คุยกับ “บังยี” ชำแหละ สมาคมฟุตบอลฯ บริหารล้มเหลว ทั้งลีกและทีมชาติ ทำให้ภาพลักษณ์ เครดิตตกต่ำ แนะ สโมสรตรวจสอบเส้นทางเงินสมาคม กับปัญหาประมูลไทยลีก

เกิดอะไรขึ้นกับ “ฟุตบอลไทย” และเกิดอะไรขึ้นกับ “ไทยลีก” 

เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามในใจ กับข่าวที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ บริษัท ไทยลีก ที่ออกมายอมรับว่า ตอนนี้มีผู้ประมูลซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยลีกในราคาราว 50 ล้านบาท (บวก-ลบ) เท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มูลค่าต่อฤดูกาลเคยพุ่งสูงสุดถึงปีละ 1 พันล้านบาท...

“เปิดประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2023-24 ตัวเงินที่มีการยื่นเข้ามา มันไม่ได้เป็นไปตามที่ไทยลีกคาดหวังเอาไว้ ซึ่งจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ” 

นี่คือสิ่งที่ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ไทยลีก จำกัด ออกมายอมรับ โดยมี นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็กล่าวสอดคล้องกันว่า “มี 2 บริษัทที่ประมูลเข้ามา มีทั้ง 50 ล้าน มากกว่า หรือ น้อยกว่า”

อย่างไรก็ตาม หลังมีกระแสกดดันอย่างหนัก แม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังพูดถึงว่าอยากให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบ กระทั่งวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการลาออกของผู้นำ ส.บอลไทย โดย “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ ให้เหตุผลว่า 

...

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั่วไปว่า พลเอกประวิตร ได้สั่งการให้ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบผลงานการแข่งขันฟุตบอล และเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทของนักฟุตบอลและสตาฟฟ์โค้ช ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชา ตามคำแนะนำของ พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา นั้น

ตนในฐานะนายกสมาคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล และจดทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของ พลเอกประวิตร โดยจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป และจะแจ้งผลและเหตุผลแห่งการลาออกต่อ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF) สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกทราบ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฯ ตามลำดับต่อไปตามหน้าที่ของประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด วันที่ 3 ก.ค. พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้แถลงว่า พล.ต.อ.สมยศ มีเจตนาลาออกตามคำสั่ง พล.อ.ประวิตร แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่จะทำให้ฟุตบอลไทยโดนแบน และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพฟีฟ่าครองเกรสในเดือนพฤษภาคมปีหน้า รวมถึงฟุตบอลไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้เลยในรายการระดับนานาชาติ ดังนั้น สภากรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์สวนความต้องการของนายกไม่ให้ลาออก ซึ่งทางสภากรรมการจึงยับยั้งไม่ให้ลาออก ให้ไปหมดตามวาระเดิมคือ 11 กุมภาพันธ์นี้ 

อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาเรื่องการประมูลไทยลีกนั้น ทีมข่าวฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลงบการเงิน บริษัท ไทยลีก จำกัด ย้อนหลัง 5 ปี ดังนี้ 

ในปี 2561 และ 2562 บริษัท ไทยลีก มีรายได้รวมมากกว่า 1.1-1.2 พันล้าน พอเข้าปี 2563 รายได้รวมลดลงเหลือ 457 ล้าน ปี 2564 รายได้รวมน้อยสุด 223 ล้าน และ ปี 2565 รายได้ฟื้นตัวดีขึ้น มาอยู่ที่ 487 ราย 

ส่วนกำไร (ขาดทุน) สุทธิ ปี 2561 มีกำไร 22.45 ล้าน ปี 2562 กำไร 51.56 ล้าน ปี 2563 ขาดทุน 29.97 ล้าน ปี 2564 ขาดทุน 98.9 ล้าน และปี 2565 กลับมาได้กำไร 49.91 ล้านบาท 

“บังยี” ชี้การบริหารจัดการไทยลีก และทีมชาติไทย มีปัญหา

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ “บังยี” หรือ นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ก่อนอื่นเลยขอออกตัวว่า หากมีการพูดพาดพิงถึงใคร ก็พร้อมที่จะไปนั่งเสวนากันหลายฝ่ายเลยก็ได้ หรือพร้อมออกรายการไหนก็ได้ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับฟุตบอลของไทย

...

นายวรวีร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยลีก อยากจะเรียกร้องไปยังสโมสรต่างๆ ให้เข้ามาตรวจสอบ เพราะเราจะเชื่อแต่รายงานของสมาคมฟุตบอลฯ ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่า “ข้อเท็จจริง” เป็นอย่างไร จึงอยากให้สโมสรต่างๆ เข้ามาร่วมดูด้วย การซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอล ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ “เครดิต” คำถามคือ ทำไมความน่าเชื่อถือของสมาคมถึงลดลงต่ำลงมากขนาดนี้

การทำหน้าที่ของ ส.บอลไทย ก่อนอื่น ผู้บริหารที่อาสาเข้ามา ต้องมีความรู้ความสามารถ มีเครดิต มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เพราะเวลาไปพูดกับใครแล้วดูมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ต้องมีการบริหารจัดการที่เกิดผลประโยชน์กับส่วนรวม 

“การที่คุณบริหารจัดการสมาคมไม่ได้ แล้วใช้วิธีการให้สโมสรไปหาเงินกันเอง แบบนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่า คุณสมควรจะนั่งบริหารต่อหรือไม่ แบบนี้ต้องพิจารณาตัวเองแล้ว เพราะการโหวตเลือกเข้ามา เพื่อมาทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อมาบริหารทีมชาติทุกชุด รวมถึง ลีกของประเทศ” 

...

2 ช่องทางหลัก หาเงินของ “ไทยลีก” 

นายวรวีร์ ยังกล่าวย้อนไปถึงการซื้อลิขสิทธิ์ในยุคที่ตนเองนั่งบริหาร มีคนมาประมูลไทยลีก สูงถึง 4,200 ล้านบาท ถ้าเฉลี่ยรายปี ปีละ 1 พันกว่าล้าน ในช่วงปี 2558 

“แต่พอมาถึงปัจจุบัน เหลือปีละ 50 ล้าน แบบนี้ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องชี้แจง รับผิดชอบอย่างไร และให้สโมสรหารายได้เองแบบนี้ไม่ใช่ เพราะไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน เพราะการแข่งขันที่เกิดขึ้น มันจะต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของสมาคมฟุตบอล แม้ที่ T1 (ไทยลีก1) จะหาเงินได้ คำถามคือ แล้ว T2 T3 จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาแบบนี้มันไม่เป็นสากล”

นายวรวีร์ ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันส่งผลให้เกิดการเคลือบแคลงว่า มีความสามารถในการบริหารจัดการหรือไม่ การที่ฟุตบอลลีกตกต่ำลง เรามาย้อนดูหรือไม่ว่าถูกครอบงำ หรือถูกใครบงการ ทำให้ไม่เกิดความเจริญก้าวหน้าหรือไม่ 

“คนที่จะเข้ามาดูฟุตบอล เขาจะดูว่าการแข่งขันดังกล่าวมีความโปร่งใสหรือไม่ หากไม่มี เขาก็รู้สึกว่าไม่อยากเข้ามาดู ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุด คือ สปิริต เพราะทำงานอยู่ในวงการกีฬา” อดีตนายก ส.บอลไทย กล่าว 

...

สำหรับช่องทางหาเงินของไทยลีกนั้น หลักๆ นั้นมี 2 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย 


ช่องทางที่ 1 : การประมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด 

นายวรวีร์ ย้ำว่า ช่วงที่สมัยตนเองเป็นนายกฯ ได้เงินจากการประมูลตรงนี้ปีละนับพันล้าน ซึ่งตอนนั้นเป็น “ทรู วิชัน” เป็นผู้ประมูล ส่วนเมื่อได้ลิขสิทธิ์ไปแล้ว เขาจะโปรโมต ทำแพ็กเกจอย่างไร ก็แล้วแต่เขา 

ช่องทางที่ 2 : สปอนเซอร์ของรายการ ซึ่งมีโลโก้อยู่บนไทยลีก 

เมื่อถามว่า มีเกณฑ์ด้านราคาหรือไม่ สำหรับการเป็นสปอนเซอร์ลีก นายวรวีร์ อธิบายว่า เรื่องนี้มันต้องเจรจา อันไหนเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด เราก็ต้องเลือกอันนั้น โดยมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างไร ติดป้ายตรงไหน สมาคมจะเป็นคนพิจารณาทำข้อตกลง 

นอกจากนี้ ยังไม่รวมรายได้อื่นๆ เช่น ค่าลิขสิทธิ์จากการผลิตชุดแข่งขันกีฬา สปอนเซอร์รายการต่างๆ ส่วนทีมชาติก็ยังมีสปอนเซอร์ที่เป็นของตัวเองอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นโลโก้ติดหน้าอก 

“เงินที่ได้ สมาคมต้องนำมาบริหารจัดการ เช่น อุดหนุนทีม ซึ่งในสมัยก่อน ผมเคยกำหนดว่าจะให้เงินอุดหนุนทีมใน T1 สโมสรละ 20 ล้าน ส่วน T2 T3 ก็ลดหลั่นลงมา ซึ่งการบริหารต้องรู้อยู่แล้วว่าเราได้สปอนเซอร์เท่าไร ได้โฆษณาจากไหนบ้าง เซ็นสัญญาไปกี่ปี ไม่ใช่ว่าวันดีคืนดี ก็ตัดลดเงิน และอ้างว่าสมาคมไม่มีรายได้ เก็บเงินไม่ได้ หากเป็นแบบนั้น ก็ต้องมีการตรวจสอบจากสโมสรสมาชิก เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้” 

มูลค่าทางการตลาด ยิ่งนานวันยิ่งเพิ่ม แต่กลับลด? 

นายวรวีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มูลค่าการตลาดในวงการฟุตบอล ความจริงมันต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่...สิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประมูลจาก 600 ล้าน เพิ่มเป็น 1,000 ล้าน แต่มาวันนี้เหลือ 50 ล้าน 

"ความจริงเรื่องนี้ไม่ต้องให้ใครมาบอก คุณต้องพิจารณาตัวเอง ที่ผ่านมา การเล่นทีมชาติเคยให้รางวัล หรือโบนัสกับนักเตะบ้างไหม คำถามคือ สิ่งที่เคยประกาศไว้ อย่างจะสร้างศูนย์ฝึกที่ต่างๆ หากคุณไม่ได้เงินจากฟีฟ่า ก็อาจจะไม่ได้สร้างอีก 

สุดท้าย คือ ต้องมาดูการบริหารจัดการว่าเป็นอย่างไร เพราะอะไร ทำไมฟุตบอลทุกระดับ ฟอร์มถึงตกต่ำลง ซึ่งมันส่งผลต่อความศรัทธาของแฟนบอล และสปอนเซอร์ ที่เขาจะพิจารณาในการอุปภัมภ์ หรือแม้แต่ค่าลิขสิทธิ์เองก็ตาม...” 

พร้อมชิง เก้าอี้ นายก ส.บอลไทย เชิญชวนคนเก่งเข้ามาทำงาน 

ช่วงท้าย ทีมข่าวฯ ถามนายวรวีร์ ถึงการสมัครตำแหน่งนายก ส.บอลไทย ซึ่งเจ้าตัว กล่าวว่า “ผมพร้อมอยู่แล้ว และยินดีที่จะกลับมาช่วยวงการฟุตบอล เมื่อชาติต้องการผมยินดีกลับมา เพราะผมเคยทำมาแล้ว ส่วนตัวแล้วอยากจะเชิญชวนทุกคน ที่มีความรู้ความสามารถให้มาลงสมัครด้วย เพราะเราคิดว่าเป็นการช่วยเหลือวงการฟุตบอล ตำแหน่งนายกผมไม่เป็นก็ได้ ได้เป็นพี่เลี้ยงก็ยินดี เพราะเราทนดูสภาพที่เกิดขึ้นเวลานี้ไม่ได้  

เมื่อถามว่า พี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็ประกาศจะสมัคร นายวรวีร์ กล่าวว่า ก็ยินดี ผมยังบอกตุ๊กเลยว่าดีแล้ว เราต้องออกมา มันแสดงถึงความรับผิดชอบของพวกเรา เพราะเรามีฟุตบอลอยู่ในสายเลือด สิ่งที่เกิดขึ้น “เราอยู่เฉยไม่ได้” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ