เมื่อ 2-3 วันก่อน องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ออกมาเปิดเผยว่า ตอนนี้โลกเราเข้าสู่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (El Nino) เป็นที่เรียบแล้ว
โดยสื่อต่างประเทศรายงาน ว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ยืนยัน ปรากฏการณ์สภาพอากาศตามธรรมชาติที่เรียกว่า เอลนีโญ เริ่มต้นขึ้นแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยคาดว่ามันจะทำให้โลกที่อุ่นขึ้นอยู่แล้วเพราะภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงร้อนขึ้นไปอีก และอาจทำให้ปี 2567 เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา
อากาศที่ร้อนขึ้นเพราะเอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และอาจกระทบต่อสภาพอากาศของหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ที่ออสเตรเลียอาจทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงขึ้น ขณะที่ภาคใต้ของสหรัฐฯ อาจเผชิญกับฝนตกมากขึ้น ส่วนที่มรสุมที่อินเดียอาจมีกำลังอ่อนลง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ซึ่งได้เตือนรัฐบาลว่าควรให้ความชัดเจนกับเกษตรกรได้แล้วว่า จะต้องวางแผนรับมืออย่างไร...
...
อาจารย์เสรี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือน และตัวบ่งบอกว่าเข้าสู่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” คือ ตัวดัชนีเอนโซ จะเป็นตัวบ่งบอกว่าโลกเราจะเจอกับปรากฏการณ์ใด เอลนีโญ หรือ ลานีญา แต่สัญญาณปีนี้เข้าสู่ “เอลนีโญ” คือ อุณหภูมิน้ำทะเลแถวๆ อเมริกาใต้ สูงกว่าปกติ พูดง่ายๆ คือ ทะเลฝั่งตะวันออก สูงกว่าทะเลฝั่งตะวันตก หากน้ำทะเลดังกล่าว สูงเกินกว่า 0.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนาน 1 เดือน ก็จะนับว่าเข้าสู่ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ซึ่งวันนี้เข้าเกณฑ์ไปแล้ว และหลังจากนี้เชื่อว่า มันจะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปลายปีนี้ และเชื่อว่าจะเกินไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส
“หมายความว่า หากอุณหภูมิขึ้นไปถึงในระดับนั้นจริงๆ “เอลนีโญ” ที่เราจะพบ จะอยู่ในหมวดที่รุนแรง” ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าว
ผลกระทบจาก เอลนีโญ ปีหน้าไทย ร้อนทะลุ 45 ทั่วโลกปั่นป่วน
เมื่อถามว่า สิ่งที่จะกระทบหลังจากนี้คืออะไร กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศตอบว่า ตั้งแต่เวลานี้จนถึงปลายปี คือ 4-5 เดือนนี้ เราต้องเตรียมความพร้อม หากฝนไม่ตก คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้น้ำมากๆ เช่น ชาวนาปลูกข้าว ถึงตอนนี้เขายังมีน้ำอยู่ เขาก็อาจจะปล่อยน้ำให้ แต่พอถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่จะเกิด “ฝนทิ้งช่วง” (กลาง มิ.ย.-ปลาย ก.ค.) ซึ่งช่วงนี้อาจจะปล่อยน้ำให้อยู่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าทางการจะปล่อยน้ำให้หรือไม่ ถึงแม้จะอยู่ในเขตชลประทานก็ตาม
“สิ่งที่เขาบอกเป็น นัยๆ ว่า คุณต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว แต่การเกิด เอลนีโญ แปลว่า ฝนจะมีมามาก จนถึงปลายปี!”
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เกษตรกรต้องตระหนัก คือ การบริหารความเสี่ยงให้ดี ปลูกข้าว...ก็อาจจะยากที่จะรอด เพราะข้าวต้องปลูกอย่างน้อย 4 เดือน หากปีนี้น้ำไม่ดี ก็กระทบนาปรังปีหน้า ปีหน้าก็จะได้รับผล คือ ผลผลิตไม่ดี กระทบการส่งออกปีหน้า กระทบราคาข้าวอีกไหม..? นี่คือผลกระทบที่เป็นห่วง
ส่วนผลกระทบในเชิงสภาพอากาศทั่วโลก จะมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค เช่น ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงออสเตรเลีย จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะถือว่าเป็นประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร
แน่นอนว่า สิ่งที่ต้องเจอคือ “อากาศร้อน” เหมือนกับของประเทศไทย ที่ต้องเจอแน่ๆ และเชื่อว่า เมษายนปีหน้าของไทยจะร้อนกว่าปีนี้ ในขณะที่บางประเทศ เช่น บราซิล ทั้งร้อนและไม่มีฝน แคนาดา เวลานี้กำลังเผชิญกับไฟป่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งมาจากภาวะ เอลนีโญ ส่วนที่สหรัฐฯ ฝั่งตะวันตกของเขา จะไม่เจอความร้อน แต่จะเจอฝนตกแทน ส่วนฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ จะเจอพายุมากขึ้น
...
“ปีหน้าประเทศไทย จะร้อนหนักกว่าปีนี้ แน่นอน มีโอกาสเกิดไฟป่า อุณหภูมิที่คาดว่าน่าจะเจอ คือ 45 องศาเซลเซียส”
ห่วงเกษตรกรไทย รัฐไร้แผนชัดเจน
ในช่วงท้าย อาจารย์เสรี กล่าวยอมรับว่า เป็นห่วงเกษตรกรไทยที่สุด เพราะที่ผ่านมา ภาครัฐแทบทุกหน่วยก็ไม่ได้ขยับเตือน ก.เกษตรฯ ก็ไม่ได้ออกมาบอกว่าให้เกษตรกรทำอย่างไร กรมข้าวฯ ก็นิ่ง
เมื่อถามว่าเป็นช่วงเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ ทำให้คล้ายสุญญากาศ ดร.เสรี ตอบรับว่าเป็นอย่างนั้น แต่...สิ่งที่กังวล ไม่ใช่แค่เรื่องปีนี้ ถ้าเอลนีโญอยู่ต่อ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ยาว 5 ปี หากมันจะล้ม มันก็ล้มตรงนั้น ผลผลิตการเกษตรเสียหาย หากไม่เตรียมพร้อม...
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ปีหน้าก็อาจจะต้องรอดูผล เพราะหากน้ำน้อยจะส่งผลต่อต้นทุนปีหน้า แบบนี้จะบริหารงานอย่างไร อุตสาหกรรมก็ต้องการใช้น้ำ ทุเรียนก็ต้องการใช้น้ำ เมืองท่องเที่ยวอีก
“สุดท้าย สิ่งที่อยากจะฝากคือ รัฐบาลในเวลานี้ ควรมีแนวทางที่ “ชัดเจน” ในแนะนำให้กับทุกภาคส่วนในการรับมือ เอลนีโญ โดยเฉพาะภาค เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการท่องเที่ยว เพราะเวลานี้ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมาเลย ทุกอย่างคลุมเครือไปหมด”
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ