ลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี ที่สร้างในสมัยอยุธยา กว่า 300 ปีก่อน ได้รับยกย่องว่าเป็นงานชิ้นเอกที่สกุลช่างเมืองเพชรได้สร้างไว้ แต่ด้วยเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน ลวดลายเสาก็ค่อยๆ ลบเลือน ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ใช้เวลาในการลอกลายบนเสาทุกต้นกว่า 2 ปี แล้วพัฒนามาเป็นลายบนผ้าพิมพ์ลายที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

สุดาลักษณ์ บัวคลี่ สมาชิกกลุ่มลูกหว้า จ.เพชรบุรี กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ทำงานกับเยาวชนและคนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ลวดลายสกุลช่างเมืองเพชร ได้ทำการลอกลายจากเสาของศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี ที่สร้างในสมัยอยุธยา สมัยพระเจ้าเสือ มีอายุกว่า 300 ปีก่อน โดยได้ทำการลอกลายบนเสาทุกต้นประมาณ 2 ปี เมื่อได้ลายต้นแบบแล้วจึงนำมาดัดแปลงเป็นกิจกรรม เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ลวดลายของช่างสกุลเมืองเพชร ก่อนเลือนหายไปตามกาลเวลา

...

เมื่อทำกิจกรรมฉลุลายจากเสาศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม ได้สักพัก ทางกลุ่มมีแนวคิดในการนำลวดลายมาจัดวางใหม่เพื่อให้คนทุกวัยได้เข้าถึงได้มากขึ้น จึงมีแนวคิดในการทำผ้าพิมพ์ลายจากต้นแบบเสาศาลาการเปรียญขึ้น ถือเป็นการเรียนรู้ลวดลายสกุลช่างเมืองเพชรที่ได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นำผ้าไปตัดเป็นเสื้อ หรือเป็นชุดใส่ทำงาน และอนาคตหากมีหน่วยงานในเพชรบุรีสนใจ สามารถนำแบบผ้าไปใช้ได้

การนำลวดลายเสามาจัดวางใหม่บนผ้า ต้องใช้ความละเอียดในการออกแบบมาก เนื่องจากยังคงเอกลักษณ์ตามแบบที่ครูช่างได้ทำไว้ เพียงแต่นำมาจัดวาง หรือผสมผสานในรูปแบบใหม่ เช่น ลายผ้าบางผืน นำลายบนเสามาจัดวางใหม่ด้วยการผสมผสานลายที่มาจากแบบเสา 2 ต้น

ขณะเดียวกันก็นำข้อมูลจากการวิจัยสีที่นำมาเขียนลวดลายบนจิตรกรรมฝาผนังของ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพื่อให้เกิดการผสมผสานโทนสีระหว่างของเก่าและใหม่ เนื่องจากสีของลวดลายบนเสาก็เลือนหายไปตามกาลเวลา และศาลาการเปรียญก็ทรุดโทรมลง

ลายผ้าที่ออกแบบมามีด้วยกัน 9 แบบ มีสีม่วง เขียว ไข่ไก่ ส้ม และสีที่ผสมจากต้นแบบลายเดิม เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับครูช่างเมืองเพชรยุคปัจจุบันที่สืบสานรูปแบบลวดลายดั้งเดิมไว้ แล้วนำลวดลายทุกเสามารวมกันในผ้าผืนเดียว

ขณะเดียวกันผ้าบางผืนใช้การจัดวางตามแบบลวดลายเดิม แต่นำเทรนด์สีที่ยุคนี้นิยมเช่น เขียว ม่วง เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงลวดลายได้ง่ายขึ้น ประกอบกับอนาคตหน่วยงานภาครัฐในเมืองเพชรบุรีสามารถนำไปใช้ตัดเย็บเป็นเสื้อ หรือสินค้าได้ เป็นการเพิ่มมูลค่า และไม่ทำให้ลวดลายโบราณของสกุลช่างเมืองเพชรเลือนหายไป

ลวดลายบนผ้าออกแบบและผสมผสานจนสำเร็จมากว่า 2 เดือน แต่ลวดลายเหล่านี้ผ่านการเรียนรู้ตั้งแต่การลอกลายบนเสา ทำกิจกรรมฉลุลายกับนักท่องเที่ยวมานาน กว่าจะได้รับพัฒนามาเป็นลายผ้าที่เห็น

...

“การนำลายของช่างเมืองเพชรแบบโบราณมาพิมพ์ลงบนเสื้อ เป็นเหมือนการฟื้นคืนชีพลวดลายดั้งเดิมที่มีมากว่า 300 ปี ความตั้งใจของทุกคนอยากให้คนทั่วประเทศได้เห็นลวดลายของสกุลช่างโบราณ ถ้าหากดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาเห็นลวดลายผ้าแล้วนำไปพัฒนาต่อก็ยินดี เพราะตอนนี้ทางกลุ่มยังขาดบุคลากรที่มาออกแบบ แม้ตอนนี้มีการนำผ้าไปตัดเย็บชุดทำงาน หมอนหนุน กระเป๋า และของที่ระลึกแล้วก็ตาม”

ลวดลายเหล่านี้คนในเพชรบุรีรู้ แต่ยังไม่เป็นวงกว้าง เนื่องจากที่ผ่านมาถ้าจะดูและศึกษาต้องมาที่วัด ซึ่งการออกแบบเป็นลวดลายบนผ้าจะช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ทราบถึงแนวคิดของสกุลช่างเมืองเพชรมากขึ้น ส่วนการจำหน่ายตอนนี้อยู่ที่กลุ่มลูกหว้า บริเวณเขาวังเคเบิลคาร์ และหอศิลป์สุวรรณาราม วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี.