เริ่มเห็นเค้าลาง การจัดตั้งรัฐบาล โดยแกนนำของพรรค “ก้าวไกล” ที่มีนาย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 หลังจากร่วมรับประทานอาหาร วานนี้ (17 พ.ค.) และแถลงข่าวความชัดเจน ในวันนี้ (18 พ.ค. 2566) อย่างชื่นมื่น
เมื่อรัฐบาลเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก็ต้องมองไปถึงเรื่อง “เร่งด่วน” โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับวิเคราะห์ว่า “ใคร” เหมาะกับ “งาน” อะไรบ้าง
จับตา ครม.ก้าวไกล เพื่อไทย แนะใช้คนตามถนัด
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้มุมมองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ก้าวไกล กับ เพื่อไทย มีจุดแข็งคนละอย่าง เพื่อไทย ประกอบไปด้วยคนของไทยรักไทย และมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการประเทศ เศรษฐกิจต่างๆ ก็ประสบความสำเร็จ โดยรวมเรียกว่า “มีผลงาน”
ขณะที่ “ก้าวไกล” เรียกว่าเป็น “สตาร์ทอัพ” ในวงการการเมือง เรียกว่ามาด้วยความสด และ แรง มีแนวคิดใหม่ ของคนรุ่นใหม่ ไปกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่...ต้องยอมรับว่า ด้านประสบการณ์ยังไม่มาก แล้วมาเป็นรัฐบาลเลย ฉะนั้น จึงมองว่า ทั้ง 2 พรรค มีความถนัดคนละด้าน ดังนั้น หากจะทำอะไรจริงๆ ก็คงต้องคุยกัน ว่าจะใช้นโยบายของใครเป็นคนนำ...
...
อธิบายสาเหตุ “หุ้นตก”
“สาเหตุที่หุ้นตกเลย เมื่อก้าวไกล จะเป็นรัฐบาล เพราะนโยบายของก้าวไกล มีลักษณะ disrupt กลุ่มทุนผูกขาด มีการที่จะรื้อโครงสร้าง ดังนั้น หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล กลุ่มเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบ และรู้สึกหวั่นใจ แม้ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล แต่ในเชิงจิตวิทยา ได้สะท้อนออกมาในหุ้น ซึ่งติดลบแดงมา 2-3 วัน คนทั่วไปที่ไม่ทราบ ก็สงสัยว่าน่าจะเป็นข่าวดี เพราะเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ตรงตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่เมื่อเจาะไปที่ตัวหุ้นเอง ก็จะทราบว่า หุ้นที่เข้าข่ายเขาก็จะมีความอ่อนไหว จึงทำให้ติดลบ”
นายเกรียงไกร ยกตัวอย่างว่า ตอนหาเสียงของก้าวไกล และ เพื่อไทย พูดถึงปัญหา “ค่าไฟฟ้า” ว่าจะลดราคาต่อหน่วยทันที พร้อมกับรื้อโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและแข่งขันได้ระยะยาว นโยบายลักษณะนี้ ทำจริงก็กระทบทันที โดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าเดิม
เมื่อถามตรงๆ เลยว่า มีรายชื่อสนับสนุนในใจหรือยัง สำหรับการนั่งตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสำคัญ เช่น คลัง พลังงาน หรือ อุตสาหกรรม นายเกรียงไกร กล่าวว่า การระบุเป็นชื่อคนมันยาก เพราะตอนนี้เชื่อว่า ในพรรคเองก็ยังตกลงกันไม่เสร็จ
ถ้าแกนนำ 2 พรรค แบ่งงานกันทำ ใครถนัดอะไร ก็แบ่งไปตามนั้น ตอนนี้มีการพูดในสังคมออนไลน์ว่า ถ้าก้าวไกลถนัดเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมไปถึงเรื่องการศึกษา กระทรวงเหล่านี้ที่เก่งและถนัด หากก้าวไกล รับไป สังคมก็จะตอบรับ
ขณะเดียวกัน หากก้าวไกล ไปรับกระทรวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ก็จะมีคนตั้งคำถามว่า ขาดประสบการณ์ ทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งมิติการขับเคลื่อนการเมือง การทำงานของประเทศ มีความซับซ้อน มีตัวแปรมาก ฉะนั้น คนที่ไม่มีประสบการณ์เลย จะฝ่าด่านเหล่านี้ได้ ก็ค่อนข้างยาก กลับกัน หากได้คนที่มีประสบการณ์ เช่น เพื่อไทย เขามีประสบการณ์ด้านนี้ และเคยประสบความสำเร็จมาในอดีต ก็ให้เขาทำ ส่วนพรรคร่วมอื่นๆ ก็แบ่งตามถนัด เช่น ท่านเสรีพิศุทธิ์ ไปดูเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน ตำรวจ คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ สมมติท่านถนัดอะไรก็แบ่งไป แต่ตัวหลัก คือ ก้าวไกล เพื่อไทย หากมีการแบ่งงานที่เสริมกัน เราอยากจะเห็นภาพในลักษณะนั้น
ห่วงค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาททันที
สำหรับ สิ่งที่ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วง คือ เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะนโยบายของทั้ง 2 พรรคคล้ายคลึงกัน แต่ก้าวไกล ปรับทันที 450 บาท และจะปรับทุกปี ส่วนเพื่อไทย 600 บาทใน 4 แบบค่อยเป็นค่อยไป
“นโยบายเหล่านี้ กระทบกับภาคอุตสาหกรรม การผลิต บริการ ท่องเที่ยว โดยเฉพาะ SMEs เพราะบ้านเราใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างเข้มข้น โดยเฉพาะงานแปรรูปทั้ง เพราะเป็นต้นทุนใหญ่ หากใช้จริง เราก็ไม่รู้ว่าจะเดินต่อกันไหวไหม เพราะเศรษฐกิจประเทศยังเปราะบางและกำลังฟื้นตัว SMEs ต่างๆ ก็ยังบอบช้ำ ทั้งปัญหาโควิด ที่เรายังไม่ฟื้นตัว แค่ค่าไฟก็แพงลิ่ว ฉะนั้น ก็ไม่ควรจะซ้ำเติม”
นายเกรียงไกร เข้าใจว่า ค่าครองชีพทุกวันนี้มีรายได้ไม่พอรายจ่าย และ “ลูกระเบิด” ลูกใหญ่ของไทยในเวลานี้คือ “หนี้ครัวเรือน” แตะสูงไปถึง 90% แน่นอนว่า หากทำงานในโมเดลเดิม ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิมและหลุดออกไปไม่ได้
...
ฉะนั้น แนวทางการแก้ปัญหา เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ให้เขาอยู่ได้ในสภาวะแบบนี้ มีเงินใช้หนี้ มีเงินเก็บออมได้บ้าง จะได้หลุดจากวงจรเหล่านี้ เพื่อให้คนงานกินดีอยู่ดีได้บ้าง แต่...ต้องไม่โอนภาระทั้งหมดมาสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการอื่นๆ ถ้าทำแบบนั้น ภาคธุรกิจเหล่านี้จะอยู่อย่างไร ถ้าเป็นแบบนั้น ก็กลับไปปัญหาเดิมคือ “การเลิกจ้าง”
หลังจากนี้ หากมีการฟอร์มทีมรัฐบาลเสร็จ อยากให้ทั้ง 2 พรรคการเมือง เข้ามาพูดคุยกับ กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) เรามีคณะกรรมการเรียกว่า “ไตรภาคี” ซึ่งใช้มานานแล้ว คำถามคือ ถ้าจะทำทันที แปลว่าไม่ยึดถือคณะกรรมการเหล่านี้ หรือไม่ แล้วกลไกนี้จะยกเลิกใช่ไหม เพราะกลไกนี้ถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว ที่มีการดูแล ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ดูปัญหาแต่ละจังหวัด ซึ่งมีทั้ง 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และราชการ
“หากคุณจะทำอะไร มันต้องออกแบบ Win-Win ทุกฝ่าย ไม่ควรเอาภาระทั้งหมดมาทิ้งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
...
จำเป็นหรือไม่ ที่จะมี “คนนอก” เข้ามาร่วมดูแล นายเกรียงไกร อุทานเล็กน้อยจากคำถาม ก่อนตอบว่า “ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายการเมือง แต่ส่วนตัวคิดว่า กำลังดูความเหมาะสม บวกกับการต่อรองควบคู่กันไป โดยหลักการ หากมีการแบ่งงานระหว่างก้าวไกล และ เพื่อไทย ตามความถนัด ข้อสงสัยต่างๆ หรือ ข้อที่เป็นจุดอ่อน ที่ถูกนำมาโจมตี ก็จะลดลง ส่วนจะเป็นใคร...ผมตอบไม่ได้”
“จุดยืนของ สภาอุตสาหกรรมฯ รวมถึง กกร. เรายินดี ร่วมงานกับทุกรัฐบาล ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนรัฐบาลมาตลอด เราก็มีจุดยืนที่ชัดเจน เรารับหน้าที่ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนให้ดีที่สุด ทั้งอุตสาหกรรมและการผลิต โดยเราจะเป็นการลงทุนที่แท้จริง และเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ต้องทำยังไงให้เข้มแข็งที่สุด เราอยากให้รัฐบาลกำลังจะมา ใช้มาตรการที่หลายประเทศใช้และเป็นแบบอย่างที่ดี อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน โดยเขาให้ภาครัฐและเอกชน ทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน”
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่สุด นายเกรียงไกร ชี้ว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง โดยมาจากปัญหาเงินเฟ้อ ค่าพลังงาน ค่าไฟ ต้องแก้ก่อน เพราะรายได้เหล่านี้เหมือนเดิม แต่รายจ่ายพุ่งขึ้นสูง เราต้องลดรายจ่ายให้ได้ รายได้ก็จะดีขึ้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ในทาง กกร. ได้เคยยื่นข้อเสนอ 6 ข้อให้รีบแก้ก่อน ซึ่งหากรีบทำใน 6 ข้อนี้ ก็เชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้น
...
กับนโยบาย การแจกเงินดิจิทัล ยังจำเป็นหรือไม่ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ถ้าหากทำงานด้วยกัน คงต้องคุยกัน หากเป็นนโยบายใหม่ที่ใช้เงินเยอะ ฉะนั้น รายละเอียดต่างๆ จึงต้องมีการคุยกันก่อน
“หากทำได้จริงก็เป็นผลดี แต่เรื่องนี้ยังหลายคำถามที่ต้องตอบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคำถามที่อยากรู้ว่า ที่มาที่ไปของเงินนั้น จะเอามาจากไหน จะขึ้นภาษีหรือไม่ จากงบประมาณที่มีจำกัดจะเกลี่ยอย่างไร จะไม่เพิ่มภาระทางการคลัง หรือ หนี้สาธารณะ หรือไม่
ที่ผ่านมา เราฟังจากเพื่อไทย เขาบอกว่า เขาปรับโมเดล โครงสร้างการหาเงินทางเศรษฐกิจใหม่หมด ซึ่งก็ต้องคุยกันในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร
หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะเป็นมีผลอย่างไร คำตอบจากคำถามนี้ ของนายเกรียงไกร ยอมรับเลยว่า “มีผลกระทบแน่นอน เบื้องต้นเรามีการคาดการณ์ว่า จะมีรัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคม แต่...หากมีเหตุการณ์ใด ที่ถูกลากยาวออกไปถึงสิ้นปี ก็จะยิ่งส่งผลต่อ
1. “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุนไทยและต่างชาติ จับตาดูอยู่ หากช้า เขาก็จะไม่ลงทุน
2. ปัญหารัฐบาลรักษาการ ก็จะทำงานได้อย่างจำกัด งบประมาณที่ค้างท่อก็จะหยุดหมด มันอาจจะเกิดการขาดตอน ที่สำคัญคือ “ภาพลักษณ์” หากมีการประท้วง มีม็อบลงถนน ก็จะส่งผลต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวมาก ฉะนั้นหากมีม็อบจริงๆ มันก็จะทบในส่วนนี้ด้วย
**หมายเหตุ**
6 ข้อเสนอ กกร. ประกอบด้วย
1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
2. ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
3. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย
4. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว
5. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
6. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ