คุยกับวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค รวมไทยสร้างชาติ กับทิศทาง หลัง “ลุงตู่” ประกาศวางมือทางการเมือง และจุดยืนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

“ช่วงเวลาที่ผมได้ร่วมเดินทางกับพรรคไปพบปะพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ผมได้รับฟังข้อคิดเห็นของสมาชิกพรรคและประชาชนที่ให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม ผมสัมผัสได้ถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อมั่นในตัวผมตลอดมา ผมรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง และเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืม...

จากนี้ไป ผมขอประกาศวางมือทางการเมือง ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไปด้วย” 

อ่านเนื้อหาโพสต์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

...

นี่คือ ถ้อยแถลง บางส่วน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ที่ประกาศวางมือทางการเมือง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ท่ามกลางความเห็นมากมาย จากคนที่รักและชัง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในวิถีทางประชาธิปไตย 

เบื้องหลัง การ “วางมือทางการเมือง” ท่าที นัยทางการเมือง และบทบาทของ “รวมไทยสร้างชาติ” จะเป็นอย่างไร ในวันที่ไร้ “ลุงตู่” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ 

การวางมือของ “ลุงตู่” กับอนาคต รทสช. 

นายวิทยา เผยว่า ส่วนตัวแล้วผมยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการส่วนตัว เพียงแต่มีการแจ้งให้ทราบกับพรรคเท่านั้น ว่าท่านจะลาออก และวางมือ 

มีเกริ่นอะไรก่อนหรือไม่ นายวิทยา ตอบว่า ตอนประชุมรอบสุดท้าย เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ท่านก็ไม่ได้พูดอะไร...

นายวิทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำงานเพื่อบ้านเมืองมาตลอด และช่วงหลังเริ่มเห็นว่าคนมีการพูดถึงผลงานของท่านมากขึ้น เมื่อก่อน จะโดนต่อว่าประจำว่า “อยู่มานาน ลุงไม่ทำอะไร...” 

เมื่อความจริง เปิดเผยออกมาว่า ได้ทำการพัฒนาโครงการต่างๆ และผลงานก็เป็นที่โดดเด่น ยกตัวอย่าง โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนนหนทาง ไม่ว่าภาคไหน เหนือ อีสาน หรือ ภาคใต้ ล้วนพลิกโฉมไปมาก 

“คนกรุงเทพฯ ก็เห็นถนน รถไฟฟ้า ภาคอีสาน ก็ยังเส้นทางต่างๆ เจริญรุ่งเรือง ดังนั้น คนที่ไม่เห็นว่าท่านอะไร ก็อยากให้มองออกไปข้างนอกบ้าง” 

นอกจากนี้ ยังมีงานด้านสวัสดิการต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ก็เริ่มเป็นจริง ได้รับจริง โดยเฉพาะสิ่งที่ประชาชนต้องการ การดูแล เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยมี และมีในยุคของ “ลุงตู่” 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สามารถประคองตัวได้ โดยไม่ยึดโยงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้เกิดความขัดแย้งทางรัฐภูมิศาสตร์ โดยเราไม่อยู่ในฐานะที่ต้องเผชิญหน้า ในสถานการณ์ของมหาอำนาจ 2 ฝ่าย ขณะเดียวกัน ยังได้รับการยอมรับจากสากลมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ที่เคยทิ้งร้างความสัมพันธ์ 30 ปี ก็กลับมาได้ 

หลายเรื่องเราจะเห็นผล และจากการประเมิน “อารมณ์ของประชาชน” เห็นว่า หลายคนก็รู้สึกเสียดาย หรือ สะเทือนใจ บางครั้งที่เคยพูดต่อว่า ก็เริ่มคิดได้ว่าเป็นการพูดเอามัน ผมคิดว่าสังคมอาจจะช็อกกันนิดหน่อย 

...

“ผมไม่ทราบเหตุผลส่วนตัวของท่าน ว่าทำไมถึงตัดสินใจวางมือ แต่ท่านก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ และดูแลบ้านเมืองในช่วงสถานการณ์ที่เจอแบบหนักหนาสาหัส คิดว่าประมาณแล้วว่า “ถึงเวลาที่เหมาะสม” กับตัวเอง”

เมื่อถามว่า ถือว่าเป็นการสื่อ “นัยการเมือง” อะไรหรือไม่ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ตอบทันทีว่า “ผมไม่ได้มองว่าเป็นนัยทางการเมือง ส่วนจะมีอะไรหรือไม่ คงต้องถามท่านเอง... ส่วนจะมองว่าเป็น “นัย” หรือ “พักผ่อน” หรือ “พอแล้ว” หรือ “อยากไปทำงานอื่นแล้ว” แต่เท่าที่สังเกตจากอารมณ์ของท่าน คือ ท่านยังเป็นห่วงบ้านเมืองอยู่”

รวมไทยสร้างชาติ เอาอย่างไรต่อ หลัง “ลุงตู่” วางมือ นายวิทยา กล่าวว่า พรรคเราเป็นพรรคที่ตั้งใจมา เราเชื่อว่า วันที่เราตั้งพรรค และชูเรื่อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน” ถือว่าเป็น “แม่เหล็ก” ที่ดูดให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาในพรรค และนโยบายที่เดินทางนี้ เป็นนโยบายที่ถูก และคนดีๆ พร้อมจะเข้ามาร่วม 

ฉะนั้น สิ่งที่จะทำต่อจากนี้ คือ การ “สานต่อ” นโยบายของพรรคต่อไป เพื่อพรรคเราจะได้ยืนเป็นหลักให้กับบ้านเมืองในวันข้างหน้าได้ 

จุดยืนโหวต นายกรัฐมนตรี ของรวมไทยสร้างชาติ นายวิทยา กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกล ประกาศจุดยืนว่าจะเดินหน้าแก้ มาตรา 112 เราก็คงไม่เอา ไม่ใช่ “งดออกเสียง” แต่เป็นการ “โหวตสวน” เลย ไม่เอาแน่ และทางเราก็ไม่ส่งใครแข่ง 

“พรรคที่มีเสียงข้างมาก เขาก็มีสิทธิ์ที่จะจัดก่อน ส่วนถ้าจัดไม่ได้ ก็อาจจะต้องออกไป” 

...

มีการพูดคุยกับพรรคพันธมิตร บ้างหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ทุกพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลมาก่อน เขาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอากับพรรคที่จะแก้มาตรา 112 นี่เป็นคำปฏิญาณของหัวหน้าพรรคแต่ละพรรค พรรคไหนแก้ เขาก็ไม่รวมสังฆกรรมด้วย  

“ตอนนี้ต้องยอมรับความจริง ว่ายังไม่ถึงเวลาตั้งแกนนำ เพราะเวลานี้คนที่คิดรวมตัวเป็นรัฐบาล ต้องทำให้ได้ก่อน ส่วนคนที่ไม่คิดรวมตัวเป็นรัฐบาล เวลานี้เรียกว่าเป็น “อิสรชน” กันอยู่ แต่ยืนตรงข้ามคนที่จะเป็นรัฐบาล โดยเราไม่จำเป็นต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เหมือนกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล หากวันใดแตกกันก็แหลก ส่วนเรา ไม่ได้คิดเข้าร่วมเวลานี้ก็อยู่กัน สบายๆ” 

ในฐานะ นักการเมือง มอง “ลุงตู่” วางมือครั้งนี้อย่างไร นายวิทยา ที่อยู่ในแวดวงการเมืองกว่า 30 ปี ตอบว่า แม้ท่านจะก้าวมาจากการปฏิวัติ และ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาในสู่ระบบรัฐสภา การทำงานจนครบวาระ ก็ถือว่าเหนื่อย หากเป็นคนทั่วไปก็ทำได้ยาก เพราะเจอแรงต้าน แบ่งภาระมากมาย 

...

“เราต้องอย่าลืมว่า ก่อนปฏิวัติเกิดอะไรขึ้น วันนั้นมันมีความจำเป็น และเวลานั้นมันก็หาหัวหน้ารัฐบาลไม่ได้ เลือกตั้งก็เลือกเสร็จแล้ว คนชุมนุมก็ตายไปทุกวัน ไม่ได้อยู่สุขสบาย เรียกว่ามันเกิดวิกฤติจนหาทางออกไม่ได้ ซึ่ง พอลุงตู่เข้ามา ก็เหมือนสโลแกน ความสงบ จบที่ลุงตู่ และพอลุงตู่มาในระบบรัฐสภา ก็โดนด่าว่า รัฐบาลเผด็จการ แปลว่า เหลือแต่ฝั่งตัวเองใช่ไหม ที่เป็นประชาธิปไตย หลังจากนี้ก็จะรอดูว่า ประชาธิปไตย ไปตั้งรัฐบาลดูว่าจะเป็นอย่างไร...” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

**หมายเหตุ** นายวิทยา แก้วภราดัย ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ก่อน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 1 วัน 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ