ช่วงนี้ สปอตไลต์ทุกดวงกำลังจับจ้องไปเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคก้าวไกล ที่ได้รับการเลือกตั้ง เสียงข้างมาก หรือบางคนกำลังลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ก็มีข่าวข่าวหนึ่ง เผยแพร่อย่างหน้าสื่อ คือ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา เนื่องจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จาก 6,000 บาทเป็น 9,000 บาท ต่อเดือน จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานถึง 11 ปี แล้ว และล่าสุด วันนี้ 17 พ.ค. ครม.ก็อนุมัติเป็นที่เรียบร้อย...
กับประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงการขอขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าว่า ผมเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะพวกเขาไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมานาน เงินเดือนที่ได้แค่ 9,000 กว่าบาท บวกเบี้ยเลี้ยงต่างๆ เต็มที่ก็ไม่ถึง 12,000 บาท แต่เขาต้องดูแลลูกเมียด้วย เมื่อเงินไม่พอ ก็ทำให้เขา ห่วงหน้าพะวงหลัง
การที่เงินเดือนน้อยแบบนี้ บางคนที่เป็นคนส่วนน้อย ที่จิตใจว่อกแว่กไปร่วมมือกับคนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบล่าสัตว์ แต่ช่วงที่น่าสงสารที่สุด คือ ช่วงที่ต้องเข้าไปดับไฟป่า ต้องทำงานแบบทั้งวันทั้งคืน และมีความเสี่ยง
...
“งานประเภทอื่นๆ เขามีวันหยุดโบนัส แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์แทบไม่มีวันหยุด โบนัสก็ไม่มี อาหารก็แทบไม่เพียงพอ ยังดีที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ บริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง เรียกว่าเงินไม่พอแม้แต่จะซื้อข้าวกิน ที่เป็นแบบนี้เพราะเป็นอาชีพที่ไกลตาผู้คน สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาไม่มีใครเห็น บางครั้งก็กินรากไม้ หน่อไม้ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน การลาดตระเวนเป็นไปด้วยความยากลำบาก”
กับคำถามที่ว่า การขอขึ้นเงินเดือนจาก 9 พัน เป็น 1.1 หมื่น ในรอบ 10 ปี นี้เพียงพอหรือไม่ นายดำรงค์ กล่าวว่า เงินเดือนคุณจะให้เขาเท่าไรก็ได้ แต่คุณต้องให้เบี้ยเลี้ยงเขา รวมกันไม่ควรต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งทุกวันนี้ได้รวมๆ กันประมาณ 1.2 หมื่น ยังไงก็ไม่เพียงพอ เพราะได้เงินเพิ่มขึ้นวันละ 100 กว่าบาทเท่านั้น
“การจะช่วยเหลือเขา ถึงแม้เงินเดือนไม่ขึ้น แต่เพิ่มเบี้ยเลี้ยงเขาให้มากขึ้นก็ได้”
อดีตอธิบดีกรมอุทยาน กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่คนดูแลกลับน้อย และไม่เพิ่มขึ้นเลย ทั้งที่แต่ละปี เราก็ไม่รู้ว่าจะเจอภัยในด้านธรรมชาติอะไรบ้าง เจอไฟป่า น้ำหลาก คนที่เดินเข้าไปในป่า ไม่รู้จะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง เจอคนบุกรุกป่า
ความสูญเสีย จนท.พิทักษ์ป่า ปะทะคนร้าย ป่วยตายไม่มีใครรู้
สำหรับกรณีการเสียชีวิต ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จากข้อมูล “วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก” ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 ก.ค.65 มีการเปิดเผยว่า ในปี 2565 มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต รวม 19 นาย บาดเจ็บสาหัส 4 นาย โดยมี 2 นาย มาจากเหตุการปะทะกับคนร้าย
ขณะที่ข้อมูลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่มีการมอบเงินช่วยเหลือกับผู้เสียชีวิต ประจำปี 2564 มีทั้งสิ้น 26 นาย รวมเป็นเงิน 350,000 บาท โดยส่วนมากจะเสียชีวิตจากโรคประจำตัว รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ และถูกสัตว์ทำร้าย อาทิ ต่อรุมต่อย ช้างป่า
นายดำรงค์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า เจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่า 50% ของการเสียชีวิต จะเป็นป่วยตาย เป็นไข้ โรคประจำตัว เวลาเกิดเหตุแบบนี้ กว่าจะนำตัวออกมารักษาได้ ใช้เวลาหลายวัน ยกตัวอย่างที่ภูกระดึง หากป่วยที่ต้องแบกลงมา 6 ชั่วโมง ตอนนั้นจะสร้างกระเช้า ก็โดนต่อต้าน ซึ่งในความเป็นจริงในต่างประเทศมีกันหมดแล้ว สร้างกระเช้าทำลายป่าแค่ 3 ไร่เศษ แต่มันก็ช่วยเหลือคนเจ็บตายได้ ช่วยขนของต่างๆ ได้ คนแก่ที่เขาอยากขึ้นไปก็ไปได้ ซึ่งอาจจะมีการไถออกบางส่วนเป็นหย่อมๆ เท่านั้น ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่สร้างไม่ได้ เพราะกลุ่ม NGO มันเยอะแยะ
...
“บางคนตาย ก็ตายไปแบบเงียบๆ ไม่ได้เป็นข่าว บางเคสก็โดนสัตว์ทำร้าย ถูกกระทิงควิดไส้ทะลักบ้าง หรือ ปะทะกับคนร้าย ซึ่งนานๆ จะมีข่าวสักครั้ง เช่น เดินๆ อยู่โดนยิงแบบนี้ ซึ่งอาชีพนี้ถือว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสุดๆ อาชีพหนึ่ง”
นายดำรงค์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า มีอาวุธประจำกายอยู่มาก มีปืน HK อยู่ 7,000-8,000 กระบอก ในเวลาต่อมากลับถูกยึดคืนหลวงหมด เพราะเกิดความระแวงว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะต่อต้านอำนาจรัฐ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครเขาทำหรอก...คิดมากเกินไปหรือไม่ เวลาเดินเข้าป่า สมมติว่าเข้าไป 10 คน พกอาวุธ ทั้ง 10 คน ก็ทำให้มั่นใจในตัวเอง ฮึกเหิม หากเกิดอะไรขึ้นก็พร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองได้
ปัญหาใหญ่ของ จนท.พิทักษ์ป่า คือ ขาดสวัสดิการที่ดี และเพียงพอ
นายดำรงค์ มองว่า สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฯ คือ เรื่องสวัสดิการ ปัจจุบันถือว่าไม่เพียงพอ หากเปรียบเทียบกับทหาร ที่เสี่ยงชีวิตเหมือนกัน รายได้กลับแตกต่างกัน 3-4 เท่า แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นอาชีพไกลตาผู้คน เหมือนอาชีพที่ถูกโลกลืม
แบบนี้แล้ว ขวัญกำลังใจ เอามาจากไหน นายดำรงค์ตอบอย่างตรงไปตรงมา ว่า ต้องมาจากอธิบดีฯ ว่าเอาใจใส่พวกเขาแค่ไหน ต้องพยายามเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ให้พวกเขาบ้าง ปืน เงิน อุปกรณ์ที่ใช้ในป่า ชุดที่ใส่ทำงาน ชุดกันฝน ซึ่งยังดีว่า ยังมีมูลนิธิต่างๆ เข้ามาช่วยบางส่วน
“อาหารที่เอามา ก็ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมาม่า แต่เราจะให้เขากินแต่มาม่า มันก็ไม่ไหว แต่มันก็ไม่มีทางเลือก แต่ยังโชคดีที่ยังมีอาหารกระป๋อง หลายแบบเยอะขึ้น”
...
“หมาใน” กำลังทำลายห่วงโซ่อาหาร
นอกจากปัญหากำลังเจ้าหน้าที่ และ เงินเดือนแล้ว นายดำรงค์ ยังแสดงความเป็นห่วงในระบบห่วงโซ่อาหาร เพราะเวลานี้ “หมาใน” กลายเป็นผู้ล่า ที่เริ่มทำลายห่วงโซ่อาหารแล้ว เพราะมันมีมากจนเกินไป ทำให้สัตว์ป่าหลายๆ ชนิดถูกล่าหมด ไม่ว่าจะเป็นเก้ง กวาง ลูกวัว ลูกควายป่า ซึ่งตอนนี้มันเริ่มกลายเป็นปัญหาเกือบทุกอุทยานฯ ทั่วประเทศ
“แค่ตัวอย่างที่ “เขาใหญ่” เวลานี้เก้ง กวาง หนีออกจากป่า มาอยู่ในพื้นที่ ที่มีแสงไฟมากขึ้น มันรวมตัวกันล่า กินสัตว์วันละหลายตัว ขนาดเสือยังล่าไม่มากเท่านี้ เรียกว่า หากไม่มีโรคระบาดมันก็จะแพร่พันธุ์ออกไปมาก”
เมื่อถามว่า เราสามารถจัดการอย่างไร นายดำรงค์ ตอบว่า ตอนผมเป็นอธิบดีฯ ผมสั่งให้เก็บ ควบคุมประชากรหมาใน ถ้าปีไหน โรคห่า ไม่ลง พวกหมาในก็ล่ากินสัตว์อื่นเกือบสูญพันธุ์ ในขณะที่ป่าลึกๆ สัตว์ป่าก็เหลือน้อยลงมากแล้ว
“เราสามารถกำจัดมันได้ เพราะห่วงโซ่มันมีจำนวนเกิน สัตว์โดนล่ามีน้อย สัตว์ผู้ล่ามีเยอะ แบบนี้แล้ว มันจะอยู่ได้อย่างไร...ในเมื่อบ้านเรา กลุ่มสัตว์พวกเก้ง กวาง เหลือน้อยลงมาก”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...