พลับพลาที่ประทับ สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มีภาพกระจกเขียนสี หรือกระจกสเตนกลาส อายุกว่า 132 ปี ถือเป็นความบังเอิญที่กรมศิลปากร ได้สำรวจเพื่อซ่อมแซมอาคาร และค้นพบว่าภาพบนกระจกมีความงดงาม เล่าเรื่องราวแตกต่างจากสถานที่อื่น จึงได้สืบค้นข้อมูลพร้อมประสานผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย ที่ให้ความเห็นว่า ลวดลายบนกระจกใช้เทคนิคขั้นสูง แตกต่างจากโบราณสถานหลายแห่งในโลก นำสู่ความคิดในการบูรณะลวดลายบนกระจกสี ครั้งแรกของไทย ซึ่งยังรอการจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นคืนความงดงามอีกครั้ง
มณฑาทิพย์ แย้มประดิษฐ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า พลับพลาที่ประทับ สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นช่วงราวปี พ.ศ. 2434 - 2439 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 มีพระราชดำริให้สร้างทางรถไฟสายเหนือ กรุงเทพ-โคราช เส้นทางรถไฟสายแรกในไทย โดยกระจกเขียนสี หรือกระจกสเตนกลาส ที่ประดับบนตัวอาคารมีอายุกว่า 132 ปี และปกติกระจกนี้ ต้องเปลี่ยนรางตะกั่วเมื่อครบ 100 ปี
...
ความเสียหายลำดับต่อมาเกิดจากกระจกสีบางส่วนแตกหลุดหาย อีกความเสียหายมาจากการซ่อมครั้งก่อน ที่นำสีทาบ้านมาเพ้นต์บนกระจก โดยส่วนที่มีความเสียหายมากที่สุด อยู่บริเวณประตูทั้ง 2 บาน กระจกแตกหลุดไปทั้งบาน ส่วนบานหน้าต่างฝั่งสถานีรถไฟ คาดว่าเป็นฝั่งที่ลมพัดผ่าน ทำให้กระจกส่วนนี้ชำรุดหนัก
ที่ผ่านมา กรมศิลปากรไม่เคยอนุรักษณ์กระจกสเตนกลาส มาก่อน ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาจะเปลี่ยนใหม่หมดทั้งบาน โดยการอนุรักษ์กระจกเขียนสี จะยังคงสภาพเดิมมากที่สุด จึงทำให้ต้องใช้รูปแบบการทำงานตามแบบสากล ซึ่งต้องมีการสำรวจ บันทึกสภาพของกระจกปัจจุบันให้มากที่สุด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำงานลำดับแรก
การบูรณะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย เป็นช่างอนุรักษ์กระจกสเตนกลาส และอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีความรู้งานออกแบบเกี่ยวกับสตูดิโอแก้ว
“ความยากของการอนุรักษ์กระจกเขียนสี ที่เป็นโบราณสถาน ต้องมีการวิเคราะห์ตั้งแต่การเริ่มทำความสะอาดว่า ควรใช้วัสดุหรือสารเคมีชนิดใดที่เหมาะสม ขณะเดียวกันต้องมีการวิเคราะห์หาเทคนิคช่างในอดีต ซึ่งกระจกที่นี่พบว่า ใช้เทคนิคทำกระจกที่ซับซ้อน เป็นงานที่แตกต่างจากกระจกที่ใช้ประกอบในโบสถ์คริสต์ ที่อยู่ในไทยค่อนข้างมาก”
...
งานกระจกสี พลับพลาที่ประทับ สถานีรถไฟบางปะอิน ใช้เทคนิคขั้นสูงในการนำกรดที่มีความอันตรายร้ายแรงสุดในโลก มากัดเพื่อสร้างลวดลายบนกระจก ส่วนเทคนิคต่อมาใช้แร่เงินนำไปหยดบนกระจกสี ให้มีคราบลวดลายเกิดขึ้นบนเนื้อกระจก อีกเทคนิคสำคัญคือการใช้สีมาเพ้นต์บนตัวกระจกทั้งสองด้าน เพราะปกติกระจกสเตนกลาส จะเพ้นต์เพียงด้านเดียว
“งานกระจกสี ที่นี่ถือเป็นเพชรเม็ดงามของไทย เพราะที่อื่นช่างใช้เทคนิคการเพ้นต์เผากระจก ยังไม่เคยเจอที่ใช้เทคนิคกัดกรดบนกระจกเหมือนที่นี่ ขณะเดียวกันก็เป็นที่เดียวในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เคยได้บันทึกว่าใครเป็นผู้สร้างพลับพลา แต่จากการสืบหาข้อมูลพบว่ารูปแบบพลับพลาแห่งนี้ คล้ายพลับพลาที่สถานีรถไฟจิตรลดา ที่รื้อไปแล้วช่วง ร.6”
จึงมีความเป็นไปได้ว่า พลับพลาสถานีจิตรลดา และพลับพลาที่สถานีรถบางปะอิน สร้างด้วยช่างชาวอิตาลี คนเดียวกัน จากวิเคราะห์เทคนิคการทำกระจก พบว่าน่าจะผลิตมาจากประเทศฝรั่งเศส เพราะไม่เจอเทคนิคการทำกระจกแบบนี้ในอังกฤษ หรือประเทศอื่นในยุโรป
...
ลายกระจกสีที่นี่แตกต่างจากที่อื่นมาก เช่น มีภาพเทพมิวส์ เทพแห่งความคิดสร้างสรรค์ อยู่ข้างเสาคอรินเทียน ที่เป็นตัวแทนของงานสถาปัตยกรรม ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นกล้องส่องทางไกล และมีเรือสำเภา หมายถึง การเดินทาง เรื่องราวภาพบนกระจกเป็นการเล่าเรื่องราวที่แตกต่าง ไม่ได้เล่าถึงนักบุญอย่างที่เคยเจอหลายแห่งในไทย ขณะที่ตำแหน่งภาพอยู่ในกระจกบานเดียวกับที่หันไปทางรางรถไฟ แสดงให้เห็นถึงความจงใจของช่างในอดีต ต้องการเล่าเรื่องให้สอดคล้องกับสถานที่
นอกจากนี้ ช่างฝรั่งก็พยายามออกแบบกระจกให้มีการผสมผสานความเป็นไทย โดยพบว่ากระจกที่ประดับด้วยลวดลายดอกไม้ มีการนำดอกบัวมาผสมกับดอกกุหลาบตามแบบของตะวันตก
เสน่ห์ของกระจกสเตนกลาส ตอนกลางวัน ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นเป็นกระจกสีดำ เมื่อเดินเข้าไปในอาคาร จะเห็นตัวกระจกที่เล่าเรื่องราวคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย ในทางกลับกัน ช่วงเวลากลางคืน ถ้ามีแสงสว่างจากในตัวอาคารส่องออกไปภายนอก คนที่อยู่นอกอาคารก็จะเห็นเรื่องราวและสีสันบนกระจก ถือเป็นงานศิลปะแบบยุโรปโบราณ ที่หาชมได้ยากในประเทศไทย และเป็นงานชิ้นยอดที่หาชมจากที่ไหนไม่ได้
...
การบูรณะโบราณสถาน ขณะนี้มีแผนในการปรับปรุงอาคารควบคู่ไปกับการอนุรักษ์กระจกสเตนกลาส คาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 2 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณในการบูรณะต่อจากนี้ เพราะการบูรณะกระจกสเตนกลาส ถือเป็นการทำครั้งแรกในไทย และต้องรองบของหน่วยงานในการจัดสรรมาเพื่อบูรณะกระจก ซึ่งนักท่องเที่ยวที่อยากมาชม ขณะนี้จะชมได้เพียงภายนอกอาคาร หากบูรณะแล้วเสร็จจะมีการเปิดให้เข้าชม ในรูปแบบนิทรรศการเล่าเรื่องราวของโบราณสถานผ่านภาพบนกระจก.
ขอขอบคุณภาพจาก สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา