คุยกับ อดีตมือปราบพระกาฬ "พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร" อดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด ที่ดำรงตำแหน่ง กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ตกใจ ปมรีดเงินเจ้าของเว็บพนัน 140 ล้าน เชื่อมีเบื้องหลัง หากมีมูลพร้อมฟันเป็นใบไม้ร่วง...

เรียกว่าตกตะลึงไม่น้อย กับข่าวเรียกรับเงิน กว่า 140 ล้าน ที่มีการกล่าวหา อดีตผู้การฯ ชลบุรี พร้อมพวกกว่า 10 นาย แบ่งเป็นตำรวจภูธรภาค 2 รวม 8 นาย และสังกัดกองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อีก 2 นาย ร่วมกัน “ตบทรัพย์” ผู้ต้องหาเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งล่าสุด ทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ลงมาดำเนินการด้วยตนเอง โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหา ตำรวจภูธร 8 นาย 3 ข้อหา ประกอบด้วย ตามมาตรา 149 เรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 309 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน โดยอดีตผู้การฯ ชลบุรี ขอทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรให้พนักงานสอบสวนภายใน 5 วัน ขณะที่ ตำรวจ สอท. 2 นาย ถูกแจ้ง 2 ข้อหา คือ ตามมาตรา 157 และ 309 โดยทั้งหมด ได้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งมีตำรวจบางนายให้การรับสารภาพ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด ที่วันนี้ ดำรงตำแหน่ง กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) 

...

พล.ต.ท.เรวัช ระบุว่า ตามกฎหมายใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเร่งออกระเบียบหลักเกณฑ์อยู่ ซึ่งจากการประชุมเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เราพร้อมที่จะพิจารณาทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องส่วยทางหลวง ส่วยเว็บพนัน แต่ต้องยอมรับว่า อาจจะ “ไม่ทันใจ” ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านอยากให้เราทำทันที แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอน “เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด” โดยหวังว่า จะเสร็จภายในเดือนนี้ 

เราเองก็คุยกัน เรื่องเรียกรับเงินที่ จ.ชลบุรีจะรับเข้ามาพิจารณาได้เลยหรือไม่ แต่คำตอบ คือ เราสามารถรับเรื่องได้จาก 2 ทาง คือ 

1. ทางตำรวจมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกันเอง เราก็จะร่วมพิจารณาว่ามันเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ มีการทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ทาง สตช. ไม่ได้ตัดอำนาจคณะของเรา ซึ่งเรื่องนี้ความสำคัญอยู่ที่ จะไม่มีอายุความกำหนด 

“การทำงานของคณะกรรมการฯ ใช้ระบบไต่สวน สืบสวน ไม่มีอำนาจจับกุม ซึ่งโดยทั่วไป จะให้เป็นไปตามขั้นตอนของปกติ คือ สตช. ก่อน คือ การตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน โดยมีกรอบระยะเวลา หากสอบสวนแล้วมีมูล ค่อยตั้งกรรมการสอบวินัยอีกครั้ง หากเกี่ยวข้องกับทุจริต ก็จะต้องส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป” 

2. ต้องมีชาวบ้านมาร้องเรียนกับคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีความปรากฏขึ้นเอง ซึ่งกรณีนี้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเบื้องต้น เราจะปล่อยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาดำเนินการไปก่อน...

“สรุปอำนาจหน้าที่ของ กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เหมือนเป็น ป.ป.ช. ตำรวจ โดยมีอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับหน่วยงานใด เพราะเรามาจากการเลือกตั้ง แต่มีการแต่งตั้งกรรมการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีองค์กรระดับจังหวัด โดยมีเป็นคนนอก 4 ท่าน เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ 1 นาย โดยรับสมัครจากอดีตตำรวจที่มียศอย่างน้อย คือ รองผู้กำกับ ทั่วประเทศ” 

แนวทางแก้ปัญหา “ส่วย” 

พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การแก้ปัญหาส่วย ต้อง “กวดขัน” โดยเฉพาะจุดที่มีปัญหา โดยพุ่งเป้าไปที่บุคคลที่ต้องสงสัย หากไม่เลิกก็จะดำเนินการไต่สวน ซึ่งหน่วยงานเราสามารถลงโทษได้ โดยรุนแรงที่สุด คือการ “ไล่ออก” หรือถ้าเบากว่านั้นก็ตามลำดับไป ให้ออก ปลดออก 

“หากคณะกรรมการมีอำนาจในการให้ความเห็น หากให้ความเห็นใดๆ แล้ว เราก็จะส่งเรื่องไปที่ สตช. พิจารณา ตามที่เรามีมติไป เช่น ไล่ออก ปลดออก หรือให้ย้ายไปก่อน ซึ่งทาง สตช. ก็ต้องดำเนินการตามความเห็นของเรา โดยมีกรอบระยะเวลากำหนด” 

เมื่อถามว่า สตช. เห็นแย้งกับ ก.ร.ตร. ได้หรือไม่ อดีตมือปราบพระกาฬ บอกว่า ไม่มีสิทธิ์เห็นแย้ง เพราะเราให้ความเห็นไปแล้ว แต่คนที่โดนร้องเรียน ก็มีสิทธิ์ไปร้องกับคณะกรรมการชุดใหญ่กว่า คือ กรรมการพิทักษ์คุณธรรมได้ เขาก็จะมาพิจารณาความเห็นของเรา ว่าพิจารณาถูกต้องหรือไม่...เขาสามารถตีกลับมาได้ แต่ต้องมีหลักฐานใหม่ คล้ายๆ เขาเป็นศาลอุทธรณ์ ส่วนเราเป็นศาลชั้นต้น

...

ปัญหาใหญ่ชาวบ้าน ร้องเรียนสูงสุด “ตำรวจไม่รับแจ้งความ” 

ทีมข่าวถามอดีตมือปราบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือเรื่องอะไร พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ชาวบ้านร้องเรียนเยอะมาก เรียกว่า สารพัดเรื่อง แต่...ร้องเรียนมากที่สุด คือ “ตำรวจไม่รับแจ้งความ” เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ซึ่งความจริง ตำรวจต้องรับ รองลงมาคือ เรื่องที่ติดต่อพนักงานสอบสวนไม่ได้ เพราะชาวบ้านอยากติดตามคดี ให้จับกุมคนร้าย 

“ไม่รับแจ้งความ ไม่ติดตามคดี คือ เรื่องที่ชาวบ้านเดือดร้อนมากที่สุด วิธีแก้เรื่องนี้ คือ ต้องไปประชุมทำความเข้าใจกับตำรวจว่า อย่าห่วงเรื่อง “สถิติการเกิดเหตุ” หากชาวบ้านมาร้องเรียน หรือแจ้งความต้องรับ สถิติคดีจะพุ่งขึ้นกี่หมื่น หรือแสนคดี ก็ต้องทำตามความเป็นจริง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะตำรวจบางแห่งพยายามบีบไม่ให้มีคดีเยอะ ยกตัวอย่าง ชาวบ้านเจอโจรขโมยรถ ตำรวจก็ไปลงว่า มาลงบันทึกว่ารถหายไว้เป็นหลักฐาน แต่สิ่งที่ชาวบ้านเขาต้องการ คือ แจ้งความเพื่อจับกุมคนร้าย สาเหตุที่เขามาร้องเรียน ก็เพราะเขาคาดหวังกับตำรวจไว้สูง”

...

ปัจจัยอะไร ทำไมตำรวจบางนายต้องเรียกรับเงิน

พล.ต.ท.เรวัช ตอบคำถามนี้ โดยขอเปรียบเทียบว่า ตำรวจก็เหมือนพระ หากเป็นเจ้าอาวาสวัด ก็มียศเป็นพระครูชั้นตรี มีเงินพัดยศ เพียงเดือนหลักพันบาท แต่ว่า ความคาดหวังของชาวบ้าน คือ มาอยู่แล้วต้องสร้างโบสถ์ วิหาร กลับมาที่ตำรวจ อัตราเงินเดือน จบเนติมาเหมือนกัน คุณวุฒิเหมือนกัน แต่เงินเดือนจะต่ำกว่าคนอื่น หากตำรวจเหล่านี้ไปทำงานที่อื่น เช่น ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ คนเหล่านั้นก็จะได้เงินเดือนมากกว่าตำรวจ 

“ในเงินเดือนเท่านี้พอกินพอใช้หรือไม่ นอกจากนี้ เวลามีเหตุ หากคนร้ายอยู่ในท้องที่ ตามไปจับกุม ก็ยังไม่เสียเงินอะไร แต่หากหนีออกนอกพื้นที่ ตำรวจที่ไปจับ ก็อาจจะเบิกเบี้ยเลี้ยงได้น้อย แต่ตำรวจทำงาน 24 ชั่วโมง ฉะนั้น เบี้ยเลี้ยงที่ได้ อาจจะต้องมาหารเฉลี่ยกันกับคนอื่น ยกตัวอย่างหากหนีไปสุไหงโกลก เบิกค่าเครื่องบินก็ไม่ได้ ซึ่งพูดง่ายๆ คือ เงินที่ได้มา เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ให้ ซึ่งความจริง เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ หากมีการประเมิน คดีที่เกิดขึ้น โดยตั้งงบไว้ ตามพื้นที่ โดยเทียบเฉลี่ยกับสถิติที่เคยเกิดคดีอุกฉกรรจ์ และจัดงบออกมาสำรอง เพื่อไม่ให้ตำรวจไปขอเงินจากเจ้ามือหวย หรือบ่อน มาใช้จ่าย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ ทำให้ตำรวจบางคนต้องหลับหูหลับตา ด้วยเหตุนี้ ทำให้การรับเงินมันไม่หมดไป แต่ถ้าอยากให้ระบบนี้หมดไป ก็ต้องมีการซัพพอร์ต เรื่องเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ซึ่งตรงนี้ผมมองแบบผู้ใหญ่ ที่อยากจะแก้ปัญหา 

“ตอนผมทำงาน ไล่ล่าคนร้าย ผมจะขับรถปิกอัพไป โดยติดเต็นท์ไปด้วย บางครั้งก็นอนในปั๊ม บางครั้งก็นอนที่วัด ผูกเปลนอน มองแบบคนทั่วไป โอ้โห ทำไมตำรวจมันแย่ กระจอก แต่เดี๋ยวนี้ จะให้ตำรวจใหม่ๆ มานอนแบบผม มันก็ไม่ได้ อย่างน้อยก็ไปหาโรงแรมนอน โรงแรมถูกๆ 200-300 บาท ก็ต้องให้เบิกได้ ให้เขาเหนื่อยกายในการป้องกันเหตุ บำบัดทุกข์บำรุงสุข ก็ต้องมีเบี้ยเลี้ยงให้เขา หรืออีก 1 ตัวอย่าง คือ เป็นสายตรวจ ต้องไปตามจุดต่างๆ เดี๋ยวนี้ส่งข้อมูลผ่านไลน์ บางคนต้องการวิดีโอคอลฯ ถามว่า ค่าอินเทอร์เน็ต ใครจ่าย ซึ่งมันคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น” 

...

ตกใจ ตัวเลขเรียกรับเงิน 140 ล้าน เกิดมาเพิ่งเคยเจอ

พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกตกใจเหมือนกัน ตัวเลข 140 ล้าน เป็นเรื่องที่เกินไป สังคมตำรวจรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ องค์กรเดือดร้อน หากว่าทำจริง ไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ แต่... การจะพิจารณาลงโทษใครต้องดูพยานหลักฐาน เหมือนพนักงานสอบสวน หรือ อัยการ โดยต้องดู “ผู้กล่าวหา” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” มีเหตุผลหรือไม่ เส้นทางการเงินเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไต่สวน 

“เรื่องนี้ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำถูกแล้ว เพราะพอมีเหตุ ก็มีการสั่งย้ายทันที เพราะไม่ต้องการให้เข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐาน หรือ ข่มขู่ จากนั้นก็ตั้งกรรมการขึ้นมา ซึ่งก็ตั้งท่าน รอง ผบ.ตร. สุรเชษฐ์ ซึ่งเรื่องนี้มันหนักกว่าเรื่องวินัย เพราะไปคดีอาญา มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว โทษหนักถึงติดคุก หากศาลพิพากษาจำคุก ก็ถูกให้ออกอยู่แล้ว อาจจะไปถึงขั้นการถอดยศ ปลดยศ เรียกว่าโทษหนักกว่าทางวินัยอยู่แล้ว” 

กังวลหรือไม่ ที่เว็บพนันเหล่านี้มีเงินหมุนเวียนเยอะ ที่จะส่งผลให้ตำรวจนอกแถวเข้าไปข้องเกี่ยว พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านถึงไปเล่นพนันเว็บเหล่านี้ เพราะมันถูกควบคุมโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ พูดง่ายๆ โอกาสที่จะชนะได้กำไร แทบไม่มีอยู่แล้ว มีแต่ความฉิบหาย ซึ่งเมื่อเสียหายแล้ว ก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบ เป็นหนี้ระบบไปอีก สิ่งที่ต้องทำ คือ เราต้องเร่งปราบปรามการพนันออนไลน์ โดยอาจจะใช้คนรุ่นใหม่ช่วยกันไล่จับ 

“ส่วนคนจับจะไปข้องเกี่ยว ไปตบทรัพย์ เหล่านี้คือความผิดเฉพาะตัว ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย เพราะส่วนใหญ่เวลาจับได้ ก็มีการยึดทรัพย์นับพันหรือหมื่นล้าน โดนโทษเป็นหมื่นๆ ปี ส่วนกรณี ชลบุรี นั้น บอกตรงๆ ตั้งแต่รับราชการมาจนเกษียณทุกวันนี้ ก็เพิ่งจะเคยเห็น ตกใจว่าถึงขนาดนี้ เรียกกันขนาดนี้เลยหรือ ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อ เพราะผมยังไม่เห็นสำนวน”

ผู้เสียหาย ก็ไม่ใช่คนดี เปิดเว็บพนัน เพื่อหลอกคนอื่น จากนั้นจะโดนจับ แต่ตัวเองจะไปแจ้งความ เท่ากับยอมโดนยึดทรัพย์ด้วย ซึ่งมันต้องมีอะไรตื้นลึกหนาบาง มันไม่ใช่คนดีที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป แล้วโดนตำรวจรีดทรัพย์ เหมือนพ่อค้ายาเสพติด โดนตำรวจรีด ถ้าความจริง ก็ผิดทั้งคู่ เชื่อว่า ทาง ผบ.ตร. และท่านรอง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทำถึงที่สุด อยู่แล้ว 

เปิดเผย “บัญชีทรัพย์สิน” แก้ส่วยไม่ได้ รวย 100 ล้าน ต้องดูเส้นทางการเงิน 

ทีมข่าวถาม คณะกรรมการ ก.ร.ตร. ว่า ตำรวจควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ และ “นายพล” มีเงินร้อยล้านผิดปกติหรือไม่ พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ต้องถามว่าควรเปิดเผยตั้งแต่ยศระดับไหน เพราะสมัยก่อน ยกตัวอย่างกรณีตน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนที่เป็นสารวัตร แต่...ปกติแล้ว เขาจะไม่เปิดเผย ยกเว้นว่ามีเรื่อง ทาง ป.ป.ช. ถึงจะนำมาเปิดเผย หากยศเป็น นายพล ระดับผู้บังคับการ ถึงผู้บัญชาการ ก็มีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน 

แต่...หากต้องการให้ตำรวจทุกนายยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด ข้อมูลมันก็อาจจะไปกองที่ ป.ป.ช. เพราะตำรวจบางคน ยศน้อยๆ ก็อาจจะมีเงินเยอะไปร้อยล้านก็ได้ เพราะตำรวจบางคนเขาก็มีธุรกิจของตัวเอง 

หากมีการบังคับให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินจริงๆ คนที่มันจะโกง มันก็ไม่เอาเงินฝากธนาคาร มันก็จะเก็บเป็นเงินสด ซึ่งการเปิดเผยทรัพย์สิน ก็แก้ปัญหาเรื่องส่วยไม่ได้ ถ้าคนมันจะรับส่วยจริงๆ แต่ส่วนตัวผมอยากให้เรื่องนี้มันดีขึ้น เพราะเมื่อเช้า ผมก็เสนอว่า หากรู้เข้าไปสืบเลยได้ไหม ท่านหัวหน้าคณะกรรมการบอกว่า ต้องให้ประชาชนร้องเรียนก่อน ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ชาวบ้านเขาคาดหวังกับคณะกรรมการของเรา จึงมีการแก้กฎหมาย เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในความเป็นจริง คนที่จะร้อง ก็อาจจะกลัวคนมายิงหัวก็ได้ ฉะนั้น หากเป็นไปได้ ถ้าเรารู้แล้วเราไปตรวจสอบ และลงโทษ คนที่บ้านติดกับบ่อนการพนัน ถามว่าเขาจะกล้ามาร้องเรียนหรือไม่ แต่ถ้ามาร้องแล้วไม่ต้องลงชื่อ ผมจะขับรถไปดูเลยว่าบ่อนมีจริงไหม ถ้ามีก็ลงโทษไล่ออก หากโดนไป 2-3 ราย ก็จะเบา 

ส่วนที่ถามว่า กรณี นายพล เกษียณราชการ มีเงินเกินร้อยล้าน ถือว่าผิดปกติหรือไม่ อดีตมือปราบยาเสพติด เผยกรณีของตนเองว่า เงินเดือนปกติ ตอนเกษียณ ได้เงินเดือน 76,800 บาท รวมเงินอื่นๆ เป็นแสนกว่าบาท ปีหนึ่งก็ได้ล้านกว่าบาท รวมค่าใช้จ่ายปกติด้วยก็น่าจะเหลือปีละ 1 ล้าน 

“หากมีเงินเกินร้อยล้าน ต้องดูว่าเขามีธุรกิจเสริมหรือไม่ เช่น เป็นนายหน้าขายที่ดิน ถ้าเป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะสามารถชี้แจงได้ เสียภาษีถูกต้อง แต่หากรวยแบบพรวดพราด ภาษีตรวจเจอก็น็อกแล้ว ซึ่งการทำงานหาเงินในช่องทางอื่นมันทำได้ และปัจจุบัน ตำรวจจำนวนมากก็ทำอาชีพเสริม ค้าขายออนไลน์กันเยอะ” 

ช่วงท้าย อดีตตำรวจมือพระกาฬฝากถึงน้องๆ ตำรวจว่า หากใครคิดจะเรียกรับเงินให้เลิกซะ เพราะสังคมออนไลน์ มันเร็ว เพราะถ้าไม่เลิก คุณจะโดนสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชาตามหน่วยงานแล้ว ก็ยังสามารถเข้ากับ ก.ร.ตร. ด้วย ซึ่งคณะตรงนี้ มีคนนอกเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งทั้งหมดจะถูกไต่สวนและว่าไปตามพยานหลักฐาน หากพบหลักฐานทนโท่จริงๆ เราพร้อมจัดการแบบใบไม้ร่วง 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ