย เลยอยากมาลองใส่ชุดไทย และเห็นคนนิยมมาที่วัดอรุณฯ พอได้มาเห็นกับตาก็รู้สึกว่าสวยจริงๆ”

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

ความรู้สึกนอกกำแพงวัด:

หลังพูดคุยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเรียบร้อย สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้ทีมข่าวฯ เดินออกมานอกกำแพงวัด เพื่อหาเครื่องดื่มดับกระหาย และเผื่อว่าจะได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านว่า พวกเขารู้สึกอย่างไรกันบ้างกับการมาของนักท่องเที่ยว

...

ทีมข่าวเดินเข้ามายังท้ายซอยวังเดิม 9 พบกับเพิงร้านขายน้ำชง ที่มี “พี่ไหม” เป็นเจ้าของร้าน พอพี่ไหมรู้ว่าเรามาจากไทยรัฐ เขาก็พูดคุยด้วยรอยยิ้มที่สดใส พร้อมเอ่ยว่า “พี่อ่านหนังสือพิมพ์ของไทยรัฐมานานแล้ว อ่านแต่ของไทยรัฐ จะมีบังเขามาส่งทุกเช้า”

เดิมทีแล้วพี่ไหมไม่ใช่คนพื้นที่ แต่เดินทางเข้ามาอยู่บริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2529 แม้สีหน้าที่ยิ้มแย้มและปากของพี่ไหม จะพูดคุยเล่าเรื่องให้เราฟังอยู่ตลอด แต่มือของเธอก็ชงน้ำตามรายการสั่งอย่างไม่หยุดเช่นกัน

“พี่มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2529 ตอนนั้นถนน (อรุณอมรินทร์) ตรงนี้ยังไม่ตัดเลย แต่พอตัดถนนแล้ว รถสัญจรผ่านเยอะขึ้น ความเจริญก็เข้ามาด้วย สมัยก่อนวัดอรุณฯ ยังเป็นรั้วสังกะสี คนมาวัดยังไม่เยอะขนาดนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกชาวบ้าน”

การที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่เคยสงบนี้ วุ่นวายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้พี่ไหมรู้สึกแย่เลย “สมัยก่อนมีแต่ลุงๆ ป้าๆ นั่งขายของกิน พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถึงจะวุ่นวายมากขึ้นแต่ก็รู้สึกโอเค เพราะเขาเอาเศรษฐกิจมาให้ ทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก่อนไม่มีร้านเช่าชุดไทยแบบนี้ พอเกิดกระแสคนต่างชาติก็เริ่มมาเช่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น”

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

...

พูดคุยกับพี่ไหมเสร็จ เมนูชาเย็นที่เราสั่งไปก็ได้รับพอดี พี่ไหมชี้ให้เราเข้าไปคุยกับผู้ชายคนหนึ่ง ที่นั่งอยู่ริมร้านขายของชำเก่าแก่ และทำให้เราทราบว่า นั่นคือ “ลุงถุย” อายุ 67 ปี ผู้นำชุมชนปรกอรุณและย่านวังเดิมแห่งนี้

“ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด รกและรากฝังอยู่ที่นี่ แถวนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ถนนเส้นเดิม (ถนนหน้าวัดปัจจุบัน คือ ถนนอรุณอมรินทร์เส้นเดิม) จะมีความยาวแค่ประมาณ 300 เมตร แต่มันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเรื่องเล่าเยอะ” ลุงถุยเล่าด้วยท่าทีที่ดูภูมิใจ ที่ได้เกิดและโตในพื้นที่นี้

เรื่องราวตลอด 67 ปี ของลุงถุย ทำให้คุณลุงมีความศรัทธา ที่จะถ่ายทอดและสรรค์สร้างถนนคนเดิน เพื่อให้คนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

“ผมพยายามผลักดันเรื่องถนนคนเดิน มาแบบล้มลุกคลุกคลานเป็น 10 ปี เมื่อก่อนตรงนี้เป็นถนนบ้านๆ เขาเอาปูนมาเทแล้วพิมพ์ลายถนน บอกจะทำถนนคนเดิน จนวันนี้ก็ไม่ใช่ถนนคนเดินมีแต่รถวิ่ง 

...

ที่อยากทำถนนคนเดินเพราะต้องการกระจายรายได้ เอาของดีในชุมชนมาขาย ให้เห็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชุมชน” ความปรารถนาอันแรงกล้า ถูกส่งผ่านสายตาและน้ำเสียง

ในฐานะผู้นำชุมชน และมีน้องสาวเปิดร้านเช่าชุดไทยท้ายซอยวังเดิม 9 ทำให้ลุงถุยได้สัมผัสกับนักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติพอสมควร “นักท่องเที่ยวไม่ได้สร้างความวุ่นวายให้ เขามีแต่ความเกรงใจ และมีวัฒนธรรมของตัวเอง อย่างที่เคยเจอมากับตัว เข้ามาถามว่ามีที่สูบบุหรี่ไหม เราชี้ให้เห็นว่าทำที่ไว้ให้ พอเขาสูบเสร็จเราชวนมานั่งเล่น เขาจะเอาเงินให้แต่ก็ไม่ได้รับไว้ แล้วเราก็ทำที่คัดแยกขยะไว้ด้วย”

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

ความรู้สึกในกำแพงวัด:

หลังจากทีมข่าวฯ ลาลุงถุยและพี่ไหม เดินกลับเข้าไปบริเวณวัดอีกครั้ง เรามีโอกาสพูดคุยกับ "พี่นิล" (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ประจำจุดบริเวณโบสถ์ แม้พี่ไหมและลุงถุยที่ประกอบอาชีพอยู่นอกกำแพงวัด จะรู้สึกดีกับชาวต่างชาติ แต่ในกำแพงวัด พี่นิลกลับต้องเจอกับเหตุการณ์บางอย่าง ที่ทำให้รู้สึกแคลงใจต่อชาวต่างชาติ พี่นิลเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงค่อนข้างหงุดหงิดว่า...

“คนต่างชาติชอบมาถ่ายรูปใส่ชุดไทย มาเยอะมากโดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่บางคนที่ไม่ได้แต่งชุดไทย จะใส่เสื้อผ้าโป๊อยู่บ้าง ถึงวัดจะมีผ้าคลุมสีแดงให้ยืม แต่พอรับมาเขาก็เก็บใส่กระเป๋า เราพยายามเข้าใจว่าเขาร้อน บางทีเราเข้าไปสะกิดเขาบอกอย่าโป๊ ถึงเขาตกใจแต่ก็ทำตาม แต่บางคนพอถึงโบสถ์ เข้าไปนั่งแหกแข้งแหกขา เอาเท้าพาด”

ระหว่างคุยกับพี่นิล มีชาวต่างชาติผู้ชาย เดินมาใช้เท้าเขี่ยถังขยะที่อยู่ใกล้เรา เพื่อจะถ่ายรูปแกะสลัก และมีชายต่างชาติอีกคนหนึ่ง มานั่งบนรูปแกะสลักสัตว์ที่อยู่ข้างหลังเรา ทำให้พี่นิลถอนหายใจพร้อมพูดว่า “เนี่ย... น้องดูสิ แบบนี้มันเหมาะเหรอ”

ธนัท ชยพัทธฤทธี
ธนัท ชยพัทธฤทธี

เหตุการณ์ที่พี่นิลมองว่านักท่องเที่ยวปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม ส่วนมากจะพบกับชาวต่างชาติ แต่ครั้งหนึ่งก็เคยมีคนไทย ที่ทำให้พี่นิลรู้สึกปวดหัวมาแล้ว

“เคยมีคนไทยแต่งตัวคล้ายเกาะอกกับเอวลอย เราบอกเขาดีๆ ว่ามันไม่เหมาะ เขาชี้ไปที่คนต่างชาติแล้วพูดว่า “ทำไมพวกมันยังทำได้” พี่ก็พยายามบอกว่าพูดถึงเขาแบบนั้นมันไม่ควร เพราะวัฒนธรรมบางอย่างต่างชาติก็ไม่รู้”

ทีมข่าวฯ ถามพี่นิลกลับว่า ไกด์ไม่ได้แนะนำนักท่องเที่ยวเหรอ “ส่วนใหญ่ไม่รับผิดชอบหรือดูแลด้วยซ้ำ”

“ไกด์บางคนไม่ใช่คนไทย แต่พูดไทยได้มีเยอะแยะ บางครั้งพูดเสียงดังมาก เราก็บอกจุ๊ๆ แต่เงียบได้แป๊บเดียวก็ดังอีก ไม่ยอมดูแลพวกนักท่องเที่ยวที่พามา ไม่ยอมบอกเขาว่าอะไรควรไม่ควร พอบางคนไม่รู้เรื่อง ก็ใส่รองเท้าเข้าโบสถ์เลย”

นอกจากความไม่เหมาะสมของพฤติกรรม ที่ทำให้พี่นิลต้องรู้สึกแย่กับคนต่างชาติแล้ว ยังมีชาวต่างชาติบางคนที่มีพฤติกรรมลักขโมย สิ่งนี้ยิ่งทำให้สีหน้าของพี่นิลดูเอือมระอาเข้าไปใหญ่

“พวกขโมยของในวัดก็ไม่ใช่คนไทยนะ เคยมีคนเวียดนามกระเป๋าหาย นั่งร้องไห้แต่ก็ไม่ได้คืน พอเราไปเปิดกล้องดูก็เห็นว่าเป็นคนต่างชาติ ขโมยของเสร็จก็วิ่งออกประตูนี้ ไปขึ้นเรือข้ามฟากหายไปเลย ขนาดแถวนี้มีกล้อง 8 ตัว ยังจับไม่ได้ แถวพระปรางค์ก็ขโมยเยอะ อย่าเผลอวางกระเป๋าไว้เพราะหายแน่นอน”

มาถึงตรงนี้ทำให้เห็นว่า แม้สถานที่จะสวยงามมีคุณค่า ชาวต่างชาติชื่นชอบ หรือคนในพื้นที่บางส่วนจะมองว่าดีแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ยังมี “ปัญหาแฝงอยู่” หากปล่อยให้กลายเป็น “ความเรื้อรัง” อาจจะทำให้ความรู้สึกอันดีของคนในพื้นที่ถูกกัดกร่อนได้

นี่อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่า...คงต้องมีวิธีจัดการหรือการสื่อสารที่ดี เพื่อให้คนพื้นที่รวมถึงคนต่างถิ่น ได้ไปมาหาสู่และพึ่งพาทางเศรษฐกิจกันได้แบบไม่มีปัญหา และสร้างการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืนต่อไป

รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรจะเข้ามาดูแลและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหา ก่อนที่เรื่องราวเสมือนแผลเล็ก จะลุกลามเป็นแผลใหญ่ จนอักเสบและยากเกินเยียวยา...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

อ่านบทความที่น่าสนใจ: