คุยกับ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กับแนวคิดขึ้นค่าแรง 450 บาททันที ชี้ ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมสะเทือนแน่ ชี้ปัจจัยแตกต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แนะ รัฐต้องช่วยแบบคนละครึ่ง..

เนื่องจากเป็นหนึ่งนโยบายที่ใช้หาเสียงหากได้เป็นรัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ทันที (ใน 100 วัน)

แต่เมื่อมาถึงวันนี้ รัฐบาลในอนาคต ที่คาดว่าจะมีนายกฯ ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกล ก็ต้องเจอเสียงทัดทานด้วยความเป็นห่วง จากภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งเสียงของ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ที่มีพันธมิตรไตรภาคี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งวันก่อน ว่าที่นายกฯ หนุ่มหล่อ จึงต้องรีบนั่ง “มอ'ไซค์” ไปหารือ

...

สำหรับการขึ้นค่าแรงเป็น 450 ทันที จะเป็นอย่างไรในมุม SME ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

นายแสงชัย กล่าวว่า หากพูดถึงค่าแรง เรามองแต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงระบบสวัสดิการของแต่ละบริษัทด้วย เช่น บางแห่งมีข้าวกลางวันให้กิน เงินสนับสนุนค่าเล่าเรียนบุตร ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่นอกเหนือจากกฎหมายบังคับ

แต่...หากจะมองในเชิงธุรกิจ ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ก็เห็นด้วยบางส่วนที่จะขึ้นค่าแรง แต่เราต้องมองเป็นส่วนๆ เช่น บางธุรกิจ มีผลประกอบการดี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเงินเดือน คือ เราต้องมองไปที่ว่า เราจะทำอย่างไรในการยกระดับขีดความสามารถแรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะของเขา ในการสนับสนุนงาน หรือส่งเสริมกิจการให้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่า “ทำงานให้คุ้มกับค่าจ้าง”

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบาย “ลดหย่อนภาษี 2 เท่า” เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ่งที่เราต้องไปดูว่า สิ่งที่ทำมันส่งผลกับ “รายรับ” การเงินการคลังหรือไม่ หากส่งผลกระทบกับรายรับ เราก็ต้องมีมาตรการอื่นเพื่อลดค่าครองชีพ ซึ่งสามารถทำได้หลายทาง เช่น เราไปมองที่ต้นน้ำ อะไรที่เราพึ่งพาจากต่างประเทศ เราก็ลด การปฏิรูปโครงสร้างไฟฟ้า ประปา การกระจายอำนาจให้กับภาคชุมชน และ SME

หากขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท สะเทือน!!

เมื่อถามว่า หากมีการขึ้นค่าแรงทันที SME จะเป็นอย่างไร นายแสงชัย ตอบว่า “สะเทือน!”

ก่อนมีการขยายความว่า หากมีการขึ้นค่าแรงจริง 450 บาท สะเทือน SME แน่ เพราะจากค่าแรงเฉลี่ย 350 บาท ขึ้น 100 บาท เป็นตัวเลขที่เยอะ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงาน “เข้มข้น” มีแรงงานอยู่ 12 ล้านคน (มีแรงงานรายวัน และรายเดือน) แปลว่า หากขึ้นค่าแรง เป็น 450 บาท คนที่รับเงินเดือนเท่านี้อยู่ก็ต้องขยับเงินเดือนขึ้นอีก เพราะไม่เช่นนั้นฐานเงินเดือนใหม่ จะไปเบียดเทียบเท่าคนเก่า ฉะนั้น คนที่มีฐานเงินเดือนมากกว่านี้ เช่นอยู่มา 3-5 ปี มาก็ต้องขยับฐานอีก 

“คนที่ทำงานที่เป็นรายเดือน จะกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงคนที่มีฝีมือ ที่เคยได้เงิน 450 บาท/วัน แต่วันนี้คนที่มีฝีมือน้อยกว่า ได้เท่ากัน เขาก็ต้องขยับขึ้นอีก”

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ บริษัทที่ไปรอด ก็จะลดการจ้างงาน หรือต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ใช้คนน้อย หรือหาเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ส่วนบริษัทที่ไปไม่รอดก็จะเลิกจ้าง เพราะจะไปเพิ่มราคาสินค้าบริการไม่ได้ หากเพิ่มมากยอดขายก็ลด แบกต้นทุนไม่ไหว ก็เจ๊ง!

...

กระชากค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ VS ก้าวไกล กับสถานการณ์ที่แตกต่าง  

เมื่อถามว่า หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เคยกระชากค่าแรงขั้นต่ำ กับการขึ้นค่าแรง 450 บาท ตอนนี้จะเป็นอย่างไร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ตอบว่า สิ่งที่ต้องดู คือ สถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจ ณ วันนั้น กับ ณ วันนี้

“ฉากทัศน์เวลานั้นกับตอนนี้แตกต่างกันเลย ตอนนั้นไม่มีโควิดระบาด ไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่มีปัจจัยเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ไม่มีปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งตอนนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้ “ช็อต” เหมือนในขณะนี้ เพราะภาค SME หลายภาคส่วน เวลานี้ถือว่ายังไม่ฟื้น”

เมื่อถามว่า หากขึ้นค่าแรงจริง ภาคไหนได้รับผลกระทบที่สุด นายแสงชัย ตอบสั้นๆ ว่า “ภาคการผลิต” เพราะว่าพึ่งพาแรงงานเยอะที่สุด โดยเฉพาะแรงงานรายวัน

“สิ่งอยากจะย้ำ คือ อยากให้ชั่งน้ำหนักผลกระทบ เราเห็นด้วยในการขึ้นค่าแรง แต่ต้องเป็นขั้นตอน เป็นลำดับ และต้องผสมผสานมาตรการต่างๆ ไปพร้อมกัน เช่น ขึ้นค่าแรงให้กับบางเซกเมนต์ได้ไหม เช่น บางเซกเมนต์กลุ่มธุรกิจกำลังโต และไปได้ดีก็อาจจะขึ้นให้ นอกจากนี้ ก่อนจะขึ้นก็ควรทำเรื่อง “ไตรภาคี” ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน

ภาพรวม เอสเอ็มอีไทย เพิ่งฟื้น แต่เศรษฐกิจโลกฟุบ มีความสุ่มเสี่ยงหลายด้าน!

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย อธิบายว่า ภาพรวมธุรกิจ SME เวลานี้ ยังไม่ฟื้นตัวดี เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวเวลานี้ดีขึ้น ซึ่งปีนี้ ทาง ททท. คาดว่า น่าจะมีนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจฟื้นตัว กลับมาได้สัก 70% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด) โดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท

...

“สิ่งที่เป็นน่ากังวลใจ คือ ภาคเศรษฐกิจโลก ที่กำลังมีภาวะถดถอยทั่วโลก โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากตรงนี้ ยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่น่าจะยังไม่สงบ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับภาวะเอลนีโญ ที่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็น 'ปัญหาซ้อนปัญหา' จนมันพันกันไปหมด”

นายแสงชัย กล่าวว่า แม้ภาคการส่งออกในปีผ่านมาจะดี แต่ในไตรมาส 2 และ 4 ปี 2565 รวมถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำ คือ การเร่งสปีดในภาคการส่งออกด้วยการหาตลาดใหม่ รวมถึงการยกระดับ และส่งเสริม SME เพื่อขยายฐานไปประเทศอื่นๆ ซึ่งตรงนี้เป็นกลไกหนึ่ง ที่ช่วยการกระจายรายได้ และทำให้ภาพรวมตลาดดีขึ้น... 

ส่วนภาคการค้าการบริการ อาจจะเชื่อมโยงที่มีความเสี่ยงจาก “ทุนใหญ่” ที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการ “ค้าส่ง-ค้าปลีก” ซึ่งวันนี้เราไม่ได้สร้าง “กำแพง” แต่เราก็ควรสร้าง “เกราะ” เพื่อป้องกันไม่ให้ SME ถูกทำร้าย เพื่อให้เป็นหน่วยย่อม หน่วยกลาง ไปเสริมเพื่อสร้างรายได้

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ การพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ภาคการค้า ทำอย่างไรให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และการค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางทางการตลาด ซึ่งการพัฒนาช่องทางการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ เวลานี้มีหลายธุรกิจที่ใช้ช่องทาง “ออฟไลน์” เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องเป็น “Omni Channel” (การเพิ่มช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการ)

...

ขณะที่ภาคธุรกิจเกษตร ตอนนี้ยังไปได้ดีอยู่ แต่ก็มีความกังวล ในหลายส่วน เช่น ธุรกิจทุเรียน ที่เวลานี้เริ่มมีคู่แข่ง ทั้งจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว ที่กำลังมีการพัฒนาอย่างเข้มข้น... ถึงแม้ว่าเราจะมีคุณภาพสินค้า แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่า เราจะพัฒนาให้ทุเรียนของเราไปข้างหน้าจนประเทศเหล่านี้ตามเราไม่ทัน

ประเด็นสำคัญในภาคเกษตร คือ ปัจจัยในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ หรือปุ๋ย ถึงแม้ว่าจะบอกว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่สิ่งเหล่านั้นเรากลับต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ แบบนี้แปลว่า “ต้นน้ำ” ภาคการผลิตของเรา “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ”

ดังนั้น สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ การวางยุทธศาสตร์ “Local Economy” ส่งเสริมการเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ประกอบการ รายใหญ่ กลาง หรือย่อม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สิ่งที่ต้องทำในวันนี้ คือ ยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ลดการพึ่งพาการนำเข้า และปัจจัยต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเราผลิตวัตถุดิบได้เอง เราไม่จำเป็นต้องไปสนใจค่าเงินบาท จะแข็งหรือจะอ่อน แต่...ความจริงวันนี้ เราพึ่งพาข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารสัตว์ 30 กว่าล้านตันต่อปี แต่ประเทศเราเป็น “ครัวโลก” มีปศุสัตว์ที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ใช่กลไกปกติ แต่มันมีสิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้น การแก้ปัญหาคือ การทำลายหรือลดข้อจำกัดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน...

“เทคโนโลยี” ทดแทน “แรงงาน” เป็นทั้งอุปสรรค และโอกาส

นายแสงชัย กล่าวด้วยว่า วันนี้เทคโนโลยีที่จะมาแทนแรงงานคน คือ โอกาสของผู้ประกอบการ ในทุกระดับ เพื่อมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน มันก็เกิดส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งสิ่งที่เห็นเด่นชัดเลย เทคโนโลยีในวันนี้มันทำให้เกิด Disruption ฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นทางออก คือ การยกระดับขีดความสามารถของแรงงาน อย่างเป็นระบบ

“วันนี้เราไม่สามารถแข่งขัน ด้วยการใช้ค่าแรงราคาต่ำ เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน แบบนี้คงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราจะเดินหน้า คือ การสร้างพลเมืองดิจิทัล และสร้างทักษะฝีมือแรงงานขั้นสูง มีค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น มองภาพรวมเป็นสิ่งที่ดี เพราะต้นทุนในการครองชีพสูงขึ้นในทุกมิติ เพราะต้นน้ำทุกอย่างขึ้นหมด เมื่อเป็นแบบนี้ก็ส่งผลต่อราคา ทำให้ราคาทุกอย่างขึ้นหมด ทำให้ผู้ประกอบการเป็นผู้แบกรับ หากแบกไม่ไหวก็ต้องขึ้นราคา หากขึ้นราคาก็ขายไม่ดี ขายไม่ดีก็ต้องลดคนงาน หรือลดชั่วโมงทำงาน นี่คือ ระบบนิเวศของระบบเศรษฐกิจ ที่เราเจอ ทั้งต้นทุนราคาอาหารสัตว์ขึ้น ราคาพลังงานขึ้น ซึ่งทั้งหมดทำให้แรงงานอยู่ยาก และอยู่ลำบาก”

ข้อเสนอแนะขึ้นค่าแรง แบบ “คนละครึ่ง”

สำหรับแนวทางที่ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คือ ใช้วิธี “คนละครึ่ง” หากจะให้ขึ้นค่าแรง จาก 350 บาท เป็น 450 บาท เอกชนช่วย 50 บาท รัฐช่วย 50 บาท แบบนี้ก็น่าสนใจ หมายความการขึ้นค่าแรงจะไม่โดดจนเกินไป แบบนี้ช่วยแบบเจาะจงก็ได้ เฉพาะแรงงานรายวัน

“ในความเป็นจริง หากเป็นฝีมือแรงงาน ตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่า 450 บาทไปแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ร้านก๋วยเตี๋ยว แถวที่ทำงานผม ค่าแรง 500 บาท และเป็นแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งในความเป็นจริง คือ เวลานี้มีแรงงานที่ทำงานในประเทศไทย อยู่ราว 37.5 ล้านคน นับเป็นแรงงานนอกระบบ 52% วันนี้ถ้าอยากทำให้การขึ้นค่าแรงมีประสิทธิภาพดีขึ้น เราต้องโกยแรงงานนอกระบบ ให้เข้าระบบ จำนวนกว่า 19 ล้านคน จากนั้นมาอัปสกิล รีสกิล และมีระบบติดตาม โดยจูงใจด้วยโครงการคนละครึ่ง ด้วยการขึ้นค่าแรง โดยให้นายจ้างและลูกจ้างส่งเสริมกัน โดยมีภาครัฐมาช่วยพัฒนาให้ฟรี”

นายแสงชัย แนะนำว่า การทำงานร่วมกัน จะช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถให้ตรงกับความสามารถของแรงงานได้ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ “คนไทย” ได้ประโยชน์ เพราะการขึ้นค่าแรงทีไร แรงงานต่างชาติที่เข้ามาได้ประโยชน์ เราต้องคิดถึงคนไทยก่อน

“สิ่งที่ตั้งความหวังกับรัฐบาลหน้า คือ การทำงานแบบวิ่งผลัด 4 คูณร้อย คือการส่งไม้ต่อแบบทำงานเป็นทีม ไม้แรก คือ คิดได้ การออกแบบนโยบายต่างๆ ประเมินความเสี่ยงต่างๆ ไม้สอง ทำได้ ให้ภาครัฐต่างๆ ไปสร้างความเป็นผู้ประกอบการ สร้างดิจิทัล เทคโนโลยี ช่วยจัดการทำการเงิน ไม่ก่อหนี้เกินตัว ไม้สาม ยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้คนในประเทศ ให้ SME ไทยมีมาตรฐานสากล และไม้สี่ คือ ขายได้ มีงานทำ

การส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่ เป็นสิ่งที่ดี มี “อิมแพค” สูง แต่การส่งเสริม SME จะทำให้เกิดความยั่งยืนและกระจายรายได้ ในระยะยาว เป็นการกระจายโอกาสให้เท่าเทียมกันในสังคม

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ