ในเมื่อกลายเป็นคนที่ “สปอตไลต์” สาดส่อง สังคมจับจ้อง ทุกส่วนในชีวิต ทุกคำพูด และการกระทำจึงถูกนำมาเป็นข้อมูลทางการเมือง ทั้งดีและร้าย แต่สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ผ่านการโหวตในรอบแรก ยังต้องเจอด่านอรหันต์อีกหลายด่าน

โดยเฉพาะ ด่าน ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุด ทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งเรื่องปมหุ้น itv โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” หรือ ส.ส. สิ้นสุดลงตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบมาตรา 101(6) หรือไม่

เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมาอธิบายขั้นตอนและแง่มุมกฎหมายและการตีความว่าเป็นอย่างไร

นายจรัญ กล่าวว่า คดี itv ของนายพิธา นี้ เชื่อว่าในวันพุธหน้า (20 ก.ค) ศาลจะพิจารณาว่า จะรับคำร้องหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังถือว่ายังไม่ได้พิจารณาว่ารับหรือไม่ ขณะเดียวกัน หากรับคำร้อง ก็ต้องวินิจฉัยคำขอวิธีชั่วคราว ว่าจะให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.” ไปพรางก่อนหรือไม่ ตามมาตรา 82 วรรค 2

...

“หลักเกณฑ์ก็มีเพียงหลักเกณฑ์เดียว ว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีกรณีขาดคุณสมบัติตามคำร้องหรือไม่ ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นอย่างที่ร้อง ก็มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนได้ เช่นเดียวกับ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ปมนายกฯ 8 ปี หากเป็นเช่นนั้น ก็จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ไม่ได้ ร่วมประชุมสภาฯ ไม่ได้ แต่...ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้”

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า ตามขั้นตอน ก็คงต้องรอคำวินิจฉัย จากศาล รธน. อย่างเร็ว ก็ใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน...

สมมติว่า คำวินิจฉัยออกมาว่า “ไม่ขาดคุณสมบัติ” คำร้องก็จบหมด คุณพิธา ก็ได้รับหลักประกันว่า “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” ใครจะมากล่าวหาในเรื่องนี้ก็อาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท ถือเป็นเรื่องที่ดี

กลับกัน หากศาลวินิจฉัยว่า “ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม” ก็จะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส. ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และจะหลุดจากการเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม การเป็นผู้สมัคร ส.ส.

“การจะเป็นนายกฯ หรือ รัฐมนตรี ได้ ก็ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. ทุกอย่างจะติดพันกันไปหมด แต่....หากศาล เห็นว่า ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ท่านพิธา ก็สามารถเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ตามปกติ และไปชี้ขาดกันตอนวินิจฉัย”

การโหวตหนุน นายกฯ กับปัญหา หุ้น itv

เมื่อถามว่า การโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา หรือ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ค. จะมีผลในทางการกฎหมายหรือไม่ นายจรัญ ตอบว่า “ไม่มีผลอะไร...”

ก่อนอธิบายเพิ่มว่า หากศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็แปลว่าเข้าประชุมสภาไม่ได้ ก็เพียงเท่านี้ การโหวตนายกฯ ก็เดินต่อไปได้ แต่...มันจะมีผลในทางจิตวิทยา ดังเช่น วันที่โหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. แล้วไม่ผ่านด่าน ส.ว. ....

นี่คือ ขั้นตอนทางกฎหมาย ที่นายจรัญ อธิบาย ส่วนผลการตัดสินของ ศาล รธน. จะเป็นอย่างไร คงต้องรอวันนั้น...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

...