"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" หัวหน้าพรรคประชาชาติ เสนอตั้งคณะทำงานร่วม ก่อนเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล เชื่อยังมีเวลาเพื่อให้การทำงานราบรื่น...

การสนทนาการเมืองที่ว่าด้วยความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาชาติ หนึ่งในสมการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ หัวหน้าพรรคประชาชาติ

คืบหน้าจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล :

“สำหรับประเด็นความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล 309 เสียง ร่วมกับพรรคก้าวไกล นั้น เบื้องต้นหลังจากได้รับคำเชิญทางโทรศัพท์ให้มาร่วมหารืออย่างเป็นทางการแล้ว โดย ผม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค รวมถึงแกนนำพรรคอีก 2 คน จะได้เข้าหารือร่วมกับพรรคอื่นๆ ที่ทางพรรคก้าวไกลเชิญให้มาร่วมรัฐบาล 

...

อย่างไรก็ดีในส่วนของรายละเอียดต่างๆ นั้น ทางพรรคก้าวไกลยังไม่ได้มีการแจ้งว่าจะมีการหารือในเรื่องใดบ้าง เพราะทางพรรคก้าวไกลพูดเพียงว่า อยากจะให้พรรคเราไปร่วมรัฐบาลซึ่งเราก็ยินดี” 

ประเด็นสำคัญในการหารือจัดตั้งรัฐบาลรอบแรก : 

“คงต้องรับฟังแนวทางต่างๆ จากพรรคก้าวไกลเป็นหลักก่อน และในส่วนตัวผมจะเสนอว่า ยังไม่ควรเปิดการหารือในรายละเอียดว่า พรรคไหนจะได้กันสักกี่เก้าอี้ หรือ กระทรวงไหนอะไรยังไง เพราะส่วนตัวคิดว่า ทุกพรรคควรหารือในเรื่องหลักการของปัญหาประเทศ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างไร? เพราะเราควรมองในเรื่องของปัญหาประเทศเป็นหลัก 

และส่วนตัวอยากเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสัก 1 ชุด เพื่อทำงานร่วมกันในการกลั่นกรองความคิดเห็นต่างๆ ในประเด็นเหล่านั้น เพื่อให้การทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลสามารถเดินหน้าไปได้อย่างสะดวกและราบรื่น เพราะว่าขณะนี้ประเทศของเรายังมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องปากท้อง ความปรองดองของคนในชาติ ที่ต้องอาศัยการหารือร่วมกันอย่างรอบคอบ และไม่ควรนำเรื่องในอดีตที่ยังคงเป็นปัญหา มาเป็นต้นเหตุของการหารือร่วมกันในครั้งนี้ คือ ควรจะพูดกันในเรื่องเราจะเดินหน้าไปอย่างไร มีปัญหาอะไร แล้วใครจะช่วยได้อย่างไรก็มาร่วมด้วยช่วยกัน

เพราะตอนนี้ยังพอมีเวลา เนื่องจากกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. จนครบ 95% เพื่อนำไปสู่การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย” 

ข้อเสนอพรรคประชาชาติ : 

“สำหรับประเด็นปัญหาที่ทางพรรคอยากนำเสนอ คือ ปัญหาปากท้อง และปัญหาเฉพาะพื้นที่ในเรื่องของความมั่นคง การศึกษา และวัฒนธรรม ความไว้วางใจหรือสันติภาพความสงบสุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่เขาอยากจะเห็นบ้านเมืองสงบ เพื่อจะได้มีทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนมาลงทุนกันมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

MOU และการสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี : 

“พรรคประชาชาติ พร้อมลงนามใน MOU ที่พรรคก้าวไกลเสนอ รวมถึงสนับสนุน คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีใช่ไหมครับ?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามอย่างตรงไปตรงมา 

“ครับ...เราเป็นพรรคที่จะร่วมรัฐบาล และเป็นพรรคที่ไม่ใหญ่ เราก็พร้อมที่จะร่วมมือกับพรรคที่เขาอยู่ข้างประชาธิปไตย เพราะถึงแม้เขาจะเป็นพรรคใหม่ แต่เขาก็มีความตั้งใจและเขาก็มีความชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง 

ส่วนในประเด็นการสนับสนุน นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ในระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์ก่อนหน้านี้ผมก็บอกกับทางคุณพิธาไปแล้วครับ ว่า ขอสนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีครับ” 

...

ความต้องการของพรรคประชาชาติ : 

“เบื้องต้น เราคงจะไม่พูดถึงก่อน จนกว่าจะมีคณะทำงานร่วม ซึ่งน่าจะถูกแต่งตั้งโดยพรรคก้าวไกลภายในอีก 1-2 วันนี้ เพื่อจะได้ลดความเห็นที่แตกต่างกันเสียก่อน”

รัฐบาล 309 เสียง กับด่านสมาชิกวุฒิสภา : 

“หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา จำนวน ส.ส.ที่ทางพรรคก้าวไกลรวบรวมมาในเวลานี้ก็มากเพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เพราะมันเกินครึ่งไปมากแล้ว คือ เกินไปเยอะด้วยซ้ำไปสำหรับการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ว่า...ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการระบุเอาไว้ในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ ต้องประชุมร่วม 2 สภา และต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 375 เสียงขึ้นไป ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีอยู่ 250 เสียง ทำให้กึ่งหนึ่งคือต้องมี 376 เสียง 

ขณะนี้...คะแนนเสียงที่พรรคก้าวไกลรวบรวมมาได้มี 309 เสียง ยังขาดอีกประมาณ 70 เสียง และไม่รู้ว่าทาง ส.ว.จะโหวตอย่างไร เพราะมันเป็นสิทธิในการลงคะแนนของ ส.ว.แต่ละคน” 

“ท่านคิดว่าจากสมการนี้ ควรมีการดึงพรรคอื่นมาเพิ่มเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รีบถามโดยพลัน 

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ อาจต้องให้ทางคณะทำงานที่จะตั้งขึ้น ไปศึกษาและสรุปหาแนวทางแก้ไขเพื่อกลับมานำเสนอกับทางทุกพรรคอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่แน่เพราะเรายังไม่ได้พูดคุยอะไรกันเลยครับ มันจะเพิ่มหรืออย่างไร หรือจะไปหารือกับ ส.ว. เรื่องนี้ผมยังไม่ทราบครับ” 

“แล้วในความเห็นส่วนตัวท่านคิดว่า ควรมีพรรคอื่นมาร่วมหรือไม่ครับจากสมการนี้” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามย้ำอีกครั้ง

...

“พรรคเราขอยืนหยัดว่า เราจะร่วมกับพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยมาโดยตลอด เรามองในประเด็นนี้ประเด็นเดียวครับ” 

“แล้วถ้าหากเป็นพรรคภูมิใจไทยถือว่าเป็นพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไรครับ?” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชิงถามอีกครั้ง 

“(หัวเราะ) อันนี้...ผมก็ไม่ทราบ (หัวเราะ) ผมคงตอบไม่ได้เพราะเดี๋ยวจะไปก้าวล่วงและเสียมารยาทกับพรรคอื่นๆ และประเด็นนี้ควรให้พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่า เพราะเราต้องเคารพการมอบหมายจากประชาชน ซึ่งพรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะตัดสินใจแทนพรรคของเราได้ เพราะเราเป็นพรรคเล็ก ต้องให้พรรคที่เป็นลำดับที่ 1 เป็นผู้ตัดสินใจ” 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา กับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร : 

“(หัวเราะ)…ก็อย่างที่ผมบอกครับ ต้องเป็นพรรคใหญ่ครับ พรรคอันดับหนึ่ง เขาควรจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งในเมื่อประชาชนมอบความไว้วางใจให้กับพรรคก้าวไกลแล้ว ทางพรรคก็น่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้อยู่แล้ว” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ปิดท้ายการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์  

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :