คุยกับ เจ้าของสวนผักคุณตา จบรัฐศาสตร์ ทำงานบัญชี เจอความสุขด้วยเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน กับแนวคิดบันได 9 ขั้น ที่ปลูกพืชหมุนเวียน การให้และแบ่งปันคือความสุข...
ความสุขของคนเรานั้น “ไม่เท่ากัน”
บางคนต้องการบ้านหลังใหญ่โต ประดับไปด้วยของหรูหรา
แต่สำหรับบางคน ขอแค่ไม่มีหนี้สิน ได้อยู่ในพื้นที่สีเขียว ปลูกผัก ผลไม้ พืชสวนครัว อยากกินอะไรก็นำมาประกอบอาหาร แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว เฉกเช่นเดียวกับ คุณ “ปุ้มปุ้ย” วิภาพร เสวันนา เจ้าของสวนผักคุณตา เกษตรพอเพียง
คุณวิภาพร เล่าว่า การปลูกพืชกินเอง เริ่มทำตั้งแต่อยู่บ้านในกรุงเทพฯ โดยคุณพ่อเป็นผู้ริเริ่มขึ้น โดยเริ่มปลูกจากในบ้านตัวเองจนเต็มบ้าน จากนั้น ก็เห็นว่ามีพื้นที่สาธารณะ มีเวลาก็เลยไปปลูกในพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งก่อนปลูกเราก็ไปถามคนในชุมชน ผู้นำชุมชน เขาก็สนับสนุนเห็นว่าเป็นเรื่องดี ก็ไม่มีมีใครว่าอะไร เพราะการปลูกพืชสวนครัว เช่น มะรุม ชะอม กะเพรา โหระพา มะนาว เป็นต้น ทุกคนล้วนได้ประโยชน์ อยากจะกินผักอะไร หรือ อยากได้อะไรก็มาหยิบกันไปใช้ เราไม่ได้คิดเงิน แต่เขาก็ให้เงินไว้ 5-10 บาท เพราะสิ่งที่ทำนั้นก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์
...
ตอนนั้น เราเองก็ทำงานปกติ เรียนจบรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง แต่มาทำงานบัญชี ทำได้หลายสิบปี เวลากลับมาบ้าน เห็นพ่อปลูกพืช เราก็ไปช่วยปลูก พอทำแล้วก็รู้สึกมีความสุข
“เราเป็นคนต่างจังหวัด ผักอะไรที่เราเคยปลูก กินได้ แล้วก็ปลูก ซึ่งการปลูกผักของเราทำไปเรื่อยๆ กระทั่ง 10 กว่าปี เริ่มมีคนร้องเรียนว่าเราบุกรุกที่สาธารณะเพื่อทำประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้เราก็พยายามต่อสู้ เพราะเราเองไม่ได้หวังประโยชน์อันใด เนื้อที่เราก็ไม่ต้องการ เพราะเรามีบ้านของเราเอง ที่ดินใน ต่างจังหวัดเราก็มี ซึ่งสุดท้ายเราก็ตัดสินใจ ย้ายบ้านกลับมาที่บ้านเกิด”
กลับ “อุตรดิตถ์” ดัดแปลงเนื้อที่ 2 ไร่ กินอยู่พอเพียง หลักบันได 9 ขั้น
คุณวิภาพร เล่าว่า หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดใน จ.อุตรดิตถ์ ริเริ่ม “สวนผักคุณตา เกษตรพอเพียง” ในพื้นที่ ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
สิ่งที่เราทำ คือการปลูกพืชแบบผสมผสาน ในเนื้อที่ของตัวเองประมาณ 2 ไร่ ซึ่งเราเองก็ทำแบบเดิมๆ ที่เคยทำในกรุงเทพฯ คือ เราปลูกพืชผักสวนครัว หลากหลายชนิดที่ปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้นาน เช่น เป็นผักสวนครัว รวมไปถึงผักล้มลุก เช่น ถั่ว หรือจะเป็นกลุ่ม ผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง ของเหล่านี้เราปลูกไม่เยอะ แต่มีเหลือเก็บกินได้ตลอด เรียกว่า เราพยายามทำให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้มีประโยชน์สูงสุด ทำให้พื้นที่ที่เราอยู่อาศัยมีความร่มเย็นด้วย
หลักในการคิดของเราคือ เน้น การทำแบบ “บันได 9 ขั้น” คือ การปลูกพืชต่างๆ ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ ในครอบครัว โดยที่เราไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ อยากกินอะไรเราก็ปลูก เรียกว่า หากปลูกแล้วมีเหลือ เราก็แบ่งปัน แจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง หรือคนใกล้เคียง
“ส่วนใครที่อยากจะซื้อ เราก็จะขายให้ในราคาไม่แพง ซึ่งเป็นผักอินทรีย์ที่เราปลูกเองทั้งหมด เพราะเป้าหมายในการปลูกของเรา ก็เพื่อรับประทานเอง แต่มีเหลือเราก็ขายออกไปในราคาไม่แพง ซึ่งตอนนี้ก็มีออเดอร์เข้ามาตลอด เราเองก็เลยเลือกที่จะขายแบบออนไลน์”
...
เคยล้มลุกคลุกคลานกับเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้เข้าใจ
สำหรับแนวคิดการปลูกพืชของ คุณวิภาพร ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของครอบครัวที่เคยล้มลุกคลุกคลานมา รุ่นคุณพ่อแม่ เคยทำนา ใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกแล้วก็ไม่เหลือ ขาดทุน พอขาดทุนก็ยังทำต่อไป
“ในฤดูกาลไหน ที่มีคนปลูกข้าวเยอะ ผลผลิตออกมาเยอะ ราคาที่เอาไปขายก็ขาดทุนวนลูป เราเห็นปัญหา จนเราต้องคุยกับพ่อว่า “พ่อเราควรเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชไหม เราต้องเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว เรามาลงทุนปลูกแบบผสมผสานไหม บวกกับเราได้เห็นแนวคิดของในหลวง ร.9 ท่านก็สอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และปลูกพืชหมุนเวียน แค่ 1 ไร่ก็อยู่ได้ พ่อเราก็ลองไปศึกษาดูงานตามที่มีสอนกัน จากนั้นก็มาปรับใช้กับของตนเอง จนทุกวันนี้ก็เรียกว่ามีกินอยู่อย่างไม่ขาด”
ความสุข จากพืชเกษตรพอเพียง
คุณปุ้มปุ้ย ยอมรับว่า การกลับมาทำเกษตรจนมีความสุขอย่างวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตคุณพ่อ ที่คุณพ่อได้ไปศึกษาหาความรู้ และทดลองทำ ตั้งแต่การทดลองปลูกพืชต่างๆ ภายในบ้านของตัวเองที่กรุงเทพฯ ปลูกและแบ่งปันในพื้นที่สาธารณะในหมู่บ้าน กระทั่งกลับมาปลูกพืช และส่งขายผลผลิตผ่านออนไลน์ อย่างทุกวันนี้
...
“รู้สึกดีใจมาก ที่ได้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรอย่างที่เราเคยเป็นในสมัยเด็กๆ แม้ที่ผ่านมา จะเรียนจบกฎหมาย และไปเป็นนักบัญชี แต่ด้วยวิถีชีวิต เราก็อยากกลับมาเป็นเกษตรกร เมื่อถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำให้เราตัดสินใจทำอะไรได้ง่าย เราไปผจญภัยในเมืองกรุงมา เมื่อถึงวันหนึ่งต้องเลือก และเลือกกลับมาตรงนี้ ได้สานต่อสิ่งที่พ่อเราได้เริ่มต้น”
คุณปุ้มปุ้ย เล่าว่า ตอนที่ทำงานในเมือง เรารู้สึกเครียด ปวดหัวกับงาน เจอตัวเลขมากมาย เหมือนจะป่วยเป็นออฟฟิศซินโดรม แต่ยังดีว่า พอกลับมาที่บ้าน ได้ผ่อนคลายกับการปลูกพืชในสวน เหมือนได้ชาร์จแบตให้ตัวเอง ก่อนจะออกไปทำงานวันจันทร์ มันยิ่งทำให้เราไม่ต้องตัดสินใจนาน ที่จะกลับมาเป็นเกษตรกรอย่างภาคภูมิใจ
“ทุกวันนี้ แม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่ก็แทบไม่ต้องเสียเงินไปจ่ายซื้ออะไรเลย ได้อาศัยที่บ้าน กับครอบครัว ได้สัมผัสอากาศดีๆ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
...