การเมืองไทย หลัง “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ผ่านโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก ทางเลือก 19 ก.ค. และ กลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน...
หลัง “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของ พรรคก้าวไกล “ไม่ผ่านความเห็นชอบ” จากสมาชิกรัฐสภา เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ในการลงมติครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา
คำถามต่อไปคือ...จะเกิดอะไรขึ้นกับ “การเมืองไทย” หลังจากนี้ได้บ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปรับฟังความคิดเห็นจาก “ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์” ผอ.นิด้าโพล ที่เกาะติดการเมืองไทยมาอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ก่อนและหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.66
...
พิธา ไม่ผ่านโหวตรอบแรก :
“ในความเห็นส่วนตัวผม คิดว่า...จะมีการเสนอชื่อคุณพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ในวันที่ 19 ก.ค. หรือไม่? ขึ้นอยู่กับคะแนนสมาชิกวุฒิสภาที่ได้เป็นสำคัญ ซึ่งกรณีนี้ได้ไม่ถึง 20 คะแนน ผมมองว่า...ยังน้อยเกินไป...ซึ่งแบบนี้ย่อมมีคำถามตามมาแน่ๆ ว่า แล้วอีกมากกว่า 40 คะแนน ภายใน 1 สัปดาห์ จะหามาจากไหน? และจะแน่ใจได้อย่างไรว่า คะแนนเดิมที่เคยได้จะยังคงอยู่ในการโหวตรอบที่ 2”
เกมการเมือง และสิ่งที่ต้องจับตาหลัง 13 ก.ค. :
การโหวตรอบ 2 วันที่ 19 ก.ค. :
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ ข้อแรก กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาและขั้วฝ่ายรัฐบาลเดิม ซึ่งแน่นอนว่าหลังนายพิธา ไม่ผ่านการโหวตรอบแรก จะต้องมีการแสดงบทเพื่อตีรวนเรื่องการยื่นโหวตครั้งที่ 2 อยู่แล้ว แต่ที่ต้องจับตาคือเมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว จะมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งกระโดดไปร่วมตีรวนด้วยหรือไม่? เพราะกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อคราวขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
ข้อสอง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ เกิดมีมติรับวินิจฉัยคำร้องสมาชิกสภาพของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากประเด็นเรื่องถือครองหุ้นไอทีวี นายพิธา จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนวันที่ 19 ก.ค. หรือไม่?
“อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ คือเอาล่ะ...แม้ต่อให้มีการตีรวนหลังคุณพิธาไม่ผ่านการโหวตรอบแรกกันอย่างไรก็ตาม แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะยังคงเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเปิดให้มีการโหวตอีกหนึ่งครั้ง ในวันที่ 19 ก.ค. ส่วนจะได้ผลอย่างไรก็ไปวัดเอาข้างหน้า”
ฉากทัศน์การเมืองไทยหลัง 13 ก.ค. :
1. กรณีเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีก้าวไกลร่วม :
ในกรณีที่เพื่อไทยผลักดัน นายพิธา จนสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ในแง่หนึ่งมันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พรรคเพื่อไทย อาจอ้างความชอบธรรมในการขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่คำถามคือ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ระหว่างคนที่ 1. นายเศรษฐา ทวีสิน หรือ คนที่ 2. คุณแพทองธาร ชินวัตร?
“ความเห็นผมนะครับ ผมยังเชื่อเหมือนเดิมว่าเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็มีความเป็นไปได้ที่คนในครอบครัวอาจจะยังไม่อยากให้คุณอิ๊งลงมาเล่นการเมืองในช่วงนี้
ส่วนกรณีคุณเศรษฐา ซึ่งดูเหมือนจะแสดงท่าทีว่า...พร้อม แต่ดูเหมือนว่า คุณเศรษฐาเองจะยินดีมากหากได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ยังมีพรรคก้าวไกลเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาล แต่หากสมการเปลี่ยน ไม่ใช่พรรคก้าวไกลขึ้นมา แบบนี้ผมไม่แน่ใจว่า คุณเศรษฐา จะยังต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่?”
...
2. เพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีก้าวไกล :
สำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด พรรคก้าวไกลตัดสินใจเป็นฝ่ายค้าน โดยไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไปอีกแล้ว กรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเล่นเกมการเมืองมากเกินไป โดยไม่ยอมร่วมเสนอชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
“ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้กลัวการเป็นฝ่ายค้าน เพราะอย่างไรก็รอได้ เพียงแต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตนะครับ ผมว่า...ปัจจุบันภายในพรรคก้าวไกลน่าจะมี 2 ขั้ว คือ ขั้วหนึ่งบอกว่าให้ยอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ส่วนอีกขั้วหนึ่งบอกว่า แล้วหาก...ครั้งหน้ามันยังเปรี้ยวอยู่กันล่ะจะทำอย่างไร? เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ....บริบททางการเมืองมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 4 ปีข้างหน้าไม่มีใครรู้ได้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น
และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เอาจริงๆ เราก็ยังไม่รู้เหมือนกันนะว่า พรรคก้าวไกลเขามีวัฒนธรมในการโหวตเลือกกันอย่างไร เพราะยังถือเป็นพรรคการเมืองที่ยังใหม่มากๆ”
...
ทางเลือกกรณีไม่มีพรรคก้าวไกล :
“ในความเห็นผมนะครับ หากเป็นแบบนั้นขึ้นมาจริงๆ พรรคที่จะถูกเชิญมาแทนก้าวไกลแน่นอนเลย คือ 1. พรรคพลังประชารัฐ 2. ชาติไทยพัฒนา 3. พรรคภูมิใจไทย ส่วนที่ยังต้องรอลุ้น คือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะคงต้องรอการเลือกหัวหน้าพรรคให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งหากกรณีเป็น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ยอมเป็นฝ่ายค้านแน่นอน”
การเมืองไทย กับ กลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน :
“มาถึงจุดนี้ ผมอยากเล่าอะไรให้ฟังสักอย่างหนึ่ง การเมืองไทยเวลานี้ เหมือนอะไรรู้ไหมครับ เคยได้ยินไหมกลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน มันคือแรกๆ ก่อนหน้านี้ทำตัวเป็นแขก นอบน้อมสารพัดและยินดีสนับสนุนเจ้าบ้านทุกอย่าง แต่ในระหว่างทางก็ค่อยๆ ไปแย่งงานเจ้าบ้านมาเรื่อยๆ แย่งไปแย่งมากลับกลายเป็นว่า...งานสำคัญๆ เป็นของแขกหมดเลย ไม่ใช่ของเจ้าบ้าน ผลสุดท้ายคนเป็นแขกก็ยึดบ้านเลย!”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
...
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง