คุยกับปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จ.ลำปาง หนึ่งในเทพ "ผักสวนครัว" ปลูกพืชสวนครัวมีรายได้ทุกวัน 500-1,000 บาท เผย สูตรสำเร็จ ต้องจดทุกความล้มเหลวก่อน...

“ความรวยของคุณอยู่ตรงไหน...?”

นี่คือคำถามสำคัญ สำหรับการใช้ชีวิต คำตอบของคำถามนี้ แต่ละคนแตกต่างกัน แต่สำหรับบางคนนั้น มันไม่สำคัญเลย ขอแค่มีชีวิตที่มีความสุข มีกิน มีใช้ไม่ขาด แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ทุกๆ วันจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมีคอลัมน์เกษตร และความยั่งยืนในการใช้ชีวิต และวันนี้ อยากให้ท่านผู้อ่าน ได้ไปสัมผัสกับแนวคิด “ปราชญ์เกษตร” ใน จ.ลำปาง คือ “ลุงอ้วน สมโภช ปานถม” เกษตรผสมผสาน ขายพืชผักสวนครัว ผลผลิตปลอดสารพิษ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 253 ม.5 บ.ห้วยรากไม้ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

“เมื่อก่อนครอบครัวผมก็ทำนา ใช้สารเคมีเยอะ ญาติพี่น้องคนรู้จักหลายคนล้มป่วย กลายเป็นโรคมะเร็ง”

ลุงอ้วนเกริ่น เล่าถึงวิถีชีวิต ก่อนจะกลายเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” ในปี 2550 ว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นมีขั้นตอนหลายอย่าง แม้จะไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เดิมทีทำเกษตรที่ จ.ลพบุรี และมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ก่อนจะเริ่มต้นเกษตรอินทรีย์ โดยการทดลองทำในที่นา  

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็เอาฟางที่เหลือ มาใช้ โดยที่ไม่เผาฟาง หากมีมูลสัตว์ต่างๆ ก็เอามาใช้เสริมให้กับดิน จากนั้น ก็เอาเมล็ดพืชผลต่างๆ มาหยอดใส่ดิน เช่น แตงโม แตงกวา พริก มะเขือ ซึ่งการปลูกเหล่านี้ใช้เวลาไม่นาน 1-2 เดือน ก็เก็บเกี่ยวได้ เรียกว่า ใช้เนื้อที่นาทำประโยชน์ในช่วงที่รอ ข้าวฤดูกาลใหม่

...

“สมัยนั้น คนเขาใช้เคมีกันเยอะ โดยเฉพาะคนที่ดินมากๆ มันส่งผลให้ “ดินเสื่อม” แต่ถ้าเราใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ เนื่องจากที่ดินเราไม่มาก ดินเราก็จะดีเสมอ แตกต่างจากคนอื่น นอกจากดินเสื่อมแล้ว ยังมีผลกระทบกับร่างกายด้วย โดยที่เขาไม่รู้ตัว”

ลุงอ้วน ยอมรับว่า ตอนที่เริ่มทำเกษตรในภาคกลาง ก็ยังพึ่งพาเคมีบ้าง เพราะทุกคนใช้กันหมด โดยเฉพาะช่วงที่มีการทำนา แต่พอทำไปแล้ว รู้สึกว่าร่างกายได้รับผลกระทบ รู้สึก “อ่อนเพลีย” เหมือนได้รับผลกระทบ แต่หากมีเวลาก็ทำเกษตรอินทรีย์บ้าง เรียกว่าทำผสมๆ กันไป จนกระทั่ง ได้มาอยู่ที่ จ.ลำปาง จึงเริ่มทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง หลังได้มี “ลองผิด ลองถูก” มาสักระยะ

เริ่มต้นเกษตรอินทรีย์ ด้วยเนื้อที่ 1 งาน ครึ่ง  

ลุงอ้วน เล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตว่า สาเหตุที่ย้ายมาอยู่ที่ จ.ลำปาง เพราะลูกมาทำงานที่ “แม่เมาะ” ด้วยที่ลูกยังไม่ออกเย้าออกเรือน จึงตามมาดูแลลูกด้วยความเป็นห่วง แต่...มันมีเวลาเหลือ กระทั่งมีพรรคพวก ชวนซื้อที่ บอกว่า “น้ำท่าดี เนื้อที่ติดอ่างเก็บน้ำ” จึงซื้อที่ดิน 1 งานครึ่ง ในราคา 1 หมื่นบาท

นายสมโภช เล่าว่า เมื่อมีที่ดิน ก็ปลูกมะเขือ พริก พืชผักสวนครัว ตามภาษาไป ซึ่งก่อนจะทำ ก็มีคนพูดว่า มาทำตรงนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากสารเคมี จากโรงไฟฟ้า นู่นนี่ เขาก็พูดไป...เราก็ไม่สนใจ เพราะมีความเชื่อมั่นของเรา เราก็ทำไป

กระทั่ง ทำไปสักพัก ปรากฏว่า มะเขือ พริก ที่ปลูกไว้มีลักษณะไหม้ๆ คนแถวนั้นก็พูด “นั่นไง” โดนแล้ว แต่เราก็ยังไม่เชื่อ ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเกษตรอำเภอ เขาก็มาดูผลผลิตให้ ก็พบว่า “คุณลุง ที่โดนไม่ใช่สารพิษ แต่มันคือ “เพลี้ยไฟ” ทางเกษตรอำเภอจึงให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา คือ ตรงไหนโดนกัดกิน และมีร่องรอยก็ให้ตัดทิ้งเพื่อให้ผลผลิตงอกใหม่ จากนั้น ก็เอาน้ำยากำจัดเพลี้ยไฟ ที่เกษตรอำเภอมาฉีดพ่น

“เขาบอกว่าน้อยคนมากที่จะมาปรึกษา แบบนี้ ลุงนี่เป็นคนแรกของอำเภอแม่เมาะเลย ยังไงคุณลุงก็สู้ๆ นะมีอะไรก็เข้ามาหาปรึกษาได้” ลุงอ้วน นึกหวนความหลัง ในช่วงปี พ.ศ. 2539 ที่ได้รับกำลังใจจากเกษตรอำเภอ

จากความรู้และการแบ่งปัน กลายเป็น “หมอดินประจำตำบล”

...

ลุงอ้วนเล่าว่า ก็ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักสวนครัวขาย ผ่านมา 4-5 ปี ก็มีกรมพัฒนาที่ดิน เขามีชวนไปงาน อบรมแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งความรู้ต่างๆ คือ การทำปุ๋ยหมัก วิธีการบำรุงดิน จึงพัฒนาต่อยอด และแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ กระทั่ง ทางการ มาชวนเราตั้ง “วิสาหกิจชุมชน” โดยเบื้องต้น มีสมาชิก 16 คน เป็นรุ่นก่อตั้ง

เมื่อมีการตั้ง “วิสาหกิจชุมชน” สำเร็จ ก็ได้รับการสนับสนุนให้เป็น “หมอดิน” ซึ่งเริ่มต้นที่ “หมอดินหมู่บ้าน” จากนั้นก็กลายเป็น “หมอดินระดับตำบล”

ความรู้การทำน้ำหมัก ปลูกพืชให้ได้ผลงอกงาม

คุณลุงอ้วน ที่เวลานี้กลายเป็น “หมอดิน” ไปแล้ว เผยว่า สิ่งที่เรานำไปใช้สอน และแบ่งปันความรู้ผู้คน คือ การทำน้ำหมักและปุ๋ย

ขั้นตอนการทำน้ำหมัก

จะเริ่มต้นที่สารเร่ง ภด.2 จำนวน 1 ซอง จากนั้นอาจจะใช้เศษผลไม้ต่างๆ ที่มันสุก งอมคาสวน เราก็ใช้มันเป็นส่วนประกอบ ซึ่งบางคนเลือกที่จะทิ้ง แต่ความจริงเราเอามาทำน้ำหมักได้ ซึ่งนอกจากผลไม้แล้ว ก็ใช้เศษพืชผักก็ได้

...

หากเป็นผัก หรือ ผลไม้ จะใช้ประมาณ 50 กก.

หากมีเศษเนื้อด้วย จะใช้ผักผลไม้ 30 กก. เนื้อ 20 กก.

จากนั้นใช้กากน้ำตาลอีก 10 กก. สารเร่ง พด.2 จำนวน 1 ซอง น้ำ 20 ลิตร หากมีเศษหอยเชอร์รี่ ก็เอามาใส่ ปนๆ กัน โขลก สับต่อ จากนั้นก็ใช้เวลาในการหมัก จนได้น้ำหมัก

ถ้าเป็นการหมักที่มีเศษ เนื้อ จะใช้เวลาในการหมัก 20 วันขึ้นไป แต่หากเป็นผัก ผลไม้ หมัก 1 สัปดาห์ขึ้นไป

ลุงอ้วน บอกว่า ผลที่ได้ เราจะได้น้ำหมักประมาณ 70 ลิตร ซึ่งถือว่าใช้ได้เยอะมาก เนื่องจากเวลาใช้จริงๆ จะมีการผสมน้ำเพื่อนำมาฉีดพ่น โดยตวงประมาณ 10 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่น ได้

“การฉีดพ่นน้ำหมักดังกล่าว เหมือนเป็นการกระตุ้นให้ผักสวยงาม เพิ่มเติมจากการบำรุงดิน”

ทุกความล้มเหลว อย่าปล่อยผ่าน ศึกษาตลาดเป็นสิ่งสำคัญ

ลุงอ้วน บอกว่า เราทำงานตรงนี้มาอย่างยาวนาน กระทั่งปี 2550 จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน สาเหตุที่ตั้งลุงเป็นเพราะเราได้ทดลองเกี่ยวกับการเกษตร ทำผิด ทำถูก จนหาสูตรสำเร็จในการทำเกษตร และสามารถไปเผยแพร่ความรู้ให้กับคนอื่นได้

...

“เกษตรอำเภอ หรือ กรมพัฒนาที่ดิน ส่วนมากจะมีแต่นักวิชาการ แต่เราคือผู้ลงมือทำจริงๆ คลุกคลี จริงๆ ดังนั้น เวลาไปบรรยาย เขาก็เชิญให้เราไปพูด เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรอื่นๆ ในฐานะผู้ที่ลงมือทำ”

เมื่อถามว่า เวลาให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ คำถามอะไรที่ถูกถามประจำ นายสมโภช เล่าว่า คำถามที่โดนบ่อยคือ “ปลูกอะไร ตอนไหน ให้ประสบความสำเร็จอย่างลุง”

คำตอบของคำถามนี้ คือ สิ่งที่เราทดลองทำ เราจะจดไว้ อย่าปล่อยความล้มเหลวให้ผ่านไป เพราะถ้าปล่อยไป เราจะจำไม่ได้ เราจดบันทึกการทดลองเหมือนบัญชีครัวเรือน

นอกจากนี้ เราควรศึกษาเรื่อง “การตลาด” ด้วย ดูสังเกตจาก ผลผลิตในแต่ละช่วงของปี ช่วงเดือนไหน ผลผลิตการเกษตรชนิดนี้แพง ยกตัวอย่าง ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ถั่วฝักยาวจะมีราคาแพง เราก็นับย้อนไปปลูกเลย ส่วนของถูกจะเป็นผักใบ เหล่านี้ปลูกได้แต่ปลูกน้อยๆ เพราะเราสู้กลุ่มธุรกิจใหญ่ไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องศึกษา

“ง่ายๆ ช่วงที่พริกราคาแพง ขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท แค่เด็ดขายวันละ 5 กก. ได้เงินวันละ 500 บาท ส่วนสินค้าที่มีเงินเข้าทุกวันของลุง คือ ถั่วพู เรียกว่าขายได้ทั้งปี ขายได้เกือบทุกวัน วันละ 8-10 กก. กิโลกรัมละ 30 บาท ต่อวันขายของต่างๆ ที่ปลูกได้เงินแบบหักต้นทุนแล้ว 500-1,000 กว่าบาท อยู่ได้สบาย โดยเฉพาะการขายพริก มะเขือ และถั่วพู เป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้ดี”

ลุงอ้วน กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำเกษตรนั้น ส่วนหนึ่งเราต้องทำใจกับการเจอภัยธรรมชาติ เพราะเป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น หากคิดได้อย่างนี้ เราก็จะไม่รู้สึกท้อ แต่เราก็ต้องศึกษา ดูข่าวสาร การแจ้งเตือนต่างๆ เช่น หากมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ฝนจะเยอะ เราก็อย่าปลูกของที่โดนฝนแล้วตายง่าย ยกตัวอย่าง “ถั่วพู” โดนน้ำ 1-2 สัปดาห์ ก็ยังไม่ตาย เพราะหัวของมันอยู่ด้านล่าง เนื่องจากพื้นที่ดินเราอยู่ในที่ต่ำ ดังนั้น การปลูกพืชอะไร เราต้องเรียนรู้หลักการของมัน พื้นที่สูงต่ำ เหมาะกับการปลูกอะไรได้บ้าง เรียกว่า “ลองผิดลองถูก” จนรู้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ