คุยกับ “เสรี สุวรรณภานนท์” ส.ว.ตัวตึง ก่อนโหวต นายกฯ ชี้ชะตา ”พิธา” กับแนวทางของ ส.ว. และ แคนดิเดตนายกฯ ที่สนับสนุน...

อาจเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ที่มี “นัยสำคัญ” ทางการเมือง เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” หรือ แพทองธาร ชินวัตร ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ ว่าพร้อมดัน “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี หาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรค “ก้าวไกล” ไม่ผ่านการโหวตในวันนี้ (19 ก.ค. 66) 

เนื่องจากการโหวตครั้งแรก ภาพที่ออกมาอย่างชัดเจน คือ กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่เอาพรรคก้าวไกล และ นายพิธา กับนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 

หนึ่งใน ส.ว.ที่โหวตไม่เห็นชอบ กับการเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ ในการโหวตรอบแรก คือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยเพื่อจับท่าทีก่อนโหวต 1 วัน (18 ก.ค. 66)

นายเสรี กล่าวว่า วันนี้ คงพิจารณาการเสนอชื่อคุณพิธา เข้ามารอบ 2 หรือไม่ เนื่องจากมีการทักท้วง ประเด็น บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับของรัฐสภา โดยกำหนดไว้ว่า “เสนอชื่อซ้ำ” ไม่ได้ ตรงนี้อยู่ที่การตัดสินใจในการประชุมร่วมกัน เพราะฝ่ายที่เสนอ ก็มองว่า “เสนอได้” อีกส่วนก็มองว่า “เสนอไม่ได้” ดังนั้น จึงต้อง “ตัดสิน” กันในที่ประชุม 

...

นายเสรี กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่า เราต้องทำตามรัฐธรรมนูญ โดยบทบัญญัติตามข้อ 272 ที่ระบุถึงการพิจารณาเห็นชอบคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หากที่ประชุมไม่อาจแต่งตั้งได้ คนที่เสนอมาแล้ว ก็ต้องดูในบัญชีอื่นต่อไป และพิจารณาชื่ออื่นให้ครบ หากคนไหนได้เสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง แปลว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา 

แต่...คนไหนคะแนนไม่ถึง ก็ต้องดูรายชื่อบัญชีนักการเมือง ของคนต่อไปหรือถัดไป โดยจะดูต่อไปเรื่อยๆ จนหมดรายชื่อ ถ้าหมดแล้ว ก็ต้องหาทางออก โดยที่ประชุมต้องมีสมาชิกมากกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อเสนอยกเว้น จากบัญชีรายชื่อที่นักการเมืองเสนอ และอาจจะเสนอรายชื่อที่เป็น “คนนอก” ได้ แต่ต้องใช้เสียงสภา 2 ใน 3 แต่ขั้นตอนดังกล่าว จะเป็นไปได้ ต้องผ่านการเสนอชื่อคนในบัญชีของพรรคการเมืองก่อน 

“ไม่ใช่ว่า เสนอ วนแล้ว วนอีก กลับไป กลับมา เสนอซ้ำมันก็ไม่หมดเสียที แล้วจะไปถึง ก๊อก 2 ได้อย่างไร ในเมื่อรายชื่อยังมีอยู่ และตามข้อบังคับประชุม ในข้อ 41 ก็บอกอยู่ ว่าห้ามเสนอชื่อซ้ำในสมัยประชุมเดียวกัน” 

ถ้า แคนดิเดตนายกฯ ไม่ใช่ พิธา เปลี่ยนเป็น คุณเศรษฐา หรือ อุ๊งอิ๊ง ท่าที ส.ว. จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า มันอยู่ที่พรรคการเมือง ในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล ว่ายังมีแนวทางในการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ 

“ถ้ายังยืนยันว่า จะยกเลิก หรือ แก้มาตรา 112 อยู่ ก็จะกลายเป็นประเด็นเดิมที่กลุ่ม ส.ว. มีความเห็นว่า “ไม่เห็นชอบ” ดังนั้น โอกาสที่พรรคการเมือง ที่ยังมีแนวคิดแบบนี้ ก็จะส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก การจัดตั้งรัฐบาล รวมเสียงพรรคการเมือง ก็ควรพิจารณา “เงื่อนไข” ในส่วนนี้ด้วย มิเช่นนั้นแล้ว เสนอชื่ออีก ตกอีก ชื่อก็อาจจะหลุดไปเรื่อยๆ นะ!” 

เมื่อถามว่า ถ้า “ก้าวไกล” ยอมถอย ประเด็น ม.112 นายเสรี ตอบสวนทันที ว่า “ถอย คืออะไร... วันนี้ไม่ทำ พรุ่งนี้กลับมาทำหรือไม่ มีหลักประกันอะไร สิ่งที่จะบอกออกมาต้องมีความชัดเจน ต้องเป็นรูปธรรม ไม่ควรหยิบเรื่องเหล่านี้มาทำให้เกิดปัญหาในบ้านเมือง 

ถ้าเอาเรื่องนี้ไปประชุม และมีมติพรรคที่ชัดเจน มาแถลงให้เป็นมันเรื่องเป็นราว ก็ยังพอจะรับคนเดียว แต่ถ้าเกิด 19 ก.ค. พูดอยู่คนเดียวว่า “ถอยนะ” แบบนี้ไม่รู้จะกลับมาไหม...”

แปลว่า หากเพื่อไทย จับมือตั้งรัฐบาลกับ “ก้าวไกล” เสียง ส.ว. บางส่วนจะไม่สนับสนุน? นายเสรี กล่าวว่า อย่างที่บอกว่า ทุกอย่างมันชัดเจน เพราะก้าวไกล เขายังยืนยันเรื่องนี้ไม่ ฉะนั้น ประเด็นมันไม่ได้อยู่กับพรรคไหน แต่มันขึ้นอยู่กับ นโยบาย ต่างหากล่ะ ว่า มันเป็นอย่างไร...

...

การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่แล้ว ส.ว. ขาดประชุมไปเยอะ 19 ก.ค.นี้ จะเป็นอย่างไร นายเสรี คิดว่า “น่าจะมา...กันนะ (หัวเราะ) ควรมาตัดสินใจร่วมกัน” 

โอกาสเปลี่ยนแปลงผลการโหวตไม่มีเลยหรือ... นายเสรี ย้ำอีกครั้งว่าอยู่ที่ “ก้าวไกล” จะมีจุดยืนอย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. ของแบบนี้ ใช่ว่า จะไปรับกล้วย หรือ โดนข่มขู่มา แล้วมาเปลี่ยนใจ แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง 

“การลงมติให้ หรือ ไม่ให้ ก็ต้องมีเหตุผลในการตอบคนอื่นเขาได้ด้วย” 

แปลว่ากลับกัน หาก เพื่อไทย ไม่มี ก้าวไกล ท่าที ส.ว. จะ... นายเสรี กล่าวว่า ในเมื่อปัญหาไม่มี การพิจารณาก็เป็นไปตามปกติ ต่างคนต่างพิจารณากันไป ไปพิจารณาตามความรู้ความสามารถ และต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนด้วย มิใช่ว่าพิจารณาแล้ว มีปัญหาเรื่องหุ้น ที่นั่นนี่อีก...

เมื่อถามว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการพิจารณาว่าจะรับ หรือ ไม่รับ กรณีหุ้นไอทีวี ของคุณพิธา ในวันเดียวกันนี้ ก็มีผลต่อการตัดสินใจ นายเสรี ยอมรับว่า มีผล เพราะเป็นประเด็นในการพิจารณคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกฯ หากเรื่องนั้นๆ ส่งผลต่อตำแหน่งได้ ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลจะออกมาแบบไหนก็ตาม

...

เมื่อถามว่า หลังผลการโหวตรอบแรก โดนแรงกดดันจากภายนอกค่อนข้างเยอะ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะประเทศนี้มีเสรีภาพ ใช้เสียงส่วนใหญ่ในการตัดสิน เลือกคนมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน 

“การทำหน้าที่ก็ต้องมีความเป็น “อิสระ” คนไม่ลงคะแนนให้ ก็ไปยุให้พรรคพวก มาข่มขู่ คุกคาม แบบนี้ไม่สมควรจะดำรงตำแหน่งใดๆ หรือบริหารประเทศเลย ถือเป็นตัวอย่างไม่ถูกต้อง สิ่งที่ทำบางเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้คนอื่นใช้ชีวิตลำบาก เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะถูกปองร้าย การสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดี จะส่งผลต่อคนรุ่นต่อไปด้วย”

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ทาง ส.ว. มีการพูดคุยกันอย่างไร จะสนับสนุนหรือไม่ นายเสรี บอกว่าไม่ได้มีการพูดคุยอะไร เพราะการเสนอใคร...มาเป็นนายกฯ มันขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่มีจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค ดังนั้น การตัดสินใจทุกอย่างมันอยู่ที่พรรคการเมือง ขึ้นอยู่ว่า จะรวมกันได้หรือไม่ อย่างไร..

“การที่ประชาชนเลือกตัวแทนมาทำหน้าที่แล้ว ก็อยากให้ประชาชน ยอมรับในการตัดสินใจของตัวแทนด้วย การทำหน้าที่ใน สภาฯ ไม่ควร มากดดัน การที่ใครจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็ถือว่าเป็นเสียงที่ประชาชนเลือกมาแล้ว” 

...

การแก้เกม เสนอแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ในฐานะ ส.ว. มองเรื่องนี้อย่างไร นายเสรี บอกว่า “ผมเชื่อว่ามันเป็นการสร้างประเด็นให้คนมาถกเถียงกัน เพราะ เห็นและรู้อยู่แล้วว่า การจะปิดสวิตช์ หรือ ตัดอำนาจหน้าที่ ส.ว. จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ที่ผ่านมา เคยเสนอกรณีแบบนี้หลายครั้ง สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ครั้งนี้ก็ไม่สำเร็จอีก”

“แต่เป้าหมายที่เขาต้องการ เขาไม่ได้มองเรื่องความสำเร็จตรงนั้น แต่ต้องการหาคำตอบให้กับ ประชาชน จะบอกประชาชนว่า ส.ว. ไม่สนับสนุนอีกแล้วนะ พยายามสร้างความเกลียดชัง สร้างความรู้สึกไม่ดี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ส.ว. เป็นตัวถ่วง เป็นปัญหา กลายเป็นการสร้างแรงกดดันอีกรูปแบบหนึ่ง”

กระบวนการแบบนี้ถือเป็นกระบวนการทางการเมืองที่ใช้กันหลายประเทศ แต่ในที่สุดแล้ว เป้าหมายที่ต้องการไม่สำเร็จ แต่ผลที่ตามมาคือความเกลียดชัง ข้อเสนอแบบนี้เป็นข้อเสนอแบบ “เล่นการเมือง หวังทำลายบ้านเมือง” ทำลายวัฒนธรรมทางการเมือง สร้างมวลชนให้มีแนวคิดทางการเมืองที่รุนแรง ขณะที่สังคม ก็ปล่อยให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น โดยไม่มีใครกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้า หรือ กล้าพูด 

แต่ท่านกล้า? นายเสรี กล่าวว่า เราจะปล่อยให้สังคมเป็นอยู่บ้านนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่กล้า วัฒนธรรมการเมืองที่เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นว่า การด่าทอกัน กลายเป็นเรื่องเสรีภาพ ใครๆ ก็ด่าได้ การเคารพนบนอบกันในสังคม พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ทุกอย่างจะถูกตัดทอนไป 

“หากเรายังมีแรงต่อสู้ ก็พร้อมจะบอกให้ประชาชน... (แม้ว่าจะโดนทัวร์ลง?) ก็กระทบบ้าง เจ็บบ้าง เพราะความจริง มันทำอะไรไม่ได้ ถึงแม้ว่า ตัวเราจะโดนกดดัน แล้วเราไม่เป็นไร จะไปลงกับญาติพี่น้องลูกเมีย เราก็ต้องออกมาปกป้อง ถ้าเราไม่กล้า...สังคมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ ผมเองก็ได้สติ และมีความกล้าที่จะต่อสู้” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าใจ