“นายโภคิน พลกุล” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย แนะ พรรคก้าวไกล รีบแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดความแทรกซ้อนทางการเมือง...

วงหารือเพื่อจัดตั้ง "รัฐบาลพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" 313 เสียง มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ คืบหน้าแค่ไหน และที่สำคัญมีความกังวลเรื่องอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่อย่างไร? วันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ขอไปสนทนาในทุกประเด็นเหล่านั้น กับ “นายโภคิน พลกุล” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย หนึ่งในผู้ร่วมวงเจรจาจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง 2566  

ก้าวไกล กับ การจัดตั้งรัฐบาล :

“ผมคิดว่าพรรคก้าวไกล สามารถทำได้ดีแล้วในแง่ของการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นการตระเตรียมประสานการทำงานร่วมกันของบรรดาพรรคร่วม ในแบบเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ต้องเดินต่อ หรือต้องทำอะไรอย่างไร เพื่อนำสู่การพิจารณาเรื่องงบประมาณว่า ถ้าหากจะมีนโยบายใหม่หรือทิศทางใหม่ จะต้องมีการไปปรับตรงไหนอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ในจุดนี้นอกเหนือไปจากในส่วนที่ยังเหลือไม่มากนักเป็นต้น” 

...

ไขความกระจ่าง MOU พรรคก้าวไกล : 

“คือมันเป็นเหมือนข้อตกลงร่วมกันว่า...ถ้าเราได้เป็นรัฐบาลร่วมกันมันจะมีประเด็นหลักๆ ทิศทางหลักๆ ที่จะทำร่วมกันได้แก่อะไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ทำให้ทุกพรรคนำกรอบนโยบายที่ทั้งเหมือน และแตกต่างมาผสมผสานเพื่อให้สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ที่เราต้องตอบเราจะมีจุดร่วมอย่างไรที่จะไปด้วยกันได้ 

และหลังจากนั้นก็จะนำไปสู่การร่างนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อสภา ส่วนลำดับถัดไปก็จะไปดูในเรื่องงบประมาณเพื่อให้ตอบโจทย์กับนโยบายเหล่านั้นต่อไป ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นไอเดียที่ดีเลยทีเดียว เพราะมันจะทำให้ไม่ต้องไปเสียเวลาเหมือนการเมืองในยุคก่อนๆ ที่มักจะว่ากันไปตามเพลงไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) ซึ่งเมื่อก่อนนี้ ผมนี่เป็นคนแรกที่บอกว่า ไม่ได้กฎหมายที่เพิ่งตกสภา ต้องเสนอใหม่เลย ไม่งั้นกว่าที่รัฐบาลจะมีร่างมาอีกต้องรอไปอีก 60 วัน ระหว่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเป็นต้น (หัวเราะ) 

ซึ่งแนวทางที่พรรคก้าวไกลวางไว้นี่ต้องชมว่าทำได้ดี เพราะอะไรที่เดินหน้าได้ต้องเดิน อะไรที่เตรียมการเอาไว้ได้ต้องเตรียม อะไรแบบนี้ ซึ่งผมคิดว่าน้องๆ รุ่นใหม่ๆ นี่เขาใช้ได้ตรงนี้ เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับช่องว่างแบบนี้” 

“นายโภคิน พลกุล” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย
“นายโภคิน พลกุล” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย

นโยบายไทยสร้างไทย และก้าวไกล : 

“ผมคิดว่านโยบายระหว่างพรรคไทยสร้างไทย และพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่ไปกันได้เกือบทั้งหมด เช่น การดูแลผู้คนตั้งแต่ในเด็กครรภ์จนถึงผู้สูงวัยซึ่งส่วนใหญ่จะตรงหมด แตกต่างกันแค่ดีกรีจะมากจะน้อยเดี๋ยวเราก็มาดูกันอีกที หรือในประเด็นเรื่องการปรับปรุงกฎหมาย แน่นอนว่ามีหลายเรื่อง เช่น เรื่องกฎหมายทำมาหากิน ซึ่งในความเห็นผมคิดว่า ปรับปรุงต้องทำ แต่ระหว่างนี้แขวนไว้ก่อนดีไหม? ชาวบ้านเขาจะได้ทำมาหากินได้เลย เพราะถ้าไปไล่แก้กฎหมายกันจริงๆ เรื่องมันจะยาว อะไรแบบนี้เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ต้องเร่งทำด่วน คือ รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าคุณยังอยู่ภายใต้กรอบอันนี้ (รัฐธรรมนูญปี 60) มันทำอะไรไม่ได้มากหรอก...เพราะมันล็อกไว้หมด ฉะนั้นต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญให้เร็ว เพื่อลดข้อจำกัดที่ทำให้มันเดินไม่ได้ออกไปซะ ทุกอย่างมันก็จะไหลลื่นได้!”

แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือบางมาตรา : 

“ผมคิดว่า...น่าจะมองเหมือนกันหมด เพียงแต่อาจจะแตกต่างกันตรงที่ว่า ทางพรรคก้าวไกลเขาอยากจะให้ทำประชามติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่? ซึ่งในความเห็นผมคิดว่า ค่อนข้างเสี่ยงนิดนึง เพราะถ้าหากการทำประชามติ ซึ่งต้องทำถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองคือเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากแต่ละด่านไม่ผ่าน คือ มันจบเลย! 

แต่ร่างที่เราเสนอคือ...เอาของเดิมมา ของเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ถ้าทำฉบับใหม่ได้ แต่ต้องถามประชามติก่อน เพราะเราไปเขียนร่างจัดทำฉบับใหม่ ที่คาอยู่ในการพิจารณาวาระ 3  

...

ซึ่งหากถามว่าทำไมถึงต้องใช้คำนี้ คือนี่เขียนล้อตามที่เราทำตอนปี 2539 ซึ่งผมเป็นรองประธาน และผมทำเรื่องนี้ทั้งหมด เราก็ใช้ภาษาเดิมมันเพื่อจะได้ง่าย เพราะถ้าไปใช้ภาษาอันใหม่มันก็ต้องถกเถียงกันอีก แต่จริงๆ เราไม่ได้ทำฉบับใหม่ มันคือฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (หัวเราะ) ผมก็เลยมาเปลี่ยนว่าเป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเหมือนของเดิมเลย เพียงแต่ลดเวลาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จาก 240 วัน ให้เหลือเพียง 120 วัน แล้วการสรรหา ส.ส.ร. ก็ให้เหลือเพียง 60 วัน เบ็ดเสร็จภายใน 1 ปี ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำประชามติแค่ครั้งเดียว เพราะเราแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกไหมครับ เรียกว่าเลียนแบบปี 2539 เลย เพราะพอ ส.ส.ร.แก้เสร็จ สภา ส.ส.ร. ผ่านความเห็นชอบ ส่งต่อให้รัฐสภา และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบก็จบเลย ไม่ต้องไปถามประชามติ 

เพราะไม่เช่นนั้นมันจะเกิดโรคแทรกซ้อนตลอดเวลา...นึกออกไหมครับ เพราะเรามีผู้มีสิทธิออกเสียงถึงประมาณ 52 ล้านคน หากจะทำประชามติให้สมบูรณ์ต้องหาเสียงให้ได้อย่างน้อย 26 ล้านคน บวกกับอีก 1 คน แถมในการทำประชามติครั้งแรก คนที่ออกมาโหวต จะโหวตเพียงว่า...ควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ลอยๆเนี่ย! นึกภาพออกไหมครับ แล้วต้องออกมาโดยไม่มีใครช่วยพาออกมา...มันไม่ง่ายนะครับถูกไหม? (หัวเราะ) 

...

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่า...ทำแบบนี้ดีกว่า เราไปช่วยกันอย่างเดียวคือ เพราะมันต้องไปทำประชามติอยู่แล้ว มันบังคับตามรัฐธรรมนูญ เพราะเราไปแก้รัฐธรรมนูญในบทว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมถูกไหมครับ ก็ทำครั้งเดียว มันจะได้เอาอันนี้เข้ามาแทนอันนี้ก่อน เพราะถ้าไม่รีบแทนให้เร็ว ไม่ว่าใครก็อยู่ยาก เพราะกลไกในรัฐธรรมนูญปี 60 มันพิลึกกึกกือไปหมด 

คือต่อให้มีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ และไม่มีอำนาจเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่มันก็ยังมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ดี และไม่มีก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญทันที คำถามของผมคือ แล้วแบบนี้มันจะไปต่อได้อย่างไร?

หรือในประเด็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ระบุไว้ว่าให้มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ 3 คน แล้วถ้าเกิดพรรคการเมืองมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไว้เพียงคนเดียว แล้วเกิดเหตุอะไรขึ้นมามันก็ไม่ได้อีกแล้ว...(หัวเราะ) มันพิลึกกึกกือไปหมด ฉะนั้น คุณต้องไปเอาความพิลึกเหล่านี้ออกไปให้หมดและเร็วที่สุด แล้วความสมบูรณ์แบบค่อยตามมาที่หลัง แต่ถ้าหากเลือกความสมบูรณ์แบบไปเลย...บางทีมันอาจไม่ได้ทำ ซึ่งประเด็นมันอยู่ตรงนั้นล่ะครับ! 

ทำให้ส่วนตัวผมคิดเรื่องใหญ่ที่สุดคือ...การกำจัดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (รธน.ปี 60) ซึ่งมันมีกับดักทั้งหลายออกไปก่อนและให้เร็วที่สุด 

อย่างไรก็ดีสำหรับแนวคิดนี้ ส่วนตัวยังไม่ได้มีการหารือกับทางพรรคก้าวไกลอย่างจริงจัง และถ้าหากพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากจะให้ทำประชามติก่อน มันก็จะยิ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมันยิ่งไกลออกไปอีก ซึ่งบางทีอาจจะอาศัยเวลายาวนานถึง 3-4 ปี เลยก็เป็นได้”

...

ความแทรกซ้อนทางการเมือง : 

“มันมีได้ตลอดครับสำหรับประเทศนี้ (หัวเราะ) เพราะผมอยู่แบบนี้มาทั้งชีวิตแล้ว (หัวเราะ) แต่ถ้าเราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้ก่อนและเร็วที่สุด ความแทรกซ้อนมันจะเกิดขึ้นได้ยากมากๆ ถูกไหมครับ?” 

ข้อเสนอไทยสร้างไทยและพรรคร่วม :

“ส่วนตัวผมคิดว่า ทั้ง 2 ข้อเสนอของพรรคไทยสร้างไทย คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและนโยบายการดูแลผู้คนตั้งแต่ในเด็กครรภ์จนถึงผู้สูงวัย ทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลเห็นด้วยเพียงแต่อาจจะแตกต่างกันในแง่ของรายละเอียดเท่านั้น” 

313 เสียงตั้งรัฐบาลพิธา :  

“คือ...ถ้าพูดถึงเสียงข้างมากในสภาล่าง 313 เสียง ต้องบอกว่าเกินพอ (หัวเราะ) แต่ปัญหาเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องหาเสียงให้ได้ 376 เสียง ถึงจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มันติดปัญหาตรงนี้ ทำให้ต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ ก็ต้องแล้วแต่พรรคแกนนำว่าเขาจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป 

ซึ่งก็อาจจะเป็นดึงบางพรรคการเมืองมาเพิ่มไหม? หรือคะแนนจาก ส.ว.อาจจะหาได้เพิ่มไหม? ก็ต้องไปว่ากันต่อไป 

“แล้วมีการหารือกันบ้างไหมครับ ว่าจะหาพรรคการเมืองอื่นมาเพิ่มอีกหรือไม่?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์สอบถาม 

“ก็คงต้องอยู่ที่พรรคแกนหลักทั้ง 2 พรรค (พรรคก้าวไกลและเพื่อไทย) ซึ่งผมก็คิดว่าเขาน่าจะมี Solution ของเขากันอยู่เป็น Step ไป แต่ก็ต้องดูว่าฝ่ายที่เขาไม่เอาด้วย ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะมองไม่ออก ถูกไหมครับ เพราะทุกคนมันก็รู้ทันกันหมด แล้วข้อมูลข่าวสารมันก็รั่วเหมือนๆ กันหมด (หัวเราะ)  

เพราะมันเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองอยู่แบบนี้ (หัวเราะ) แต่ใจผม...อยากให้เป็นไปอย่างสุจริต และยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 

ส่วนตัวผมผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาพอสมควร ในการหารือก็ได้แชร์ให้น้องๆ ทุกคนฟังว่า ระมัดระวังตรงนั้น ตรงนี้นะ อย่าประมาทแม้แต่นิดเดียวเพราะประเทศนี้อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้หมด”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายกรัฐมนตรี : 

“ความเห็นส่วนตัวผม บางที คุณพิธา อาจจะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่เขาพยายามแสดงให้ทุกคนเห็นว่าสามารถจัดการได้ ซึ่งก็ถือว่าดี คือมีความมั่นใจ แต่ก็ต้องระมัดระวังนิดนึง อย่ามั่นใจมากจนกลายเป็นความประมาท 

ซึ่งผมก็รู้ว่าเขา (พิธา) คงไม่ประมาทหรอก เพียงแต่ในแต่ละ Scenario ที่เตรียมไว้ มันมีโอกาสเสี่ยงทั้งนั้น ถึงได้พยายามอยากให้ทุกพรรคต้องเดินหน้าแบบนี้ไปด้วยกันนะ ไม่เบี้ยวกันนะ อะไรแบบนี้ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ก็ต้องขอให้พรรคเพื่อไทยเต็มที่กับสิ่งเหล่านี้ อย่าว่อกแว่กเท่านั้นเอง ทุกอย่างก็จะไปด้วยดี”   

“แล้วระหว่างหาพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเติมกับไปหาเสียง ส.ว.เอาข้างหน้าแบบไหนยากหรือง่ายกว่ากัน?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถาม 

“คือ...มันก็...ถ้าพูดแบบการเมืองนะครับ....หาพรรคมาเติมเนี่ยก็...ง่ายกว่า (หัวเราะ) เพราะพรรคที่มาเติม มันก็จะมีมติพรรคเขาก็ต้องเดินตามมติพรรค ส่วน ส.ว.เขาก็ยังคาดเดายาก เพราะ ส.ว.เขาถูกแต่งตั้งมาตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่งมันไม่ได้เป็นพรรคการเมืองแบบนี้ แต่ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลเขารู้ เขาตระหนักอยู่แล้วครับ” 

“แล้วความเป็นไปได้ที่จะหาพรรคการเมืองอื่นมาเติมมีมากน้อยแค่ไหนครับ” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามย้ำอีกครั้ง 

“เป็นไปได้หมด ผมคิดว่าวันนี้ เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลให้ได้ เขาก็ต้องมองสูตรการจัดตั้งรัฐบาลไปทีละระดับ ถูกไหมครับ สมมติว่าสูตรที่ 1 แค่นี้ก่อน แล้วถ้าเติมมาก็เป็นสูตรที่ 2 แล้วถ้ายังไม่ได้ก็ไปสูตรที่ 3 อะไรแบบนี้เป็นต้น แต่อันนี้ผมเดาเอานะครับ (หัวเราะ) เพราะผมไม่ได้คุยเรื่องพวกนี้กับเขา 

แต่ที่แน่ๆ คือว่าเขาต้องเตรียม เพราะน้องๆ พวกนี้เขาฉลาด เขารู้ เพียงแต่ที่เราเตรียมไว้เนี่ย คนอื่นก็อาจจะอ่านออก แต่ทุกอย่างมันต้องเปิดให้มีท่าทีที่สามารถเปิดให้เล่นได้ทุกสูตร แต่หากมีท่าทีที่ปิดบังสูตรมันก็อาจจะเหนื่อย แต่น้องๆเขาฉลาด เพราะเขาอยู่เป็นฝ่ายค้านมา เขาก็รู้จักทุกฝ่าย เพียงแต่อาจจะไว้ใจอะไรมากนักไม่ได้ 

ซึ่งอันนี้ผมพูดมาจากประสบการณ์ส่วนตัวทางการเมืองของตัวเอง ที่ในอดีตผู้ใหญ่เขาให้ผมไปช่วยคุยอันนั้นอันนี้ ซึ่งแต่ก่อนผมเหมือนเป็น นิวเคลียส เลย (หัวเราะ) ทำให้รู้ว่ามันไม่ง่าย เช่น พอรับปากอย่างนี้ว่าจะเป็นอย่างโน้น พอนั่นเสร็จแล้ว ก็ยังจะมาต่อรอง ก็ยังไม่พอใจจะเอาตรงนี้อีก มันเหมือนจับปูใส่กระด้งเลยสมัยก่อน (หัวเราะ) แต่ครั้งนี้น่าจะง่ายกว่า เพราะพรรคก้าวไกลเขาบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องจะมาแย่งกระทรวงกันนะ เพราะประเด็นคือจะทำแพลตฟอร์มทั้งหมดตอบโจทย์ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนตัวผมแฮปปี้ตรงนี้ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อน...ที่มาถึงก็จะเอากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ซึ่งถ้าเริ่มแบบนั้นก็จะเหนื่อย” 

อุบัติเหตุการเมือง : 

“เหตุการณ์ข้างหน้า ผมคงตอบแทนไม่ได้ แต่ ณ วันนี้ ทุกคนก็บอกเมื่อประชาชนเลือกมาแบบนี้ ก็ต้องเดินหน้าเอาพรรคที่ได้รับเสียงมากที่สุดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ณ วันนี้ทุกคนก็ประกาศว่าจะสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เราก็ไม่รู้ว่าเส้นทางนี้ ก็อย่างที่ผมบอก...หากสูตร A ไม่ได้ ก็ต้องไปสูตร B หากสูตร B ไม่ได้ก็ต้องไป C ถ้ามันจบลงมันก็เดินหน้าต่อไปได้ 

แต่ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุในจุดใดจุดหนึ่ง เราแก้ไม่ได้ ผมก็คิดว่า มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองอันดับ 2 เขาก็อาจจะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน ยกตัวอย่างแบบนี้ มันก็เป็นไปได้หมด แต่ก็ได้แต่หวังว่า...อยากให้พรรคก้าวไกลเขานำความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้สำเร็จ!”

เพื่อไทย พันธมิตรจัดตั้งรัฐบาล : 

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเขาก็พูดเองว่า เขายึดมั่นในเจตจำนงของประชาชน ซึ่งส่วนตัวผมก็ดีก็สบายใจ แต่ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยเขาไปพูดอย่างอื่นไม่ได้หรอก เขาต้องพูดจาแบบนี้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเดินไปข้างหน้าแล้ว ต่อไปมันจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรต่างๆ 

เอาเป็นว่า...นับต่อไปจากนี้ ปัญหาคือเรื่องลงกระทรวงล่ะ! (หัวเราะ) ซึ่งอันนี้จะยากหน่อยซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติของการเมือง ซึ่งพรรคเล็กเขาไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ตรงไหนก็ได้เพราะเขาไม่มีอำนาจต่อรอง แต่สองพรรคใหญ่ก็คงจะต้องต่อรองกัน” 

ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ : 

“เรื่องนี้ผมยังไม่รู้จริงๆ เพราะจริงๆ พรรคหลักเขาก็มักจะเอาคนของเขาเป็นประธานสภาฯ แล้วพรรครองมาเป็นรองประธานสภาฯ แต่ผมไม่รู้ว่าสองพรรคใหญ่เขาจะดีลกันอย่างไร” 

อนาคตการเมือง โภคิน พลกุล : 

“ผมไม่เอาอะไรแล้วครับ (หัวเราะ) ผมไม่เอาอะไรเลยครับ เพราะผมต้องการให้เห็นว่าผมอยากช่วย อยากเชียร์ให้บ้านเมืองไปในทิศทางที่ดีที่ถูกต้อง ให้พี่น้องคนไทยผมมีชีวิตที่ดีขึ้น ผมตั้งเป้าไว้แค่นั้นเอง และอยากช่วยทุกคนที่เดินบนเส้นทางนี้” นายโภคิน พลกุล กล่าวปิดท้ายการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :